เบื้องหลังข้อเสนอ ‘ปฏิรูป’ การเมือง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ฉุดจาก ‘ก้นเหว’ ก่อนดินกลบแล้ว ‘ไปไม่รอด’

ห่างหายไปจากหน้าสื่อแวดวงการเมืองนานพอสมควร สำหรับชื่อของ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

แต่สำหรับในแวดวงการศึกษา-ศาสนา หลังจากที่ “คุณหญิงหน่อย” ถูกตัดสิทธิทางการเมืองอันมีเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ชื่อของเธอกลับไปปรากฏว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า อย่างลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล

ข่าวคราวเกี่ยวกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามีออกมาเป็นระยะๆ

ขณะที่งานด้านการเมืองกลับเงียบจนหลายคนคิดว่าเธอจะอำลาวงการนี้ไปแล้ว จนกระทั่งการปรากฏตัวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ภายในงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ชื่อของ

Advertisement

“เจ๊หน่อย” จึงได้กลับมาปรากฏในแทบทุกหน้าหนังสือพิมพ์ในประเด็นทาง “การเมือง” อีกครั้ง

พร้อมพาดหัวไปในทิศทางเดียวกันว่า เธอพร้อมที่จะรับอาสาตั้งวงพูดคุยกันระหว่างนักการเมือง-นักวิชาการ เพื่อหาทางออกประเทศ

และนี่คือ “เบื้องหลัง” ที่มาที่ไปของเรื่องนี้

Advertisement

หลังปลดล็อกการเมืองในปี 2555 ทำไมไม่ลงเลือกตั้งอีก?

มีหลายปัจจัย เป็นต้นว่า งานบูรณะปฏิสังขรณ์ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ยังไม่เสร็จเรียบร้อย การเรียนปริญญาเอกพุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ยังค้างอยู่ และก็รู้สึกว่าเมื่อมาทางนี้แล้วมีความสุขมากกว่า เพราะได้มีเวลาทบทวน พิจารณาตัวเอง ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ถ้าการเมืองยังอยู่ในบริบทเดิมๆ วังวนเดิมๆ ไม่มีการปฏิรูปเราเข้าไปก็คงทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคมส่วนรวมไม่ได้

เมื่อได้เข้ามาทางศาสนาแล้ว เห็นอะไรเป็นสัจธรรม เหมือนได้มองจากมุมของคนนอก คือตอนเป็นนักการเมืองอาจจะมีการงาน มีภาระวุ่นวาย ทำให้มองไม่ออกจากรอบตัวเอง แต่พอออกมาศึกษาหลักธรรม ได้ใช้เหตุและผลมากกว่าอารมณ์ ใช้ปัญญามองปัญหาด้วยความเข้าใจ ทำให้มีความรู้สึกว่าการเมืองในบริบทเดิมก็เดินลำบาก ยิ่งตอนนี้ชัดเจนว่าการเข้ามาสู่การเมืองคือการเข้าสู่อำนาจ และใช้อำนาจแก้ปัญหา ใช้อำนาจบีบบังคับคน มันก็ดูเงียบ ดูเรียบร้อย ดูสงบแต่จริงๆ ก็เหมือนซุกปัญหาใต้พรม นั่นเพราะไม่ใช่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และกระบวนการที่สร้างสังคมจากพื้นฐานที่เสมอกัน

นักการเมืองต้องปฏิรูปตัวเองด้วย?

ใช่แล้วค่ะ! คนไทยเราได้เคยพร้อมใจกันปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ.2540 ซึ่งในครั้งนั้นดิฉันก็สนับสนุนเต็มที่ เพราะดิฉันทำงานการเมืองมาได้ระยะหนึ่ง และดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี จึงเห็นปัญหาว่าปัญหาที่เกิดจากการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนรัฐบาลบ่อย เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่การเมืองเขานิ่งกว่า เขาจึงพัฒนาประเทศได้รวดเร็ว

ขณะนี้ก็ควรถึงเวลาที่จะปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง โดยที่สังคมได้มองว่านักการเมืองเป็นปัญหาของประเทศ ทั้งการทุจริต ทั้งการขัดแย้งกันจนไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย ทำประเทศวุ่นวาย ในสายตาของสังคมนักการเมืองจึงเป็นคนเลวต้องแก้ไขปัญหาด้วยการปฏิวัติ แล้วเอาคน (ดี) มาเขียนกฎเกณฑ์ เพื่อควบคุมนักการเมือง ทั้งจำกัด และกำจัดนักการเมืองออกไป พยายามทำให้การเมืองอ่อนแอดังปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองไม่ได้ ซ้ำยังได้ทำความเสียหายให้เกิดขึ้นกับส่วนรวมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผลกระทบด้านเศรษฐกิจ นานาชาติชะลอความร่วมมือทางการค้า เพราะประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย การสร้างกฎเกณฑ์โดยมองเพียงด้านเดียว คือเพื่อควบคุมนักการเมือง โดยไม่ได้มองว่ากฎเกณฑ์นั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานแก้ปัญหา และพัฒนาประเทศอย่างไร

