มองข้ามยุคสมัย ‘ขบวนการนักศึกษา’ ในความเงียบยังมีการเคลื่อนไหว

ขบวนการนักศึกษาไทยในอดีตขึ้นมามีบทบาทในการเมืองระดับชาติตั้งแต่ทศวรรษ 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไล่เรียงมาทศวรรษ 2500 และ 2510

พันธกิจในการต่อต้านอำนาจรัฐขับเคลื่อนโดยขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้าย ในยุคที่แนวคิดมาร์กซิสต์และสังคมนิยมแพร่หลาย สถานะ “อภิสิทธิ์ชน” ของนักศึกษาในยุคที่มีสถาบันอุดมศึกษาเพียงไม่กี่แห่ง เรียกร้องให้กลุ่มปัญญาชนจ่ายคืนภาษีที่ใช้ไปกับการศึกษา ในรูปแบบการอุทิศตนรับใช้สังคม นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

ขณะที่ภาพของนักศึกษาฝ่ายอนุรักษนิยมเกี่ยวพันอยู่กับผู้มีอำนาจและพรรคการเมืองฝ่ายขวา ในลักษณะการสมาทานชุดความคิดเดียวกันไปจนถึงการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ

ภาพความสำเร็จของขบวนการนักศึกษายุค 14 ตุลาคม 2516 ยังประทับในความทรงจำประชาชน

Advertisement

ทว่าภาพที่ลืมไม่ได้คือขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ถูกตีพ่ายจนเกิดการสังหารหมู่ ถอยร่นเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนจะเหลือเพียงอดีตเจ็บปวดที่การพยายามชำระประวัติศาสตร์ยังไม่เคยกระจ่างชัด

นิยามของขบวนการนักศึกษาในความจดจำของผู้คนคือ “พลังบริสุทธิ์” อันเข้าใจได้ว่า การขับเคลื่อนของวัยแสวงหามุ่งสู่การดำเนินการเพื่อรับใช้หลักการเหนืออื่นใด

สิ่งเหล่านี้ได้เคลื่อนตัวออกจากนิยามเดิมหรือไม่?

Advertisement

เกิดการตั้งคำถามบ่อยครั้งถึงความเปลี่ยนแปลงในขบวนการนักศึกษาที่ปรากฏตัวในพื้นที่การเมือง ทั้งในแง่ความสำเร็จและรูปแบบวิธีที่เปลี่ยนไปตามบริบท

ตัดภาพกลับมามองปัจจุบัน ขบวนการนักศึกษาที่มีบทบาทที่สุดอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM อีกทั้งยังมีกลุ่มย่อยๆ อีกหลายกลุ่ม

ท่ามกลางเสียงค่อนขอดที่มองว่า “พลังนักศึกษา” เป็นเพียงฝันหวานของเด็กไม่รู้จักโต หรือการบอกว่าอดีตไม่หวนกลับ-ปัจจุบันไม่เหมือนเดิม นักศึกษากลุ่มนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่กลุ่ม ที่กล้าส่งเสียงในวันที่สังคมพร้อมใจกันเงียบ

นักศึกษา ประชาธิปไตยใหม่

กลุ่มเคลื่อนไหวขบวนเก่าถึงจุดตีบตัน

สำหรับ ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง มองว่าการเกิดขึ้นของนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในปัจจุบันมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากขบวนการนักศึกษาในอดีต โดยเป็นกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจาก NDM ยังมี กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา หรือเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานผสานเชื่อมโยงกับกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ อย่าง พลเมืองโต้กลับ นอกจากนี้ฝั่งนักเรียนมัธยมก็มี กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

“สะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเก่าที่เป็นขบวนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น นปช.หรือ กปปส. มาถึงจุดตีบตัน ประกอบกับสภาวการณ์ภายใต้ระบอบรัฐประหารทำให้การเคลื่อนไหวแบบใหญ่เกิดไม่ได้ จะเหลือคนกลุ่มเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวได้ เมื่อโจทย์พวกเรื่องความเป็นธรรม ความเสมอภาค สิทธิความเท่าเทียม เป็นคำถามที่แหลมคมมากในปัจจุบัน คนในวัยแสวงหาจะรู้สึกรุนแรงในหลักการเหล่านี้ อีกทั้งนักศึกษาเองมีการพบปะในชีวิตกันอยู่แล้ว จึงเรียกร้องต้นทุนและทรัพยากรในการจัดระเบียบองค์กรน้อยกว่า เอื้อให้นักศึกษาลุกขึ้นมาได้”

