สุจิตต์ วงษ์เทศ : อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ร้อยเอ็ดมีก่อนกรุงเทพฯ

อีสานหลายจังหวัดสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ก่อนกรุงเทพฯ สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พ.ศ. 2482 เป็นพยานสำคัญอย่างหนึ่งในหลายอย่าง ว่าก่อนหน้านั้นนานแล้วคนอีสานไม่น้อยมีสำนึกสูงทางการเมือง และมีความพร้อมในระบอบประชาธิปไตย

เท่ากับยืนยันมั่นคงและชัดเจนว่าการปฏิวัติ 2475 ไม่ ชิงสุกก่อนห่าม ตามข้อกล่าวหาใส่ร้ายสมัยหลังๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้คนชั้นนำต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่ความเท่าเทียมเสมอภาคอย่างเสมอหน้า

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ด สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2479 ตั้งเคียงข้างศาลหลักเมืองบนเกาะบึงพลาญชัย ซึ่งเป็น แลนด์มาร์ก ศูนย์กลางเมืองร้อยเอ็ด โดยมีคำอธิบายในหนังสือ ราษฎรธิปไตย ของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562 หน้า 50-53) เป็นหนังสือ คืนความทรงจำ อันมีคุณค่าของสังคมที่เคยถูกฝังกลบโดยผู้ชนะทางการเมืองมายาวนาน ซึ่งเปรียบเสมือนการ คืนลมหายใจ สู่สังคมไทยที่ยังเชื่อว่าคนเท่ากัน, คืนความภูมิใจ สู่สามัญชน, คืนปัญญา สู่สาธารณชนที่เสมอหน้ากัน (สรุปจากคำนิยม ของ ณัฐพล ใจจริง)

จะยกบางตอนจากหนังสือราษฎรธิปไตย ของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ มาดังนี้

Advertisement

“แรกเริ่มเดิมทีคณะกรมการจังหวัดร้อยเอ็ดประสงค์จะสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญและเสาธงประจำจังหวัดบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ทว่าข้าหลวงประจำจังหวัดได้ขอร้องให้ย้ายมาสร้างบนเกาะกลางบึงพลาญชัยแทน เพราะเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองใกล้กับสมาคมร้อยเอ็ด

นอกจากนี้อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบนเกาะกลางบึงพลาญชัย ยังเปรียบเสมือนเป็นการประกาศชัยชนะของระบอบใหม่เหนือระบอบเก่า โดยอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญได้มาประดิษฐานบนเกาะที่ถูกสร้างจากการเกณฑ์แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบในสมัยระบอบเก่า อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังทำให้ ราษฎร ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็น พลเรือน ที่มีอำนาจและสิทธิทางการเมือง รวมถึงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ดังนั้นเกาะกลางบึงพลาญชัยในระบอบใหม่ จึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวร้อยเอ็ด อันประกอบด้วยหลักเมืองที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น รัฐธรรมนูญที่เป็นหลักการปกครองประเทศ และเสาธงไตรรงค์อันเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย”

Advertisement

ยักษ์ใหญ่ยืนค้ำร้อยเอ็ด

เช้าวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ผ่านมา ผมเดินตุปัดตุเป๋ขึ้นสะพานข้ามไปเกาะกลางบึงพลาญชัย แล้วปีนป่ายตามบันไดถึงที่ตั้งอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญกับศาลหลักเมือง

เมื่อเดินรอบอย่างทุลักทุเลแล้วก็ยืนพักเหนื่อยแหงนคอดูหอชมเมืองรูปทรงโหวดอย่างอัศจรรย์ใจที่สูงเสียดฟ้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image