ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : ปัญหาหน้าฝน’ไฟฟ้าตก-ดับ’

แฟ้มภาพ

คําถามใกล้ตัว 3 สิ่งนี้ “คอนโด-รถไฟฟ้า-ห้าง” ใครใช้ไฟมากกว่ากัน

คำตอบให้เดากันหัวแตกเข้าใจว่าน่าจะไม่ตรงกับเฉลยแน่นอน เพราะลองสอบถามคนใกล้ตัวส่วนใหญ่เรียงไปตามความรู้สึก จะยกให้รถไฟฟ้า (ในที่นี้คือรถไฟลอยฟ้าบีทีเอส) มาอันดับ 1 รองลงมาเป็นห้างกับคอนโดมิเนียม

คำเฉลยจาก “พี่เจษฎา แก้วลังกา” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กองจัดการและสั่งการระบบไฟฟ้า ฝ่ายควบคุมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (โห๋ ชื่อตำแหน่งยาวตั้งแต่เชียงใหม่ยันสงขลาเลยเนาะ) ได้ความว่า ห้าง 1 ห้าง อยู่กลางเมื้องกลางเมือง มีชื่อประเทศไทยเป็นคำโบราณแปะอยู่ข้างหน้า ใช้ไฟ 20 เมกะวัตต์ รถไฟฟ้าบีทีเอสใช้ไฟ 12 เมกะวัตต์ ส่วนคอนโด 1 แท่ง ทั่นบอกว่าจิ๊บๆ ค่ะ

คอลัมน์นี้เราคงไม่ไปสนใจหรอกนะว่า ห้าง 1 ห้างใช้ไฟฟ้าเทียบเท่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัด (ฮา)

Advertisement

เข้าเรื่องกันจริง ๆ ซะที มี 2 เหตุการณ์ที่ทำให้การไฟฟ้านครหลวง หรือ “กฟน.” ต้องลุกขึ้นมาส่งสัญญาณบางอย่างกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการ 3 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรีสมุทรปราการ)

เหตุการณ์แรกคือ บ้านเมืองเรากำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาล จากหน้าร้อน 44 องศาเข้าสู่ฤดูฝน แน่นอนว่านอกจากจะชื้นแฉะแล้ว อากาศก็ต่ำและเย็นสบายกว่ากันเยอะเลย ปัญหาคือหน้าฝนมาพร้อมกับลมพายุพัดแรงบ้างไม่แรงบ้าง ยังไม่นับรวมเวลาฝนตก ถนนลื่น มีอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้าอยู่เนืองๆ วันดีคืนดีมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอขึ้นไปฆ่าตัวตายจนทำให้ไฟดับอีกต่างหาก

นั่นหมายความว่า ช่วงหน้าฝนมีความเสี่ยงจากปัญหากระแสไฟฟ้าดับ-กระแสไฟฟ้าตก มากกว่าฤดูกาลอื่นของปี

Advertisement

เหตุการณ์ที่ 2 ดังได้เกริ่นไว้แล้วว่าหน้าร้อนเมืองไทยปีนี้ฟาดเข้าไป 44-45 องศาเซลเซียส ทำให้ผู้ใช้ไฟในเขตนครหลวงทำสถิติ “นิวไฮ” แปลว่าทำสถิติสูงสุด ทุบสถิติที่เคยมีในอดีต ประเด็นของปี 2559 น่าสนใจตรงที่ทาง กฟน.เขาบอกว่า เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การใช้ไฟนิวไฮในรอบ 50 กว่าปี หรือสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้ง กฟน.ก็แล้วกัน

ลองเอาสถิติมาวางกองเรียงกัน ข้อมูล ณ ปี 2558 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด หรือ Maximum Demand เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2558 เวลา 13.30-14.00 น. อยู่ที่ 8,755.98 เมกะวัตต์

มาปีนี้ทำยอดใหม่ ณ วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2559 ใช้ไฟปรี๊ดขึ้นมาอยู่ที่ 9,296.57 เมกะวัตต์ ในช่วงเวลาเดียวกันคือบ่ายโมงครึ่ง-บ่ายสองโมง (ภาษาวงการไฟฟ้าเขาเรียกว่า พีคโหลด เป็นอาการที่ทุกคนกระหน่ำใช้ไฟพร้อมกัน ทำให้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดตามไปด้วย)

เรื่องที่การไฟฟ้าเขากลัวเข้าใจว่าเป็นเรื่อง “มู้ดผู้บริโภค” เพราะตั้งแต่มีโซเชียลมีเดีย ดูเหมือนจะเกิดพฤติกรรมผู้บริโภคพวกชอบมโน คิดเองเออเองเยอะ ดังนั้น ก็เลยตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการเปิดเปลือยกระบวนการทำงานของธุรกิจกระแสไฟฟ้าระบบจำหน่ายให้เห็นหมดเปลือก เพื่อเรียกความสบายใจ

ตามธรรมเนียมที่จะต้องแถมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนะคะ การไฟฟ้าของบ้านเรามี 3 หน่วยงาน แต่มีเพียง 2 ระบบ นั่นคือ ระบบผลิตกับระบบจำหน่าย

