ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม และบทบาทสำคัญอีกครั้งของ ‘มิวเซียมสยาม’

ชั่วระยะเวลาไม่กี่เดือนที่มาผ่าน ทั้งข่าวขึ้นทะเบียนโขนไปจนถึงการมาเยือนไทยของออง ซาน ซูจี ชวนให้ต้องยอมรับแต่โดยดีว่า ชาตินิยมของไทยนั้นยังแข็งขัน แข็งแรง และแข็งแกร่ง ชนิดที่หลายครั้งก็ถูกใช้เพื่อเหยียดผู้อื่น-ทั้งอาจโดยเจตนาและไม่เจตนา

น่าเศร้าที่พฤติกรรมเช่นนี้ หากมองย้อนกลับไปหลายปี กระทั่งหลายสิบปีก่อน เราก็จะพบว่าสังคมไทยยังโอบกอดความเชื่อเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยมไว้อย่างแน่นหนา ไม่ว่าจะผิดหรือถูก เพื่อภาคภูมิใจหรือเพื่อยกยอตัวเอง

ใช่ไหมว่าด้านหนึ่งแล้ว ชาตินิยมกระแสหลักที่เราต่างรับรู้ผ่านบทเรียน ผ่านสื่อ ที่สุดแล้วเป็นดาบสองคมที่ไม่เพียงเราจะไว้ใช้เชิดชูหัวใจตัวเอง แต่ยังเป็นอาวุธที่ใช้ทิ่มแทง “ความเป็นอื่น” ซึ่งปรากฏอยู่ในครรลองสายตา

มิวเซียมสยาม อาจนับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่อยู่กับชาตินิยมและความหลากหลายได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดตัว มิวเซียมติดล้อ ชุด เรียงความประเทศไทย ในรูปแบบย่อยสาระประวัติศาสตร์ไทยใส่ตู้คอนเทนเนอร์ นำเสนอการเรียนรู้เคลื่อนที่ทั่วประเทศอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเทคโนโลยีและการอนุญาตให้ผู้เข้าเยี่ยมชมจับต้องวัตถุที่ใช้จัดแสดงได้

Advertisement

ความน่าสนใจไม่เพียงอยู่ที่แนวคิด แต่อยู่ที่เนื้อหาประวัติศาสตร์ซึ่งหลายครั้งหลายคราว อยู่นอกเหนือหนังสือเรียนและกรอบความเชื่อของสังคม ไม่ว่าจะเป็นที่มาของคนไทย ชาติพันธุ์อันหลากหลาย ไปจนถึงทัศนคติของผู้คนในชาติ

นี่จึงอาจไม่ได้เป็นเพียงการกะเทาะเนื้อหาประวัติศาสตร์กระแสหลักออก แต่ยังอาจหมายถึงการพยายามทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่าเนื้อหาในตำราตั้งใหญ่อีกด้วย

ราเมศ พรหมเย็น

การเล่าเรื่อง

หัวใจสำคัญของประวัติศาสตร์

ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ทั้ง 5 ตู้วางเรียงกันเป็นรูปเกือกม้าที่อุทยานการเรียนรู้ตราด อำเภอเมือง จังหวัดตราด สะดุดตาด้วยรูปวิวัฒนาการมนุษย์ที่ถูกวาดอย่างบรรจงอยู่บนผนังของแต่ละตู้ นักเรียนหลายคนยืนถ่ายรูปอยู่ข้างนอก และอีกจำนวนมากเดินสำรวจอยู่ภายใน เงื่อนไขของการเดินในมิวเซียมติดล้อนี้มีเพียงข้อเดียว คือเดินจากตู้แรกไปจนตู้สุดท้ายเพื่อทำความเข้าใจและไล่เรียงถึงต้นกำเนิดประเทศและสังคม โดยทั้ง 5 ตู้นั้นเริ่มที่ความเป็นไทยแต่เดิม เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันขณะที่อยู่ในภาวะโลกเลื่อนไหลและหลากหลาย

