‘เค้าโครง ศก.’ ถึง ‘จากครรภ์มารดาฯ’ ความฝันหลัง ‘อภิวัฒน์’ ปรีดี-ป๋วย

84 ปี คือระยะเวลาของเส้นทางหลังการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองสู่ประชาธิปไตย เช่นเดียวกันเป็นระยะที่ประเทศไทยล้มลุกคลุกคลาน หลายครั้งที่พยายามเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหรือกระทั่งหยุดนิ่ง

ภายหลังการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 จากนั้นไม่ถึงหนึ่งปี ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอ เค้าโครงเศรษฐกิจ พ.ศ.2476 โดยมุ่งหมายให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจตามหลักเอกราชทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเอง

“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

สมุดปกเหลือง หรือเค้าโครงเศรษฐกิจนี้เอง ทำให้ปรีดีถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์จนต้องเดินทางออกนอกประเทศ

Advertisement

ต่อมาเดือนตุลาคม 2516 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เขียน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” วาดภาพสวัสดิการสังคมที่รัฐเข้ามามีบทบาทอำนวยให้ประชาชนทุกช่วงชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดี

เค้าโครงเศรษฐกิจและแนวคิดเรื่องสวัสดิการสังคมเหล่านี้ไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาใช้อย่างจริงจัง แต่ยังคงมีการกล่าวถึงและมีการวิเคราะห์เชิงวิชาการหลายครั้งถึงคุณประโยชน์ของแนวคิดความเป็นไปได้ในบริบทสังคมไทย

จนน่าคิดว่าหากแนวคิดทั้งสองได้รับการหยิบมาใช้ตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีการนำเสนอ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร

Advertisement

และมองภาพกว้างในปัจจุบันมีสิ่งใดในแนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงแล้วบ้าง

ในวาระครบรอบ 84 ปีการอภิวัฒน์สยามที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์จึงได้จัดเสวนา มอง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ และ ‘จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน’ ในปัจจุบัน

เป้าหมายคือความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต กล่าวว่า เป้าประสงค์ของปรีดี พนมยงค์ ในเรื่องเศรษฐกิจคือ ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า หมายถึงความพอเพียงในชีวปัจจัยต่างๆ ที่เป็นรากฐานของความสุขในชีวิต โดยการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของชาติจะต้องประกอบด้วยแนวความคิด 5 ประการ

1.เศรษฐกิจความมั่นคงแห่งชาติ หมายถึงนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดถือเอกราชและอธิปไตยของชาติเป็นหลัก

2.เศรษฐกิจสหกรณ์ในชนบท ความสุขสมบูรณ์อย่างทั่วถึงและถ้วนหน้าของราษฎรในพื้นที่ชนบทมีความสำคัญสูงสุดต่อการบริหารเศรษฐกิจของชาติ โครงสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวจึงเน้นการร่วมมือร่วมใจดำเนินการเศรษฐกิจของเกษตรกร ขยายกระบวนการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยปราศจากอิทธิพลครอบงำของทุนนิยม ขณะที่ภาครัฐให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานและการวิจัยพัฒนา

3.เศรษฐกิจประชาธิปไตย คือการกระจายปัจจัยการผลิตมิให้กระจุกตัวอยู่ในครอบครองของบุคคลกลุ่มใด ขณะที่การจัดสรรส่วนแบ่งในมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการผลิตต้องมีความเป็นธรรม

4.เศรษฐกิจสวัสดิการสังคม ราษฎรทุกคนต้องมีหลักประกันสวัสดิภาพในทุกมิติ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงเชิงตะกอน

5.เศรษฐกิจเทคโนโลยี หมายถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีเพื่อใช้เพิ่มพลังการผลิตชีวปัจจัย สำหรับการดำรงและดำเนินชีวิตของราษฎรอย่างมีความสุขสมบูรณ์ การพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยีจะเป็นหลักประกันเอกราชและอธิปไตยของชาติทางเศรษฐกิจ

แบบอย่างการกำกับเศรษฐกิจให้เป็นธรรม

ผศ.ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เบื้องหลังเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ เกิดจากบริบทโลกช่วงปี 1920-1930 เศรษฐกิจโลกตกต่ำ เมื่อระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมในอังกฤษมีปัญหาจึงต้องมีการวางแผนเศรษฐกิจแทนการปล่อยแบบเสรี ช่วงนี้เองปรีดีเรียนที่อังกฤษจึงได้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจจากชาร์ลส์ จี๊ด ที่อธิบายแนวคิดภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ไว้

“ส่วนบริบทของไทยก่อนปี 2476 ชาวนาส่วนใหญ่ยากจน ขาดที่ดิน-ทุน-เทคโนโลยี การค้าอยู่ในมือชาวต่างประเทศ ส่วนใหญ่คือคนจีน การค้าข้าวก็ต้องทำผ่านคนกลาง โอกาสที่จะเป็นเจ้าของที่ดินได้มีน้อย ภาษีรัชชูปการไม่เป็นธรรม ประชาชนมีความเป็นอยู่ลำบาก จนปรีดีบอกว่ามีแนวทางเดียวคือรัฐต้องจัดการเศรษฐกิจเอง โดยเกิดสหกรณ์ต่างๆ เอาโครงมาจากลัทธิสังคมนิยม”

