‘วินาทีนี้ต้องรีบ’ กัมพล ธนาปัญญาวรคุณ ชี้ช่อง ‘ต้องรอด’ หลากธุรกิจในวิกฤตโควิด

ไม่เพียงชีวิตผู้คนที่คล้ายจะแขวนบนเส้นด้ายหากไม่ระแวดระวังในมาตรการสกัดกั้นไวรัสโควิด-19 เชื้อร้ายเขย่าโลก หากแต่รวมถึงระบบเศรษฐกิจอันส่งผลถึงปากท้องของผู้คนในทุกหย่อมหญ้าที่เจอมรสุมลูกใหญ่ไปเต็มๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการสถานบันเทิงและสินค้านอกเหนือความจำเป็นในการดำรงชีพ เมื่อตลาดร้านรวงจำต้องปิดลง
‘โลกออนไลน์’ คือช่องทางสำคัญในการจับจ่ายใช้สอย เป็นอีก ‘ทางรอด’ ที่ธุรกิจน้อยใหญ่เริ่มขยับอย่างจริงจัง หลังการ ‘ช้อปออนไลน์’ ฮิตมาพักใหญ่ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ถือกำเนิดขึ้นบนโลก ทว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงในวันที่การระบาดของไวรัสจบลง แนวโน้มธุรกิจหลากหลายผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นไปในทิศทางใด ออนไลน์แล้วรอดทุกธุรกิจจริงหรือไม่ ธุรกิจใดเข้าสู่ ‘ยุคทอง’ ท่ามกลางวิกฤต ?

“วินาทีนี้ต้องรีบ”
คือคำแนะนำ 1 ประโยคสำคัญจาก กัมพล ธนาปัญญาวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญ ‘การตลาดออนไลน์’ ระดับต้นๆของประเทศนี้ โดย
ได้รับการแต่งตั้งเป็น Google Premier Partner อย่างเป็นทางการ

นี่คือบทสนทนาในสถานการณ์ที่แทบทุกธุรกิจต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

 

ในยุคอยู่บ้านสกัดโควิด ‘ออนไลน์’ คือทางรอดจริงไหม ?

Advertisement

ในสถานการณ์นี้ ธุรกิจออนไลน์หลายอย่างโต แต่รอดจริงไหม ต้องเป็นธุรกิจที่รอดด้วยเช่นกัน เช่น ไอที บ้านพักคนชรา ซ่อมบ้าน ซ่อมแอร์ ช่วงนี้ดี เพราะพฤติกรรมคือการอยู่บ้าน ถามว่าทำไม ไอทีโต เพราะคน Work from Home ทำงานจากบ้าน ทำให้ต้องไปซื้อคอมพิวเตอร์ เตรียมอุปกรณ์ เลยขายดี สิ่งที่พบคือ สถิติของกูเกิล มีการเสริ์ชอุปกรณ์ไอทีสูงที่สุดในประวัติศาสตร์รอบ 5 ปี ส่วนบ้านพักคนชรา คนห่วงพ่อแม่ตัวเอง ก็ให้บ้านพักคนชราดูแลเลย เพราะกลัวพ่อแม่ติดเชื้อ ตอนนี้บ้านพักคนชราหลายแห่งหยุดโฆษณาเพราะไม่มีพื้นที่ให้คนชราอยู่แล้ว เต็มแล้ว คนหาข้อมูลผ่านทางออนไลน์เยอะมาก
ขอบคุณ

การเกิดขึ้นของโซเขียลฯ ที่ผ่านมาทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมจากซื้อของหน้าร้าน มาสู่ช้อปออนไลน์มากขึ้น คิดว่าจากวิกฤต ‘โควิด’ ในครั้งนี้ จะยิ่งใหญ่หลวงมากน้อยแค่ไหน ต่อผู้ซื้อและผู้ขายในโลกออนไลน์ ?

