หลากความเห็น หลายแง่มุม โยนสุนัข’ชิวาวา’ สังคมได้เรียนรู้อะไร?

ถือได้ว่าเป็นข่าวที่ค่อนข้างช็อกในความรู้สึก

เป็นข่าวใหญ่อาจเรียกได้ว่าประเดิมกฎหมายใหม่ สำหรับกรณีที่ ยลดา จำปาศรี อายุ 22 ปี โยนสุนัขพันธุ์ชิวาวาของ เมยานี สิทธิสุข อายุ 23 ปี เพื่อนที่นำมาฝากไว้ออกมาจากอพาร์ตเมนต์ ทำให้สุนัขกระดูกขาและลำตัวหัก และตายในเวลาต่อมา

ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและทารุณกรรมสัตว์ พ.ศ.2557 ศาลตัดสินจำคุก 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ต่อมาญาติยื่นคำรอง ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ระหว่างอุทธรณ์คดี

หลังมีข่าวคราวออกมา มีเสียงสะท้อนมากมายในโลกโซเชียล รวมถึงการพูดถึงในวงสังคมต่างๆ

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ลองสอบถามความเห็นจากหลากหลายแง่มุม หลากหลายนักคิดต่อกรณีดังกล่าว

Advertisement

กม.คุ้มครองสัตว์
ยังถกกันไม่มากพอ?

ต่อข้อกังขาเมื่อเทียบ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ กับกฎหมายที่ใช้กับมนุษย์นั้น พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักสิทธิมนุษยชนจาก The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) ให้ความเห็นว่า ไม่อาจเทียบกันได้ เนื่องจากยังต้องมีการถกเถียงเรื่องนี้กันต่อไป เพราะลักษณะการบังคับใช้ไม่ได้สัดส่วน

“ส่วนตัวไม่ได้เป็นนักกฎหมายและไม่ใช่นักสิทธิสัตว์ อาจไปเทียบตรงๆ กับกรณีของมนุษย์ไม่ได้ เพราะกรณีของมนุษย์ในหลายๆ กรณี ถ้ามีบรรทัดฐานจากคำตัดสินของศาลมาก่อนหน้านี้ว่าเป็นเหตุลหุโทษ มีสิทธิรอลงอาญา โดยที่ไม่ได้มองประเด็นเรื่องคนรวยคนจน นั่นคือบรรทัดฐานที่ถูกวางไว้ แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ ยังไม่มีการคุยกันมากพอ เช่น เรื่องของขอบเขตการบังคับใช้ หรือการครอบคลุมถึงความรับผิดชอบของผู้เป็นเจ้าของสัตว์”

เพราะเธอเห็นว่าปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ คือการที่กฎหมายคุ้มครองสัตว์ของไทยนั้นยังไม่ครอบคลุมมากพอนั่นเอง

Advertisement

“ความเห็นส่วนตัวคือ ถ้าเทียบกับกฎหมายคุ้มครองสัตว์ของหลายๆ ประเทศ ในต่างประเทศไม่ได้คุ้มครองที่ปลายทางเหมือนกรณีโยนชิวาวาในครั้งนี้ เพราะเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเพราะเจ้าของเขานำสัตว์เลี้ยงไปฝากกับเพื่อน ซึ่งเพื่อนเขาก็อาจจะไม่พร้อมในการรองรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งกฎหมายของต่างประเทศจะครอบคลุมถึงตรงนั้นด้วย โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันตกที่กฎหมายเขาครอบคลุมไปถึงสภาพการเลี้ยงดู ไม่ได้คุ้มครองที่ปลายเหตุเหมือนกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ของไทย

“กรณีที่เกิดขึ้น ถ้าถามความเห็นส่วนตัว คิดว่าเจ้าของควรรับผิดชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ควรจะครอบคลุมไปถึงเรื่องการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง หรือความพร้อมของคนเลี้ยง-คนที่จะมาเป็นเจ้าของสัตว์ด้วย ไม่ใช่จบที่ปลายเหตุว่าเกิดการทำร้ายสัตว์ขึ้นมา” พิมพ์สิริกล่าว

ขณะที่ ชำนาญ จันทร์เรือง นักสิทธิมนุษยชนเอง ก็ให้ความเห็นว่า การลงโทษในกรณีนี้เป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งต้องดูสภาพแวดล้อมด้วยว่าการกระทำต่อสัตว์นั้นโหดร้ายหรือไม่ ส่งผลต่อสังคมมากน้อยอย่างไร

