ย่ำไปในดงเพลง วันที่ 11 เมษายน 2563 : เพลงในวันกักตัว : โดย เขบ็ดหัวโต

ย่ำไปในดงเพลง วันที่ 11 เมษายน 2563 : เพลงในวันกักตัว : โดย เขบ็ดหัวโต

ย่ำไปในดงเพลง วันที่ 11 เมษายน 2563 : เพลงในวันกักตัว : โดย เขบ็ดหัวโต

ไม่ว่าจะมีประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ออกมาหรือไม่

โดยความเป็นจริง และโดยความควร นาทีนี้การ “แยกกันอยู่” เป็นหนทางที่ดีที่สุด (สำหรับชาวบ้าน) ในการหยุดยั้งการกระจายเชื้อโคโรนาไวรัสโควิด-19

จะที่สุดก็คือโดยสมัครใจ

Advertisement

ซึ่งต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า ถ้าจะให้ชาวบ้านยอมอยู่กับบ้านมากกว่าออกไปเคลื่อนไหวข้างนอก

มาตรการ-ความช่วยเหลือต่างๆ ต้อง “จัดเต็ม” ตั้งแต่ก่อนมีประกาศ-คำสั่ง

เช่น เงินช่วยเหลือเยียวยาต้องมาถึงมือแล้ว สินค้าที่จำเป็นในการประทังชีวิต ไม่ว่าของสดของแห้ง อาหาร หรืออื่นๆ ยังจะต้องมีขายอยู่เป็นปกติ (อาจจะน้อยกว่าเดิมได้บ้าง ตามธรรมชาติของช่วงกักตัว)

Advertisement

อุปกรณ์พื้นฐานในการป้องกันโรค เช่น หน้ากาก เจลล้างมือ ก็ต้องแจกฟรีหรือมีขายในราคาที่ชาวบ้านสามารถมีไว้ในครอบครองได้ ในราคาที่ไม่กระเทือนต่อการดำรงชีพ

ถ้าทำได้อย่างนี้ รับรองว่าความร่วมมือมาเต็ม

โอกาสจะสยบโรคในเวลาก็มากขึ้น

จะได้มีเวลาและทรัพยากรเหลือมาทำงานฟื้นฟูเยียวยาปากท้องกันต่อไป

ระหว่างที่หลวงท่านขอความร่วมมือให้อยู่บ้านมากกว่าออกไปเพ่นพ่าน

กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทำควบคู่ไปกับหาหนังสืออ่าน หรือเขียนอะไรไปเรื่อยเปื่อย ก็คือฟังเพลง

เก่าบ้างใหม่บ้าง

ส่วนใหญ่เป็นเพลงเก่า

นอกจากเอาไว้รำลึกความหลังแล้ว ยังเอาไว้เขียนหากินด้วยอีกอย่าง (ฮา)

และระหว่างที่ฟังไปกักตัวไปนี่เอง มี 2 เพลงที่สะดุดหูและสะดุดอารมณ์ เนื่องจากเข้ากับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง

หนึ่งคือ Carry On Till Tomorrow ของ Badfinger กับ Isolation ของ John Lennon

คิดไปคิดมา เลือกเพลงหลังนำเสนอก่อน

เพราะสงสัยว่าเราๆ ท่านๆ คงยังต้อง Isolation กันอีกพักใหญ่

ถึงตอนนั้นค่อยมาปลอบขวัญกันด้วย Carry On Till Tomorrow ก็คงยังไม่สาย

เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มแรก (อย่างเป็นทางการ) ในฐานะศิลปินเดี่ยวของ Lennon หลังจากวง The Beatles สลายตัวในกลางปี 1970

อัลบั้มที่ว่าก็คือ John Lennon/Plastic Ono Band

เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่แสดง “ตัวตน” ของ Lennon ออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด

ไม่ว่าเนื้อร้อง ทำนอง หรือการทำดนตรี

Isolation เป็นเพลงสุดท้ายในอัลบั้มหน้า A

และอยู่ในหน้า B ของซิงเกิ้ลแผ่นแรกที่ตัดออกมาขาย โดยเพลงที่อยู่อีกหน้าหนึ่งคือ Mother ที่ Lennon เขียนขึ้นมาด้วยความรู้สึกโหยหาอาลัยต่อแม่ ที่จากไปตั้งแต่เขาเป็นวัยรุ่น

Isolation ก็ทำนองเดียวกัน

เป็นเพลงสะท้อนถึงความ “โดดเดี่ยว” หลังแยกวงและแตกหักเพื่อน (เคย) รักอย่าง Paul MacCartney ที่คบกันมาตั้งแต่เด็ก

สะท้อนถึงความหวั่นไหวต่อการมีอยู่ของ “ตัวตน” (ที่ต้องอาศัยยาเสพติดเข้ามาบรรเทาอยู่พักใหญ่กว่าจะหลุดพ้นออกมาได้)

