สุนทรภู่ อยู่วังหลัง บางกอกน้อย ธนบุรี รัฐราชการไทย “อำนาจนิยม” ไม่เข้าใจ

สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มองจากฝั่งธนบุรีไปฝั่งกรุงเทพฯ บริเวณวังหลวง วังหน้า วังหลัง ที่สุนทรภู่ มีชีวิตวนเวียนเกี่ยวข้องตั้งแต่เกิด( ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร, 2546)

สุนทรภู่ เป็นผู้ดีชาวบางกอก อยู่วังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย ธนบุรี แม่และพ่อรับราชการในอยุธยา แต่มีเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี

เขียนบอกกำเนิดตัวเองไว้อย่างน้อยในนิราศ 2 เรื่อง คือ นิราศสุพรรณ กับ นิราศเมืองเพชร

นิราศสุพรรณ บอกว่าตั้งแต่เกิดเป็นเด็กและเติบโตอยู่ในวังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย (ปัจจุบันเป็นบริเวณโรงพยาบาลศิริราช)

นิราศเมืองเพชร บอกว่าบรรพชนโคตรญาติย่ายายทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ เป็นเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี แต่หลังกรุงแตกก็พลัดพรากกันไป ไม่รู้ใครเป็นใครอยู่ไหนบ้าง เมื่อไปถึงย่านที่เคยเป็นโบสถ์พราหมณ์เมืองเพชร สุนทรภู่เขียนบอกว่า “เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา” กับอีกตอนหนึ่ง เขียนบอกชัดเจนว่า “แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ”

Advertisement

บรรพชนโคตรญาติทั้งฝ่ายแม่และฝ่ายพ่อของสุนทรภู่ เป็นเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี อ. ล้อม เพ็งแก้ว เป็นคนแรกที่เสนอต่อที่ประชุมวิชาการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ครั้งนั้นเป็นข่าวรู้กันในแวดวงวิชาภาษาและวรรณคดีไทยทั่วประเทศ

แล้วพิมพ์เป็นเล่มแบ่งปันเผยแพร่ทั่วไปหลายครั้งไม่เคยปิดบังซ่อนเร้น ทั้งในนามสถาบันการศึกษาที่ จ. เพชรบุรี และในนามสำนักพิมพ์มติชน [ครั้งล่าสุดสำนักพิมพ์มติชน (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2547) ในชื่อ สุนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล โดย ล้อม เพ็งแก้ว]

 อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่หน้าวัดพลับพลาชัย ริมแม่น้ำเพชร อ. เมืองฯ จ. เพชรบุรี

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่หน้าวัดพลับพลาชัย ริมแม่น้ำเพชร อ. เมืองฯ จ. เพชรบุรี

“ที่ชอบพูดกันว่า บิดาสุนทรภู่ไปบวชเพราะหย่าร้าง ก็ไม่จริงอีก เนื่องจากมารดาสุนทรภู่เป็นแม่นม แสดงว่าต้องมีเชื้อสายชนชั้นสูง ส่วนตัวคิดว่าอาจมีเชื้อราชนิกูล อีกอย่างหนึ่งคือ คนจะเป็นแม่นมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลังจะหย่าร้างไม่ได้ ดังนั้นบิดาสุนทรภู่คงบวชด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่ไม่ใช่เพราะหย่าร้าง”

Advertisement

ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร กล่าวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่มติชน อคาเดมี ในที่เสวนาหัวข้อ “สุนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล กับตำนานนักเลงกลอน” โดยสโมสรศิลปวัฒนธรรม (มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559 หน้า 8)

โลกไม่เหมือนเดิม ทางการไทยยังเหมือนเดิม

น.ส. นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจกแจงว่า

หากจะวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ก็อยู่ที่การตีความ บางเรื่องตั้งข้อสันนิษฐานได้หลายทาง เช่นที่ว่าเมืองแกลงไม่ใช่บ้านเกิด “สุนทรภู่” ก็คิดได้ แต่ก็เป็นไปได้เช่นกัน เพราะในนิราศเมืองแกลง บอกชัดเจนว่า “สุนทรภู่” เดินทางไปเยี่ยมพ่อที่เมืองแกลง แต่แม่ของ “สุนทรภู่” ทำงานรับใช้อยู่วังหน้า

ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว หากคนในวังแต่งงาน ต้องออกไปอยู่กับสามี ซึ่งพ่อของ “สุนทรภู่” มีบ้านอยู่เมืองแกลง เมื่อเลิกรากัน แม่ก็กลับมาอยู่บ้านที่วังหลัง โดย “สุนทรภู่” ตามมาอยู่ด้วย ซึ่งในหลักฐานประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกชัดเจนว่า “สุนทรภู่” เกิดที่ไหน จึงสันนิษฐานได้ทั้งสองแห่ง

บริเวณที่เคยเป็นเสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ ยุคเมืองเพชรบุรีโบราณ ย่านบรรพชนสุนทรภู่ ปัจจุบันอยู่วัดเพชรพลี อ. เมืองฯ จ. เพชรบุรี
บริเวณที่เคยเป็นเสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ ยุคเมืองเพชรบุรีโบราณ ย่านบรรพชนสุนทรภู่ ปัจจุบันอยู่วัดเพชรพลี อ. เมืองฯ จ. เพชรบุรี

ส่วนที่ว่า “สุนทรภู่” ไม่ได้มีอาชีพกวี ก็อาจใช่ แต่ “สุนทรภู่” เป็นผู้มีการศึกษา รับราชการเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงส่งเสริมศิลปะทุกแขนง และ “สุนทรภู่” เองก็มีพรสวรรค์เรื่องการแต่งกลอนและวรรณคดี ดังนั้น งานแต่งวรรณคดี กลอนนิราศของ “สุนทรภู่” จึงไม่ใช่งานประจำ แต่อาจเป็นงานอดิเรก ซึ่งผู้ที่มีรสนิยมทางเชิงกลอน นิยมและเฝ้ารอ

“สุนทรภู่” ตกอับในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะมีเรื่องขัดแย้งในช่วงที่รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ “สุนทรภู่” จึงไม่เป็นที่พอพระทัย ถือเป็นช่วงชีวิตที่ตกอับ จนเกิดเป็นนิราศภูเขาทอง

เรื่องทั้งหมดมีทั้งข้อเท็จจริงและเรื่องราวที่ “สุนทรภู่” แต่งขึ้นตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ละบทที่ สพฐ.เลือกมาให้เด็กเรียน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมในยุคสมัยนั้น โดยผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อย่างถี่ถ้วน

“เมื่อมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ สพฐ.คงไม่ไปเต้นตามแล้วปรับหลักสูตร เว้นแต่นักวิชาการเหล่านั้นจะมีข้อมูลหลักฐานมายืนยันข้อเท็จจริงและได้รับการพิสูจน์อย่างรอบคอบแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีการปรับหลักสูตรหรือชำระประวัติศาสตร์หนังสือเรียนที่เกี่ยวข้องกับสุนทรภู่” น.ส.นิจสุดาสรุป (มิติชน ฉบับวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559 หน้า 11)

ทางการไม่เคยแสดงหลักฐาน

1. สุนทรภู่ไม่เคยเขียนบอกว่าเกิดและโตมีเหย้าเรือนอยู่บ้านกร่ำ เมืองแกลง

2. นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่เขียนบอกไว้ชัดเจนว่าไปราชการของเจ้านายมีถึงบิดา ที่บวช ไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านเกิด

อาจารย์ล้อม ย้ำในงานเสวนาที่มติชน อคาเดมี ว่า “จะขอเชื่อเฉพาะที่สุนทรภู่เขียนไว้เท่านั้น”

ทางการว่าสุนทรภู่เกิดบ้านกร่ำ เมืองแกลง แต่ตลอดเวลาหลายสิบปีมาแล้วไม่เคยแสดงหลักฐานอะไรเลย มีแต่มโนเป็นนิมิตสันนิษฐานลอยๆ ตามๆ กันมา แล้วบงการให้ต้องเชื่อด้วยอำนาจนิยม

ขณะที่ฝ่ายไม่ทางการเสนอหลักฐานจากตัวบทของสุนทรภู่เขียนบอกเองเป็น ลายลักษณ์อักษร ทางการกลับไม่ใส่ใจ เลยตามไม่ทันความก้าวหน้าทางวิชาความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image