ถอดเสื้อกาวน์ จับพู่กัน บรรจงวาด ‘ปักษา’ บทเรียนธรรมชาติ ‘บันทึกป่าของหมอหม่อง’

บริเวณชั้น 3 ที่แกลเลอรี่โอเอซิส โรงภาพยนตร์อินดี้ แถวสุขุมวิท มีหนึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจ ไม่เฉพาะเนื้อหา แต่รวมถึงผู้สร้างผลงาน อย่าง “หมอหม่อง” นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนวณิชย์ หมอโรคหัวใจ ผู้หันหน้าสู่งานด้านการอนุรักษ์

คือเจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์และธรรมชาติล้านนา ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเปิดสมุด ละเลงสีสันบนกระดาษ วาดภาพสีน้ำถ่ายทอดเรื่องราวของนกนานาชนิด ด้วยแรงบันดาลใจจากการเล่าเรื่องธรรมชาติ และการเดินป่ากับแม่ตั้งแต่ครั้งยังเด็ก กลั่นออกมาเป็นบันทึก สมุดภาพเขียนธรรมชาติ 15 เล่ม ที่ถูกคลี่ จัดเรียงรายให้เห็นอยู่ตรงหน้า

ชื่อภาษาอังกฤษ และการบันทึกอย่างเรียบง่าย แต่ฉายอารมณ์ความรู้สึกเด่นชัด ชวนให้ต้องเดินลงไปชั้นสอง เพื่อซื้อตั๋วเข้าโรงชมภาพยนตร์ “Dr.Birdman” บันทึกป่าของหมอหม่อง รักของเขามีปีกบิน ภาพยนตร์สารคดี ที่ถ่ายทำ ตัดต่อ และกำกับ โดย “อิ๋ง” สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้เป็นพี่สาว 174 นาที พาเราเข้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยสีสัน ถ่ายทอดผ่านสายตาที่เฝ้าสังเกตธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 36 ปี ทำให้หมอผู้นี้ ลอกเลียนเสียงนกได้อย่างแม่นยำ

Advertisement

เปิด ‘บันทึกเล่มแรก’ ของหมอหม่อง

คุณหมอนั่งเล่าที่บ้านแม่ ณ เชียงใหม่ ในบรรยากาศร่มรื่น เสียงนกแว่วเป็นระยะ คุณหมอเปิดบันทึกเล่มแรกอย่างตื่นเต้น ก่อนจะเล่าเรื่องชายหนุ่มวัยย่าง 21 ปี “เริ่มเขียนบันทึกเล่มแรก เมื่อปี 2529 จำได้ว่า ไปแคมป์กับเพื่อนในป่าที่เขาใหญ่ เจอกระทิงคอขาด เป็นเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เห็นการล่าสัตว์ ไม่เคยเห็นสัตว์ที่โดนล่าแล้วตัดคอไป มันกระทบจิตใจมาก จุดนั้นทำให้รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องสื่อสาร อยากหาคนมาช่วยกัน ให้คนเข้าใจว่ามนุษย์เรากำลังทำอะไรอยู่”

คือจุดแรก ที่ทำให้หมอผู้นี้เริ่มส่องนก จากการส่องกล้องทะลุหน้าต่าง และเริ่มวาดรูปนก เพราะได้แรงบันดาลใจจากหนังสือรูปวาดนก ก็เริ่มเขียนนกมากขึ้น เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ออกไปไกลมากขึ้น เริ่มสังเกตความละเอียดของนก ความต่างของปากนกแต่ละชนิด