ขอยกตัวอย่างข้ออ้างการปฏิวัติ 2549 คือรัฐบาลทุจริต และขายชาติ ซึ่ง 1 ข้อหาว่าขายชาติขณะนั้นคือ การเซ็น FTA เมื่อเขียนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จึงได้เขียนมาตรา 190 เพื่อควบคุมการทำข้อตกลงทางการค้า โดยต้องทำขั้นตอนต่างๆ ผ่านสภา ปรากฏว่ารัฐบาลที่มาจากฝ่ายปฏิวัติเองก็ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เขียนไม่ได้ จนต้องขอเสนอแก้มาตรา 190 เพราะความจริง FTA คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อประโยชน์ในการค้าขายของประเทศไทย แต่กว่าจะสามารถแก้มาตรา 190 ได้ก็ทำให้เราต้องตกขบวน FTA กับหลายชาติไปแล้ว

ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังทำประชามตินี้ ยิ่งออกแบบมาเพื่อกำกับควบคุมการทำงานของรัฐบาลยิ่งกว่าปี 2550 และเป็นรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขได้ยากมาก จนแทบจะไม่มีโอกาสแก้ ถ้าผ่านประชามติ และประกาศใช้ จึงน่ากังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะทำงานได้อย่างไร ยิ่งการเขียนแผนชาติยาวนานถึง 20 ปี ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศ ในขณะที่บริบทต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยี เงื่อนไขกฎเกณฑ์ทาง

การค้า ความร่วมมือใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด ในเวทีเสวนาที่ ม.มหิดล อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ได้กล่าวว่า แม้แต่ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวก็ไม่กล้าพอเขียนแผนตัวเอง 5 ปีเลย สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่พูดกับสิ่งที่เป็นจริงมันเกิดขึ้นได้ยาก

ดังนั้น ดิฉันจึงมองว่าการแก้ไขสิ่งที่สังคมมองว่านักการเมืองไม่ดีเป็นผู้ที่สร้างปัญหาของประเทศ ต้องแก้ด้วยตัวนักการเมืองเอง ต้องปฏิรูปตัวเองให้สังคมไว้วางใจนักการเมือง และหวังพึ่งนักการเมืองได้ ไม่ใช่แก้ด้วยการปฏิวัติ

เหมือนเราจะย้อนกลับไปก่อนปี 2540?

ใช่ค่ะ วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปปี 2540 คือ สร้างการเมืองให้เข้มแข็งให้พรรคการเมืองแข่งกันด้วยนโยบาย ไม่ใช่แข่งกันซื้อเสียง แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินี้ พรรคการเมืองจะไม่สามารถนำเสนอนโยบายใดๆ ในการหาเสียงได้ เพราะในหมวดที่ 16 (มาตรา 257-261) ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตาม กม. ว่าด้วยแบบและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีอำนาจ และไม่มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย เพราะต้องทำตามนโยบายที่ถูกกำหนดไว้แล้วในหมวดนี้ และบังคับให้รัฐบาลต้องดำเนินการตามหมวดหน้าที่ของรัฐ ทำให้คณะรัฐมนตรีไม่ได้มี “อำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะ” อย่างแท้จริง ตามที่หาเสียง หรือตามที่ประชาชนต้องการ เมื่อแข่งขันด้านนโยบายในการเลือกตั้งทำไม่ได้ ก็ทำให้เสี่ยงที่การเมืองจะย้อนยุคไปก่อนปี 2540 ที่จะต้องแข่งขันกันด้วยเงิน

ข้อเสนอในเวที ม.มหิดลที่ออกมา?

