อาศรมมิวสิก : มิเชล ชวาลเบ มือขวาแฮร์แบร์ต ฟอน คารายาน ความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

วงซิมโฟนีออเคสตรานั้นเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ที่เป็นเสมือนภาพจำลองของสังคม, วิถีชีวิต หรือในบางแง่มุมก็เสมือนภาพจำลองของบริษัทหรือองค์กรที่มีผู้คนจำนวนมากที่ต้องทำงานร่วมกันมีปฏิสัมพันธ์กันตามลำดับชั้น ซึ่งถ้ามองกันในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่า นอกจากจะต้องมีผู้อำนวยการใหญ่ (อาจเปรียบได้กับวาทยกรหรือผู้อำนวยเพลง) แล้ว ยังจะต้องมีตำแหน่งระดับหัวหน้าส่วนงานย่อยๆ ลงไปอีก อันอาจเปรียบได้กับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ที่เรียกกันว่า “Principal” ที่จะมีบทบาทสำคัญในการ “นำวง” อยู่บ่อยครั้ง

และที่เหนือกลุ่มอื่นใดที่มีความสำคัญเชิงประจักษ์ทางกายภาพให้เห็นได้ชัดเจนโดดเด่นในยามที่เราไปชมการแสดงคอนเสิร์ต ก็คือตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มไวโอลินแนวที่หนึ่งที่เรียกกันว่า “Leader” หรือ “Concertmaster” นั่นเอง ซึ่งอาจเปรียบได้ไม่ผิดกับตำแหน่งกัปตันทีมในกีฬาฟุตบอล เขาคือ “มือขวา” ของผู้จัดการทีม (วาทยกร) นอกจากเทคนิคและฝีไม้ลายมือต้องเป็นที่หนึ่งในวงแล้ว ตำแหน่งนี้เรียกร้องทั้งวุฒิภาวะ, ความเป็นผู้นำ, บารมีที่สร้างศรัทธาให้กับสมาชิกนักดนตรีทุกๆ คนในวง หากใครเป็นแฟนประจำในการชมซิมโฟนีคอนเสิร์ต การใช้ความสังเกตบุคลิกภาพของคอนเสิร์ตมาสเตอร์ของแต่ละวงเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง บุคคลคนนี้มักจะมีรัศมี (Aura) และภาวะผู้นำบางอย่างที่โดดเด่น อย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

ขอกล่าวอ้างอิงย้อนหลังไปสู่ “ยุคทอง” ของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก (Berlin Philharmonic Orchestra) ในช่วงสมัยราวๆ ก่อนทศวรรษ 1960 เล็กน้อยไปจนถึงช่วงปลายทศวรรษ1980 อันเป็นช่วงที่วงดนตรีวงนี้ประสบความสำเร็จทางภาพลักษณ์, ชื่อเสียง และความเป็นดาราที่โดดเด่นมากที่สุดภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรในตำนานสุดหล่อ นามว่า “แฮร์แบร์ต ฟอน คารายาน” (Herbert von Karajan) (แต่ถ้าจะกล่าวลึกลงไปถึงความสำเร็จในทางเนื้อหา “ดุริยธรรม” ก็คงต้องปล่อยให้บรรดา “ผู้รู้” ทั้งหลายถกเถียงกันต่อไป)

เสียงของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกในยุคของเขา เป็นเสียงแห่งตำนานที่มีประจักษ์พยานหลงเหลือมากมายในรูปของงานบันทึกเสียง น้ำเสียงที่โอ่อ่า, สมบูรณ์พร้อมทางเทคนิคจนเข้าใกล้คำว่า “ไร้ที่ติ” จนบางครั้งก็ถูกเหน็บแนมว่าเป็นความงามทางเสียงที่เย็นชา น้ำเสียงดนตรีที่แฝงความเย่อหยิ่ง, ทระนงอยู่ในที (คงต้องขอยืมสำนวนจากภาพยนตร์ “โหมโรง” ของไทยมาใช้ว่า มันคือ “เสียงที่ลำพอง”)

Advertisement

หลังยุคสมัยของเขา เบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกยังคงความเป็นเลิศ แต่น้ำเสียงลีลาความงามทางดนตรีแบบหรูหรา, ลำพอง, เย็นชา แบบที่อาจเรียกว่า “เสียงคารายาน” ก็ล้มหายตายจากไปกับตัวเขา แน่นอนที่สุดเสียงแห่งความสมบูรณ์ทางเทคนิคดนตรีในยุคของคารายานนั้น อยู่ในช่วงราวๆ ปี ค.ศ.1957-1987 (ช่วงเวลาราว 30 ปี) ซึ่งในยุคสมัยนี้คารายานมีหัวหน้าวง (Leader) คู่บารมีที่เคียงคู่รู้ใจร่วมงานกันมาตลอดในช่วงราว 30 ปีทองแห่งตำนานความรุ่งโรจน์นี้