“ยิ่งเขียนบ่อย จะยิ่งสังเกต สังเกตก็จะเขียนได้ดีขึ้น” คุณหมอเผยด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะโชว์ภาพ นกเงือก และเล่าถึงเหตุการณ์สนุกๆ ว่า นี่เป็นนกเงือกตัวแรกที่เจอ พาเพื่อนไปเขาใหญ่ด้วยรถตู้ที่ไปส่งโรงเรียน ด้วยความอินโนเซนต์จึงลงไปถ่าย ช้างวิ่งมา ก็วิ่งขึ้นไปบนรถ แต่รถสตาร์ตไม่ติด หรือ อีกสถานการณ์ที่บอกว่าชอบมาก ครั้งไปเฝ้าโป่งอยู่ห้วยขาแข้ง เจอ “ค่างแว่นถิ่นเหนือ” และ “วัวแดง” แบบใกล้ชิด ก็จะจดอะไรที่เจอแล้วรู้สึกตื่นเต้นลงไปด้วย

Advertisement

“ตอนที่กำลังจะเรียนหมอจบ เริ่มเดินทางไกลมากขึ้น ใช้แลนด์โรเวอร์คันเก่าของพ่อขับไปห้วยขาแข้งกับแม่และพี่ สนุกมาก เข้าป่าลึกๆ รถไฟเสียกลางทาง สังเกตว่าตัวเองตอนนั้นจะเริ่มเขียนตามที่เห็นจริงๆก่อนหน้านั้นจะวาดนกเหมือนลอกมาจากหนังสือ Bird guide ตอนนี้เริ่มเห็นพฤติกรรมของมัน เหยี่ยวแมลงปอ กำลังกินแมลงปอ เจอนกยูง เริ่มรู้สึกว่าวาดฟรีขึ้น ไม่แข็งเหมือนแต่ก่อน เริ่มสบายใจกับการถ่ายทอด ชอบการเขียนตอนนี้ของตัวเองที่สุด

ดูแล้วจำความรู้สึกได้อย่างมาก เป็นสิ่งที่พอเปิดปุ๊บ ความรู้สึก เสียง กลิ่น ตอนนั้นกลับมา ดงหญ้าที่ไปเฝ้ากับเพื่อนเพื่อเฝ้าถ่ายนกยูงกลับมา เป็นอย่างไรออกมาหมด เพราะเราเอาความรู้สึกของเราลงไปในเส้นทั้งหมด” คือจุดเปลี่ยนด้านเทคนิคการบันทึกความทรงจำ

คุณหมอพลิกเล่มแล้วเล่มเล่า ก่อนจะเล่า การมาดูนกที่ชายเลน แถวสมุทรสาคร เห็นนกติดตาข่าย

“แต่ก่อนวาดเรื่องความสวยงาม แต่ตอนนี้เราเจอเหตุการณ์ที่อยากจะบอกคนอื่น แต่ก่อนเป็นนาเกลือ ก็เปลี่ยนเป็นนากุ้ง พอนกมากินลูกกุ้งก็เลยติดตาข่าย ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง การเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมที่มากขึ้น เริ่มเห็นว่าสิ่งที่เรารักโดนจับ โดนฆ่าอยู่เรื่อยๆ มันเศร้า รู้สึกอยากบอกคนอื่น

“ตั้งแต่เล็ก เราอยู่สุขุมวิท มีคลองหน้าบ้าน มีนาอยู่ข้างหลัง ที่ชะอำมีชายหาดสุดสายตา ปูลมวิ่ง เป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มันจุก เห็นของที่เคยวิเศษตอนที่เราเล็กๆ มันพังไปต่อหน้าต่อตา อยากบอกคนอื่นให้เข้าใจ และหวงแหนสิ่งวิเศษเหล่านี้ เก็บมันไว้ บางทีก็ต้องบันทึกเรื่องที่เศร้า เพราะอยากจะบอกคน”