ขอเรียนว่าข้อเสนอที่อยากให้นักการเมืองหันหน้ามาคุยกัน เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับบ้านเมืองในวันเสวนาวิชาการที่ ม.มหิดล ไม่ใช่ความคิดของดิฉันเพียงคนเดียวแต่เป็นความคิดเห็นร่วมกันของผู้ร่วมเสวนา ด้วยความปรารถนาดี และเจตนาบริสุทธิ์ของทุกท่าน

โดยตัวดิฉันเองสนับสนุนแนวคิดนี้อยู่แล้ว จนได้ศึกษาวิจัยและได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “พุทธวิธีเชิงบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการเมืองไทย” โดยนำประสบการณ์เดิมจากที่ได้ทำงานการเมือง มาบวกกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งดิฉันได้ศึกษาจากหลักธรรมที่ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คือ สาราณียธรรม 6 และน้อมนำเอาหลักคุณธรรม 4 ประการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ เป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา คือเริ่มต้นที่ทำ พูด คิด ด้วยความเมตตาธรรมต่อกันก่อน

จากนั้นก็ใช้หลักสาธารณโภคี คือ การรู้จักแบ่งปัน และเสียสละเพื่อส่วนร่วม ต่อด้วย สีลสามัญญตา คือ ความรักใคร่สามัคคี มีศีลเสมอกัน เคารพกฎเกณฑ์เดียวกัน และสุดท้ายคือ ทิฏฐิสามัญญตา หมายถึงมีความคิดเห็นร่วมกัน

วันนี้ที่ยุ่งวุ่นวายคือไม่เคารพเกณฑ์ เกิด 2 มาตรฐาน ถ้าเราเคารพกฎเกณฑ์เดียวกันจะแก้ปัญหาได้โดย 1.เราต้องถอดความเป็นพรรคออกแล้วคุยกันด้วยเมตตาธรรม ฟังกันด้วยเมตตาธรรม คิดด้วยเมตตาธรรมต่อกัน 2.ทำอย่างไรให้ใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน และ 3.ลดความเห็นประโยชน์ส่วนตัว ส่วนพรรค มุ่งสู่ประโยชน์ส่วนรวม

เราคุยกันใน 3 กรอบนี้ ดังนั้น สบายใจได้ว่าวันนี้เราไม่ได้คิดต่อรองเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะใครคิดต่อรองผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชนขนาดนี้ ก็ไม่ควรมาเสนอตัวให้ประชาชนเลือกอีกต่อไป

ปัญหาสำคัญสุดปฏิรูปนักการเมือง?

1.วิธีคิดถึงเรื่องการมาทำงานการเมือง ถ้ามุ่งสู่อำนาจ แล้วใช้อำนาจแก้ไข มันจะแก้ไม่ได้ ต้องสร้างขบวนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาจึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

2.ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คือในอดีต พรรคการเมือง ประชาชน ไม่ได้แตกแยกแบบนี้ คนเชียร์พรรคต่างๆ ด้วยเหตุด้วยผล อย่างเมื่อดิฉันเป็น ส.ส.สมัยแรก ต่างพรรคกันก็คุยกัน ลุกขึ้นอภิปรายผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคฝ่ายค้าน ครั้งแรก คุณพ่อ (สมพล เกยุราพันธุ์) ยังสอนให้อภิปรายข้อเท็จจริง และเป็นข้อกฎหมาย อย่าโกหกใส่ร้ายใคร อภิปรายเสร็จแล้วให้ไปขอโทษผู้ใหญ่ที่เราได้อภิปรายว่าเราขอปฏิบัติหน้าที่นี้ในสภา ซึ่งท่านก็เข้าใจ และเป็นวัฒนธรรมของผู้มีความเจริญ แต่วันนี้แตกต่างไปแล้ว

วันนี้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้พาประเทศสู่ก้นเหว จึงเป็นจุดที่ต้องการตัดสินใจว่า เราจะช่วยกันดึงกันออกจากก้นเหวด้วยความสามัคคี หรือจะยังแก่งแย่งชิงดี คิดเรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องการเมืองกันอีกแล้วรอให้ดินลงมากลบจนไม่มีทางรอด

นายกฯมองว่าจะเสนออะไร แก้อะไร?

ดิฉันเห็นว่า การเริ่มต้นแก้ปัญหาการเมืองนี้ ต้องเริ่มที่นักการเมืองก่อนถึงแม้ว่าปัญหาจะเกิดจากหลายฝ่ายก็ตาม ถ้านักการเมืองเสียสละแก้ไขที่ตนเองก่อน ก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่ดี เราหมดเวลามาชี้นิ้วโทษคนอื่นแล้ว เพราะปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นได้ทำให้ประชาชนทำมาหากินยากลำบากมานานแล้ว

ดังนั้น ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ทั้งนักการเมืองและนักวิชาการได้เริ่มพูดคุยกันแล้ว โดยมุ่งลดปัญหาที่เกิดจากการเมือง ลดประโยชน์ส่วนตน เพิ่มประโยชน์ส่วนรวม เพื่อหวังที่จะหาทางแก้ไขปัญหาให้ประเทศร่วมกัน และเมื่อได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ก็จะนำเสนอแก่สังคมต่อไป

โอกาสนี้รัฐบาลน่าเปิดเวทีให้ด้วย?