Advertisement

ไม่แปลกใจที่นักเรียนหลายคนทำหน้าตื่นๆ ขณะเดินผ่านตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ เกือบทุกคน-ถ้าไม่ถ่ายรูป ก็จับจ้องและตั้งใจอ่านเรื่องราวซึ่งถูกนำเสนออยู่ตรงหน้าชนิดไม่ละสายตา ก็อาจเพราะเทคโนโลยีอย่างโฮโลแกรม หรือข้าวของเครื่องใช้ที่สมจริงด้วย

เหล่านี้ทำให้ทำลายอคติความเชื่อในใจของหลายๆ คนที่ว่า คนไทยไม่นิยมเดินพิพิธภัณฑ์อย่างง่ายดาย

“นั่นเพราะว่าเราจะไปวางเป้าหมายให้เขาต้องมาเดินไม่ได้” ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือมิวเซียมสยามกล่าวอย่างอารมณ์ดี ขณะเฝ้ามองนักเรียนอีกกลุ่มเดินเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ตู้แรกซึ่งพูดถึงต้นกำเนิดไทย

“ถามว่ายากไหม ผมคิดว่าต้องใช้เวลา แต่ไม่ยากมากหรอกเพราะคนไทยสนใจเรื่องการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เขาสนใจสิ่งที่เราอยากนำเสนอมากกว่า”

นั่นอาจเพราะราเมศมองว่า เรื่องประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และสังคมนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจในตัวเองอยู่แล้ว แต่ที่สุดก็อาจเหมือนเรื่องอื่นๆ คือต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเสนอ “เรื่องมันทรงคุณค่า แต่มันจืดจางลงถ้าเรานำเสนอในแบบเก่าๆ ลองนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เรื่องเดิมแท้ๆ กลับน่าสนุกขึ้นมาทรงคุณค่าขึ้นมาได้”

เช่นเดียวกับที่ ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายมิวเซียมสยาม กล่าวในประโยคถัดมา

“แต่คนทั่วไปก็อาจรู้สึกว่างานพิพิธภัณฑ์มันน่าเบื่อมากเลย ที่ไหนก็มีแต่หินตั้ง ไฟส่อง อ่านไม่รู้เรื่อง ห้ามจับ ห้ามเสียงดัง พอแบบนี้ก็ไม่สนุก” เธอหัวเราะ ก่อนจะขยายความถึงที่มาของการอนุญาตให้จับต้องข้าวของ เล่น ถ่ายรูป ไปจนถึงพูดคุยในพิพิธภัณฑ์ได้

“ก็เพื่อดึงดูดให้เยาวชนเข้ามาเที่ยวค่ะ” เธอยิ้มเป็นการปิดท้าย

 

ใช้หลักจิตวิทยาในการนำเสนอ

คือหัวใจของการเรียนรู้ยุคใหม่

สิ่งหนึ่งซึ่งนับเป็น “จุดแข็ง” ของมิวเซียมสยามเสมอมาคือ การเปิดกว้างเรื่องความรู้ และไม่ปิดกั้นต่อความคิดความเชื่อของมนุษย์

“มิวเซียมสยามเป็นทางเลือกใหม่ เพราะในการนำเสนอแบบดั้งเดิมมันเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ ความตรงของข้อมูล เช่น ของชิ้นนี้มาจากศตวรรษที่เท่าไหร่ แต่การนำเสนอรูปแบบใหม่ของเราคือเอาแต่ละชิ้นมาต่อกันเป็นเรื่องราว เพื่ออำนวยความสะดวกให้เยาวชนเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ให้เขามีแรงจูงใจในการศึกษา และหากเราใส่สภาวะแวดล้อมให้สนุกสนาน ใส่หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ของมนุษย์เข้าไป ก็ช่วยจูงใจให้เขาอยากศึกษาหาความรู้ได้มากขึ้น” ราเมศขยายความถึงเคล็ดลับ

“เรานำหลักวิชาการมาผสมผสานในการจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ เพื่อสนองตอบต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ครับ”

