กิน-เที่ยววิถีคนอาร์ต หลงเสน่ห์ “ราชบุรี”

ภายในศูนย์บันดาลไทย จ.ราชบุรี

ราชบุรี จังหวัดที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีรถประจำทางวิ่งเชื่อมสองจังหวัด

ของดีจังหวัดนี้ดูได้จากคำขวัญ คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี

และเมื่อไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ยังคัดเลือกให้ราชบุรีเป็น 1 ใน “12 เมืองต้องห้ามพลาด” ถูกขนานนามว่าเป็น ชุมชนคนอาร์ต เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่ศิลปะ เรียกว่าแทรกอยู่ในทุกอณูชีวิต

อาร์ตแค่ไหน… เอ้า เริ่ม

Advertisement

 

ส่องงานอาร์ตวิถีมอญ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง

“ชาวมอญกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือเมื่อกว่า 300 ปีที่แล้ว ส่วนการอพยพครั้งสุดท้ายคือเมื่อ 259 ปีที่ผ่านมา เมื่อพม่าเผาเมืองมอญ ทำให้ชาวมอญต้องเดินทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติ ข้ามมายังแดนไทย รัชกาลที่ 1 จึงรวบรวมเป็น 7 หัวเมือง คือ ด่านท่าขนุน ด่านท่ากระดาน ด่านไทรโยค ด่านทองผาภูมิ ด่านท่าตะกั่ว ด่านลุ่มสุ่ม จนถึงด่านเมืองสิงห์ ไว้เป็นเมืองกันชน หากพม่ายกทัพมาฝ่ายไทยจะได้เตรียมการทันเวลา ปัจจุบันมีชาวมอญกระจายตัวอยู่ใน 37 จังหวัด มากที่สุดอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ น้อยสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช” องค์ บรรจุน นักวิชาการด้านมอญศึกษา เท้าความ

ก่อนอธิบายถึงวัดม่วง มีชื่อภาษามอญว่า “แผ่ว์เกริ่ก” แปลว่า “วัดมะม่วง” ว่าเป็นวัดเก่าแก่อายุมากกว่า 378 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง บรรพชนรุ่นแรกของบ้านม่วง อพยพมาจากเมืองมอญอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยติดตามพระมหาเถรคันฉ่องซึ่งเป็นพระสงฆ์มอญคนสำคัญ โดยตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อถิ่นฐานเดิมของตนในเมืองมอญว่า “กวานเกริ่ก” หรือ “บ้านม่วง” ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ด้านมอญศึกษาแก่ผู้ที่สนใจ

Advertisement

“ที่น่าสนใจคือ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง” ที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ บอกเล่าเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในไทย จัดแสดงวัตถุโบราณที่สะท้อนมรดกทางภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่สืบทอดจนปัจจุบัน”

ภายในอาคารจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นชาวมอญในชุมชน คอยต้อนรับและให้คำแนะนำอย่างเป็นกันเอง

ในห้องจัดแสดง มีตั้งแต่คัมภีร์ใบลาน คัมภีร์งาช้างอักษรมอญ ธรรมาสน์ พระพุทธรูป เครื่องดนตรี เครื่องใช้ในชีวิตชาวมอญ และชาวลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่งมได้จากแม่น้ำ เช่น เครื่องมือยุคหินก่อนประวัติศาสตร์ ภาชนะหุงต้ม และเครื่องมือการเกษตร เป็นต้น

“คัมภีร์ใบลานเท่าที่สำรวจ พบประมาณ 1,209 เรื่อง คิดเป็นจำนวนผูกประมาณ 5,000 ผูก แต่ที่ไม่ควรพลาดคือคัมภีร์เล่มที่ทำจากงาช้าง โดยจะนำงาช้างไปแช่น้ำส้ม ใช้เลื่อยผ่าให้บาง จารด้วยรัก แล้วปิดทอง นอกจากนี้ยังมีห่อผ้าสำหรับสมุดพระธรรมต่างๆ ที่มีลวดลายสวยงาม ผ่านร่องรอยการใช้งานที่บอกเล่าอดีตและสะท้อนภูมิปัญญาของชาวมอญได้เป็นอย่างดี”