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันบังคับให้คนออนไลน์ หลังจากนี้คนจะยิ่งช้อปออนไลน์หนักขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความสะดวก ก่อนหน้านี้มีแค่บางกลุ่ม แต่เมื่อต้องอยู่บ้าน ก็บังคับให้ต้องใช้ ทำให้เสพติดพฤติกรรมแบบนี้ ถามว่าในแง่ของผู้ซื้อ อยากให้มอง 2 มุม แง่ดีคือ สะดวกขึ้น ในอนาคต ตามความเห็นผม เชื่อว่าพอหมดโควิดปุ๊ป การใส่หน้ากากอนามัยอาจเป็นพฤติกรรมปกติของคนไทย ทำให้ช้อปหนักขึ้นผ่านออนไลน์ แต่นั่นหมายความว่า บางส่วนเราอาจต้องซื้อของแพงขึ้น เพราะด้วยพฤติกรรมมันไปทำให้บางแพลตฟอร์มโต จนกระทั่งครอบงำตลาดได้ อย่าง ลาซาดา ช้อปปี้ หรือปัจจุบันเวลาคนจะจองห้องพัก จะเข้าเว็บไซต์ อโกดา หรือ booking โดยไม่จองกับโรงแรมโดยตรง 2 เว็บนี้จึงครอบงำตลาดส่วนหนึ่ง แปลว่าโรงแรมต่างๆ ถ้าจะขายได้ต้องผ่านเว็บไซต์อื่น ซึ่งก็ชาร์จโรงแรมแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในอนาคตคนต้องจ่ายแพงขึ้น หรืออย่างแกร็บ หลังจากนี้คนจะสั่งอาหารผ่านแกร็บจนชิน แต่อย่าลืมว่าแกร็บเองก็ชาร์จร้านค้า 30% ต่อไปเราอาจได่อาหารปริมาณน้อยลงในราคาเท่าเดิม พฤติกรรมการแบบนี้เป็นตัวเร่งให้สังคมเปลี่ยน

Advertisement

ส่วนในมุมผู้ขาย เชื่อว่าบริษัทส่วนใหญ่จะมาขายออนไลน์มากขึ้น ช่วงโควิดนี้ เชื่อว่ามีบริษัทเยอะมากที่ไม่พร้อนออนไลน์ ไม่พร้อมทำ อี-คอมเมิร์ซ และเขารู้ตัวแล้วว่ามีปัญหาตอนเกิดวิกฤตอย่างนี้ หลังจากนี่ อี-คอมเมิร์ซจึงน่าจะบูมมากในประเทศ หลายธุรกิจต้องเริ่มขายออนไลน์ด้วย ปัจจุบัน ผมเห็นแสนสิริ เรื่มให้ซื้อบ้านออนไลน์แล้ว ให้จองง่ายๆทางออนไลน์ เพราะเขาเริ่มเห็นปัญหาเช่นกัน ทุกๆบริษัท ทุกๆที่ ผมเขื่อว่า รอบนี้จะวิ่งไปอี-คอมเมิร์ซเยอะมาก

ถ้ามองในระดับคนค้าขาย ทำมาหากินแบบชาวบ้านหรือผู้ค้ารายย่อยที่ไม่เคยออนไลน์มาก่อน กับคนที่ขายของออนไลน์อยู่แล้วแบบเล็กๆน้อยๆ ควรใช้โอกาสนี้ปรับตัวให้อยู่รอดหรือพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมอย่างไร ?

ตอนนี้ ทุกที่ทำเหมือนกันหมด คือพยายามขายผ่านออนไลน์ให้ได้ ปัญหาที่เจ้าเล็กๆไม่คุ้นเคยเลยคือ 1. การส่งของ 2. การชำระเงินออนไลน์ สองส่วนนี้เขาไม่คุ้น เพราะฉะนั้น วินาทีนี้ต้องรีบแล้ว ต้องคุยกับขนส่งให้ได้ คุยกับช่องทางตัดบัตรเครดิตให้ได้

สำหรับธุรกิจที่เน้น ‘หน้าร้าน’ ควรปรับตัวอย่างไรในวิกฤตครั้งนี้ ?

