อาศรมมิวสิก : บันทึกของแม่ : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา มีการแสดงของนักเรียนที่จบระดับชั้นหนังสือเล่ม 3 ของเครื่องเชลโล ระบบซูซูกิ โดยเล่นเชลโลประกอบด้วยเปียโน ของเด็กชายอลีฟ ตุรงคราวี (พิพ) อายุได้ 8 ขวบ 2 เดือน ซึ่งเป็นเด็กไทยคนแรกที่เรียนจบ ในฐานะผมเป็นผู้ชมคนหนึ่ง รู้สึกตื้นตันใจมาก เพราะเป็นการสร้างเด็กนักดนตรีรุ่นใหม่ ที่ได้ผ่านการฝึกฝน การเอาใจใส่ และการตั้งใจทำ ความตั้งใจนั้นมาจากทุกฝ่ายตั้งแต่ครอบครัวซึ่งเป็นพ่อแม่ ตัวเด็กเองที่รักและชอบเล่นดนตรี เมื่อตัวเด็กอยากเรียนเชลโลก็ฝึกซ้อมอย่างหนัก และตัวครูผู้สอนที่ดูแลเด็ก ครูสามารถที่จะชี้ผิดและบอกถูกได้

สำหรับบทเพลงคลาสสิกที่พิพเล่นในวันนั้น มีรายการเพลงดังนี้ (1) เพลง Berceuse ของชูเบิร์ต (2) เพลง Gavotte ของลุลลี (Lully) ซึ่งลุลลีคนนี้ เป็นคนที่ชักชวนเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตสยาม ที่ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรี เมื่อปี พ.ศ.2230 ไปชมการแสดงโอเปร่าที่โรงมหรสพ ในกรุงปารีส (3) เพลง Minuet ของบอคเชรินี (4) เพลง Scherzo ของเว็บสเตอร์ (5) เพลง Minuet in G ของเบโธเฟน (6) เพลง Gavotte in C minor ของบาค (7) เพลง Minuet หมายเลข 3 ของบาค (8) เพลง Humoresque ของดโวชาค (9) เพลง La Cinquantaine ของมารี และ (10) เพลง Allegro Moderato ของบาค

ซึ่งบทเพลงทั้งหมดเป็นเพลงคลาสสิก เป็นเพลงที่รู้จักแพร่หลาย เหมือนกับเพลงลาวดวงเดือน ลาวเสี่ยงเทียน สร้อยแสงแดง ลาวคำหอม ประมาณนั้น เมื่อถูกนำมาปรับเล่นใหม่โดยใช้เครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ซึ่งเพลงเหล่านี้อาจพบว่ามีวงสตริงควอเท็ต (String Quartet) หรือนักเปียโน นิยมเล่นที่ห้องรับแขกโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งพิพเด็กชายอายุ 8 ขวบ ได้ฝึกซ้อมและแสดงด้วยเครื่องเชลโลได้คล่องทั้งหมด

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับพ่อแม่เด็กคนอื่นๆ ก็คือ “บันทึกของแม่” ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญสำหรับพ่อแม่ทุกคน เมื่ออยากให้ลูกเรียนดนตรี มีลูกแล้วจะดูแลลูกหรือจะให้การศึกษาลูกอย่างไร จริงอยู่การเลี้ยงดูลูกของแต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกัน เพราะฐานะทางเศรษฐกิจ ความพร้อมของครอบครัว การมีลูกมากหรือลูกน้อย มีคนช่วยดูแลเลี้ยงดูลูกหรือพ่อแม่จะต้องดูแลลูกเอง สภาพสังคมไทยในปัจจุบันนั้น พ่อแม่มีบทบาทมากที่สุดต่อการศึกษาของลูก ไม่ว่าลูกจะเรียนอะไร อนาคตของลูกอยู่ในกำมือของพ่อแม่

Advertisement

สำหรับกรณีที่พ่อแม่อยู่ในฐานะปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ หรือหาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ พ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ การลงทุนให้ลูกเรียนดนตรี เรียนพิเศษ เรียนบัลเลต์ เล่นกีฬา ว่ายน้ำ ออกกำลังกาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถตัดออกไปจากชีวิตได้เลย

ผมได้โอกาสคุยกับพ่อแม่ของพิพ คุณแม่ได้เขียนบันทึกไว้ให้เลย เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่เด็กคนอื่นๆ ต่อไป “เนื่องจากแม่มีอาชีพดูแลลูกเต็มเวลา พ่อทำงานคนเดียว แม่จึงมีเวลาดูแลลูกได้เต็มที่ คอยเฝ้าสังเกตว่าลูกถนัดในด้านไหน และด้วยความตั้งใจอยากให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบโดยไม่ต้องไปบังคับ พ่อแม่เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ยั่งยืน ได้พาลูกไปทำกิจกรรมหลากหลายในช่วงก่อน 3 ขวบ”

