พระจอมเกล้า พระธรรมกาย และวัดปทุมวนาราม

(ซ้าย) ภายในวิหารพระเสริม วัดปทุมวนาราม ด้านหลังพระประธานคือ "ภาพจิตรกรรม" ที่กล่าวถึง (ขวา) จิตรกรรมฝาผนังหลังพระเสริม ที่แบ่งเป็น 4 ชั้น (จากบนลงล่าง) พระอุณาโลม, พระตถาคต 5 พระองค์ของพุทธศาสนาลัทธิตันตรยาน, พระมหาโพธิสัตว์ 5 พระองค์ และสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า 5พระองค์

เมื่อพูดถึง “พระธรรมกาย” เราท่านมักจะคิดถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญ และวัดพระธรรมกาย ที่ศึกษาวิชา “ธรรมกาย” อย่างกว้างขวาง แต่ที่จะกล่าวถึงนี่เป็น “พระธรรมกาย” ตามหลักธรรมของฝ่ายมหายานที่วัดปทุมวนาราม

ซึ่งนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกรกฎาคมนี้นำเสนอไว้ในบทความที่ชื่อว่า ” ‘พระจอมเกล้า’ กับ ‘พระธรรมกาย’ ในจิตรกรรมวัดปทุมวนาราม” โดย พิชญา สุ่มจินดา จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิชญาชี้แจงแต่แรกว่า เพราะบทความของ พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ชื่อว่า “ภาพพระพุทธเจ้ามหายานในวัดธรรมยุตที่วัดปทุมวนาราม” ตีพิมพ์ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2558 ทำให้เขา “คันมือ” ต้องค้นคว้าและเขียนต่อยอดเรื่องนี้

“ศิลปวัฒนธรรม” จึงเป็นเสมือนเวทีราชดำเนิน แต่ไม่ใช่เพื่อการต่อสู้ หากเพื่อการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ จิตรกรรมฝาผนังที่นักวิชาการทั้งสองเขียนถึง เป็นจิตรกรรมด้านเดียวกันที่อยู่ด้านหลังพระประธานในพระวิหารพระเสริม ที่วัดปทุมวนาราม วัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2400 เพื่ออุทิศถวายสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี

Advertisement
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดปทุมวนาราม

พัสวีสิริอธิบายไว้ว่า จิตรกรรมฝาผนังหลังองค์พระเสริมนั้นแสดงให้เห็นว่ามีการนำภาพพระโพธิสัตว์มาใช้ในวัดธรรมยุตของพุทธเถรวาท แสดงถึงความรอบรู้ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องพุทธปรัชญาและลัทธินิกายต่างๆ และแสดงถึงความสัมพันธ์ของพระภิกษุองฮึง-พระสงฆ์อนัมนิกาย กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” (รายละเอียดอื่นใดท่านที่สนใจก็ติดตามอ่านได้ทางอีบุ๊ก)

ขณะที่บทความของพิชญาพยายามหาเหตุผลเบื้องหลังการสร้างภาพจิตรกรรมดังกล่าวว่า แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ผู้น่าจะมีส่วนสำคัญ) ในการกำหนดเนื้อหาของรูปภาพคืออะไร เพราะวัดปทุมวนาราม คือวัดที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าจิตรกรรมที่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

Advertisement

จิตรกรรมหลังพระประธานนั้น แบ่งเป็น 4 ชั้น ดังนี้

ชั้นบนสุด หรือชั้น 4 เป็นภาพ “พระอุณาโลม” สีขาวขดเป็นวงเวียน ภายในมีอักษรขอมว่า “อ อุ ม” หมายถึง “โอมฺ” ใต้ภาพพระอุณาโลมมีอักษรขอม ภาษาบาลี เขียนว่า “ธยานิพุทธา”

ชั้นถัดลงมา หรือชั้นที่ 3 เป็นภาพ “ธยานิพุทธา” หรือพระตถาคต 5 พระองค์ของพุทธศาสนาลัทธิตันตรยาน ที่มีพระนามกำกับ ได้แก่ พระไวโรจนะ, พระอักโษภยะ, พระรัตนสัมภวะ, พระอมิตาภะ และพระอโมฆสิทธิ

ชั้นที่ 2 เป็นภาพ “พระมหาโพธิสัตว์” 5 องค์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือพระวรกายสีขาว แต่งพระองค์อย่างเทวดาไทย โดยมีจารึกกำกับไว้ว่าคือ สมันตภัทร วัชรปาณี รัตนปาณี ปัทมปาณี และวิศวปาณี

ชั้นล่างสุด หรือชั้นที่ 1 เป็นภาพ “สัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า 5 พระองค์” ในภัททกัปป์ ได้แก่ ไก่แทนพระกกุสันธะ (กรกุจฉันทะ) นาคแทนพระโกนาคมนะ (กนกมุนี) เต่าแทนพระกัสสปะ (กาศยปะ) โคแทนพระโคตมะ (ศากยสิงห์) และสิงห์แทนพระศรีอาริยเมตไตรย (ไมเตรยะ)