“ถามว่าโทษจำคุก 2 เดือนนานไหมสำหรับการทารุณสัตว์ ก็พูดยากว่าเราตีค่าชีวิตคนกับสัตว์อย่างไร ในประเทศไทยเป็นตลกร้าย อย่างเช่น เวลาเราชกคน ปรับ 500 บาท แต่เตะหมาก็โทษแรงกว่านั้น จึงไม่ค่อยสมเหตุสมผล แต่การติดคุก 2 เดือน ส่วนตัวคิดว่าหนักไป เพราะการติดคุกแม้วันเดียวก็ถือว่าแย่แล้ว โดยอาจให้บำเพ็ญประโยชน์หรืออะไรก็ว่าไป”

“การลงโทษตามหลักทัณฑวิทยาและอาชญาวิทยานั้น ต้องเป็นการลงโทษเพื่อแก้ไขเยียวยา มิใช่การแก้แค้นทดแทน” นายชำนาญกล่าว

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, ชำนาญ จันทร์เรือง
พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, ชำนาญ จันทร์เรือง

รู้จัก ‘ชิวาวา’
รู้จักสัตว์เลี้ยง

อีกมุมมองจากผู้คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง

นายสัตวแพทย์บูรพงษ์ สุธีรัตน์ หรือ “หมอตั๋ง” ผู้บริหารโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน กล่าวว่า ต้นเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมาจากภาวะทางอารมณ์ของผู้ก่อเหตุหรือไม่ เพื่อนเขาที่เป็นเจ้าของสุนัขรู้ว่าเจ้าของห้องไม่ชอบสุนัข แล้วทำไมจึงยังเอาสุนัขไปไว้ที่ห้อง เหตุน่าจะเกิดจากคน เมื่อคนไม่ชอบอยู่แล้วก็สามารถก่อเหตุได้ จึงต้องหลีกเลี่ยงจากคนเหล่านี้

“ส่วนเรื่องการขับถ่ายไม่เป็นที่ สมมุติหมาขับถ่ายเป็นที่ แต่เจ้าของห้องไม่ชอบอยู่แล้วก็มีเหตุให้โยนลงมาได้อยู่ดี เขาไม่อยากให้เอาหมามาแต่ก็ยังเอามา โดยเจ้าของหมาอาจมีเหตุจำเป็นก็เป็นเรื่องของเขาทั้งสอง ซึ่งไม่รู้ในรายละเอียดว่าเหตุเป็นเพราะอะไร แต่คนคิดจะก่อเหตุยังไงก็ทำได้อยู่แล้ว ป้องกันยาก”

ส่วนสุนัขพันธุ์ชิวาวาเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก ซึ่งคนนิยมเลี้ยงในห้องหรือในตึก น.สพ.บูรพงษ์บอกว่า ตามจริงแล้วก็เลี้ยงในตึกได้ เหมือนอย่างในประเทศญี่ปุ่นซึ่งนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวาเพราะไม่มีพื้นที่เยอะ และเป็นสุนัขพันธุ์เล็กเลี้ยงในตึกได้ ส่วนหากจะเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่ในตึกนั้นคงไม่เหมาะ

“แต่ชิวาวาชอบเห่า อาจทำให้คนในคอนโดฯรำคาญได้ เรื่องกลิ่นคิดว่าไม่เป็นปัญหาสำหรับการเลี้ยงในห้อง แต่เสียงอาจต้องควบคุม โดยในต่างประเทศมีวิธีป้องกันคือ การตัดกล่องเสียงสุนัขไม่ให้เห่า แต่เมื่อทำในบ้านเรา คนจะรู้สึกว่าเป็นการทรมานหรือทำร้ายสัตว์ การฝึกสุนัขไม่ให้เห่าทำได้ยาก แต่ถ้าเจอครูฝึกสุนัขที่เก่งๆ อาจทำได้ ทั้งนี้โดยปกติการเลี้ยงสุนัขพันธุ์เล็กมักจะถูกเจ้าของตามใจอยู่แล้ว”

ด้านความเห็นเกี่ยวกับโทษที่ออกมาในกรณีนี้นั้น

หมอตั๋งบอกว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย เพราะคนที่เป็นเจ้าของอาจคิดว่ายังไม่เพียงพอ ไม่ถึงความสะใจของเขา อีกฝ่ายอาจมองว่าโทษรุนแรงกว่าของคน จึงตอบได้ยาก ความรู้สึกมากน้อยของแต่ละคนไม่เท่ากัน