แต่ที่สะท้อนความอาร์ตของมอญที่อพยพเข้ามา น่าจะเป็นรูปแบบการอพยพ

“การอพยพของชาวมอญนั้นอาจเรียกว่าเป็นการอพยพอย่างสุนทรีย์ เมื่อดูทีท่าว่าการศึกครั้งนั้นจะพบกับความพ่ายแพ้ ชาวมอญก็จะเตรียมการย้าย นอกจากข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ยังนำธรรมาสน์ ปี่พาทย์ ฆ้อง เครื่องดนตรีต่างๆ อุปกรณ์การเกษตร ใส่เกวียนมาด้วย” องค์ บรรจุน อธิบาย

(บน) เจดีย์มอญแบบมีบริวารและเสาหงส์ในวัดม่วง (ล่าง) คัมภีร์ใบลานในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง

ใส่ “ดีไซน์” ในเครื่องปั้นดินเผา

งานอาร์ต สร้างโอกาส

มาราชบุรีทั้งที ก็นึกถึงโอ่งมังกร เพราะเมืองนี้เขาเป็นต้นตำรับ ซึ่งโรงงานแรกที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผา หรือโอ่งมังกรมาขายคือ เถ้า ฮง ไถ่

โรงงานเซรามิก เถ้า ฮง ไถ่ ถือว่าเป็นโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่คู่เมืองราชบุรี ผลิตตั้งแต่ไหน้ำปลา โอ่งน้ำไม่มีลาย กระถางต้นไม้ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และได้พัฒนางานเซรามิกที่หลุดกรอบเดิมๆ ออกมาเป็นงานศิลปะสร้างสรรค์ที่สวยงามร่วมสมัยและใช้สอยได้จริง ไม่ได้มีเพียงสีน้ำตาล เขียวไข่กา เหมือนเช่นแต่ก่อน แต่มีมากกว่า 600 สีในปัจจุบัน และรูปแบบที่แปลกใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ต่างๆ คือการนำรูปทรงดั้งเดิมที่คุ้นตามาประยุกต์ และมีการใช้สีสันร่วมสมัย ซึ่งการผสมผสานของอดีตกับปัจจุบันได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของที่นี่

ทายาทผู้รับช่วงต่อของโรงงานคือ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

ถือเป็นโต้โผสำคัญที่ทำให้ราชบุรีเป็นชุมชนคนอาร์ตอย่างทุกวันนี้ ตั้งแต่งาน ปกติศิลป์, งานปกติศิลป์ 2 รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่วศินบุรีใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์และกระจายความช่วยเหลือแก่คนในชุมชน

กระทั่งล่าสุด เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการเปิด “ศูนย์บันดาลไทย จ.ราชบุรี” ขึ้น เป็นศูนย์ที่รวบรวมงานศิลป์ ซึ่งเขาใช้ในการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับเยาวชนในพื้นที่

วศินบุรีบอกว่า เพราะทุกท้องถิ่นมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากมาย ไม่ว่าคนพิการ คนด้อยโอกาส ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ทว่าโดยส่วนมากลักษณะความช่วยเหลือที่คุ้นเคยและทำได้เร็วคือการมอบเงินหรือให้สิ่งของ ซึ่งวิธีเหล่านี้คงไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องและตลอดไปในระยะยาว จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มอบโอกาสให้คนที่ต้องการ และพวกเขาสามารถใช้โอกาสนี้ก้าวเดินต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคงได้ด้วยตนเอง

“”บันดาลไทย” ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสร้างความรู้สึกหรือแรงบันดาลใจที่จะทำให้รู้จักตัวตนของสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรามี จุดนี้คือ “ความเป็นไทย” นั่นเอง เราจึงพยายามใช้ทุกวิถีทาง หลังจากตีโจทย์จากคอนเซ็ปต์กลาง แล้วปรับให้เหมาะสมกับวิธีดำเนินงานหรือสิ่งที่คนในชุมชนเป็นให้มากที่สุด และคุ้มค่าที่สุด” วศินบุรีกล่าว