อนาคตทุกคนต้องทำ 2 ส่วนแน่นอน คือ มีหน้าร้านกับหน้าเวปไซต์ ซึ่งสมัยก่อนเป็นแค่การเอาข้อมูลให้ดูเฉยๆ ถ้าสนใจติดต่อมานะ ตามเบอร์นี้ แต่ต่อไปต้องชัดเจนมากขึ้น เช่น ติดต่อทางโทรศัพท์ ส่งฟรี ส่งเลย เพื่อให้เขารู้ว่าเราทำแบบนี้ได้ คนทำเว็บคิดง่ายๆ คือให้เขามาดูสินค้า และต้องเอาให้ชัดว่า ติดต่ออย่างไร ส่งอย่างไร อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำและมาแน่ๆ คือ การใช้วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพราะสินค้าบางชนิดที่ไม่ประชุมกันแล้วขายไม่ได้ เช่น สินค้าที่ต้องคุยเรื่องสเปก สินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม สมัยก่อนผู้ขายต้องเข้าไปคุยกับวิศวกร หรือใครก็แล้วแต่ วันนี้โปรแกรมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ อย่างเช่น ZOOM ตอนนี้ดังมาก อาจารย์มหาวิทยาลัย คนรุ่นใหม่ ใช้กันมาก แต่ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอายุหน่อยเขาไม่ชินเลย เขาไม่เข้าใจ อย่างคนอายุ 35 ขึ้นไป ไม่ค่อยได้ใช้ ซึ่งถ้าไม่ฝึกใช้วันนี้ จะขายของยากมาก

ถ้ามองในวันนี้เลยโดยไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะยาวนานไปแค่ไหน ทางรอดในนาทีนี้ของคนทำมาหากิน สิ่งที่จะทำได้คืออะไร?

อย่างแรกเลยคือ ลดค่าใช้จ่าย (หัวเราะ) ผมเองก็ได้รับผลกระทบ ขนาดอยู่กับออนไลน์ เท่าที่ดูตัวเลขจากบริษัทผมเอง คนใช้เงินน้อยลงเรื่อยๆ แสดงว่าเงินหมุนในตลาดน้อยลง ตอนนี้การเพิ่มยอดขาย จึงสำคัญน้อยกว่าลดค่าใช้จ่าย

ในฐานะเจ้าของธุรกิจเช่นกัน มีวิธีบริหารงานอย่างไรในภาวะเช่นนี้ ?

โดยส่วนตัว ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ยังรู้สึกว่า ไม่หนัก คิดว่าปีนี้ยังพอไปได้ แต่สังเกตว่า 2 สัปดาห์หลัง ทรุดเร็วมาก วิ่งไหลลงเร็วมาก สิ่งที่ผมทำเลย คือ 1. ขอให้ทีมงานช่วยกันก่อน เราพยายามจะไม่ลดคน เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกัน มีโอกาสรอด แต่รอดแบบกระเสือกกระสนแน่นอน (หัวเราะ) 2. ตัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง 3. พยายามให้น้องๆทุกคนขายของให้ได้ บางคนทำงานหลังบ้าน ก็ต้องให้ขายของ เพื่อกระจายการเพิ่มรายได้ เหมือนธนาคารเลย ตอนนี้ทุกคนก็ขายของหมด

ตอนนี้กระทบถ้วนทั่วกันหมด ตั้งแต่ธุรกิจในระบบบริษัทขนาดใหญ่จนถึงรากหญ้า?

กระทบกันหมด แต่ธุรกิจที่ไม่กระทบน่าจะเป็นยาธุรกิจอาหาร และของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งจะโตขึ้น ถ้าโควิดยาวไปถึงไตรมาสที่ 3 ธุรกิจอาหารที่โตจะไม่ใช่อาหารที่ขายแพง แต่เป็นอาหารกล่อง 40-50 บาท

อย่างนี้อดีตพ่อค้าแม่ค้าหรือคนที่จะมาจับธุรกิจใหม่ อาหารคือตัวเลือกที่จะไปได้สวย ?

