อาศรมมิวสิก : สอนดนตรีปฏิบัติผ่านสื่อออนไลน์ : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวิกฤตโควิด-19 ผู้ว่ากรุงเทพฯ (21 มีนาคม 2563) ประกาศปิดสถานศึกษา ปิดสถานบริการ ปิดศูนย์การค้าในเขตเมือง ฯลฯ คนทำงานในกรุงเทพฯ ต้องกลับบ้านต่างจังหวัด เพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยก็กลับบ้านด้วย (23 มีนาคม 2563) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แถลงข่าวให้ข้อมูลเตือนให้ทุกคนระวังสถานการณ์ว่า หากไม่ปฏิบัติตามหมอแนะนำ จะทำให้ผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นถึง 3 แสนคน อาจตาย 7 พันคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แสดงว่าเวลานี้แนวรบหน้าสุดอยู่ที่โรงพยาบาล นักรบที่อยู่แถวหน้าเป็นหมอและพยาบาล ศัตรูนั้นเป็นเชื้อโรคที่อยู่ประชิดตัวทุกคน หมอบอกว่า “โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ หากคนไม่ติดต่อกัน”

แนวหลังต้องดูแลตัวเอง เก็บตัวอยู่ในที่ตั้ง ไม่สร้างปัญหา ไม่เป็นภาระ และไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน ดำเนินชีวิตต่อไปแม้จะถอยหลังเพื่อตั้งหลัก แม้จะย่ำเท้าอยู่กับที่ หรือเดินเวียนเป็นวงกลมก็ตาม ย้ำว่าขยับตัวไว้เพื่อความหวัง การมีชีวิตอยู่และทำหน้าที่ต่อไป “หน้าที่มีอำนาจเหนือตำแหน่ง” คำพูดของชายนิรนาม หน้าที่ต้องทำ ซึ่งช่วยประคองความเชื่อมั่นเอาไว้

เมื่อโรงเรียนสอนดนตรีทุกประเภทปิด ทั้งที่ตั้งอยู่บนดิน บนห้าง ศูนย์การค้า หรืออยู่ตามห้องแถว เปิดสอนดนตรีต่อไม่ได้เพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบถ้วนหน้าในหลายมิติ เด็กไม่ได้เรียน ครูไม่ได้สอน กระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งตัวบุคคล องค์กร ระบบการศึกษา ต้องค้นหาวิธีทำงานใหม่จากที่บ้าน จัดการเรียนการสอนดนตรีเพื่อหล่อเลี้ยงให้ระบบการศึกษาไม่ตาย

สอนดนตรีออนไลน์เป็นเรื่องใหม่สำหรับครูไทย เพราะความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในสังคมไทยยังช้าอยู่ การลงทุนสูงและต้องซื้อเครื่องมือหลายชิ้น ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยียากขึ้น แต่สำหรับครูดนตรีและนักเรียนดนตรีรุ่นใหม่ ดนตรีเปลี่ยนสถานภาพเป็นวิชาสำคัญสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กในสังคมเมือง

Advertisement

เด็กที่เรียนดนตรีในโรงเรียนตามมาตรา 15 (2) เป็นการเรียนดนตรีที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพสูงวิธีหนึ่ง เป็นการเสริมประสิทธิภาพการเรียนดนตรีในระบบโรงเรียนสามัญ พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นว่าทำให้ลูกได้มีโอกาสที่ดี จึงสนับสนุนให้ลูกได้เรียนดนตรีเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโรงเรียนพิเศษไม่ได้กวดวิชา ไม่ได้เรียนดนตรีเพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เป็นการเรียนดนตรีเพื่อพัฒนาให้เด็กเป็นคนเต็มคน เพื่อพัฒนาดนตรีให้เป็นหุ้นส่วนของชีวิตเด็ก ใช้ดนตรีเพื่อสร้างความสุขส่วนตัว และใช้ดนตรีเป็นเพื่อนในยามยาก ซึ่งมีโรงเรียนดนตรีพิเศษอยู่ทั่วประเทศ มีนักเรียนดนตรีพิเศษหลายแสนคน

ดนตรีเป็นวิชาหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองสนับสนุนให้ลูกได้เรียน เด็กในโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีอยู่ 200 กว่าแห่ง มีครูดนตรีที่มีคุณภาพสูงและสอนดนตรีเด็กได้ในเวลาเรียน เด็กในโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่ไม่ต้องเรียนดนตรีพิเศษ ส่วนเด็กที่เรียนพิเศษดนตรีเพื่อเพิ่มเติม เป็นเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนไทยทุกประเภท ตั้งแต่โรงเรียนชั้นสูง โรงเรียนชั้นนำ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนชั้นตาม และโรงเรียนทางเลือกด้วย ถ้ามีโอกาสเวลาอำนวย ฐานะพ่อแม่ช่วยเกื้อหนุน พ่อแม่ทุกคนก็จะผลักดันให้ลูกได้เรียนดนตรี

รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (24 มีนาคม พ.ศ.2563) ควบคุมสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม เป็นต้นไป 1 เดือน (ถึงวันที่ 30 เมษายน) สนับสนุนให้ทุกคนอยู่บ้านและไม่ไปมาหาสู่ติดต่อกันจะช่วยลดปัญหาของโรคติดต่อได้ โรงเรียนดนตรีคงปิดอีกนาน เมื่อครูดนตรีสอนตัวต่อตัวไม่ได้ นักเรียนพบครูไม่ได้ ก็ต้องจัดการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ เพราะดนตรีจะต้องฝึกซ้อมอยู่สม่ำเสมอ

Advertisement

หลักฐานจากโคลงโลกนิติ
“เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม ดนตรี เรียนดนตรีต้องหมั่นฝึกซ้อม ไม่ซ้อมเจ็ดวันก็ลืม
อักขระห้าวันหนี เนิ่นช้า เรียนหนังสือ ไม่ทบทวนห้าวันก็ลืม
สามวันจากนารี เป็นอื่น สามวันจากหญิงคนที่รัก อาจจะเปลี่ยนไปได้
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า อับเศร้า หมองศรี” วันหนึ่งไม่ล้างหน้า จิตใจและหน้าตาก็เศร้าหมอง

ช่องทางการเรียนดนตรีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เด็กติดต่อครูได้โดยใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเด็กก็จะได้เรียนดนตรีและได้ฝึกซ้อมดนตรีอย่างต่อเนื่องขณะอยู่ที่บ้าน เด็กยังพัฒนาฝีมือต่อไปได้ ครูนั้นหยุดสอนก็จะขาดรายได้ ครูสอนพิเศษเป็นอาชีพรายชั่วโมง ทำงานได้เงินคิดเป็นรายชั่วโมง เมื่อไม่ได้สอนก็จะไม่มีรายได้ ครูดนตรีพิเศษจึงมีความจำเป็นและมีความต้องการที่จะต้องทำงานเพื่อรักษางานไว้

จึงต้องหันไปพัฒนาการสอนออนไลน์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทันสมัย ทันเหตุการณ์ และได้สร้างช่องทางใหม่

เครื่องมืออุปกรณ์สำคัญสำหรับครูและนักเรียนต้องมี อาทิ เครื่องดนตรี โน้ตเพลง โทรศัพท์มือถือ (แท็บเล็ต/คอมพิวเตอร์/โทรทัศน์) แล้วแต่สะดวก โดยต่ออินเตอร์เน็ต (Internet) มีคลื่นความเร็วสูงพอควร เพื่อให้คลื่นมีความต่อเนื่องไม่ขาดเป็นระยะในระหว่างที่เรียน และคลื่นจะต้องเสถียร

โปรแกรมที่นิยมใช้ (Application) ได้แก่ Zoom, LINE, Messenger, Skype, FaceTime, Google Meet ซึ่งครูและนักเรียนจะต้องใช้โปรแกรมเดียวกัน ส่วนใหญ่จะใช้ซูม (Zoom) จะทำให้ภาพกับเสียงมีความสัมพันธ์กันดีกว่า หากภาพกับเสียงไม่สัมพันธ์กัน อาทิ ภาพมาแล้วเสียงไม่มา หรือเสียงมาแล้วภาพยังไม่มี หรือภาพและเสียงติดแล้วหยุดๆ ดับๆ เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้น สามารถหาได้ไม่ต้องเสียเงิน แต่ก็มีขีดจำกัด อยากได้ของดีก็ต้องเสียเงิน หรือหากมีใช้อยู่แล้วก็วิเศษ

ครูดนตรีนั้นต้องเตรียมเครื่องมือให้ครบล่วงหน้า 10 นาที ก่อนสอน จัดอุปกรณ์ เตรียมเครื่องมือ ไมโครโฟน เครื่องดนตรี ตั้งเสียงเครื่องดนตรีเสียก่อน จัดโน้ตเพลง จัดเก้าอี้ให้พร้อม ประสานกับพ่อแม่ผู้ปกครองไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวฝั่งนักเรียนให้พร้อมด้วย การจัดสอนดนตรีปฏิบัติออนไลน์นั้น สามารถโต้ตอบระหว่างนักเรียนกับครูได้ พ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญสุด เมื่อนักเรียนอายุยังน้อยช่วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่เป็นผู้ออกค่าเรียนพิเศษ ซึ่งอาจจะเป็นความปรารถนาของพ่อแม่ด้วยซ้ำไป ที่อยากให้ลูกได้เรียนดนตรี ซึ่งพ่อแม่จะต้องเรียนดนตรีไปพร้อมๆ กับลูกด้วย

