ใครกันแน่ ? เจ้าของ “อัฐิ” ปริศนา ในโพรงพระปรางค์วัดระฆัง

ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ปะปนกับเศษไม้เผาไฟ มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นของบุคคลสำคัญยุครัตนโกสินทร์

สนั่นแวดวงประวัติศาสตร์เป็นที่สุดตลอดช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้ นอกจาก “อัฐิ” ปริศนาในโพรงที่ฐานพระปรางค์วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่ง ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทราบข่าวจากพระสงฆ์ที่คุ้นเคยกันรูปหนึ่ง ว่ามีการพบชิ้นส่วนกระดูกพร้อมถ่านไม้ เชื่อว่าอาจเป็นอัฐิหรืออังคารของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ แพทย์รายดังกล่าวจึงรุดแจ้งสื่อ เพื่อขอให้ผู้รู้ช่วยกันเสาะหาหลักฐานคลายปมปริศนา นับแต่นั้นมา ก็มีความคืบหน้าแบบรายวัน พร้อมๆ กับกระแสสังคมที่ถาโถมกันช่วยคุ้ยประวัติการบูรณะ ด้วยหวังจะทราบว่าเจ้าของกระดูกคือใครกันแน่ ?

 

ผู้เชี่ยวชาญ ‘กรมศิลป์’

คาด ‘พระเชษฐภคินี’ ร.1

วันรุ่งขึ้น หลังการนำเสนอข่าว บุญเตือน ศรีวรพจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ให้ความเห็นว่า กระดูกที่ถูกบรรจุไว้ในพระปรางค์องค์สำคัญ ย่อมไม่ใช่บุคคลธรรมดา อีกทั้งเศษไม้เผาไฟที่พบซึ่งคาดว่าเป็นไม้จันทน์นั้น ใช้เฉพาะเผาศพเจ้านาย จึงเชื่อว่าอัฐิ หรืออังคารดังกล่าว เป็นของเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ในรัชกาลที่ 1 เนื่องจากวัดระฆังโฆสิตารามอยู่ในพื้นที่ส่วนของ “วังหลัง” ซึ่งผู้ครองวังหลังผู้อุปถัมภ์วัดดังกล่าวมาโดยตลอดคือ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือท่านทองอิน โอรสของเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ทางวัดมีการทำบุญเพื่อถวายพระราชกุศลให้เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีทุกปี โดยต้องโยงสายสิญจน์ไปยังพระปรางค์องค์ที่พบอัฐิด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสังเกต

Advertisement

“พระศพเจ้านายองค์สำคัญ ส่วนใหญ่เผาที่วัดระฆัง เช่น เจ้าครอกทองอยู่ ซึ่งมีเขียนอยู่ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ แต่น่าจะบรรจุไว้ในเจดีย์แยกออกไปต่างหาก เท่าที่รู้ วัดระฆังมีการทำบุญทุกปี โดยถวายพระราชกุศลให้เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินีในรัชกาลที่ 1 น่าสังเกตว่าต้องโยงมาที่พระปรางค์องค์นี้”

ทิ้งปมสงสัย หีบบรรจุหายไปไหน?

เมื่อเชื่อว่า เจ้าของอัฐิไม่ใช่คนสามัญ จึงนำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า เดิมน่าจะมีภาชนะบรรจุ อาจเป็นหีบ กล่อง หรือลุ้ง (ภาชนะใส่อัฐิเพื่อนำไปลอยน้ำ) คงไม่ใช่การนำกระดูกมากองไว้ในโพรงเฉยๆ

“ของเดิมน่าจะอยู่ในภาชนะที่บรรจุ มีของบริวารเป็นเครื่องบูชา คงไม่ใช่การเจาะรูแล้วเอาเถ้าถ่านไปกองกับพื้นเฉยๆ เท่าที่ทราบ เห็นว่ามีร่องรอยภาชนะบรรจุในโพรงที่เจาะเข้าไปด้วย ถามว่าของเหล่านั้นหากมีอยู่จริงแล้วหายไปไหน”

(ซ้ายบน) โพรงที่ฐานพระปรางค์มีเศษปูนตำแบบโบราณและสร้างอย่างประณีต (ขวาบน) พระสงฆ์นำกระดูกล้างน้ำแยกจากขยะ (ซ้ายล่าง) คนงานพบโพรงขณะกะเทาะปูนเก่าออก (ขวาล่าง) โพรงที่ฐานพระปรางค์ตรงกับพระพุทธรูปในโบสถ์เก่า