แนะนำเลย เพราะอย่างไรคนก็ต้องทาน และถ้าโควิดหนักขึ้น มีแนวโน้มว่าจะออกจากบ้านกันไม่ได้ การส่งอาหารจะเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากสินค้าแล้ว ‘บริการ’ ก็เป็นอีกธุรกิจอีกประเภท เช่น แกร็บ ไลน์แมน ลาลามูฟ ฯลฯ คิดว่า ‘บริการ’ อย่างอื่นๆ ในภาวะ Social Distancing อะไร ‘กำลังมา’ หรือจะไปได้ดีในช่องทางออนไลน์ ?

นอกจากบ้านพักคนชราอย่างที่บอกไปแล้ว ยังมีแปลกๆ อีกหลายตัว เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เพราะคนไม่ได้ตุนเฉพาะอาหารคน คนตุนอาหารสัตว์ด้วย ตอนนี้เป็นขาขึ้น

โดยสถิติ คนไทยฮิตเฟซบุ๊กมาก แต่เฟซบุ๊กเองก็มีการปรับเปลี่ยนตลอด เช่น ลดการมองเห็น มีคำแนะนำสำหรับผู้ใช้เพจเฟซบุ๊กในการทำธุรกิจส่วนตัวอย่างไร เช่น ธุรกิจเดียว จำเป็นหรือไม่ที่ควรมีหลายช่องทาง อย่าง ไอจี ไลน์ ยูทูป ?

ต้องถามว่าถ้ามีหลายช่องทาง มีคนทำแค่ไหน ถ้ามีไม่เยอะ แนะนำแค่เวปไซต์ กับเฟซบุ๊ก แล้วทำให้ดีไปเลย ถ้ามียูทูป มันแปลว่าต้องเพิ่มคนทำคลิปซึ่งเพิ่มรายจ่ายอีก วินาทีนี้ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการทั่วไปก็ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่าย สำหรับเฟซบุ๊ก ช่วง1-2 ปีหลัง เก็บค่าโฆษณาสูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้าไม่เกิดวิกฤต ผมว่าแนวโน้มจะเก็บสูงขึ้นอีก แต่พอเกิดวิกฤต เท่าที่ดู ตอนนี้ยังทรงๆ อยู่ เพราะคงรู้ว่าถ้าเก็บสูงขึ้นก็จะยิ่งไม่มีคนซื้อโฆษณา สังเกตได้เลยว่าตอนนี้คนโฆษณาในเฟซบุ๊กน้อยลงไป คงตัดงบกันหมด ถามว่าจะทำอย่างไรในเมื่องบโฆษณาเราน้อย คำตอบคือ เราต้องใช้คอนเทนต์ (เนื้อหา) ที่ดี พยายามให้คนแชร์ ปัจจุบันคนเสพข้อมูลเยอะขึ้น การให้ความรู้ที่ถูกต้อง น่าสนใจกลายเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะฉะนั้นประโยคที่ว่า ‘Content is King’ ยังใช้ได้เสมอ ?

ถ้าเราอยากประหยัด Content is King ในธุรกิจโฆษณาก็เช่นกัน กลับมาแก้คอนเทนต์ดีกว่า (หัวเราะ)

การซื้อโฆษณาออนไลน์ ตอนนี้จำเป็นแค่ไหน มีข้อพิจารณาอย่างไร ?