นี่ยังหมายถึงการขัดกันกับความเชื่อของคนไทยอย่างหนึ่งที่มักเข้าใจไปว่า การเรียนรู้นั้นต้องแยกกับการเล่นโดยสิ้นเชิง

“เราใช้หลักจิตวิทยา ว่าการเรียนรู้ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่สนุกสนานส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้มากกว่าในสภาพบังคับ สภาพการเรียนรู้ทางจิตใจในแต่ละช่วงมีผลต่อการเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์จะไม่เหมือนเดิม เราต้องใช้องค์ความรู้หลายศาสตร์ เพื่อจะให้ความรู้เหล่านี้ไปประสานให้ตรงกับการเรียนรู้ของมนุษย์” ชายหนุ่มปิดท้ายพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ

(ล่าง) ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี, เด็กนักเรียนขณะเที่ยวชม

ชาตินิยม

ดาบสองคมในโลกสมัยใหม่

ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายมิวเซียมสยาม เสริมประเด็นน่าสนใจของประวัติศาสตร์และชาตินิยมในไทยซึ่งถูกนำเสนอผ่านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งด้านหนึ่งอาจน่าหวั่นกลัวว่าจะเป็นการโหมกระพือความเชื่อด้านชาตินิยมจนไปกดทับคนอื่น แต่เธอยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามิวเซียมสยามไม่เป็นเช่นนั้น

“เราแทรกข้อมูลหลากหลายเพื่อจะบอกว่าคนไทยคืออะไร แล้วให้คนที่มาเที่ยวสรุปเอาเอง เรามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงที่คุณไม่เคยรู้และไม่ได้อยู่ในแกนกลางประวัติศาสตร์ที่คุณเคยเรียนเท่านั้นเอง ฉะนั้น การจะสรุปว่าไทยแท้เป็นอย่างไร ฉันเป็นไทยแท้หรือเปล่า ก็ต้องคิดเอาเอง” นั่นเป็นจุดยืนของเธอและของมิวเซียมสยาม

“สิ่งที่เรานำเสนอบางส่วนก็ไม่ได้เป็นกระแสหลัก ถ้าคุณอยากไปอ่านประวัติศาสตร์แกนกลางก็ไปอ่านจากหนังสือ แต่พิพิธภัณฑ์มีเพื่ออะไร ก็มีเพื่อเพิ่มเติมความรู้ที่คุณหาความรู้ไม่ได้จากห้องเรียน เราจึงต้องใส่องค์ความรู้ที่เขาหาไม่ได้ในห้องเรียน เป็นการเติม เป็นประโยชน์ของการมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์”

ใน มิวเซียมติดล้อ นี้ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากคือการพูดถึงความเป็นไทยที่หลากหลายไปด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ หญิงสาวยิ้มเมื่อพูดถึงเรื่องนี้-อาจกล่าวได้ว่า นั่นเป็นยิ้มที่ภูมิใจและเปี่ยมไปด้วยความรักในสิ่งที่เธอทำ

“ชาตินิยมกับความหลากหลายแตกต่างกันนะคะ ชาตินิยมปลูกฝังความรักชาติ แต่ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ไม่เกี่ยวข้อง ในตัวคนคนหนึ่งอาจมีหลายเชื้อชาติ แต่มันไม่ได้บอกว่า การที่คุณมีเชื้อชาติเหล่านี้แปลว่าคุณจะไม่รักประเทศ

“และนั่นคือการบอกว่าตระกูลของเราสืบมาจากไหน ให้เรารู้ราก แต่ไม่ได้บอกว่าตระกูลฉันเข้มแข็งกว่าตระกูลเธอ”

และนั่นอาจนับเป็นการสรุปความต่อกรณีชาตินิยมได้อย่างงดงาม เรียบง่าย และชัดเจนที่สุด ว่าถึงอย่างไร ท่ามกลางการแย่งชิงอัตลักษณ์

เราล้วนยืนอยู่บนกระแสอันเชี่ยวกรากของความหลากหลายด้วยกันทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image