ข้อเปรียบหนึ่งขณะที่กลุ่มต่างๆ ถอยร่นไปตามมุมต่างๆ การเป็นนักศึกษาที่ได้ชื่อว่าเป็น “พลังบริสุทธิ์” ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องอำนาจโยงใยเบื้องหลังหรือผลประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่ากลุ่มอื่น

ผลสะเทือนจากการจับนักศึกษาที่ผ่านมานั้น อนุสรณ์มองว่า ยิ่งทำจะยิ่งทำให้เห็นว่า 1.การจับด้วยสาเหตุที่เบามาก แต่ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดรุนแรง สะท้อนถึงความรู้สึกอ่อนไหว ไม่มั่นคง เปราะบาง 2.การจับแล้วปล่อย-จับแล้วปล่อย ชี้ให้เห็นว่าอำนาจที่เหมือนจะมีล้นฟ้า แต่ถึงที่สุดแล้วมีเพดานอยู่

“สะท้อนให้เห็นว่าต่อให้ คสช.มีมาตรา 44 บังคับใช้ แต่เอาเข้าจริงก็ทำได้จำกัด เพราะเราไม่ได้อยู่ในสังคมชนเผ่าบุพกาลที่เอาไม้ไปตีหัวใครแล้วลากเข้าถ้ำ ต่อให้มีกฎหมายที่เขียนให้ล้าหลังขนาดไหน แต่การบังคับใช้ก็มีขีดจำกัด

“ผมว่ามีคนที่เห็นพ้องกับพวกเขา จึงไม่สามารถเด็ดหัวเป็นชิ้นๆ ได้อย่างนักโทษทางการเมืองในอดีตที่เคลื่อนไหวเป็นกลุ่มก้อน ขบวนไม่ได้ขยายซึมลึกในสังคมแบบที่เรายืนอยู่ในทุกวันนี้ เมื่อจะจับใครสักคนก็ส่งแรงกระเพื่อมมหาศาล เหมือนหยิบอะไรแล้วมีสายยึดโยงติดขึ้นมาพะรุงพะรังเต็มไปหมด จึงทำได้ยากถ้าจะจับใครด้วยข้อหาง่ายๆ” อนุสรณ์กล่าว

อนุสรณ์ อุณโณ – ธิกานต์ ศรีนารา

แสวงทางอิสระจากการเมือง 2 กระแส

ด้าน ดร.ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้สนใจศึกษาเรื่องปัญญาชนไทยและขบวนการทางการเมือง กล่าวว่า ขบวนการนักศึกษากลุ่มใหม่เกิดขึ้นในบริบทองค์การทางการเมือง 2 ฝ่ายที่ค่อนข้างเข้มแข็ง คือ ฝ่ายเสื้อเหลือง พันธมิตร กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เข้มแข็ง มีกลุ่มชาวบ้านนักศึกษาและเอ็นจีโอเข้าไปอยู่เยอะ อีกซีกหนึ่งคือ เสื้อแดง มีพรรคเพื่อไทย นักศึกษาปัญญาชน ชาวบ้าน และ นปช.เป็นองค์กรจัดตั้งที่สำคัญ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างอิสระหาได้ยากมาก ยังไงต้องอยู่ภายใต้สองกลุ่มนี้ และยังมีองค์กรปัญญาชนนักวิชาการที่พยายามก่อตัวเป็นอิสระจากทั้งสองกระแส อย่างล่าสุดคือเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

“ก่อนหน้านั้นมีกระแสความอึดอัด ด้านหนึ่งฝ่ายเสื้อแดงถูกนำโดยพรรคเพื่อไทยและ นปช.ที่ไม่เป็นอิสระและมีความผิดพลาดหลายอย่างเช่นเรื่องการเหมาเข่ง จนมีความเห็นว่าน่าจะมีองค์กรใหม่ขึ้นมาเป็นอิสระจากเพื่อไทย-นปช. นักศึกษาเองอาจเห็นพ้องต้องกันและจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาเรียกว่า ประชาธิปไตยใหม่ นัยยะว่าตัวเองไม่ได้อยู่ภายใต้ใคร และยืนยันเรื่องการต่อสู้เชิงหลักการประชาธิปไตยมากกว่าจะอิงอยู่กับตัวบุคคล