“นกเป็นประตู เป็นทูตเชิญชวนให้เราอยากเข้าป่า” คุณหมอบอกว่าสมัยก่อน เป็นโรค Plant Blindness ดูแต่นก ไม่ดูต้นไม้ เพราะเป็นคนชอบสัตว์ แต่สัตว์ต้องพึ่งพาต้นไม้ ต้องสนใจว่ามันชอบกินอะไร บ้านของเป็นแบบไหน จึงมาคิดว่า เราจะจบความสนใจแค่สัตว์ไม่ได้ พืชมันไม่ขยับ ไม่เต้น ไม่ร้อง แต่มันเจ๋งกว่าสัตว์ มันอยู่เฉยๆ อยู่กับที่ก็เอาตัวรอดได้”

ผกผัน หันสู่ธรรมชาติ สื่อสารชีววิทยา

ปี 2535 ช่วงผกผันของชีวิต นพ.รังสฤษฎ์ ด้วยตั้งใจว่าจะออกจากการเป็นหมอ และเข้าไปทำงานเรื่องธรรมชาติ เพราะรู้สึกว่าคนเป็นหมอมากพอสมควรแล้ว แต่คนทำงานสื่อสารเรื่องธรรมชาติยังน้อย จึงเริ่มศึกษาวิจัยนกเงือกอย่างจริงจัง ลงลึก ‘ปักษีวิทยา’ เพื่อศึกษาละเอียดนกโดยตรง ทำให้เข้าใจธรรมชาติอีกมุมมองหนึ่ง เพราะอยากเชื่อมต่อระหว่างอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ กับสิ่งที่คนทั่วไปรับรู้และถึงใจได้เขาได้

จากนั้นคุณหมอหม่อง ก็เริ่มวาดนกเงือกอย่างละเอียดมากขึ้นเพราะรู้จักนกเงือกอย่างแท้จริง ซึ่งการบันทึกยังทำให้หมอหม่อง เห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ชัดขึ้น อย่าง “นกเปลือกไม้” ปัจจุบันเหลือน้อยลงมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรืออย่างที่ภูหลวง เจอ “ซาลาเมนเดอร์” สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งกำลังจะแห้งตาย

“มันคงพยายามเดินข้ามถนนในป่า ไปบ่อน้ำข้างหน้า อีท่าไหนไม่รู้หมดแรง ตากแดดอยู่ ซึ่งมันเป็นสัตว์หายากมากในเมืองไทย มีเฉพาะบนภูเขาที่น้ำสะอาด และป่าที่สมบูรณ์ ก็เลยเอาน้ำไปละใส่ตัว จนมันค่อยๆ ดึ๋งๆ เหมือนเติมน้ำเข้าไปในอะไรสักอย่าง มันกระดิกนิ้วแล้วชีวิตกลับคืนมา ก็ใช้เวลาประมาณ 10 นาที วาดรูปตอนมันกำลังฟื้น และพาไปใส่ในที่ๆ มันตั้งใจจะไป ชื่นใจมาก เวลาที่เจอะไรแบบนี้ ชื่นใจมาก ถ้าช้าไปอีกนิดก็คงตากแห้งเป็นซาลาเมนเดอร์แดดเดียว จึงตั้งชื่อมันว่า ‘บุญรอด'”

คุณหมอยังเล่าถึงประสบการณ์ ครั้งบินไปส่องธรรมชาติที่ต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรกที่สนใจธรรมชาติของบ้านเมืองนี้อย่างจริงจัง และพบว่าอุดมสมบูรณ์มาก ได้เห็น “แอนนา ฮัมมิ่งเบิร์ด” ที่แคลิฟอร์เนีย ความพิเศษคือข้างบ้านมีป่า “คอสตอลเรดวู้ด” ที่สูงปรี๊ด

“เขาสูง 90 เมตร แล้วเราตัวนิดเดียว เข้าไปแล้ว ทำให้เรารู้สึกกระจอกแบบสุด อายุเป็นพันปี บางต้นเกิดมาสมัยพระพุทธเจ้า 2,000 กว่าปี อยู่มานานมาก มันช่วยทำให้เรารู้ที่รู้ทางของเราว่าอยู่ตรงไหน ในเมืองที่เราใช้ชีวิตธรรมดา ไม่ทันนึก แต่พอเราเข้าไปอยู่ในที่แบบนี้ ทำให้เราลดความลืมตัวไปได้ ป่าช่วยเตือนสติเราดีมาก ใหญ่โต และวิเศษมากจริงๆ”

อีกหนึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้ เมื่อได้เจอนกไก่ฟ้า บนดอยปุย กำลังหากินอยู่กับพื้น

“เราเดินไปเงียบๆ เป็นทางโค้ง มันกำลังหากินอยู่กับพื้นเป็นตัวผู้ ไก่ฟ้า สีแดง-ขาว-น้ำเงิน เหมือนลายไตรรงค์ธงชาติไทย แต่คนไทยกลับไม่รู้จัก ฝรั่งยอมเสียเงินบินข้ามทวีปเพื่อมาดู เป็นของดีของเมืองเชียงใหม่ เป็นอีกเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่ามรดกทางธรรมชาติเป็นอะไรที่เราไม่ค่อยรู้ คนไทยให้คุณค่ากับมรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางสถาปัตยกรรม แต่มรดกทางธรรมชาติไม่ค่อยได้ให้คุณค่า ไม่เคยรู้ว่าบ้านเรามีอะไรดี เป็นมรดกที่อยากเก็บรักษาไว้ถึงลูกหลาน แต่ถ้าไม่รู้ว่ามีของดีงามอะไรอยู่ในบ้านเรา เวลาขโมยขึ้นบ้านก็คงจะขนไปหมด โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้าง”

คุณหมอบอกอีกว่า ที่อินเดียศรีลังกา เราเข้าไปใกล้นกได้มาก เพราะนกมีความไว้ใจ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับว่าประเทศไหนยากจน แต่เป็นวิธีคิดของคนในชาตินั้นว่า เขามองชีวิตที่แตกต่างรอบตัว ว่ามีศักดิ์ศรี มีสิทธิในการดำรงอยู่เท่าเทียมกันหรือไม่อย่างไร เขาเคารพทุกชีวิตหรือไม่

“คนไทยเราน่าเสียดาย จะเห็นว่านกไม่ไว้ใจคนจะหนีห่างเรามาก ผมใช้ระยะนี้เป็นตัวชี้วัดความเมตตาของชนชาตินั้นๆ เพราะสัตว์ทั้งหลายจะสอนลูกสอนหลาน และเรียนรู้ตลอดมาว่าเข้าใกล้มนุษย์ได้ระดับไหนไว้ใจได้ระดับไหน

นกจะแบ่งอาชีพกันอย่างมาก เหมือนสังคมมนุษย์ที่จะต้องมีหมอ มีพยาบาล มีจิตรกร มีนักข่าว มีคนขายส้มตำ หลากหลายอาชีพ สังคมจึงจะอยู่ได้ นกบางชนิดก็มีอาชีพเฉพาะหากินซอกตามหินปูนตามเขา สิ่งต่างๆ จึงมีความสำคัญมากต้องรักษาไว้ในความหลากหลาย”

‘ป่า’ คือห้องแล็บทางจิตวิญญาณ

หมอหม่องยังกล่าวในช่วงท้าย ของสารคดีว่า บางครั้งการที่เจอไม่ได้ทำอะไร นั่งอยู่เฉยๆ ก็มีสัตว์พิเศษเกาะ หรือยืนอยู่ให้เห็นข้างหน้าเรา หมอกแหวกม่านให้ หรืออย่างตอนที่กำลังจะออกจากเขาหินปูน เจอค่างลาว ซึ่งเป็นสัตว์ถิ่นมีที่เดียวตากแดดอยู่ มาเซย์กู๊ดบาย หรืออย่างเขาหลวง นครศรีธรรมราช นกที่นั่นจะเชื่องมาก เพราะไม่เคยมีศัตรู ไม่เคยมีมนุษย์ไปล่า ซึ่งทำให้เห็นว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องระวังภัย

