สุวรรณภูมิในอาเซียน : ‘ห่า’ ระบาดกรุงเทพฯ ‘แร้งวัดสระเกศ’ กินศพไม่หมดซาก อหิวาต์ในกองทัพ

แร้งวัดสระเกศ กำลังรอจิกกินซากศพ สัปเหร่อยืนถือไม้ไล่เพื่อให้ช่างภาพถ่ายภาพ (ภาพเก่า)

โรคระบาดในประวัติศาสตร์ไทยรู้ทั่วไป คือ ห่า เรียก ห่าระบาด
ห่าเป็นภาษาดั้งเดิมของไทยแบบบ้านๆ หลายพันปีแล้ว มีหลายนิยามบอกความหมาย ได้แก่ อหิวาต์, ฝีดาษ, กาฬโรค
แผ่นดิน ร.2 อหิวาต์ระบาด เรียก ไข้ป่วงŽ ระหว่าง พ.ศ.2360-2366
ระบาดจากอินเดียเข้ากรุงเทพฯ ผ่านปีนัง และหัวเมืองตะวันตก เข้าถึงปากน้ำ (สมุทรปราการ) ราว 2 สัปดาห์ แล้วแพร่เข้ากรุงเทพฯ
แมลงวันเป็นพาหะของอหิวาต์ มีคนตายจนเผาไม่ทัน
หามศพออกทางประตูผี สำราญราษฎร์ (ใกล้ผัดไทยบันลือโลก) ศพกองตามป่าช้าวัดต่างๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ได้แก่ วัดสระเกศ, วัดสังเวช (บางลำพู), วัดปทุมคงคา, วัดพระพิเรนทร์ (วรจักร) ฯลฯ เกิดวลีคล้องจอง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์Ž
ศพเผาก็มาก แต่มีอีกมากไม่ทันเผา หรือเผาไม่ทัน ทิ้งลงแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดตามถนนหนทาง คนไม่กล้าเดิน น้ำในแม่น้ำดื่มไม่ได้ เพราะเต็มด้วยซากศพ
ร.2 โปรดให้ตั้งพิธีอาฏานาติยสูตรŽ ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนหนึ่งตลอดยันรุ่ง
ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต, พระบรมธาตุ, และพระราชาคณะ ออกแห่โปรยทาน ประพรมน้ำมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ ทรงปล่อยปลา, สัตว์ 4 เท้า 2 เท้า, ปล่อยนักโทษ
มีคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง ราว 30,000 คน (สามหมื่นคน)

อหิวาต์ในกองทัพ
กองทัพปราบฮ่อ ปีพุทธศักราช 2418 โดยมี เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เบ็นแม่ทัพหน้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์เป็นจอมทัพยกขึ้นไป กองทัพเจ้าพระภูธราภัยที่สมุหนายก และทัพหน้าของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง รวมพลตั้งฐานทัพเพื่อเร่งรัดไพร่หลวงที่เกณฑ์เข้ากองทัพที่หน้าเมืองพิชัย และหาดพระยาทดแขวงสระบุรี

ในบันทึกกล่าวว่า ที่หาดหน้าเมืองพิชัยเป็นป่าพง คนที่เกณฑ์มาก็เที่ยวถ่ายอุจจาระทั่วไป เกิดเป็นหนอนมีแมลงวันเป็นอันมาก ผู้ที่ไปในกองทัพนั้นได้เล่าว่า เวลากลางวันแมลงวันบินกระหึ่มเหมือนผึ้ง เวลากลางคืนก็เที่ยวเกาะตามกูบช้างที่บุด้วยผ้าสีต่างๆ จนดำมืดมองไม่เห็นผืนผ้า ในมิช้าพลทหารหัวเมืองที่เกณฑ์มาก็เกิดลงท้องเป็นอหิวาตกโรคขึ้น อหิวาตกโรคได้ระบาดแพร่หลาย คนตายวันละหลายๆ สิบคน คนเกณฑ์เข้ากองของเจ้าพระยาภูธราภัย ประมาณจำนวนหนึ่งหมื่นคน ยังหามาเข้ากองทัพได้ครบถ้วนไม่ เจ้าพระยาภูธราภัยเห็นอหิวาตกโรคระบาดใหญ่โตมากมาย จึงรีบยกกองทัพเดินขึ้นไปยังท่าปากราย ขณะที่เดินกองทัพทหารที่เกณฑ์เข้ากองทัพได้ล้มตายตลอดทาง เจ้าพระยาภูธราภัยจึงให้พระสุริยภักดี (เวก บุณยรัตพันธุ์ ต่อมาเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช) เป็นกองหน้ายกขึ้นไปยังเมืองหลวงพระบางก่อน อหิวาตกโรคก็ได้ระบาดเกิดขึ้นที่นครหลวงพระบางอีก พลเมืองนครหลวงพระบางได้ล้มตาย เพราะโรคร้ายนี้หลายพันคน