หัวหน้าวงที่เปรียบเสมือนมือขวาของเขาในการร่วมกันนำวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกตลอดมา เขาเป็นนักไวโอลินผู้คร่ำหวอดแห่งยุคสมัย ชาวยิวโปแลนด์นามว่า “มิเชล ชวาลเบ” (Michel Schwalbe)

อะไรคือเหตุผลหลักของคารายานในการเลือก “มิเชล ชวาลเบ” มาเป็นขุนพลกระบี่มือเอกคู่ใจของเขาตลอดช่วงระยะเวลา 3 ทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์นี้ แน่นอนที่สุดมันก็คือเรื่องของ “คุณภาพ” ที่ต้องมาก่อนเรื่องอื่น วิถีชีวิตของชวาลเบ ราวกับถูกชะตาฟ้าเบื้องบนกำหนดให้เขาต้องมาจับคู่ทางดนตรีกับคารายานในการสร้างเกียรติภูมิของวงในยุคสมัย เสมือนกับนักดนตรีเอกผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายๆ คน มิเชล ชวาลเบ เคยเป็นเด็กที่สูงด้วยพรสวรรค์ทางดนตรีแบบที่เรียกว่า Child Prodigy และได้รับการปูพื้นฐานมาเป็นอย่างดีในวัยเด็ก โดยมีเข็มทิศชีวิตที่มุ่งมั่นในการเป็น “ศิลปินเดี่ยว” (Soloist) อันยิ่งใหญ่ เป็นตำนานแห่งยุคสมัย

Advertisement

นับแต่การเริ่มต้นด้วยการเรียนกับครูที่ชื่อว่า “เมาริซี เฟรงเคล” (Maurycy Frenkel) ครูไวโอลินที่หลายๆคนอาจไม่รู้จักกันแล้วในปัจจุบันนี้ แต่ทว่าเขาผู้นี้คือลูกศิษย์และครูผู้ช่วยของ “เลโอโปลด์ อาวเออร์” (Leopold Auer) ศาสตราจารย์ทางไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ชาวฮังการี (ซึ่งไชคอฟสกีเคยตั้งใจอุทิศบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตของเขาให้) ครั้นอายุได้ 15 ปี เขาติดตามมารดาไปยังกรุงปารีสและได้มีโอกาสเรียนกับปรมาจารย์ไวโอลินชาวโรมาเนียผู้ยิ่งใหญ่คือ “จอร์จ อีเนสคู” (George Enescu) ผู้สอนนักไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกมากมาย (รวมถึง “เยฮูดิ เมนูฮิน”)

มิเชล ชวาลเบ จบการศึกษาจากสถาบันดนตรีแห่งกรุงปารีส (Paris Conservatoire) ในปี ค.ศ.1938 (อายุได้ 19 ปี) ด้วยผลการเรียนดีเยี่ยม หนุ่มน้อยผู้มีอนาคตสดใสด้วยความคาดหวังเต็มเปี่ยมที่จะเป็นศิลปินเดี่ยวไวโอลิน (Soloist) เช่นเดียวกันกับเพื่อนๆ ร่วมอาจารย์เดียวกันอีกหลายๆ คน แต่แล้วก็เหมือนสายฟ้าฟาดลงบนชะตาชีวิต มันคือการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1939 พร้อมกับการไล่ล่าสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ความฝันในวิถีชีวิตการเป็นศิลปินเดี่ยวของเขาพังทลายแบบไม่ทันตั้งตัว เหลือเพียงแค่ต้องรักษาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ในปี ค.ศ.1940 เขาต้องหนีไปยังเมืองลียง (Lyon) โดยไปรับงานเป็นหัวหน้าวง Orchestre Symphonique de France

และในช่วงเวลานี้เอง แม่และน้องสาวของเขา (รวมถึงญาติพี่น้องของเขาอีกหลายคน) ก็ถูกสังหารในค่ายกักกัน “เทรบลิงกา” (Treblinka) ในโปแลนด์