ต้องดูก่อนว่าธุรกิจของคุณอยู่ในหมวดหมู่ที่ไม่รอดแน่ๆใช่ไหมในช่วงนี้ เช่น ท่องเที่ยว สปา บันเทิง ยังไม่ต้องซื้อโฆษณา พวกหมวดที่ถูกสั่งปิดในช่วงโควิด ไม่มีประโยชน์แน่ที่จะโฆษณา สินค้าฟุ่มเฟือย ผมก็ไม่ค่อยแนะนำนะ ปัจจุบันคนพยายามเก็บเงินไว้ ถามว่าวันนี้มี ‘คนมีตังค์’ อยู่ไหม ก็มี ถ้าจะโฆษณา แนะนำโฆษณาบนกูเกิลอย่างเดียว สมมุติขายกระเป๋าแบรนด์เนม คนค้นในกูเกิล คนไม่อยากได้จริงๆ ไม่เสิร์ชกูเกิล ถ้าไม่อยากได้กระเป๋ายี่ห้อนี้จริงๆ ไม่เสิร์ชแน่นอน ส่วนธุรกิจที่ช่วงนี้โตแน่ๆ อย่างที่บอกไปแล้ว ต้องรีบโกย เพราะนี่คือวินาทีของคุณจริงๆ

แนวโน้มหรือเทรนด์ในอนาคต คือ ‘คลิป’ จริงไหม ?

มาแน่นอน ต้องมองว่าพฤติกรรมคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านอยู่แล้ว คนไทยชอบดูวีดีโอ สังเกตจากแอพพ์ tiktok ได้เลย เข้ามาในประเทศแป๊บเดียว ตอนนี้ดังมาก แต่ต้องดูกลุ่มเป้าหมาย ถ้าเด็กหน่อย คลิปต้องสั้น ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่ ทำวีดีโอยาวได้ เด็กต้องการความสนุก ผู้ใหญ่ต้องการความรู้ ต้องแยกกลุ่มให้ออก แต่วินาทีนี้ คลิปน่าจะหายไปจากตลาดเยอะ เพราะการทำคลิปต้องใช้งบประมาณ จากที่ผมเปิดดูเฟซบุ๊กใน 2-3 สัปดาห์หลัง คลิปที่ไม่ได้มาจากช่องทีวีหรือสื่อหลักจะเริ่มหายไป เพราะคนเริ่มไม่ลงทุน

ก่อนโควิดระบาด มีผู้วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทย ปีนี้ ‘เผาจริง’ ยิ่งเกิดวิกฤตโควิดทั่วโลกอย่างนี้ ประเทศไทยจะไหวไหม ?

ผมเชื่อว่าโลกจะไม่กลับมาเร็วกว่าไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะตราบใดโลกยังไม่มีวัคซีน ตราบนั้นคนไม่เดินทาง ทุกประเทศในโลกไม่กล้าให้คนเดินทาง เมื่อไม่เดินทางธุรกิจก็ไม่โต เพราะปัจจุบันธุรกิจกลายเป็น global แล้ว สังเกตได้เลยว่า เมื่อไม่มีการขนส่งสินค้ากัน ธุรกิจจะดาวน์ลง คิดว่าพอหมดไตรมาสนี้ โลกจะนิ่งๆกันโดยเข้าใจสถานการณ์ แล้วต้องดูว่าจะรอดในรอบนี้ได้ สิ่งที่เกิดแน่ๆ คือ คนตกงานเยอะ ทุกกลุ่มเสี่ยงตกงานเท่ากัน ทั้งพนักงานบริษัท แรงงานรายวัน เว้นแต่ในบางธุรกิจที่รอด อย่างธุรกิจอาหาร

มองมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐล่าสุดอย่างไร ?