แม้วศินบุรีจะบอกว่าโครงการนี้ต้องใช้เวลานาน จึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม แต่กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานเปิดศูนย์มองว่าการช่วยเหลือวิธีนี้ “ได้ผล”

“สิ่งสำคัญคือ การที่คุณวศินบุรีสอนให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการผลิตซึ่งในที่นี้คือเด็กได้เข้ามาผลิตและมีรายได้ สอนโรงเรียนและครูในการบริหารจัดการซึ่งถือเป็นการเรียนที่ดีมาก คุณวศินบุรีจะไม่เหนื่อยเปล่าเพราะมาถูกทางแล้ว โครงการนี้น่าจะเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นๆ ได้ ในที่สุดจะเกิด Social enterprise ซึ่งชุมชนสามารถยืนบนขาตัวเองได้”

(บน) เต้าหู้ดำที่ต้องต้มจนได้ที่ 3 วัน 3 คืน (ล่าง) หนังใหญ่วัดขนอน อีกหนึ่งของดีของราชบุรี

อิ่มแบบอาร์ต กับ “เต้าหู้ดำ”

ของดีเมืองโพธาราม

นักกินสายเฮลธี้คงชื่นชอบเต้าหู้ เพราะมีประโยชน์มากมายเหลือคณา

แต่ที่ จ.ราชบุรีมีแปลกกว่านั้น เรียกว่า “เต้าหู้ดำ” ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งของกินระดับท็อปประจำถิ่นเลยก็ว่าได้ เต้าหู้ดำคือการนำเต้าหู้ที่มีคุณภาพมาต้มในน้ำพะโล้ นานถึง 3 วัน จนได้รสชาติที่ออกมาเข้มข้น เป็นสูตรเฉพาะตัวของที่นี่ตั้งแต่การรับประทานเต้าหู้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จะกินเปล่าๆ หรือนำมาประกอบอาหาร ทั้งยำ ผัด ต้ม ทอด ก็อร่อยทุกรูปแบบ

คนแรกที่ประสบความสำเร็จในการคิดค้นสูตรการทำเต้าหู้ดำ แล้วทำออกขายในโพธารามคือ “เซี่ยมจู แซ่อึ๊ง”

“ขายของตั้งแต่อายุ 12 ละแวกบ้านมีโรงเจ 3-4 แห่ง เราก็คิดทำ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ชิมไปเรื่อย ต้มได้ 3 วัน 3 คืน จึงได้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่น่าพอใจ ความนุ่มนวลคงอยู่แม้จะเก็บไว้นานแค่ไหน”

ปัจจุบันแม่เซี่ยมจู อายุ 81 ปีแล้ว จึงให้ลูกชายคนรอง “ณรงค์ สุธีรพงศ์สิทธิ์” อายุ 55 ปีเป็นผู้สืบทอดกิจการ โดยยังดำเนินกิจการภายในบ้านไม้สองชั้นหลังเก่า ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟโพธารามมากนัก หากไปไม่ถูกก็ถามคนแถวนั้นหรือเดินตามกลิ่นเครื่องพะโล้ไปเดี๋ยวก็ถึง รับรองว่าไม่หลง

ณรงค์บอกว่า ทุกวันนี้ต้มเต้าหู้ขาวในหม้อใบใหญ่ ซึ่งวางเรียงรายบนเตาถ่านประมาณ 5-6 ใบ ในครัว หม้อแต่ละใบจุเต้าหู้ได้ 300 ชิ้น โดยขายในราคาชิ้นละ 20 บาทเท่านั้น ทั้งยังเก็บไว้ได้นานอีกด้วย

ทั้งนี้ เต้าหู้ดำยังได้รับเลือกจาก ททท.ให้เป็น อาหารถิ่นต้องห้ามพลาด ประจำจังหวัดราชบุรีอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image