ถูกต้อง ก็เหมือนกับหลักของพุทธศาสนา ที่ให้เห็นความสำคัญของทุกคน เช่น ในออฟฟิศหนึ่งมีทั้งผู้จัดการ พนักงานบัญชี พนักงานขับรถ พนักงานทำความสะอาด ก็ไม่ได้แปลว่าผู้จัดการสำคัญคนเดียว คือ ถ้าเราเห็นความสำคัญทุกคนอย่างเสมอภาค กิจการงานก็สำเร็จลุล่วงได้ดี และอยู่กันอย่างมีความสุข มีความสามัคคีกัน

ก็ค่อนข้างผิดหวังกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ประชาสัมพันธ์ว่าให้สิทธิเสมอภาคประชาชนมากขึ้น แต่ที่ศึกษามาไม่จริง เอาแค่เรื่องการรักษาพยาบาล ทำไมต้องตัดคำที่มีความสำคัญคือคำว่า “สิทธิเสมอกัน” และ “ได้มาตรฐาน” ซึ่งอาจจะทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลก็ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนมีเงินและคนไม่มีเงิน ซึ่งมันขัดต่อหลักการของโครงการหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ที่อยู่บนพื้นฐาน ที่ให้โอกาสคนไทยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้คุณภาพที่มาตรฐานเสมอกัน

เสียงสะท้อนกลับมาว่าหลังรัฐประหารนักการเมืองเงียบ แล้วมาเล่นตามเกม แทนจะสร้างเอง?

นี่ไง ที่เสนอนักการเมืองต้องเริ่มต้นที่จะต้องแก้ไขจากตัวเราเอง และถ้านักการเมืองสามารถปฏิรูปตัวเองได้ ประชาชนสนับสนุน ผู้มีอำนาจคงต้องฟัง

วันนี้ อยากบอกว่าวิกฤตทางการเมือง มันทำให้ประชาชนเขาทำมาหากินลำบาก เศรษฐกิจย่ำแย่มานานแล้ว ถึงเวลาหรือยัง ประชาชนยากลำบากพอหรือยัง ที่ทุกฝ่ายจะต้องแสดงความรับผิดชอบ ที่ไม่เห็นว่าต้องคุยกันก็ปล่อยเขาไป ให้ตกยุคสมัยไป ใครเห็นด้วยก็มาคุยกันเพื่อปฏิรูปตัวเอง หาทางออกให้ปัญหา ไม่เห็นว่าจะเสียหายตรงไหน ไม่เห็นว่าจะทำร้ายประเทศอย่างไรเลย

บรรยากาศประชามติตอนนี้?

เป็นไปตามโพล คือคนไม่ทราบรายละเอียดของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ขอเสนอให้มีการใช้สื่อของรัฐ เช่น ทีวี เปิดเวทีให้ผู้ที่มีความรู้และมีความเห็นที่หลากหลายได้มาอภิปรายกันเพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาในร่าง รธน. ประชาชนจะได้ตัดสินใจครั้งสำคัญต่ออนาคตของประเทศได้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง

ประชามติถ้าผ่านและไม่ผ่าน จะเป็นอย่างไรต่อ?

ผ่าน หรือไม่ผ่าน ประเทศจะต้องเดินต่อ การเลือกตั้งต้องมีขึ้นภายในปี 2560 ตามที่นายกรัฐมนตรีออกมายืนยัน

ที่สำคัญในการทำประชามติในครั้งนี้คือ ต้องให้ประชาชนรับรู้เนื้อหาของร่าง รธน. อย่างทั่วถึงและให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลที่มากพอในการตัดสินอนาคตของประเทศครั้งประวัติศาสตร์ การตัดสินใจในการรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีผลผูกพันถึง 20 ปี จนถึงรุ่นหลาน

พอไม่รู้แล้วจะไปตัดสินใจได้อย่างไร

 

pra01160759p1

 

ช่วงเวลาที่หายไป(จากการเมือง)

กับการเกิดครั้งใหม่ในพุทธศาสนา

ช่วงเวลาที่ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ห่างหายไปจากหน้าสื่อการเมือง กลับปรากฏภาพที่เธอมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการทำนุบำรุง “ลุมพินีสถาน” อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง

กลายเป็นหนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัย?

