เข้าพรรษา@อุบล สมศักดิ์ จังตระกูล จัดใหญ่ ‘บิ๊กอีเวนต์’ ระดับภูมิภาค

ภาพโดย สุรินทร์ มุขศรี

ขณะที่ภาครัฐเร่งเดินหน้านโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจผลักดันให้เดินหน้ากันไปทั้งระบบในระดับอุตสาหกรรมของประเทศและระดับชุมชน ทางภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะนำรายได้กระจายสู่ท้องถิ่นนั้น ก็ยังคงต้องเดินเครื่องเต็มสูบเร่งผลักดันส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมของทั้งโลกยังไม่แจ่มใส แต่ถ้ามองระดับภายในประเทศจะเห็นความคึกคัก กับกระแสการส่งเสริมไทยเที่ยวไทย

ประเพณีออกพรรษา เป็นอีกวาระที่จะช่วยกระตุ้นดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสเสน่ห์ เรียนรู้กับการท่องเที่ยวในเชิงวิถีพุทธ หลายต่อหลายจังหวัดกำลังซุ่มตระเตรียมงานกันขนานใหญ่

รวมทั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเลื่องชื่อในประเพณีแห่เทียนพรรษาอันงดงาม มาปีนี้เปิดมิติการท่องเที่ยวใหม่ ผนึกกำลังกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบข้ามภูมิภาค กับโครงการระดับช้างที่กำลังจะมาถึง…“เข้าพรรษาที่อุบล ออกพรรษาที่สุราษฎร์”

Advertisement
ผวจ.อุบล สมศักดิ์ จังตระกูล
ผวจ.อุบล สมศักดิ์ จังตระกูล

เปิดมิติใหม่

ท่องเที่ยวแบบข้ามภูมิภาค

ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าของความคิดนำร่องการท่องเที่ยวแบบข้ามภูมิภาค “เข้าพรรษาที่อุบล ออกพรรษาที่สุราษฎร์” เล่าให้ฟังว่า อุบลราชธานีเมื่อก่อนดังเรื่องแห่เทียนพรรษามาตลอด มาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่โมเมนตั้มไปอยู่ที่สุพรรณบุรีบ้าง อยู่ที่นครราชสีมาบ้าง แต่ปีนี้จะกลับมาที่อุบลราชธานี

“เมื่อก่อนผมเคยไปอยู่ทางใต้ ซึ่งประเพณีชักพระโด่งดังมากที่จังหวัดสงขลา แต่ตอนหลังโมเมนตั้มมาอยู่ที่สุราษฎร์ธานี ก็เหมือนกับงานแห่เทียนที่ปีนี้จะกลับมาที่อุบลราชธานี โดยเรามีการผูกสัมพันธ์ลงบันทึกความร่วมมือกันแล้วกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี”

พ่อเมืองดอกบัวงามบอก และว่า ครั้งนี้ทางสุราษฎร์ฯตื่นตัวอย่างมาก กำลังปัดฝุ่นเรือชักพระที่ชนะเลิศเมื่อปีที่แล้ว เพื่อนำเข้ามาอวดโฉมในงานแห่เทียนพรรษาที่อุบลราชธานีในปีนี้ โดยจะมีนางรำมาร่วมขบวนอีกประมาณ 125 ชีวิต

Advertisement

ขณะเดียวกันพอถึงวันออกพรรษาในเดือนตุลาคม เราก็จะส่งขบวนแห่เทียนของเราลงไปโชว์ที่สุราษฎร์ธานีเหมือนกัน เพื่อให้เห็นว่าขบวนแห่เทียนที่ว่างามนั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากบางคนไม่เคยมาเพราะระยะทางมันไกลจริงๆ ร่วม 1,400 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม การจัดงานในปีนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของนโยบายการท่องเที่ยวแบบข้ามภูมิภาค ซึ่งถ้ามีโอกาสจะมีความร่วมมือเช่นนี้เชื่อมโยงกับทุกภาคแน่นอน เพราะยิ่งเราได้พันธมิตรจะทำให้ความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรมกลับคืนมา และความสัมพันธ์ในเชิงภูมิภาคก็จะดีขึ้น

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ วัดพระธาตุหนองบัว

ต้องไม่พลาด

3 บิ๊กอีเวนต์เข้าพรรษานี้ที่อุบล

ไม่เพียงความร่วมมือแบบทวิภาคีในวิถีพุทธแล้ว พ่อเมืองอุบลบอกว่า เข้าพรรษาปีนี้ 19-20 กรกฎาคม 2559 จะมีอีก 2 อีเวนต์สำคัญ คือ จะมี ขบวนแห่เทียนพรรษาที่ยาวที่สุดในโลก และมี ต้นเทียนขนาด 3 คนโอบ ที่เคลือบด้วยทองคำเปลวหนัก 76 บาท