เมื่อพ่อแม่ค้นพบว่า ลูกน่าจะชอบดนตรี จึงพาลูกไปสมัครเรียนเปียโนเมื่ออายุได้ 3 ขวบ พ่อแม่เห็นว่าลูกมีความกระตือรือร้นอยากจะเรียนดนตรีด้วยตนเอง “แม่เคยถามลูกว่า มีความต้องการจะเรียนเปียโนหรือไม่ หากลูกไม่ชอบก็ขอให้บอก แม่พร้อมรับฟังและเคารพในการตัดสินใจของลูกเสมอ ตั้งแต่วันแรกที่ได้เริ่มเรียนดนตรีกระทั่งวันนี้ ลูกไม่มีท่าทีว่าจะหยุดเรียนดนตรีเลยสักวัน อาจจะสงสัยว่าเด็ก 3 ขวบ คุยกันด้วยเหตุผลได้แล้วจริงหรือ ซึ่งแม่ยืนยันได้ว่า เลี้ยงลูกโดยใช้เหตุผลประกอบมาตั้งแต่เล็ก ลูกสามารถรับฟังและคุยกันด้วยเหตุผลได้ดีในระดับหนึ่ง”

Advertisement

เมื่อพิพอายุ 4 ขวบ ได้เปลี่ยนครูเปียโนไปเรียนกับครูเสกข์ ทองสุวรรณ ซึ่งต้องจริงจังมากขึ้น ขณะที่เริ่มเรียนไวโอลินคู่ไปกับเปียโนด้วยอีกชิ้นหนึ่ง ทำให้พิพได้พบกับครูดนตรีหลายคน เรียนหลายเครื่องมือ ครูแต่ละคนก็จะบอกว่า “พิพหัวไวไปได้เร็ว” มาวันหนึ่ง พิพได้รู้จักกับเครื่องเชลโลซึ่งใหญ่กว่าไวโอลินหลายเท่า มีเสียงทุ้ม และพิพชอบมาก จึงชักนำให้เรียนเชลโลต่ออีกชิ้นหนึ่ง

พิพอายุได้ 5 ขวบ 3 เดือน ได้เริ่มเรียนเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ คือ เชลโล โดยได้เรียนกับครูซอย (ตปาลิน เจริญสุข) จนถึงจุดหนึ่ง พ่อแม่ลูกก็คุยกันว่า “ลูกน่าจะเลือกเครื่องดนตรีหลักหนึ่งชิ้น เพื่อให้สามารถทุ่มเทกับชิ้นนั้นได้เต็มที่ ลูกตัดสินใจเลือกเรียนเชลโลเป็นเครื่องมือหลัก”

ครูซอยเป็นผู้จุดประกายทำให้พิพหลงใหลในเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาก ภายใต้ข้อตกลงเรื่องความตั้งใจในการเรียน ความมีวินัย ความตั้งใจ และความรับผิดชอบในการฝึกซ้อม

การเรียนเชลโลกับครูซอยนั้น แม่จะเข้าไปนั่งเรียนในห้องด้วยทุกครั้ง หากแม่ไม่สะดวกก็ให้พ่อเข้าเรียนแทน และถ้าว่างทั้งพ่อแม่ก็เข้าเรียนในห้องเรียนด้วยทั้งสองคน เพื่อที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่นี้ไปพร้อมกับลูก เพื่อให้สามารถนำบทเรียนไปฝึกซ้อมที่บ้านได้ แม่จะฝึกซ้อมเชลโลไปพร้อมๆ กับพิพ พ่อก็ต้องซ้อมเชลโลด้วย ซึ่งส่วนใหญ่พ่อก็จะเป็นผู้ชม ถ่ายรูป และบันทึกภาพฝึกซ้อมเป็นวิดีโอ

พอเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง มีการเรียนเทคนิคและบทเพลงต่างๆ มากขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้น แม่ต้องจดบันทึกรายละเอียดในสิ่งที่ครูสอนให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกได้อ่านและเข้าใจได้ด้วยตนเอง เมื่อลูกโตขึ้นแม่เห็นว่า พิพชอบทำอะไรด้วยตนเองเป็นทุน แม่คิดว่าลูกน่าจะมีโอกาสได้ฝึกช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด เรียนรู้เพื่อจะเติบโตไปอีกขั้น แม่ก็ถือโอกาสให้ลูกได้ฝึกซ้อมด้วยตนเอง โดยการอ่านจากที่แม่ได้จดบันทึกไว้จากการเรียนในแต่ละครั้ง พิพซ้อมในห้องคนเดียว ขณะที่มีพ่อแม่นั่งฟังการฝึกซ้อมอยู่ข้างนอก

