เดือนหงายที่ชายโขง : ความรุนแรงใต้ฉากการพัฒนาของกัมพูชา

การสังหาร ดร.กึม เหล่ย (เข็ม ไลย Kem Ley) ผู้ประกาศข่าว นักวิเคราะห์การเมืองและผู้วิจารณ์รัฐบาลฮุนเซ็นยอดนิยมที่ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันกลางกรุงพนมเปญ เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจ ความโกรธแค้น และความเกลียดชังในหมู่ชาวกัมพูชาอย่างมาก ท้องถนนคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ซีโคล่ และเดินเท้าออกมาร่วมขบวนแห่ศพของเขา

แม้กระทั่ง จอห์น แคร์รี่ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาสืบสวนเหตุเกิดอย่างโปร่งใสและยุติธรรม

แม้ฆาตกรถูกจับได้ และสารภาพว่าทำไปเพราะความแค้นต้องการเงินที่ ดร.กึม เหล่ย ติดหนี้ 3000 ดอลลาร์ แต่ชาวกัมพูชาไม่มีใครเชื่อ และทุกคนคิดว่าตัวเองรู้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารโหดกลางวันแสกๆ กลางใจเมืองครั้งนี้

ความตายของ ดร.กึม เหล่ยเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างความดำมืดของสังคมการเมืองเขมร ที่ประชาธิปไตยเป็นเพียงฉากหน้าการถือครองอำนาจของตระกูลฮุน ที่ครอบงำการเมืองเขมรมายาวนานถึงกว่า 20 ปี หลังการล่มสลายของระบอบเขมรแดง และการทะยานขึ้นมายึดอำนาจเบ็ดเสร็จ

Advertisement

ความเบ็ดเสร็จของตระกูลฮุนเซน เห็นได้จากการเปิดเผยล่าสุดขององค์กร โกลบัล วิตเนส ที่ระบุว่า เครือข่ายของฮุนเซนทั้งเครือญาติ ได้ครอบงำธุรกิจของกัมพูชา 114 บริษัท มูลค่ากว่า 200 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นเพียงเฉพาะธุรกิจเบื้องหน้าที่พอสามารประเมินได้ยังไม่รวมทรัพย์สินเบื้องหลังอีกมหาศาล

เงินรายได้จากเงินลงทุนต่างประเทศในนามของการพัฒนา เมื่อเข้าไปในกัมพูชา จะต้องผ่านด่านการคอร์รัปชั่นของเครือข่ายเหล่านี้เสียก่อน นักธุรกิจหลายท่านที่ไม่อาจเปิดเผยนามได้ กล่าวว่า หากจะทำธุรกิจในกัมพูชา ต้องเข้าให้ถูกคน และจ่ายให้ในจำนวนที่ถูกต้อง ทั้งเงินกินเปล่าและหุ้นลม ไม่เช่นนั้นก็อย่าหวังว่าจะทำธุรกิจได้อย่างเป็นสุข

เครือข่ายของฮุนเซนนั้นอยู่เหนือกฎหมาย คิดจะทำอะไรก็สามารถออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้ทันที เช่น การเวนคืนที่ดินบริเวณเบ็งกาก หรือที่เกาะเพชร ในกรุงพนมเปญ เพื่อสร้างย่านโรงแรมหรูและย่านการค้าใหม่ โดยให้สลัมและคนจนจำนวนมากต้องไร้ถิ่นที่อยู่

Advertisement

หากแต่การคอร์รัปชั่นเหล่านี้ ผนวกกับการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพและวิสัยทัศน์ชัดเจน ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการแข่งขันของกัมพูชาด้อยลง อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ย้ายจากไทยไปตั้งฐานที่กัมพูชา ได้แรงงานราคาถูก แต่ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางมากมาย สาธารณูปโภคก็ไม่มีเสถียรภาพทั้งไฟฟ้าและประปาที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มญาติและลูกหลานของฮุนเซน ถนนชำรุดผุพังและเต็มไปด้วยฝุ่น ขยะและซากเน่าเกลื่อนเมือง แม้ข้างพระบรมมหาราชวังเขมรินทร์ก็มีกองขยะสุมอยู่น่าแปลกใจ

ความไม่พอใจของชาวกัมพูชาปะทุเป็นระยะ มีการปะท้วงและปะทะกันเกิดขึ้น ผู้ประท้วงเสียชีวิต ผู้นำฝ่ายต่อต้านถูกจับจำคุก หรือต้องลี้ภัย แต่คนส่วนใหญ่ยังคงติดกับภาพความโหดเหี้ยมสยองขวัญของเขมรแดง จึงต้องจำทนอยู่ในระบอบฮุนเซน เพราะก็คิดว่า “ยังไงก็ดีกว่าเขมรแดง” อยู่

แต่เมื่อวัยรุ่นที่เกิดหลังปี 1985 ผู้เกิดมาหลังความโหดเหี้ยมของเขมรแดง ผู้ได้พบกับทุนนิยมและเสรีนิยมสมัยใหม่ ต่อเชื่อมตัวเองเข้ากับโลก เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศอื่น มาเทียบกับการผูกขาดไม่มีโอกาสของตัวเองในยุคฮุนเซน วัยรุ่นเหล่านี้

เมื่อเติบโตเป็นชนชั้นกลาง มีความรู้ มีทุน และเริ่มมีอำนาจการผูกขาดของตระกูลฮุนเซน ก็ยิ่งสั่นคลอน เราจึงคาดเดาได้ถึงความรุนแรงที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปในการเมืองเขมร

“การใช้ความรุนแรงเพื่อรักษาอำนาจก็เหมือนกระสุนปืนยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งหมดไวและเมื่อใช้ไปหมดแล้ว ก็จะไม่มีใครเกรงกลัวอีกเลย”

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จอมเผด็จการผู้พ่ายแพ้ กล่าวไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image