ในปี ค.ศ.1942 สถานการณ์สงครามบีบคั้นให้เขาต้องลี้ภัยออกจากฝรั่งเศสโดยด่วน เขาต้องลี้ภัยไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยการซ่อนตัวไปในรถตู้ขนเฟอร์นิเจอร์ (จากThe Telegraph) ในสวิตเซอร์แลนด์ มิเชล ชวาลเบ ได้รับการคัดเลือกโดย Ernest Ansermet วาทยกรชาวสวิตเซอร์แลนด์ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวง Orchestre de la Suisse Romande อีกทั้งการเป็นหัวหน้าวงดนตรี Lucerne Festival Orchestra ในบางครั้ง ซึ่งการได้ทำงานกับวงที่ลูเซิร์น นี่เองที่ได้นำพาเขาไปเริ่มรู้จักกับวาทยกรหนุ่มไฟแรงที่ชื่อเสียงยังไม่ค่อยโด่งดังนักนาม แฮร์แบร์ต ฟอน คารายาน และการได้เปรียบเทียบการอำนวยเพลงของคารายานกับวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยนามว่า “วิลเฮล์ม เฟิร์ทเวงเลอร์” (Wilhelm Furtwangler) สิ่งหนึ่งที่อาจขัดใจบรรดาผู้รู้ทั้งหลายก็คือความเห็นของชวาลเบ ที่เปรียบเทียบการอำนวยเพลงของเฟิร์ทเวงเลอร์กับคารายานไว้ว่า “…….ผมรักความรวดเร็วของเขา (คารายาน), ความฉลาดของเขา, ความเร็วในปฏิกิริยาโต้ตอบของเขา, การฝึกซ้อมวงก็เช่นเดียวกัน เขามีวิธีฝึกซ้อมวงที่น่าสนใจมากกว่าของเฟิร์ทเวงเลอร์เสียอีก จึงเป็นธรรมดาที่เมื่อเขาสืบทอดตำแหน่งต่อจากเฟิร์ทเวงเลอร์ ในเบอร์ลินในอีก 10 ปีต่อมา ผมจึงควรที่จะเป็นมือขวาของเขา….” (จากหนังสือพิมพ์ The Guardian)

แม้จะศรัทธา, นับถือในความเป็นเลิศของคารายาน (ที่แก่กว่าเขา 11 ปี) จริต-มุมมองทางดนตรีที่ต้องตรงกัน แต่ทว่า เขาและคารายานมีบาดแผลลึกในจิตใจต่อกันที่ยากต่อการลืมเลือนหรือการยกโทษให้อภัยใดๆ นั่นก็คือ การเมืองอันเหี้ยมโหดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มารดา, น้องสาวตลอดจนญาติพี่น้องชาวยิวของเขาต้องถูกสังหารโหดในค่ายกักกันของนาซี ซึ่งในตอนนั้น คารายานก็คือหนึ่งในสมาชิกพรรคนาซี มันคือหนามยอกอก ที่ยากแก่การบ่งถอน

เราไม่อาจล่วงรู้ถึงความรู้สึกภายในจิตใจของบุคคลทั้งสองได้ในประเด็นเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะคาดเดาได้ว่า สิ่งที่ได้เชื่อมผสานศัตรูคู่อาฆาตทั้งสองให้กลายมาเป็นคู่หู-คู่บุญทางดนตรีด้วยกันก็คือ ความเป็นเลิศและแนวทางดนตรีที่ต้องตรงกัน ความต้องการสร้างสรรค์ศิลปะเสียงดนตรีที่มีความเป็นเลิศ-สมบูรณ์พร้อมทางเทคนิค, ความรวดเร็วปราดเปรื่อง นี่คือจุดที่ทั้งคู่เป็นเหมือนกันในทางดนตรี คารายานนั้นถูกอก-ถูกใจกับฝีไม้ลายมือและแนวทางไวโอลินของชวาลเบเป็นหนักหนา จึงทาบทามให้เขาย้ายจากสวิตเซอร์แลนด์มาอยู่ด้วยกันที่เบอร์ลิน ซึ่งชวาลเบก็ลังเลมากในเบื้องแรก เพราะดูว่างานดนตรีในสวิตเซอร์แลนด์ของเขาก็มีความมั่นคงดีอยู่แล้ว ทั้งงานในวงออเคสตราและงานการสอนไวโอลินที่มั่นคง (ชวาลเบ ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางไวโอลินที่สถาบันดนตรีแห่งเมืองเจนีวา สืบต่อจากนักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Joseph Szigeti)

ในที่สุด ชวาลเบก็ตกลงใจทิ้งทุกสิ่ง, ทุกอย่างในงานดนตรีในสวิตเซอร์แลนด์ (รวมถึงความฝันที่จะเป็นศิลปินเดี่ยว) เขาตัดสินใจมาร่วมงานกับคารายานและวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก ในปี ค.ศ.1957 แม้กระนั้น ก็ยังมีการจัดการสอบคัดเลือกตำแหน่งหัวหน้าวงอันสำคัญนี้ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ชวาลเบย้อนความหลังว่า เขาเล่นบทเพลง Variations ของ นิกโคโล ปากานินิ (Niccolo Paganini) ในการสอบคัดเลือก เมื่อเล่นจบลงหันไปดูและเห็นคารายานยกมือทั้งสองชูขึ้นสู่สวรรค์ (จาก The Telegraph) นั่นคือความทรงจำของชวาลเบ ในการสอบคัดเลือกในครั้งนั้น

หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1959 วงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก และคารายานเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีอย่าง Deutsche Grammophon มันคืองานบันทึกเสียงบทเพลง โทนโพเอ็ม (Tone Poem) ขนาดใหญ่ Ein Heldenleben (หรือ A Hero’s Life) ของ “ริคาร์ด ชเตราส์” นี่คืองานบันทึกเสียงกับบริษัทนี้กับคารายาน ชิ้นแรกสุดหลังสิ้นสุดสงครามโลก ใครที่เป็นแฟนๆ เพลงคลาสสิกจะรู้ดีถึงความโอ่อ่า และความซับซ้อนในเชิงเทคนิคการบรรเลงของบทเพลงขนาดมหึมาชิ้นนี้

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ริคาร์ด ชเตราส์ เขียนแนวบรรเลงเดี่ยวไวโอลินเอาไว้ในท่อนที่ 3 (The Hero’s Companion) ที่บรรยายถึงภริยาสุดที่รัก อย่างแสนจะเผ็ดร้อนจัดจ้าน เทคนิคบรรเลงเดี่ยวนั้นยากเทียบเท่างานบรรเลงเดี่ยวคอนแชร์โตชิ้นใหญ่ๆ ทั้งหลาย อีกทั้งแฝงการแสดงออกในบุคลิกภาพเชิงละคร (Drama)ของผู้ที่เป็นภริยาทั้งหลายในโลกที่ทั้งอ่อนหวาน, น่ารัก และเผ็ดร้อนดุร้าย, จู้จี้ในบางอารมณ์

นี่จึงกลายเป็นหนึ่งในตำนานอ้างอิงของบทบาทการบรรเลงเดี่ยวไวโอลินโดย ตำแหน่งหัวหน้าวงออเคสตราที่ร่ำลือ, เล่าขานและอ้างอิงกันมาจนในทุกวันนี้ ถึงความจัดจ้านในบทบาทฝีมือการตีความของ มิเชล ชวาลเบ

ความสำเร็จในงานบันทึกเสียงชิ้นนี้ กลับกลายเป็นเสมือนดาบสองคมไปในเวลาเดียวกัน ชวาลเบได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร The Strad (นิตยสารสำหรับผู้คนในแวดวงเครื่องสายสากลโดยเฉพาะ) ว่า เขาต้องรู้สึกเหมือนถูกกดดันทุกครั้งในยามที่ต้องออกตระเวนแสดงร่วมกับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก ในประเทศต่างๆ ในความคาดหวังของผู้ชมและนักวิจารณ์ ที่ต่างคอยจดจ้องถึงบทแสดงเดี่ยวไวโอลินโดยหัวหน้าวงนี้ ว่าจะจัดจ้านถึงใจพระเดชพระคุณได้เพียงใด เขาต้องคร่ำเคร่งกับการฝึกซ้อมอย่างจริงจังเพื่อความเป็นเลิศในคอนเสิร์ตที่จะมีขึ้นในค่ำคืนนั้น ในขณะที่เพื่อนๆ นักดนตรีคนอื่นๆ สามารถออกไปเดินเล่นผ่อนคลายกันได้

มิเชล ชวาลเบ เกษียณอายุจากตำแหน่งหัวหน้าวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก ในปี ค.ศ.1986 รวมระยะเวลาที่ร่วมงานกับวงดนตรีอันเป็นเลิศนี้ราวๆ 30 ปี ดังนั้นถ้าใครจะกล่าวถึงยุคสมัยของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกอันรุ่งโรจน์ ภายใต้การนำของสุดยอดวาทยกร แฮร์แบร์ต ฟอน คารายานแล้ว เราคงต้องไม่ลืมว่า เขามีขุนพลเอกคู่ใจในช่วง 3 ทศวรรษนี้ที่เคียงคู่กันตลอดมานามว่า มิเชล ชวาลเบ งานบันทึกเสียงบทเพลงโทนโพเอ็มหลายๆ เพลง ของ ริคาร์ด ชเตราส์ในช่วง 30 ปี ที่ว่านี้จึงเป็นการบันทึก บทบาทแสดงเดี่ยวอันหรูหรา-เจิดจ้าของ มิเชล ชวาลเบ ด้วยเช่นกัน

เขาถึงแก่กรรมในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ.2012 ที่กรุงเบอร์ลิน สิริรวมอายุได้ 92 ปี (ก่อนครบวันเกิด 93 ปี เพียงไม่กี่วัน) ความสัมพันธ์ของนักไวโอลินยิวผู้รอดชีวิตจากการถูกไล่ล่าในสงครามโลกกับวาทยกรอดีตนาซี ที่ร่วมกันสร้างตำนานความรุ่งโรจน์ทางดนตรีต่อเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ หลายๆ คน จึงตีความกันว่า นี่คือความสัมพันธ์แห่งความปรองดองเชิงประจักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image