พ่อจะช่วยบันทึกภาพการฝึกซ้อมเพื่อส่งการบ้านครู แม่นั้นคอยช่วยให้คำแนะนำในการฝึกซ้อมในบางครั้ง ทั้งพ่อและแม่ได้เข้าเรียนเชลโลกับลูกทุกครั้ง เมื่อการเรียนของลูกก้าวไปไกล เกินความสามารถที่จะเข้าใจแล้วก็ตาม พ่อแม่ก็ใช้วิธีบันทึกเป็นภาพวิดีโอแทน เพื่อไม่ให้การสื่อสารผิดพลาด เพื่อให้ลูกทบทวนและฝึกซ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการบันทึกภาพวิดีโอเป็นหน้าที่หลักของพ่อ พิพก็จะเปิดวิดีโอที่พ่อบันทึกไว้แล้วฝึกซ้อมตามนั้น วันนี้พิพอายุ 8 ขวบ มีความสามารถใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกการซ้อมเพื่อส่งการบ้านครูซอยได้เอง ซึ่งครูซอยก็ตอบคำถามและข้อสงสัยได้ละเอียดทุกเรื่อง

“ส่วนเรื่องวินัยในการฝึกซ้อม ตอนแรกแม่มีเตือนเมื่อถึงเวลาฝึกซ้อม กิจวัตรประจำวันและการซ้อมที่สม่ำเสมอ ถึงจุดหนึ่งลูกเรียนรู้ที่จะจัดการตนเองว่า หลังกลับจากโรงเรียนจันทร์-ศุกร์ต้องทำอะไรบ้าง จะหยิบเชลโลไปซ้อมเอง วันละ 1 ชั่วโมง โดยแม่ไม่ต้องเตือนแล้ว หรือมากกว่าเมื่อใกล้การแสดงคอนเสิร์ต ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ไม่ได้ซ้อมเท่าไหร่ เพราะต้องไปเรียนเชลโลอยู่แล้ว”

“ปีนี้พิพได้โอกาสสอบคัดเลือกเล่นกับวงออร์เคสตราของโรงเรียน (Aum-Aree Little Orchestra) ก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งของนักดนตรีวัยเด็ก ซึ่งพิพมีโอกาสได้เล่นร่วมกับคนอื่น ฟังเสียงคนอื่น ได้รวมเล่นกันเป็นวง ทั้งรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน และปรับเข้ากับครูผู้ควบคุมวง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้พิพมุ่งมั่นในสายดนตรีเส้นนี้ต่อไป อนาคตหากลูกยังรักที่จะเดินทางสายนี้ พ่อกับแม่ก็พร้อมที่จะสนับสนุนสุดความสามารถ”

วันที่พิพแสดงเพื่อสอบจบ ระดับหนังสือเล่ม 3 ซึ่งมีเพลงจะต้องเล่นกับเปียโน 10 เพลง ทุกๆ เพลงจะต้องเล่นด้วยความจำทั้งหมด จำทำนองเพลง จำระดับเสียง เล่นคู่กับเปียโน แม้จะเป็นเพลงคลาสสิกสั้นๆ เพลงละ 3-4 นาที รวมกันแล้ว 32 นาที ซึ่งพิพมีโอกาสพักครึ่ง 5 นาที เมื่อเล่นจบเพลงที่ 5 เพื่อจะพักนิ้ว มีคนดู 28 คน มีเพื่อนๆ วัยเดียวกัน 8 คน ที่น่าสนใจมากก็คือ ผู้ฟังทุกคนตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิ เมื่อเล่นจบลงทุกคนก็ปรบมือ ต่างแสดงความยินดีในความสามารถของพิพ และพิพทำได้สำเร็จ

ความสำเร็จของพิพ ซึ่งเป็นนักเรียนเชลโลคนแรกที่เรียนจบหนังสือเชลโลเล่ม 3 ในระบบซูซูกิ เป็นก้าวใหม่ของการศึกษาดนตรีของไทย แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ของโลกใบใหญ่ แต่เป็นการจุดประกายที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตของเด็กไทยเลยทีเดียว ในยุคที่เด็กไทยพึ่งพาระบบการศึกษาของรัฐยาก พ่อแม่ต้องจัดการศึกษาให้ลูกเอง ทำได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของพ่อแม่ สำหรับพ่อแม่ที่มีโอกาสก็สามารถเลือกจัดการศึกษาให้แก่ลูกได้ พ่อแม่ที่ไม่มีโอกาสก็ต้องรอคอยการศึกษาตามยถากรรม ให้สภาพสังคมจัดการศึกษาให้กับลูกตามสภาพของสังคมไทย ซึ่งเมื่อพูดถึงคุณภาพก็ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร

พิพและพ่อแม่พิพ เป็นครอบครัวคนส่วนน้อยที่มีฐานะพอจะส่งเสียให้ลูกเรียนดนตรีได้ มีเวลาเอาใจใส่ดูแลลูกเต็มเวลา ตั้งอกตั้งใจพัฒนาลูกให้เต็มศักยภาพ พิพจึงเป็นโอกาสของเด็กรุ่นใหม่ โอกาสของคุณภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว แม้เป็นจุดเล็กๆ แต่ก็เกิดขึ้นจริง เชื่อว่าเด็กหลายคนก็จะเข้าแถวคุณภาพตามมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image