สิ่งที่ผมกังวลคือ การทำให้คนเป็นหนี้ เช่น คนตกงานได้รับ 5,000 บาท และหลังจากนั้นสามารถกู้เงินได้ 10,000 บาท 20,000 บาท และเพิ่มเป็น 50,000 บาทได้ ผู้ประกอบการเองก็สามารถกู้เงินได้ 20 ล้านบาท รัฐบาลให้งบมาก้อนแรก 150,000 ล้านบาท แต่อย่าลืมว่า ตื่นมาอีกทีคือต้องทำงานใช้หนี้ ถ้ามีโอกาสอยากเสนอรัฐบาลให้ใช้โมเดลแบบประเทศอังกฤษ คือ ช่วยเรื่องเงินเดือนพนักงานทุกคน 70-80% จะ 1-2 เดือนอะไรก็แล้วแต่ โดยเอาฐานประกันสังคมมาช่วยเขาจริงๆ ถามว่าดีอย่างไร หนึ่งเลยคือ เงินหมุนเข้าระบบคนทำงานจริงๆ เมื่อคนทำงานมีเงินแน่ๆก็ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย สองคือ ผู้ประกอบการไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน แปลว่า จะไม่มีการตกงานแน่ๆ ในช่วง 3 เดือน พอไม่มีการตกงาน ระบบเศรษฐกิจก็ยังไหลอยู่ ตื่นมาทุกคนไม่เป็นหนี้ มีแรงผลักต่อ แต่ถ้าหมดโควิดปุ๊ป ทุกคนเป็นหนี้ ไม่ว่าจะคนทำงาน เจ้าของธุรกิจ ประเทศไทยในอนาคตจะมี NPL โด่งแน่นอน

ถ้าหมดโควิดแล้วทุกคนในประเทศเป็นหนี้หมดนี่น่ากลัว.

จาก ‘เด็กหลังห้อง’ สู่ ‘ซีอีโอ’ หนุ่มวิศวะผู้เชื่อมั่นใน ‘ทีมที่ดี’

“เด็กหลังห้องครับ (หัวเราะ) ไม่ตั้งใจเรียนเท่าไหร่ มีก๊วน แต่ไม่เกเร ไม่ตั้งใจเรียนเท่าไหร่” คือคำสารภาพที่มาพร้อมเสียงหัวเราะอย่างผ่อนคลายของ กัมพล ธนาปัญญาวรคุณ CEO วัย 47 ปี ของ ‘ไอท้อปพลัส’ บริษัทการตลาดออนไลน์ชั้นแถวหน้าของไทยที่ให้บริการแบบครบวงจรพร้อมทีมงานคุณภาพระดับ ‘มืออาชีพ’

กว่าจะมาถึงวันนี้ อดีตเด็กหลังห้องของโรงเรียนเทพศิรินทร์ เล่าย้อนไปเมื่อครั้งยังเด็กว่าเติบโตมาในครอบครัวคนไทย เชื้อสายจีน พ่อแม่มีอาชีพค้าขายเล็กๆน้อยๆ

“ผมเป็นคนกรุงเทพ อยู่แถวป้อมปราบฯ เกิดที่โรงพยาบาลหัวเฉียว จบวิศวะอิเล็กทรอนิกส์ ที่พระจอมเกล้า ลาดกระบังฯ จบโทที่ MBA จุฬาฯ”

2 บรรทัดสังเขปชีวิตที่เจ้าตัวเล่าย่นย่อ ก่อนขยายต่อเมื่อถูกถามถึงไลฟ์สไตล์ในวันนี้ที่นอกเหนือไปจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์โฟนด้วยหน้าที่การงานและเหตุผล ‘พฤติกรรมภายใน’ อันส่งผลให้ต้อง ‘ออนไลน์’ ตั้งแต่ตื่นยันหลับ

“ตื่นมาก็ต้องเช็กเมล์ เช็คข้อมูลในไลน์ เข้ามาในออฟฟิศ ก็ดูข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ แล้วก็เรียกทีมมาคุยบ้าง เวลาวางสมารทโฟน ปกติอ่านหนังสือ ตอนเด็กชอบอ่านนวนิยายจีนของโกวเล้ง ถ้าเป็นนักเขียนไทย อ่านของประภาส ชลศรานนท์ ส่วนช่วงนี้ หลักๆ อ่านวัฒนธรรมของการสร้างทีม สร้างออฟฟิศ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ”

ครั้นเอ่ยเน้นย้ำเรื่องความเป็น ‘ทีม’ จึงไม่ถามไม่ได้ว่า มีกลเม็ดเคล็ดไม่ลับในการคัดสรรเพชรน้ำงามอย่างไร