ผู้เขียน (พิชญา) อธิบายถึงความหมายแฝงอยู่ในภาพแต่ละชั้นอย่างละเอียด ซึ่งขอยกมากล่าวเพียงบางส่วน บางประเด็น คือภาพ “พระอุณาโลม” ที่อยู่บนสุดของภาพจิตรกรรมชุดนี้กับพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระอุณาโลมเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายเช่นเดียวกับพยางค์ ‘โอมฺ’ ในทางพุทธศาสนา ดังเห็นได้จากพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์ใหญ่ที่ทรงใช้อักษรอริยกะ คือ ‘อ อุ ม’ แทน ‘โอมฺ’ ขณะที่พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์น้อย ก็ทรงใช้พระอุณาโลมแทนโอมฺ ในตำแหน่งเดียวกัน ทั้งพระอุณาโลมและโอมฺ ในทางพุทธศาสนามีความหมายอย่างเดียวกัน คือ เป็นสัญลักษณ์แทนพระรัตนตรัย ดังพระราชนิพนธ์แปลคาถาภาษาบาลีว่า ‘ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าโอม (คือ อ. อุ. ม.) ดังนี้ เป็นการดี ขอนอบน้อมแด่รัตนะทั้ง 3 นั้นอันล่วงพ้นโทษต่ำช้า’ “

ทั้งพระรัศมีรอบพระอุณาโลมที่สื่อถึง “วชิรสมาบัติญาณ” ก็พ้องกับพระราชฉายา” วชิรญาโณ” หรือวชิรญาณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระผนวช

(ซ้าย) พระสมันตภัทรทรงถือจักร 1 ใน 5 ของพระมหาโพธิสัตว์ (ขวา) ลายปูนปั้นประดับซุ้มประตูและหน้าต่างพระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยา เป็นพระอุณาโลมภายใต้มหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี อาจสื่อถึงพระราชฉายา “วชิรญาโณ” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระผนวชซึ่งพ้องกับคำว่า “วชิรสมาบัติญาณ” ที่ปรากฏในคัมภีร์พระธรรมกาย

ส่วน “พระธรรมกาย” นั้น พิชญาค้นคว้าเอกสารและพระสูตรต่างๆ พบว่า

ใน “กายตรยสูตร” ของลัทธิมหายานกล่าวถึงพุทธปรัชญาตรีกาย ที่ประกอบด้วย ธรรมกาย (สภาวะของพระตถาคตในฐานะที่เป็นแก่นสารของหลักธรรม), สัมโภคกาย (กายทิพย์), นิรมาณกาย (กายเนื้อ)

ในคัมภีร์ “พระธรรมกาย” ที่ ฉ่ำ ทองคำวรรณ นักอ่านจารึกและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ค้นพบจากจารึกหลักที่ 54 ในเจดีย์วัดเสือ อำเภอเมือง จ.พิษณุโลก ที่ตอนต้นของคัมภีร์กล่าวว่า

“พระพุทธลักษณะ คือ พระธรรมกาย มีพระเศียรอันประเสริฐ คือ พระสัพพัญญุตาญาณ มีพระเกศางามประเสริฐ คือ พระนิพพานอันเป็นอารมณ์แห่งผลสมาบัติ มีพระนลาฏอันประเสริฐ คือ จตุตถฌาณ มีพระอุณาโลมอันประเสริฐประกอบด้วยพระรัศมี คือ พระปัญญาในมหาวชิรสมาบัติ มีพระโขนงทั้งคู่อันงามเลิศ คือ พระปัญญาอันประพฤติเป็นไปในนีลกสิณ มีพระเนตรทั้งคู่อันประเสริฐ คือ… …ธรรมจักษุ สมันตจักษุ ปัญญาจักษุ มีพระโสตทั้งคู่อันประเสริฐ คือ ทิพพ (โสตญาณ)”

ในคัมภีร์ “พระธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม” เป็นคัมภีร์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างถวาย ซึ่งในภาคผนวกได้อธิบายถึงพระญาณต่างๆ อันประกอบกันเป็นพระธรรมกายมาขยายอย่างละเอียด

ทั้งหมดคือชิ้นส่วนที่รอประกอบกันเพื่ออธิบาย “นัยยะ” ของภาพจิตรกรรมชุดนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจรู้แจ้งแทงตลอดแล้ว แต่ถ้ายังค้างคาใจก็โปรดได้หาอ่านต่อที่เหลือใน “ศิลปวัฒนธรรม”

เพราะจิตรกรรมของวัดปทุมวนารามจะทำให้เห็น “ความรอบรู้” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพุทธศาสนาของลัทธิมหายาน เถรวาท ที่ทรงใช้ผสมผสานกันอย่างแยบคาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image