“คุณหญิงหน่อย” เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็ใช้เวลาในช่วงต้นในการดูแลคุณพ่อ คุณแม่ พอปี 2550 ปลายๆ คุณแม่ก็เริ่มป่วย แล้วก็มีอาการโคม่าหลายต่อหลายครั้ง จึงไปเฝ้าดูแลท่านที่

โรงพยาบาลทุกวัน

“หลังจากที่ถูกตัดสิทธิในปี 2550 ก็ไม่ได้สนใจการเมืองเลย มุ่งดูแลคุณแม่เป็นหลัก” คุณหญิงหน่อยกล่าว และว่า เดิมทีแต่เล็กจนโตไม่ได้มีโอกาสศึกษาศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้ง จนถึงวันที่คุณแม่ป่วย ญาติผู้ใหญ่ก็ชวนให้สวดมนต์ให้คุณแม่โดยบทสวดเป็นภาษาบาลี จึงไม่ได้เพียงแต่สวดเหมือนแต่ก่อน แต่ว่าได้เข้าใจในความหมาย เพราะต้องเฝ้าไข้คุณแม่นาน จึงใช้ช่วงเวลานั้นในการศึกษาบทสวดที่ไม่เข้าใจ ค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตบ้าง อ่านจากหนังสือด้วยตนเองบ้าง

“ในระหว่างที่เฝ้าคุณแม่เป็นช่วงเวลาที่ทรมานมาก หากไม่ได้อ่านหนังสือหรือสวดมนต์ ตาก็จะจับจ้องอยู่กับเครื่องมอนิเตอร์ของท่านตลอด เนื่องจากแม่โคม่าหลายรอบมากและไม่รู้สึกตัว เวลานั้นดิฉันเองจึงมักจะจับมือแม่เพื่อ

สวดมนต์ด้วยกัน เช้า กลางวัน เย็น บอกว่าแม่สวดมนต์ด้วยกันนะ และใช้เวลาอ่านหนังสือธรรมะต่างๆ ทำความเข้าใจเนื้อหาที่สวดให้แม่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องวิตกและจับจ้องที่มอนิเตอร์อยู่ตลอด

“จนคุณแม่เสียชีวิตในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 อันเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่สำหรับดิฉัน เพราะในบ้านถือว่าไม่เคยสูญเสีย ญาติสนิทเองก็ไม่เคย… แต่ถึงอย่างไรดิฉันก็คิดว่าตัวเองก็โชคดี เพราะเหมือนแม่ได้ให้กำเนิดดิฉันถึงสองครั้ง ครั้งหนึ่งคือให้กำเนิดชีวิต อีกครั้งตอนที่แม่ป่วยหนักก็ได้ให้เราเกิดในพุทธศาสนา คือถ้าคุณแม่ไม่ป่วย ดิฉันเองคงไม่มีโอกาสได้ศึกษา ไม่มีโอกาสปฏิบัติด้วยตนเอง” สุดารัตน์กล่าว

เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

กระทั่งเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2553 ที่ได้มีโอกาสเดินทางเพื่อไปยังสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ที่ลุมพินี ประเทศเนปาล และได้เห็นสภาพของสถานที่ประสูติที่เฉอะแฉะ เจิ่งนองไปด้วยโคลนในหน้าฝน ไม่มีทางเดิน ไม่มีกระถางธูป ไม่มีที่ปักเทียน ต้องปักกับกระถางต้นไม้ที่หักไปครึ่งหนึ่ง ทำให้เธออยากจะชักชวนเพื่อนให้ไปซื้อกระถางธูปไปถวาย

แต่เจ้าหน้าที่ประจำสถานที่ประสูติกลับตอบกลับว่า “ไม่ได้…ต้องขอตรวจสอบดูก่อน เพราะที่นี่เป็นสถานที่ของยูเนสโกจะถวายของหรือบูรณะซ่อมแซมต้องขออนุญาต

“พอได้ยินคำนั้น มันทำให้เกิดแรงฮึด มีความรู้สึกว่าตรงนี้เป็นที่ประสูติศาสดาของเรา ทำไมแค่เพียงถวายสิ่งของเหล่านี้จึงทำไม่ได้ ถ้าอยู่ในประเทศไทยรับรองเลยว่าที่ประสูตินี้จะต้องยิ่งใหญ่มาก”

จากคำตอบนั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เธอฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ และในที่สุดก็ได้รับการอนุญาตให้เป็นผู้รับผิดชอบบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ “มรดกโลก” ดังกล่าว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เคยมีชาวพุทธจากทั่วโลกเคยมีความคิดจะทำเช่นกัน แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ (หมายถึงได้รับอนุญาต)

ผลงานชิ้นนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image