คนงานเผยนาทีพบ ‘อัฐิ’ ยันไม่มี ‘หีบ’ บรรจุ

โยนคำถามไว้เช่นนี้ ต้องมาฟังปากคำของคนงานบริษัท ศิวกรการช่าง ผู้รับเหมาโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์

กัลยา ศรีศรชัย หัวหน้าคนงาน เล่าถึงนาทีพบอัฐิ ว่าขณะนั้นคนงานกำลังกะเทาะพื้นผิวปูนที่ฉาบไว้เดิมซึ่งมีความผุกร่อน เพื่อเตรียมบูรณะตามขั้นตอน เมื่อใช้อุปกรณ์กะเทาะลงไปในจุดดังกล่าว กลับทะลุเข้าไปในโพรงซึ่งมีเศษกระดูกปนกับก้อนกรวด และไม้ที่ถูกเผาไฟเป็นชิ้นเล็กๆ จึงช่วยกันโกยใส่กระสอบ และแจ้งทางวัดรับทราบ

ด้าน นายถาวร สาลีโท อายุ 33 ปี คนงานผู้เป็นประจักษ์พยานรายแรกๆ รับว่าเป็นคนพบโพรงดังกล่าวเองในขณะพยายามลอกปูนเก่าออกจากบริเวณพระปรางค์ แต่ยืนยันว่าในโพรงดังกล่าวไม่มีหีบบรรจุ โกศ ภาชนะ หรือสิ่งของอื่นใดอย่างแน่นอน พบเพียงกระดูก เศษไม้เผาไฟและก้อนกรวดที่ปะปนอยู่เท่านั้น

ข้อมูลเหล่านี้ ตรงกันกับปากคำของคนงานอีกหลายรายว่าไม่มีการพบวัตถุอื่น แต่แจ้งว่าคลับคล้ายคลับคลาว่ามี “เศษผ้า” ที่แทบจะกลายเป็นผง โดยปะปนไปกับเศษกรวดแล้ว

 

อ.โบราณคดี ‘ไม่เชื่อ’ อัฐิกองกับพื้น

พระเล่าถูก ‘ทิ้งขยะ’ ก่อนตามเจอ!

เหตุการณ์ยิ่งเข้มข้นชวนติดตาม เมื่อ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เปิดเผยถึงข้อมูลจากพระสงฆ์ในวัดว่า กระดูกดังกล่าวถูกช่างหรือคนงานนำไปทิ้งขยะก่อนที่พระซึ่งเข้าไปตรวจสอบงานที่พระปรางค์จะสังเกตเห็นว่ามีโพรงอยู่ที่ฐาน เมื่อสอบถามรายละเอียดจึงทราบว่ามีการพบกระดูกแต่ถูกนำไปทิ้งแล้ว จึงสั่งให้ไปติดตามกลับคืนมาแล้วคัดแยกจากขยะ ทำความสะอาด ตากแห้ง และเก็บใส่ภาชนะใหม่

ศาสตราจารย์ท่านนี้ ย้ำชัดว่า ไม่เชื่อว่ากระดูกจะถูกบรรจุไว้เฉยๆ โดยไม่มีภาชนะ !

“เรื่องอะไรจะเอากระดูกไปใส่ในห้องสี่เหลี่ยมเฉยๆ ต้องมีการใส่ผอบ ที่สำคัญคือ อยู่ๆ ช่างไปเจอแล้วเอากระดูกไปทิ้ง แล้วพระที่ไปตรวจทุกวันท่านเจอว่ามีช่อง พอเรียกช่างมาถามเลยต้องให้ไปตามจากถังขยะ ความสำคัญอยู่ที่ว่า ทำไมเอาไปทิ้ง แสดงว่ามีของมีค่าหรือไม่ อีกอย่างหนึ่งคือ กระดูกยังอยู่อย่างดี แสดงว่าต้องมีผอบบรรจุไว้”

(ซ้าย) พระปรางค์ระหว่างบูรณะ คาดแล้วเสร็จต.ค.นี้ (ขวา) ภาพเก่าวัดระฆังที่สังคมร่วมค้นคว้าเพื่อหวังคลายปริศนาเรื่องอัฐิ

คาดบุคคลสำคัญยุคต้นกรุง-ไม่เก่าถึง ร.1 แต่ไม่เกิน ร.5

สำหรับประเด็นที่ว่าเจ้าของกระดูกคือใครนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ แต่สันนิษฐานว่าต้องเป็นบุคคลสำคัญที่มีชีวิตอยู่ระหว่างต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5 เนื่องจากในยุคหลังจากรัชกาลที่ 5 ลงมา จะมีการบรรจุกระดูกในเจดีย์ 3 องค์ภายในวัดซึ่งเป็นเจดีย์ประจำตระกูลของผู้อุปถัมภ์วัด ซึ่งพบว่าที่เก่าที่สุดอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 6