และคำตอบของ CEO ท่านนี้ อาจทำให้แปลกใจที่ความเก่งกาจไม่ได้มาในอันดับแรกของลิสต์

“เราให้ความสำคัญ กับ 4 เรื่อง เรื่องแรก คือ นิสัย ดูจากตอนสัมภาษณ์ ตอนคุยกัน สอง คือพฤติกรรม ตั้งแต่ตอนเดินมาสมัครงาน คุยกับรีเซฟชั่นเราอย่างไร นั่งท่าไหน ก้าวร้าวไหม สาม ศักยภาพ เราอาจไม่ได้ต้องการคนเก่ง แต่ให้เวลา เดี๋ยวเขาเก่งแน่ สี่ ผลงานที่ผ่านมา

เวลารับสมัครงานก็ค่อนข้างเลือกเยอะ ต้องทำแบบทดสอบ 3-4 เรื่อง เพื่อดูว่าตรงกับที่อยากได้ไหม ความฉลาดได้ไหม ความตั้งใจอยากทำงานกับเราดีไหม ก็จะเลือกเยอะ คุยเยอะ

โดยประสบการณ์ ทีมทั้งหมดที่ช่วยกันรับคน มีความละเอียด ตั้งแต่รีเซฟชั่น เขาจะบอกเลยว่า คนนี้พฤติกรรมไม่ดี พูดกับเขาไม่ดี ซึ่งเราจะไม่รับเลย เพราะมีแนวโน้มดูแคลนผู้อื่น”

ด้านการงานรอบคอบและลึกซึ้งถึงเพียงนี้ แต่เวลา ‘ส่วนตัว’ กัมพลบอกว่า ไม่ค่อยประณีตในรายละเอียดสักเท่าไหร่ เวลาพ้กผ่อน นอกจากอ่านหนังสือก็เน้นการ ‘นอน’ เป็นสำคัญ

“ชีวิตส่วนตัว เน้นการนอน (หัวเราะ) เสาร์-อาทิตย์ ก็เปิดคอมทำงานไปเรื่อยๆ สบายๆ”

สำหรับในวิกฤตโควิด-19 ที่บริษัทมากมายหันมาใช้นโยบาย Work from Home กัมพล ผู้ซึ่งเป็นกูรูใน ‘ออนไลน์’ บอกว่า

“ประสิทธิภาพสู้การทำงานในออฟฟิศไม่ได้แน่ๆ ทุกที่ที่ลอง work from home ติดปัญหาเหมือนกันหมด แต่หลายๆบริษัทอาจเริ่มจากการให้ทำงานจากบ้าน 1 วันต่อสัปดาห์ แล้วเตรียมการไว้เผื่ออนาคตที่จะเป็นไปได้”

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์อันยากลำบากจากโรคระบาดสะเทือนโลก เจ้าตัวบอกว่า นี่คือช่วง ‘ลับสมอง ประลองปัญญา’

“ผมว่าสนุกนะ เวลาเจอปัญหาแล้วมันสนุก ผมจะพูดกับน้องๆในบริษัท ว่าเป็นช่วงลับสมอง ประลองปัญหา ในการแก้ปัญหาต่างๆ”

ปิดท้ายด้วยคำถามที่ฟังดู ‘ทั่วไป’ แต่คำตอบ ‘ไม่ง่าย’ เพราะนี่คือชีวิตจริงที่ไม่ใช่นิยายให้จินตนาการผ่านตัวอักษรแล้วแฮปปี้เอนดิ้ง

CEO ท่านนี้บอกหลักการ ‘สร้างตัว’ 2 ประการ สั้นๆ อย่างไม่ปิดบัง

“จริงๆผมมองว่า นักธุรกิจทั่วไป มี 2 เรื่องที่ต้องทำ เริ่มแรกคือ ทำงานให้หนัก เป็นเรื่องปกติ เรื่องที่ 2 ที่ผมเน้นเลยคือ ต้องมีทีมที่ดี

ถ้าไม่มีทีมที่ดี โตยากมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image