เป้าหมายคือ 1.เพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพ มีการจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำให้ประชาชน 2.ความเท่าเทียมเป็นธรรม รัฐเข้าจัดการเศรษฐกิจเนื่องจากราษฎรไม่มีทุนที่ดิน 3.ประสิทธิภาพ นำเครื่องจักรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

“การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจนี้มุ่งให้มีการพิจารณาในหลักวิชาการและไม่ได้เป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์ เนื่องจากไม่ได้มีการบังคับหรือยึดที่ดินจากประชาชน”

ส่วนแนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนของป๋วย อึ๊งภากรณ์นั้น อ.อิสริยามองว่า อ.ป๋วยเขียนจากครรภ์มารดา ขึ้นมาเป็นการขยายบริบทจากเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี เป็นมิติคุณภาพชีวิตจากครรภ์จนถึงตาย ขยายบริบทให้ราษฎรทุกคนได้รับประกันความสุขสมบูรณ์จากรัฐบาล

“ความเปลี่ยนแปลงจากยุคนั้นถึงตอนนี้ ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น บทเรียนในอดีตพบว่าหากรัฐผูกขาดเศรษฐกิจจะมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น ขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น เชื่อมโยงกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้น ภาคเกษตรไทยโดยรวมมีความเข้มแข็งมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรรายกลางและรายใหญ่ในภาคกลาง แต่เกษตรกรรายเล็กภาคเหนือและอีสานยังลำบากเพราะขาดน้ำ มีปัญหาการเข้าถึงเครื่องจักร และมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน

“แม้บริบทเปลี่ยน แต่ประเด็นที่มีประโยชน์และสามารถประยุกต์ใช้ได้คือ บทบาทของรัฐในการวางแผนเศรษฐกิจเพื่อกำกับดูแลวางกติกาในระบบเศรษฐกิจให้เป็นธรรม ลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายใน อีกทั้งเรื่องการรวมที่ดินและพัฒนาการรวมกลุ่มสหกรณ์เป็นทางออกให้แก่เกษตรกรรายย่อย สำหรับประชาชนที่ขาดหลักประกันและสวัสดิการหลายด้าน ควรขยายสวัสดิการสู่เกษตรกรชาวนา เพื่อนำสู่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” อ.อิสริยากล่าว

(จากซ้าย) ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ผศ.ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
(จากซ้าย) ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ผศ.ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

รัฐสวัสดิการต้องเกิดจากประชาธิปไตย

“เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีและจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนของป๋วย ล้วนอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ”

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวก่อนจะขยายความว่า อ.ปรีดีพูดชัดเจนว่าการอภิวัฒน์ 24 มิ.ย.2475 ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเดียว แต่มุ่งหมายเพื่ออภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจด้วย หลังการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว อ.ปรีดีได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจต่อแม้ผลักดันไม่สำเร็จ แต่หลายอย่างในเค้าโครงก็เกิดขึ้นในปัจจุบัน

“เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์คือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนรากฐานความคิดแบบภราดรภาพนิยม แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ผสมผสานเศรษฐกิจแบบชาตินิยมบวกกับหลักพุทธธรรมและมนุษยธรรม พูดง่ายๆ คือ อ.ปรีดีค่อนไปทางซ้าย ซึ่งแนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นแนวคิดหลักในยุโรปขณะนั้น”

ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย 20-30 ปีที่ผ่านมา เราสำเร็จพอควรในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ซึ่งหากเดินตามเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีและจากครรภ์มารดาฯของป๋วยจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มาจะไม่ได้พยายามแก้ปัญหานี้

“แนวคิดหลายอย่างในสมุดปกเหลืองและจากครรภ์มารดาฯ ไม่อาจเกิดได้ถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย หลายคนอาจเถียงว่าประเทศอำนาจนิยมก็สามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ ถ้าศึกษาประเทศที่เหมือนจะสำเร็จนั้นไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการตามความหมายที่แท้จริง เป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น สิ่งที่จะสถาปนาระบบเศรษฐกิจสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้ประชาชนที่แท้จริงคือประชาธิปไตย”

อ.อนุสรณ์กล่าวปิดท้ายว่า “เราจึงขอเรียกร้องว่า ไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร ให้พิจารณาแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

นับแต่ 2476 จาก “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ของปรีดี พนมยงค์ ตามมาด้วย “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ จนถึงปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยยังไม่เอื้อต่อการสร้าง “ชีวิตที่สุขสมบูรณ์” ของราษฎร แต่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันและมุ่งหมายไม่ได้ เช่นเดียวกันกับประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image