ไฟฟ้าระบบผลิตก็รับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตัวย่อว่า “กฟผ.” เวลาอ่านข่าวบางทีเขาจะเรียกว่า “อีแกต” มาจากตัวย่อภาษาอังกฤษว่า EGAT

กับไฟฟ้าระบบจำหน่าย มี 2 องค์กร รู้แล้วชิมิคะ ก็มีการไฟฟ้านครหลวง รับผิดชอบ 3 จังหวัดนั่นไง ตัวย่อคือ “กฟน.” ที่เหลือมีอีกหน่วยงานคือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เหมารับผิดชอบจังหวัดที่เหลือ น่าจะประมาณ 74 จังหวัดทั่วประเทศ ตัวย่อคือ “กฟภ.”

อธิบายเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ว่า กฟน.เขาไม่ได้ลงทุนโรงผลิตไฟฟ้า แต่เขาจะต้องลงทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้า นั่นก็คือทำสถานีไฟฟ้าย่อยกับทำสายส่ง ประเด็นคือเมืองไทยใช้ระบบสายอากาศ หมายความว่าปักเสาพาดสายที่เห็นทั่วไป เป็นเสาไฟฟ้าคอนกรีตสูงโด่เด่ต้นละ 15 เมตร เห็นตามฟุตปาธกับริมทาง ความถี่ของการปักเสาอาจจะ 40 เมตรบ้าง 50 เมตรบ้าง หรือถ้าพื้นที่รอบนอกอาจจะห่างกัน 100 เมตร

ปัจจุบัน กฟน. มีสถานีสายส่ง 152 สถานี (ข้อมูล ณ 31 พฤษภาคม 2559) ประเด็นคงอยู่ที่ที่ดินตารางวาละล้านทำเลใจกลางเมือง จะไปหาซื้อที่ดินที่ไหนมาทำสถานีสายส่งได้ล่ะ กลายเป็นที่มาที่ไปของการลงทุนตั้ง 3,000 ล้านบาททำ “อุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน” อยู่ลึกลงไปจากผิวดิน 21-30 เมตร ถ้าความลึกเตี้ยๆ อย่าง 21 เมตรเป็นความลึกปกติ แต่ถ้าลึก 30 เมตรแปลว่าเส้นทางอุโมงค์ไปเจอจุดตัดกับตอม่อรถไฟฟ้าใต้ดินบ้าง หรือไปเจอจุดตัดอุโมงค์ผันน้ำของ “กทม.” หรือกรุงเทพมหานครบ้าง

จริงๆ แล้วอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินเสร็จตั้งแต่ปี?52 ลากไฟจากสถานีสายส่งบางกะปิป้อนเข้าสถานีชิดลม ระยะทาง 7 กิโลเมตร จากไฟฟ้าก้อนใหญ่ 230 กิโลโวลต์ ถูกแปลงร่างตลอดทางจนเหลือขนาดเล็กลง ได้แก่ 115 กิโลโวลต์, 69 กิโลโวลต์, 24 กิโลโวลต์ และ 12 กิโลโวลต์เพื่อป้อนเข้าสู่บ้านคนในที่สุด

สำหรับผู้ใช้ไฟระดับไฮโซ (หมายถึงพักอาศัยเขตเมืองชั้นใน) สถานีชิดลมจะป้อนไฟฟ้าให้กับอีก 20 สถานีสายส่งรอบข้าง เพราะฉะนั้น มีปัญญาลงทุนคอนโดมิเนียมสูงระฟ้าแค่ไหนก็ทำไปเถอะ ไฟฟ้ามีเพียงพอแน่นอน

ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. มีประสิทธิภาพป้อนไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟได้สูงสุด 21,095 เมกะโวลต์แอมแปร์ (mva) ทอนกลับเป็นเมกะวัตต์ที่พวกเราคุ้นหูต้องใช้ค่าเฉลี่ย 0.85 นำไปคูณจะได้ตัวเลข 17,930 เมกะวัตต์ แปลว่าสายส่งยังรองรับไฟฟ้าสูงสุดได้อีกเหลือเฟือ เพราะพีคโหลดเพิ่งจะ 9,000 กว่าเมกะวัตต์เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น เรื่องเทคโนโลยีเขาลงทุนไปเยอะแล้ว อันตรายจากการใช้ไฟช่วงหน้าฝนจึงย้อนกลับมาในรูปแบบสูงสุดคืนสู่สามัญ คำแนะนำจากใจผู้บริหาร กฟน. ทั่นบอกว่า ผู้ใช้ไฟควรเพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้าในช่วงหน้าฝน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพปลอดภัยต่อการใช้งาน

เรื่องที่ต้องคำนึงนอกจากบ้านเราเอง ก็หนีไม่พ้นเพื่อนบ้านนี่แหละ ทั่นบอกว่าสำหรับบ้านที่มีต้นไม้ในรั้วบ้าน ควรหมั่นสำรวจต้นไม้ไม่ให้รบกวนสายไฟฟ้า เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าดับกินบริเวณกว้างได้นั่นเอง รักนะ จุ๊บ จุ๊บ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image