ในการปราบปรามพวกเงี้ยวมณฑลพายัพ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี-เจิม แสง-ชูโต) เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ ได้ให้พระยาศรีสุรราชวรานุรักษ์ (โพ) ยกล่วงหน้าขึ้นไปก่อน ทหารเที่ยวถ่ายอุจจาระและทำความโสโครกไว้บนพื้นดิน ก็บังเกิดมีแมลงวันขึ้นเป็นอันมาก ครั้นแม่ทัพยกกองทัพขึ้นไปถึงแล้ว ก็ต้องให้ขุดดินกลบที่โสโครกนั้น กับให้ทหารขุดหลุมเป็นรางสำหรับถ่ายอุจจาระ พอถ่ายเสร็จแล้วก็ให้เอาดินกลบหลุมเก่า และขุดหลุมใหม่สำหรับถ่ายอุจจาระต่อๆ ไปอีก แม่ทัพคอยระวังตรวจตรารักษาความสะอาดของพลทหารอยู่เสมอ อหิวาตกโรคก็หาบังเกิดขึ้นไม่
จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้บันทึกความเห็นไว้ว่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดได้เป็นแม่ทัพนายกอง ควบคุมคนมากๆ ยกขึ้นไป ณ ที่หนึ่งที่ใดแล้ว ขอให้ระวังรักษาความสะอาดให้จงมาก ก็จะปราศจากอันตรายในโรคร้ายนี้Ž

Advertisement

[สรุปจากบทความเรื่อง พระเจ้าอู่ทอง หนีห่าŽ โดย พลอากาศตรี เจือ ปุญโสนี, นายแพทย์ฟื้น บุณยะรัตเวช ในหนังสือ เปิดอนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง อยุธยา พิมพ์ พ.ศ. 2513]

แร้งวัดสระเกศ
หมายถึง แร้งกินศพมีมากที่วัดสระเกศ เพราะเป็นแหล่งหามซากศพคนตายออกจากเมือง (กรุงเทพฯ) ทางประตูผี (สำราญราษฎร์) ข้ามคลองเมืองไปทิ้งป่าช้า วัดสระเกศ สมัยแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่รกร้างป่าสะแก

เมืองที่ล้อมด้วยคูน้ำและกำแพง มีข้อห้ามว่าภายในเมืองไม่ฝังศพ ไม่เผาศพ ถ้ามีคนตายต้องหามไปทำพิธีนอกเมืองโดยผ่านประตูหามผีออก ต้องอยู่ทางทิศตะวันออก (เหมือนเมืองเก่าแก่ดั้งเดิม ได้แก่ เมืองนครธมในกัมพูชา, เมืองเชียงใหม่, เมืองสุโขทัย, เมืองอยุธยา)

Advertisement

 

ภูเขาทอง วัดสระเกศ ริมคลองโอ่งอ่าง ภาพถ่ายทางเครื่องบินโดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันต์ นักบินฝ่ายสัมพันธมิตร ถ่ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2489

ถนนบำรุงเมืองสมัย ร.5 มองเห็น 1.ภูเขาทองวัดสระเกศ 2.เสาชิงช้า ตรงไปอีกเป็นประตูผี 3.พระวิหารหลวง และ 4.พระอุโบสถวัดสุทัศน์ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อหิวาต์กำเริบ กาพย์กลอนของ ครูเหลี่ยมŽ
อหิวาต์กำเริบ
ล้างมือก่อนเปิบ ด้วยน้ำประปา
ผักดิบผักสด งดเสียดีกว่า
หากใช้น้ำท่า จงต้มเสียก่อน
อาหารหวานคาว
เมื่อกินทุกคราว เลือกแต่ร้อนร้อน
น้ำคลองต้องค้าน อาหารสำส่อน
จำไว้ใคร่สอน กินไม่ดีเอยŽ
[ประพันธ์โดย ครูเหลี่ยมŽ]

หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล พ.ศ.2422-2506) เกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2422 ที่บ้านถนนมหรรณพ อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของขุนพิมลสารไกร (ดิษ) และนางทองคำ วินทุพราหมณกุล

พ.ศ.2459 หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ (อดีตอธิบดีกรมสาธารณสุข) ได้ชวนหลวงวิลาศปริวัตรเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อกำจัดอหิวาตกโรค ในครั้งนั้นครูเหลี่ยมได้แต่งกาพย์เชิญชวนประชาชนป้องกันโรค ซึ่งต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้นักเรียนใช้เป็นบทท่องจำนานกว่าครึ่งศตวรรษ
ต่อมาหลวงวิลาศปริวัตรเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้แปลประจำกรมสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ.2460 จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่าหลวงวิลาศปริวัตร เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2464
หลวงวิลาศปริวัตรนอกจากทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการไว้เป็นอย่างมากแล้ว ในทางส่วนตัวได้เดินทางด้วยเท้าพร้อมคณะติดตามพระโลกนาถ พระภิกษุชาวอิตาเลียน ซึ่งแวะมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร จากกรุงเทพฯ ไปถึงเมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อทำหน้าที่เป็นล่ามแปลคำเทศนาของพระโลกนาถให้ประชาชนฟังด้วยจิตศรัทธาทั้งๆ ที่ในขณะนั้นมีอายุได้ 70 ปีแล้ว

ด้านวรรณกรรม หลวงวิลาศปริวัตรได้แปลหนังสือไว้เป็นจำนวนมาก โดยใช้หลายนามปากกา ได้แก่ นกโนโร, ครูเหลี่ยม, นายเหลี่ยม, นกน้อย, แก้วกุ้ง, หรั่งเจี๊ยบ, ขุนทอง, ปากกาแก้ว, เกลือแก้ว, แมลงมุม, หงษ์ทอง, นกกระทุง, แมวยุโรป, ธีรวงษ์ส่องฟ้า, และนายสำราญ เป็นต้น
หลงวิลาศปริวัตรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2506 สิริอายุได้ 84 ปี 3 เดือน 23 วัน

[สรุปจาก หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) พ.ศ.2422-2506Ž โดย สมบัติ พลายน้อย : ผู้ให้ข้อมูลเบื้องต้น, ถวัลย์ มาศจรัส : ผู้เรียบเรียง. ในหนังสือ ประวัติครู 16 มกราคม 2543Ž จัดพิมพ์โดย สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, 2543.]

เปรตวัดสุทัศน์
หมายถึงขอทานอดอยากผอมโซเหมือนผีเปรตชุมนุมแบมือถือกะลาขออาหารอยู่ตลาดเสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศน์ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานอยู่ในกลอนบทละครเสียดสีสังคมเรื่องระเด่นลันได [แต่งโดย พระมหามนตรี (ทรัพย์) กวีสมัย ร.3] บรรยายเปิดตัวละครเอกซึ่งเป็นขอทานอยู่ตลาดเสาชิงช้า ดังนี้

๏ มาจะกล่าวบทไป ถึงระเด่นลันไดอนาถา
เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภา ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์
อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าโมงยาม คอยปราบปรามประจามิตรที่คิดร้าย
[รำภา หมายถึง ขอทาน น่าจะกลายมาจากคำลาวว่าลำพา มีชื่อเพลงพื้นบ้านว่า ลำพาข้าวสาร หมายถึงเพลงขอข้าวสาร (แต่มักเขียน รำภาข้าวสาร) ลำ แปลว่า ทำนองลีลาร้องเพลง, พา แปลว่า นำไป, ขอ]

ตลาดเสาชิงช้าเคยมีที่หน้าวัดสุทัศน์ แต่ในภาพเป็นสมัยหลังมีอาคารเทศบาลนครกรุงเทพ (ปัจจุบันคือ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร) (ภาพถ่ายจากเครื่องบินบริเวณวัดสุทัศน์ โดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันต์ นักบินฝ่ายสัมพันธมิตร ถ่ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2489)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image