“ด้านหนึ่งพอเป็นอิสระก็ได้รับความไว้วางใจจากคนที่ระแวงเสื้อแดงและเพื่อไทย อยากเคลื่อนไหวประชาธิปไตยแต่ไม่อยากได้ชื่อว่าตัวเองอยู่ภายใต้ทักษิณหรือเพื่อไทย มีความสบายใจ แต่คนจะน้อย ไม่มีมวลชนขนาดใหญ่ มีความเห็นเกิดขึ้นว่าถ้าคุณจะชนะได้คุณต้องมีมวลชนเยอะ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาด้วยกับเสื้อแดง” ธิกานต์กล่าว

จับ นักศึกษา

ฐานมวลชนที่เปลี่ยนไปจากอดีต

เทียบกับในอดีต ธิกานต์มองว่า ช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาฯ ขบวนการนักศึกษาจะเป็นทางการกว่า มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จะต้องหามติร่วมกับองค์การนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัย มีฐานมวลชน แต่ทำงานช้ากว่าจะลงมติได้

ส่วนขบวนการประชาธิปไตยใหม่คล้ายกลุ่มอิสระ ไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้นำ พอมีอิสระก็เคลื่อนไหวง่าย คล่องตัว ตัดสินใจได้รวดเร็ว แต่ถ้ามองแบบเก่าในแง่การจัดตั้ง มีการทำงานจัดตั้งน้อย เพราะเน้นการเคลื่อนไหว

กรณีการติดคุกด้วยข้อหาทางการเมือง เทียบอดีตกับปัจจุบัน ธิกานต์มองว่าผลและความรุนแรงแตกต่างกันมาก

“สมัยก่อนถ้านักศึกษาติดคุกทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เพราะสถานภาพของนักศึกษาสมัยก่อนค่อนข้างได้รับการยอมรับสูงจากคนในสังคม เพราะสถาบันทางการศึกษามีน้อย แต่เดี๋ยวนี้อาจารย์-นักศึกษากับชาวบ้านมีระยะห่างไม่มาก และบริบททางการเมืองไม่เหมือนกัน รัฐบาลสมัยก่อนอย่างจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีทั้งความขัดแย้งในกองทัพเอง และฝ่ายที่ไม่ชอบถนอมก็มี รัฐบาลถนอมจึงเปราะบางมาก ไม่มีอำนาจอื่นๆ มารองรับความชอบธรรม เมื่อนักศึกษาถูกจับ ทำให้คนกล้าที่จะลุกฮือขึ้นมา ไม่เหมือนตอนนี้ที่มีองค์ประกอบหลายอย่างหนุนอยู่ อย่างคนชั้นกลางถึงแม้ไม่ชอบแต่ต้องปกปักรักษา เพราะกลัวว่าทักษิณจะกลับมา”

การเคลื่อนไหวของ NDM ที่ผ่านมาจะมีการเน้นจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง หนักบ้างเบาบ้าง จนถึงการถูกจับกุมคุมขัง 2 ครั้ง ซึ่งยืนยันว่าจะไม่ประกันตัวเพื่อยืนยันความถูกต้องของกลุ่มตน ท่ามกลางสายตาจับจ้องขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ธิกานต์มองกระแสว่า หากคาดหวังการจุดกระแสให้คนออกมาเหมือน 13 กบฏ เมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 นั้นคงไม่ได้

“แรกๆ เข้าใจว่าเขาอยากจุดกระแส การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้จะนำไปสู่การลุกฮือ แต่ผมคิดว่าไม่ถึงขั้นที่จะพลิกคว่ำได้ แต่ถ้าเป็นองค์กรใหญ่อย่างเพื่อไทย นปช. เมื่อเสื้อแดงออกมาอาจจะอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมวลชนเยอะกว่ามาก

“แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ทำให้สังคมไม่เงียบ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล คสช.ไม่มีความชอบธรรม มีคนไม่เห็นด้วย ต่อต้านและไม่ยอมตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี”

ประชาธิปไตยใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image