“หลายคนอาจจะมองว่าขบวนแห่เทียนที่ยาวที่สุดในโลกเป็นเรื่องกิมมิก แต่นี่เป็นความใฝ่ฝันของช่างเทียนอุบลที่รอกันมานานอยากจะทำเทียนที่มีเนื้อหาสาระครบถ้วนกระบวนความในขบวนเดียว เป็นพุทธประวัติตั้งแต่ตอนประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน เป็นขบวนแห่เทียนความยาวถึง 40 เมตร โดยใช้รถพ่วง 4 คันมาต่อกัน

“ขณะนี้เสร็จแล้ว 60-70% เพราะเป็นการทำใหม่หมด และปลายเดือนนี้จะเคลื่อนมาจอดตามจุดที่กำหนด เช่น ที่วัดมหาวนาราม เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกันแกะเทียน”

นั่นเป็นไฮไลต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเข้าพรรษา แต่ในช่วงวันธรรมดาอุบลราชธานีก็มีสถานที่เปี่ยมเสน่ห์ให้เที่ยวตลอดทั้งปี อย่างที่พ่อเมืองบอก “เมืองอุบลเที่ยวได้ทั้งปี และเที่ยวได้ทุกอำเภอ”

กระทั่งกลางคืนก็เที่ยวได้ เช่น ที่ “วัดมหาวนาราม” วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบลราชธานี หรือที่เรียกว่า วัดป่าใหญ่ และ “วัดพระธาตุหนองบัว” วัดราษฎร์ที่มีอายุเก่าแก่นับแต่ พ.ศ.2498 สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานปฏิบัติธรรม และรำลึกถึงในวาระครบ 25 ศตวรรษแห่งพุทธศาสนาในปี 2500 ภายในพื้นที่ 50 ไร่ มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นคือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ซึ่งจำลองพุทธลักษณะมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย และมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานยังองค์พระธาตุ

สองวัดนี้นอกจากมีการประดับไฟไว้สวยงาม ยังมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย

“เราพยายามดำรงเมืองนี้ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างสงบ เรามีเมืองไม่สงบมาเยอะแล้ว อย่างทางใต้มีฟูลมูน ปาร์ตี้ แต่เมืองนี้ถือเป็นเมืองวิถีพุทธ มีวัดเกือบ 1,800 แห่ง เราจะพยายามจัดทำเส้นทางที่เรียกว่า ‘เกาะเมืองอุบลราชธานี’ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวในเขตเมือง นั่งรถไปเที่ยวไปถ่ายรูปใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมง วันนี้วัดมหาวนารามมีจุดนั้นแล้ว ไม่ต้องคิดอะไรมาก เรามาร์กจุดให้ยืนถ่ายรูปได้เลย”

ล่าสุดมีการเปิดตลาดน้ำและถนนคนเดินริมน้ำมูล เป็นเส้นทางที่จะเข้าไปรวมอยู่ในเส้นทางเกาะเมืองอุบล สำหรับเดินเที่ยวในตอนกลางคืน คือไปเที่ยววัด พิพิธภัณฑ์ กินอาหารอร่อย ดูวิถีคนอุบล แล้วไปนั่งกินกาแฟริมน้ำมูล ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

คุณนายผู้ว่า สิริพร
คุณนายผู้ว่า สิริพร

กลยุทธ์แยบคายคุณนายผู้ว่า

แบบ ‘ข้าวหม้อแกงหม้อ’

“ไม่เชื่อเพื่อนแล้วจะไปเชื่อใคร” ยังเป็นหลักการที่ยังใช้ได้เสมอ โดยเฉพาะกับสายท่องเที่ยว

ไม่ว่าจะเที่ยวไหนดี อาหารร้านไหนอร่อย ที่พักที่ไหนเก๋กู๊ดถูกเริ่ด เพื่อนว่ามา พร้อมปักหมุดทันที นี่คือแม่เหล็กสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยว

เป็นที่มาของโครงการ “ชวนผู้หญิงเที่ยวเมืองอุบล” สอดรับกับปีส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีในปีนี้ รวมทั้งเหตุผลทางการตลาดที่ว่า ผู้หญิงคือคลังของบ้าน เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการจับจ่าย โดยมีหลังบ้าน-คุณนายผู้ว่าฯ สิริพร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำหน้าที่ต้อนรับขับสู้ เปิดจวนต้อนรับเชิญแขกคนสำคัญพร้อมกับพาไปรู้จัก วิถีคนอุบล (Sence of Ubon) อย่างเจาะลึก