“มันยอมให้เราเข้าไปใกล้มาก มันเดินมาหา มันสงสัย มันดูเราด้วยความอยากรู้ ความรู้สึกนี้มันช่างวิเศษจริงๆ ที่เราได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมโลก ไม่ถูกรังเกียจ”

“ป่าเป็นห้องแล็บทางวิญญาณเรามาทดลอง ทดสอบ มาเรียนรู้ธรรมชาติข้างในตัวเรา” คือคำสอนของ พระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชธัมโม ครูธรรมชาติคนนึงของหม่อง ซึ่งมีโอกาสได้เดินป่า เพราะตามธุดงค์ท่านตอนเด็ก เป็นการทดลองที่สนุกมาก ความประทับใจคือ ท่านทำให้รู้ว่าความรักความเมตตาที่ท่านมีต่อสรรพสิ่งในโลกมากมายเหลือเกิน ท่านทำให้เราเห็นว่าการรักษาป่าไม่ใช่เรื่องของกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่มิติในเชิงกฎหมาย หรือทางชีววิทยาเพียงอย่างเดียว แต่คือทางจิตวิญญาณและศีลธรรมด้วย ท่านสอนให้เรามีเมตตาต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย ว่าการรักษาป่า คือ “การรักษาธรรม”

ภาพสุดท้ายไม่ใช่ภาพจดบันทึกจากความเป็นจริง แต่เป็นภาพซึ่งวาดขึ้นเผื่อนึกถึงสิ่งที่สูญเสียในบ้านเมืองของเรา สัตว์ที่เราเห็นในภาพได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เป็นฉากท้องนาสมมุติแถวอยุธยา เล่าว่าในอดีต เรามีอะไรอยู่บ้าง มีนกกระเรียน เต้นระบำหาคู่ โดยการระบำเต้นบัลเล่ต์กระโดดไปกระโดดมา นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร อาศัยในทุ่งนา กวางที่มีเขางามที่สุดในโลก อาศัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีที่ไทยเพียงที่เดียว

“การสูญพันธุ์ คือ ตลอดกาล เป็นมรดกที่ไม่สามารถส่งต่อถึงลูกหลานได้อีกต่อไปแล้ว

“การที่เราจะเติบโตขึ้นมาในโลก ซึ่งไม่มีเสียงร้องของนก ไม่มีสัตว์ทั้งหลายอยู่รอบตัวเรา ผมว่ามันเป็นโลกซึ่งว่างเปล่า ที่เหงา และแร้นแค้น เราสูญเสียสิ่งเหล่านั้นที่จำเป็นมาก ซึ่งเท่าเทียมกับความจำเป็นทางกายภาพด้วยซ้ำ คือ ความจำเป็นของจิตวิญญาณ ความงามของสิ่งเหล่านี้พาเราไปสู่ความจริง เข้าใจทุกอย่างอย่างลึกซึ้ง เข้าใจเหตุผลของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่และเข้าใจความจริงของโลกที่ดำเนินรอบตัวเรา อยากให้ออกไปเรียนรู้กับธรรมชาติเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เพราะมีของวิเศษมากมายอยู่รอบตัว ที่เราอาจหลงลืมไป”

“คุณแม่ชอบพูดสุภาษิตจีน มีเงิน 2 บาท เอา 1 บาทไปซื้อขนมปัง ซาลาเปา อีกเหรียญเอาไปซื้อดอกไม้ ดอกไม้จะทำให้เรามีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ เพราะไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ถ้าไร้ซึ่งความงาม เป็นร่างที่มีลมหายใจ แต่ไร้ซึ่งชีวิต” คือถ้อยคำที่สองพี่น้อง ฝากไว้ในสารคดีเรื่องนี

ยังมีความหวัง ที่เราจะนำสิ่งเหล่านี้กลับมาสู่แผ่นดินของเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image