ครูผู้สอนดนตรีปฏิบัติ (ออนไลน์) ครูจะต้องมีความสามารถทางดนตรีสูง เพราะการสอนออนไลน์จะถูกส่งไปให้คนอื่นดูอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หากครูไม่แม่นในความรู้ ไม่ชัดในความสามารถ ก็จะไม่สำเร็จ ครูต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมพอควร ต้องวางแผนการสอนดนตรี ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ในแต่ละชั่วโมงที่จะสอนต้องเตรียม
ตัวเป็น 2 เท่า ส่วนผลที่ออกมาก็ยังสู้การสอนจริงแบบตัวต่อตัวไม่ได้ เพราะการสอนโดยตรงไม่ผ่านสื่อจะมีชีวิตชีวามากกว่า มีการโต้ตอบในการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย

แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 บังคับให้ต้องสอนออนไลน์ อย่างน้อยเด็กได้เรียนออนไลน์ก็ดีกว่าที่เด็กไม่ได้เรียนดนตรีเลยหรือหยุดไปเลย อีก 1-2 เดือน

วิธีการและกระบวนการเรียนการสอนดนตรีปฏิบัติออนไลน์ นอกจากครูต้องเตรียมตัวมากขึ้นแล้ว ครูต้องตรวจการบ้านมากขึ้น เด็กบางคนต้องแบ่งสอนเป็น 2 เวลา ครั้งละครึ่งชั่วโมง เพราะการเอาจริงเอาจังในการสอนออนไลน์ยาว เด็กก็จะเบื่อและเหนื่อยมาก การโต้ตอบและการตรวจสอบผลของการเรียนการสอนได้ผลประมาณ 70-80% เพราะมีช่องว่างและมีมิติที่สูญหายไประหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์

การประเมินผลการสอน ข้อดีของการเรียนดนตรีออนไลน์ คือ เด็กๆ ได้พบครูต่อเนื่องทุกสัปดาห์ มีการฝึกซ้อมและส่งการบ้านมากขึ้น ได้พัฒนาดนตรีอย่างต่อเนื่อง เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

สิ่งที่พบใหม่ คือ การสอนดนตรีปฏิบัติออนไลน์ ต้องพัฒนาวิธีการโต้ตอบเพื่อให้สามารถทำได้เสมือนจริง หากครูมีความชำนาญด้านเทคโนโลยีมากขึ้นก็จะเป็นทางเลือกในอนาคต ซึ่งอาจจะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเฉพาะเพื่อการสอนดนตรีปฏิบัติออนไลน์

ในส่วนเด็กผู้เรียนดนตรี มีตัวเลือกได้มากขึ้น สามารถที่จะเลือกหาครูที่ดีที่พอใจ เลือกลงทะเบียนเรียนกับครูที่ชื่นชอบได้มากขึ้น เพราะครูออนไลน์มีได้ไม่จำกัด ไร้พรมแดน ยิ่งคนรุ่นใหม่มีความคล่องตัวในเรื่องภาษาและเทคโนโลยีสูงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

การเรียนดนตรีปฏิบัติออนไลน์เป็นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างสิ้นเชิง การศึกษาที่มีโครงสร้างดั้งเดิมทั้งในระบบโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหมดยุคไปแล้ว การไปโรงเรียน การเรียนรู้จากครูในห้องเรียน ทั้งครูที่เก่งและครูที่ไม่เก่ง การใส่ชุดนักเรียน รวมทั้งการจัดลำดับความรู้เป็นชั้นๆ เป็นชั้นเรียน สิ้นสุดเวลาของโควิด-19 เป็นการสิ้นสุดการศึกษาดั้งเดิมแบบห้องเรียนไปด้วย

การแสดงดนตรีก็น่าจะเปลี่ยนไปด้วย แต่จะเปลี่ยนอย่างไรยังนึกไม่ออก เพราะวงดนตรีขนาดใหญ่ วงออเคสตราหรือวงซิมโฟนี ซึ่งก็คงยากจะฟื้นตัว เพราะต้องใช้จำนวนนักดนตรีมากและใช้เงินสูง สำหรับนักดนตรีระดับนานาชาตินั้น ก็คงยังหวาดวิตกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวของสังคม

นั่นเป็นเรื่องที่อยู่ในอนาคต (อันใกล้) สำหรับเวลานี้ก็เป็นโอกาสอีกเวลาหนึ่ง ที่สามารถใช้เวลาที่มีกลับไปค้นดูการแสดงเก่าๆ ฟังเพลงเก่าๆ อาทิ เพลงของดีน มาร์ติน (Dean Martin) แฟรงก์ ซินาตรา (May Way, Frank Sinatra) หลุยส์ อาร์มสตรอง (Wonderful World, Louis Armstrong) เบโธเฟน (Beethovan) และศิลปินคนอื่นๆ ที่ชอบ ซึ่งศิลปินชั้นนำของโลกได้บันทึกเอาไว้ นอกจากจะได้รับพลังแล้ว เพลงเหล่านั้นยังช่วยเป็นเพื่อนในยามที่ชีวิตวิกฤต ช่วยสร้างความบันเทิงเพื่อบรรเทาความวุ่นวายได้อย่างยอดเยี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image