นับเป็นครั้งแรกบนความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยมีเจ้าบ้านคือจังหวัดอุบลราชธานี หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี

จะว่าไปแนวคิดนี้ไม่ต่างจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างที่คุณนายผู้ว่าฯ ผู้หญิงแถวหน้าเมืองดอกบัวบอกว่า แม้จะมีงบประมาณที่จำกัด แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ จึงใช้หลักวิถีไทยแต่เดิมที่เมื่อมีงานบุญ แต่ละบ้านต่างเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน แบบ “ข้าวหม้อแกงหม้อ”

เอ็กซ์คลูซีฟทริป “ชวนผู้หญิงเที่ยวอุบล” หรือที่มีชื่อเล่นว่า Celeb 3 (ทริปที่ 3 ระหว่าง 21-23 มิถุนายน 2559) ก็ใช้หลักการความร่วมใจร่วมแรงกันเช่นนี้ ตั๋วเครื่องบินโดยสารทริปละ 20 ที่นั่ง ได้การสนับสนุนจากสายการบินพันธมิตร แอร์เอเชีย นกแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ กานต์แอร์ ส่วนที่พักมีผู้สนับสนุน อาทิ โรงแรมสุนีย์ฯ และโรงแรมเนวาดา อาหารมื้อแซ่บๆ เป็นร้านลาบปลาโขง ร้านส้มตำพิมาย ฯลฯ

เรียกว่าช่วยกันคนละมือละไม้ ต้อนรับแขกคนสำคัญ แขกที่จะช่วยประชาสัมพันธ์โดยการบอกเล่าความประทับใจปากต่อปาก ที่สุดนักท่องเที่ยวก็จะค่อยๆ รินสายกันเข้ามาเยี่ยมชมสัมผัสเสน่ห์และการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชาวอุบล นำมาซึ่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

คุณนายผู้ว่าเปิดจวนรับแขกคนสำคัญ

ขอเวลาไม่นาน

เดินหน้าเต็มสูบ ‘โกอินเตอร์’

แม้จะเป็นพ่อเมืองมือเก่าจากที่อื่น แต่สำหรับอุบลราชธานีนับเป็นหน้าใหม่ ซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นเพียงหนึ่งในภารกิจ แต่เป้าหมายหลักคือ การช่วยบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเมืองดอกบัวงาม ผู้ว่าฯสมศักดิ์บอกว่า เพราะที่นี่เป็นเมืองหน้าด่าน ถ้าวางแผนดีๆ จะก้าวกระโดดเชื่อมต่อไปยังลาว กัมพูชา แล้วไปเวียดนามได้

“จากที่นี่ถ้านั่งรถยนต์ไปเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ซึ่งทางกว่างนามบอกว่าในอีก 1-2 ปี จะสามารถย่นระยะทางได้ 2-3 ชั่วโมง ฉะนั้น เมืองนี้ยังมีอนาคต ผมจึงบอกคนอุบลว่าปีนี้เป็น ‘ปีส่งเสริมการท่องเที่ยว’ เพื่อระดมคนให้มาเที่ยว เอาเงินเข้าจังหวัด ปีหน้าจะเป็นปีปรับปรุงเมือง ผมใช้คำว่า เป็น ‘ปีซ่อมสร้าง’ ไฟต้องสว่าง ทางต้องสะดวก แล้วปีที่ 3 เป็นปี ‘มุ่งหน้าสู่อนาคต’ ซึ่งสิ้นเดือนนี้เราวางแผนว่าจะเสนอขอเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันซีเกมส์ในปี 2568″

ผู้ว่าฯสมศักดิ์บอกด้วยใบหน้ายิ้มละไม และว่า

“มันคงทำอะไรไม่สำเร็จถ้าผู้คนที่นี่ไม่มีความเข้มแข็ง บางอย่างเราบอกไป แม้กระทั่งข้อมูลเรื่องซีเกมส์ เขาก็จัดเตรียมเสร็จสรรพ ผมมีหน้าที่ประสานงาน และเราจะมีการทดสอบครึ่งทาง จัดกีฬาแห่งชาติด้วยในปี 2563 เป็นการทดสอบความพร้อมของระบบเราด้วย นี่คือมิติของการพัฒนาเมือง”

งานแห่เทียนพรรษาปีนี้ ที่จังหวัดอุบลราชธานี คือหนึ่งในข้อพิสูจน์ความแกร่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image