“ฝากถึงคนเลี้ยงสัตว์ว่า ต้องดูกันเองว่าคนไหนไม่ชอบหมาก็อย่าเอาไปอยู่ด้วย อย่างกรณีหมาดุ เจ้าของก็รู้อยู่แล้ว ยังจะเอาเด็กไปอยู่ใกล้หมาดุเหรอ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นชัดว่าคนเกลียดหมายังจะเอาหมาไปอยู่ใกล้ ถ้าจะดื้อดึงขนาดนั้น ต้องมีเหตุอะไรสักอย่างเกิดขึ้น ยิ่งเป็นเพื่อนกัน น่าจะรู้ว่านิสัยอีกฝ่ายเป็นอย่างไร” นสพ.บูรพงษ์กล่าว

 บูรพงษ์ สุธีรัตน์, อัมพร เบญจพลพิทักษ์
บูรพงษ์ สุธีรัตน์, อัมพร เบญจพลพิทักษ์

รู้จักและจัดการ
‘ความเครียด’

หลายฝ่ายให้ความเห็นว่า การโยนชิวาวาลงจากตึกนั้น สาเหตุหลักมาจากความเครียด

ทั้งนี้ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า ความเครียดเป็นอารมณ์ด้านลบที่ทำให้มีการยับยั้งชั่งใจในการกระทำน้อยลง ใคร่ครวญไตร่ตรองน้อยลง และความเครียดนี้เองที่เป็นเหตุเร้าให้คนทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม

“ทั้งนี้อยากให้มองด้วยว่า อาจจะด้วยพื้นฐานของผู้ที่ก่อเหตุนั้นมีข้อจำกัดอะไรบางอย่าง เช่น ในเชิงความไม่รู้ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือข้อจำกัดอันเนื่องมาจากมีสารเคมีที่ไปก่อกวนการทำงานของระบบจิตใจและประสาท แต่ที่เราค่อนข้างกลัวที่สุดคือ ข้อจำกัดอันเนื่องมาจากความก้าวร้าว ความโหดร้าย อาจจะเครียดสะสม

“คือโดยพื้นฐานเขาอาจไม่ใช่คนโหดร้าย แต่เมื่อมีการจัดการความเครียดไม่ดี ก็ทำให้ก่อเหตุในเชิงที่เรียกว่าลุแก่โทสะ ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด แต่กรณีนี้เจอไม่บ่อยนัก และจะบอกว่าความเครียดเป็นเหตุผลหลักก็ไม่ได้ ความเครียดเป็นเหตุผลร่วมค่ะ” พญ.อัมพรกล่าว

อย่างไรก็ดี พญ.อัมพรเสนอแนะวิธีคลายเครียดอย่างถูกวิธีในกรณีที่พบเจอความตึงเครียดในรูปแบบต่างๆ อันยากจะหาทางแก้ไขในเวลานั้น ด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจออกจากความเครียดนั้นชั่วขณะ เพื่อทำให้กลไกของร่างกายและจิตใจมีการฟื้นตัวเพื่อมีสติและจัดการปัญหาได้ดีขึ้น นั่นคือการหยุดความคิดนั้นๆ หันไปให้ความสนใจหรือมุ่งต่อกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลาย สร้างสรรค์ ทั้งการออกกำลังกาย นอนพัก ฟังเพลง หรือดูหนัง เพื่อดึงความสนใจกระทั่งลืมความเครียดได้ชั่วคราว

แต่บางคนอาจใช้วิธีที่ผิด เช่น หันไปหาสารเสพติด ดื่มเหล้า ทำให้ความเครียดถูกลืม แต่ไปสร้างความเครียดใหม่ๆ

เรื่องนี้ พญ.อัมพรแนะนำว่า ทางที่ควรคือตั้งหลักดีๆ ตั้งสติไตร่ตรองดีๆ ว่าที่มาของความเครียดคืออะไร ทางออกของมันที่พอทำได้เบื้องต้นคืออะไร ปัญหาหลายๆ ปัญหามีทางออก และในทางออกนั้นมีขั้นตอนที่เราเริ่มทำจากสิ่งที่ง่ายกว่า เร็วกว่าได้ ถ้าตั้งหลักให้ดีและเห็นทางก็จะเรียนรู้ว่าปัญหามีทางออก

“และทางออกนั้นจะแจ่มชัดขึ้นตามเวลา และจะละลายความไม่ลงตัวหลายอย่างได้” พญ.อัมพรกล่าว

เป็นหลากความเห็นหลายแง่มุมคิดที่สังคมได้เรียนรู้จากกรณี “โยนชิวาวา”

เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจในทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image