แท็งก์ความคิด : ‘เห็นต่าง’คือผู้ช่วย : โดย นฤตย์ เสกธีระ

แท็งก์ความคิด : ‘เห็นต่าง’คือผู้ช่วย : โดย นฤตย์ เสกธีระ

สงกรานต์ปีนี้แตกต่างจากสงกรานต์ทุกปี

เพราะปีนี้เทศกาลสงกรานต์ไม่มีวันหยุดยาว ทุกคนมีภารกิจร่วมกัน นั่นคือ อยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ

เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโควิด-19

ไวรัสที่เป็นโรคอุบัติใหม่ ติดง่าย เชื้อทำลายปอด และทำให้เสียชีวิตได้

Advertisement

ดังนั้น ช่วงเวลานี้ ใครอยากพบปะผู้เฒ่าผู้แก่ ขอให้อดใจ โปรดใช้วิธีโทรศัพท์ไปหาแทน

เพราะตัวเลขจากศููนย์บริหารสถานการณ์โควิดระบาดท่านตอกย้ำให้รู้ว่า การอยู่ใกล้ประชิดตัวผู้เฒ่าผู้แก่นั้น อาจทำให้พวกท่านเป็นอันตราย

เราอาจเป็นพาหะ นำไวรัสไปติดผู้ใหญ่ที่เคารพได้

Advertisement

ยิ่งใครที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป หากเป็นแล้วมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

ได้ยินได้ฟังเช่นนี้แล้ว “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ” ไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน

ในช่วงที่โควิดระบาด หลายคนที่อยู่บ้านมากกว่าที่ทำงาน คงรู้สึกเบื่อ

แต่ทุกคนสามารถดำรงอยู่ในสภาพเช่นนั้นมาได้จนถึงบัดนี้ ถือว่าเยี่ยม

และแม้จะต้องอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกระยะ ก็น่าจะทนได้

ระหว่างนี้ สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ คือการซ่อมแซมบ้าน แบบทำได้คนเดียว

ใช้เวลาที่มีอยู่ เหลือบมองดูท่อน้ำ ดูสายไฟ และเครื่องใช้ที่มีอยู่

อย่างไหนเสียก็แก้ไข อย่างไหนเสื่อมทรุด ก็เปลี่ยนแปลง

สวนหย่อมข้างบ้านหน้าบ้านที่เคยละทิ้ง เพราะภารกิจการงานมาก

ช่วงนี้หันกลับไปเอาใจใส่

รดน้ำ พรวนดิน ตกแต่งต้นไม้ให้สดชื่น

หรือจะใช้เวลาว่างๆ ด้วยการทำ 5 ส.

หรือจะทำนั่น ทำนี่ เพื่อไม่ให้ตัวเองว่าง จะได้ไม่จิตตกระหว่างอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ

ส่วนใครที่ไม่รู้จะทำอะไร ขอแนะนำเหมือนทุกครั้ง

นั่นคือ หาหนังสืออ่าน

หนังสืออีกเล่มที่แนะนำ คือ หนังสือชื่อ “Digital Minimalism”

เขียนโดย “Cal Newport” แปลโดย “บุณยนุช ชมแป้น”

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเห็นแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดของคนยุคไฮเทค

คนยุคไฮเทคสนุกสนานกับเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการ

แต่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ สะท้อนมุมมองที่แตกต่าง

เบื้องต้นเขายอมรับว่า โลกใบนี้มีเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้กำลังคุกคามมนุษย์

เขามองว่า เทคโนโลยีเริ่มบงการตัวเรามากขึ้น

บ่งการว่าเราควรประพฤติตัวแบบไหน ควรรู้สึกอย่างไร บีบให้เราต้องใช้งานจนกระทบสุขภาพ

เขายังให้ข้อมูลว่า คนที่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เพราะขี้เกียจหรอก

แต่ที่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี เพราะมีเงินลงทุนนับพันล้านดอลลาร์ทำงานอยู่เบื้องหลัง

ลงทุนมหาศาลเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาคือทำให้คนติดการใช้เทคโนโลยี

เขาบอกว่า พอคนเผลอเข้าไปในสมรภูมิดิจิทัลก็จะเพลิน บริษัทที่พัฒนาอุปกรณ์ดิจิทัลและกลุ่มทุนก็ยิ้ม

เพราะยิ่งมีคนเพลินกับเทคโนโลยีมากเท่าใด บริษัทเหล่านี้ก็โกยกำไรได้มากเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนบางกลุ่มเสนอแนวคิด Digital Minimalism

ทำให้ตัวเองเป็นอิสระจากเทคโนโลยี

กลุ่มดังกล่าวแนะนำวิธีการลดการใช้เทคโนโลยีเอาไว้ให้เรียบร้อย

ทุกอย่างอยู่ในหนังสือ ชื่อ Digital Minimalism

ใครได้อ่านคงได้พบความเห็นต่างที่ปรากฏในหนังสือ หลายคนอาจไม่ยอมรับ หลายคนมีข้อโต้แย้ง

ทุกคนสามารถทำเช่นนั้นได้

แต่หนังสือเล่มนี้ตอกย้ำให้เห็นว่าความเห็นแตกต่างนั้นเป็นเรื่องปกติ

เมื่อมีคนเห็นด้วยก็ต้องมีคนไม่เห็นด้วย

เมื่อมีคนหนึ่งที่ชี้ไปทางขวา อีกคนหนึ่งอาจชี้ไปทางซ้าย อีกคนชี้ขึ้นด้านบน และก็อาจจะมีคนที่ชี้ลงไปข้างล่าง

ความเห็นต่างเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ

ความพยายามสกัดกั้นไม่ให้เกิดความเห็นต่าง นั่นต่างหากที่เป็นเรื่อง ผิดปกติ

แม้หลายคนจะยกเอาข้อเสียของความเห็นที่แตกต่างขึ้นมา

แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเห็นต่างก็มีข้อดี

ทำให้ได้รับมุมมองหลากหลาย

ทำให้เกิดความรอบคอบก่อนตัดสินใจ

ทำให้การตัดสินใจได้รับการยอมรับ

เช่นเดียวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับโควิด-19

ในทุกๆ ย่างก้าวเพื่อเอาชนะโควิด เต็มไปด้วยความคิดเห็น

ทุกก้าวย่าง มีความเห็นที่แตกต่างกันเกิดขึ้นมาเป็นระลอกๆ

แทนที่จะปิดหูไม่รับฟังความเห็นดังกล่าว ถ้าหันกลับมาสนใจในความเห็นเหล่านั้น

แล้วแยกแยะเอาความเห็นที่มีมุมมองที่ทำให้เกิดการพัฒนามาใช้ประโยชน์

น่าจะดีกว่า

ส่วนความเห็นที่เต็มไปด้วยอารมณ์ โกรธเกลียด รักหลง และไม่เป็นประโยชน์ต่อการสู้กับโควิด-19

ขอให้ละทิ้งปล่อยวางไป

หากยอมรับว่าความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ

หากสามารถคัดเอาความเห็นต่างที่เป็นประโยชน์มาใช้ได้

ความเห็นที่แตกต่างนี่แหละจะเป็นผู้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image