“ต้องเป็นบุคคลสำคัญ คนอื่นคงไม่กล้าบรรจุไว้ในปรางค์องค์สำคัญของวัด โพรงที่บรรจุก็อยู่ในตำแหน่งตรงกลางหน้าพระพุทธรูปในโบสถ์ที่ตั้งอยู่ติดกัน ต้องลองตรวจสอบว่ามีพระราชพิธีเผาศพใคร อาจเป็นพระสงฆ์ที่เป็นเจ้านายหรือไม่ เพราะมี ม.ร.ว.ท่านหนึ่งเคยเป็นเจ้าอาวาสด้วย หลักฐานในตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ แต่ไม่น่าจะเก่าไปถึงสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะยุคนั้นน่าจะบรรจุกระดูกที่ฐานพระพุทธรูปหรือห้องคลังซึ่งที่วัดนี้ไม่มี และไม่ใช่กระดูกใหม่ เพราะรูปแบบไม่ใช่พิธีปัจจุบัน ซึ่งจะมีการจารึกชื่อคน แต่กระดูกที่พบนี้เป็นการบรรจุแล้วปิดผนึกไปเลย โพรงก็เป็นห้องกว้างมาก ใส่กระดูกเยอะมากด้วย อาจเป็นกระดูกทั้งตัว เท่าที่เห็นมีทั้งกระดูกข้อ กระดูกขา และกะโหลกด้วย”

 

สังคมร่วมค้นประวัติวัด หวังคลายปริศนาเจ้าของ ‘อัฐิ’

ไม่เพียงนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี

งานนี้ นักค้นคว้าสมัครเล่นผู้ซึ่งสนใจในศิลปวัฒนธรรมชาติ ก็พากันงัดหลักฐานด้านต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบูรณะวัดในแต่ละยุค โดยคาดหวังว่าอาจช่วยไขปัญหาคาใจว่ากระดูกนี้คือเจ้านายพระองค์ใดในประวัติศาสตร์สยาม

กูรูภาพถ่ายเก่าอย่าง “หนุ่มรัตนะพันทิป ณล” ซึ่งโด่งดังในโลกออนไลน์มานานนับสิบปี ได้เผยแพร่ภาพถ่ายและข้อมูล โดยสรุปว่า เดิมองค์พระปรางค์มีการบุทองจังโก ทำด้วยตะกั่วปิดทอง (เหมือนทางภาคเหนือ) มาหุ้มพระปรางค์ไว้จากฐานถึงยอด ซึ่งตรงนี้เราค้นพบตะปูยึดแผ่นทองที่ยื่นออกจากพระปรางค์ทำด้วยตะกั่ว แต่เมื่อมีการบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการซ่อมพระปรางค์ใหม่หมด จนบางจุดเปลี่ยนรูปร่างของศิลปกรรมต้นรัชกาลที่ 1 ไป

บริเวณใต้ฐานพระพุทธรูปเป็นพื้นไม้ทำให้เห็นว่าพระปรางค์กลวง ไม่ก่อปูนเต็มภายในเป็นซุงยืนต้นทำหน้าที่เป็นแกน

ฐานประทักษิณด้านล่างตรงกับโบสถ์เล็กของวัด มีการทำช่องบรรจุอัฐิและเศษไม้ฟืนที่เผานำมาบรรจุลงกรุไว้ ตรงกับโบสถ์เล็ก และพระสงฆ์จะมีการสวดจากในโบสถ์จนถึงพระปรางค์เสมอๆ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญของอัฐิในกรุนี้เป็นอย่างดี โดยหลักฐานชิ้นหนึ่งที่สามารถอ้างได้ว่า พระปรางค์ของวัดระฆัง (วัดบางหว้าใหญ่) นั้นเคยมีการหุ้มทองจังโก ด้วยพบตะปูสังควานรที่องค์พระปรางค์ เดิมจะทำโลหะครอบไว้

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของกระแสที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงปริศนาเรื่องเจ้าของอัฐิ แต่อีกหนึ่งปมปัญหาที่หลายคนตั้งข้อสงสัยก็คือขั้นตอนการบูรณปฏิสังขรณ์ว่า “กรมศิลปากร” ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดมากน้อยขนาดไหน เหตุใดคนงานของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง จึงสามารถนำกระดูกไปทิ้งขยะได้อย่างไม่มีใครรู้ แล้วหากโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ สูญหาย

ใครจะรับผิดชอบ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image