เนื้อเพลงท่อนแรกสะท้อนความเปลี่ยวเหงาของ John และ Yoko ที่แม้จะพรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุและชื่อเสียง (ที่เป็นของนอกกาย) แต่กลับเปล่าโหวงอยู่ในใจ

และ “แปลกแยก” จากคนอื่นๆ รอบข้าง

ท่อนที่สองเป็นการประกาศจุดยืนทางการเมือง (แนวขบถ) ของทั้งสองคน

และท่อนสุดท้ายคือสะท้อนความเปลี่ยวเหงาของทุกคนในโลก ที่ล้วนเป็น “เหยื่อ” ของความบ้าคลั่งอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกันทั้งสิ้น

ไม่ใช่เนื้อเพลงเท่านั้นที่สะท้อนถึงความเปลี่ยวเหงา ภาคคนตรีก็เช่นกัน

มีคนวิจารณ์ว่า ดนตรีของเพลงนี้คือเปียโนบลูส์ของคนผิวดำ ที่สะท้อนความน้อยเนื้อต่ำใจ ความเหงา ความแปลกแยกจากสังคม

แทบทั้งเพลงนั้นมีเปียโน (ที่เล่นโดย Phil Spector โปรดิวเซอร์คู่ใจ) และกลอง (ที่เล่นโดย Ringo Starr เพื่อนเก่า) คลอกับเสียงร้องของ Lennon ไปแทบตลอดเพลง

ก่อนจะมีเสียงเบสของ Klaus Voorman ยอดมือเบสแห่งยุคมากระแทกความรู้สึก

ใครฟังเพลงนี้แล้วไม่เศร้า ไม่เหงา หรือไม่คิดจะไปหามุมเงียบๆ ซุกตัวอยู่คนเดียว

ต้องนับว่า “ใจแข็ง” สุดสุด

Wilfrid Mellers ยอดนักวิจารณ์ดนตรีชาวอังกฤษ ยกย่องเพลงนี้และ Lennon ว่ามีคุณูปการต่อวงการดนตรีของอังกฤษ ในฐานะที่นำเพลงบลูส์ของคนผิวดำมาขึ้นเกาะแดนผู้ดีได้

เหมือนที่ Bob Dylan ทำให้เพลงบลูส์ติดหูและติดใจชาวอเมริกันผิวขาว

เพื่อนนักดนตรีร่วมห้องอัด บอกว่า Lennon นั้น “จู้จี้” ในการทำเพลงมาก

โดยเฉพาะจู้จี้กับเสียงร้องของตัวเอง

ทั้งกลับไปหัดเปล่งเสียงและพลังที่บ้าน ทั้งเทคแล้วเทคอีกในห้องอัดจนกว่าจะได้ท่อนที่พอใจ

หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องทำกันจนหมดแรง แล้วรอ Spector เข้ามาใช้เทคนิคอัดเสียงซ้อนทับลงไปจนกระทั่ง Lennon รับได้

เสียดายที่เพลงนี้ออกแนว “ส่วนตั๊ว-ส่วนตัว” มากไปหน่อย จนกระทั่งไม่ดัง (มาก) เหมือนเพลงอื่นๆ ที่เนื้อหา “สากล” กว่า (อย่าง Mother ที่บรรยายความรู้สึกถึงแม่ ซึ่งใครๆ ก็รู้สึกแบบเดียวกัน แต่พูดออกมาไม่สละสลวยเท่า)

Isolation จึงเป็นได้แค่ “ตัวประกอบยอดเยี่ยม” ทั้งในแผ่นอัลบั้มและซิงเกิ้ล

ถ้ามีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ Lennon อาจจะเขียนเพลงที่แสดงถึงความเปลี่ยวเหงา แปลกแยก และเศร้าสร้อยอยู่ลึกๆ ของมนุษย์เสียยิ่งกว่า Isolation ก็เป็นได้

ก็ใครจะคิดเล่าว่า ในวันที่โลกถูกย่อให้เหลือใบเล็กกระจิ๋วหลิวด้วยวิทยาการเดินทางและการสื่อสาร

โรคระบาดตัวใหม่ที่ผุดขึ้นมา จะทำให้โลกและสังคมแยกออกเป็นเสี่ยงๆ อีกครั้ง

โดยที่ยังไม่รู้ชะตากรรมด้วยว่า การแยกตัวเองจากสังคมนี้จะดำเนินต่อไปอีกนานเท่าใด

และจะส่งผลอะไรต่อชีวิตในภายภาคหน้า

ไม่ว่าการทำมาหากิน อนาคตของลูกหลาน และประเพณีวัฒนธรรมที่จะต้องปรับเปลี่ยนตาม

หวังและหวังว่าสภาพ Isolation ของทั้งโลกจะผ่านไปในเวลาอันไม่ช้า

และทุกคนจะสามารถ Carry On Till Tomorrow ต่อไปได้

หวังไว้อย่างนั้นจริงๆ ครับ

Isolation – John Lennon
https://www.youtube.com/watch?v=3GBDN3G0QoU

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image