อาศรมมิวสิก : หลังโควิด-19 รัฐจะพัฒนาศิลปินของประเทศอย่างไร ศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำ : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : หลังโควิด-19
รัฐจะพัฒนาศิลปินของประเทศอย่างไร
ศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำ : โดย สุกรี เจริญสุข

พบว่าระหว่างการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด มนุษย์ได้คิดค้นอาวุธจะต่อสู้เป็นยา อุปกรณ์ป้องกันตัวที่ใช้เป็นเครื่องมือตรวจ ถุงมือ หน้ากาก เสื้อคลุม ฯลฯ ซึ่งมนุษย์ต้องคิดออกมาสู้รบกับเชื้อโรคมากมาย ในส่วนกำลังบำรุงตั้งแต่การสะสม กักตุนอาหารการกิน การให้กำลังใจ ได้มีการผลิตเพลงและดนตรีออกมาช่วยสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วม ให้คนมีความหวัง โดยเฉพาะเพลงและดนตรีมีพลังปลอบประโลมใจ ช่วยหลอมรวมจิตใจคน ให้มีความหวังที่จะอยู่สู้กับโควิด

แม้เพลงและดนตรีของสังคมเราจะไม่แข็งแรงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเพลงและดนตรีของโลก แต่เพลงของเราก็สามารถใช้เป็นขวัญและกำลังใจได้มากพอควร ซึ่งมีศิลปินได้สร้างผลงานออกมาจำนวนมาก ถึงตรงนี้อาจจะมองข้ามไปว่า เมื่อโควิดผ่านไปแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไร โดยมองมิติของดนตรีตั้งแต่การสร้างงาน การดำเนินกิจการค่ายเพลง การสร้างกิจกรรมดนตรี การศึกษาดนตรี เทคโนโลยีดนตรี ธุรกิจดนตรี สถาบันการดนตรี การพัฒนาเพลงดนตรี และศิลปินผู้สร้างงานจะเดินต่อไปอย่างไร

สังคมดั้งเดิมนั้น เพลง ดนตรี ศิลปิน ต้องไต่เต้าและต่อสู้เอาเอง ไม่มีใครให้การสนับสนุน ไม่มีการวางรากฐานการพัฒนาอาชีพดนตรีแต่อย่างใด “ดนตรีเป็นอาชีพข้างถนน เต้นกินรำกิน” ดนตรีเป็นวิชาชีพของขอทาน เมื่ออาชีพศิลปินนักร้องนักดนตรีมีโอกาส ก็มีชีวิตขึ้นอยู่กับค่ายเพลง มีสัญญาทาส ขึ้นอยู่กับเจ้าของสินค้า ขึ้นอยู่กับเวทีและโอกาสที่ผู้กำกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพ “คิวละพันวันละเพลง” เมื่อเพลงจะดังก็ต้องอาศัยยอดวิว (view) ทางช่องยูทูบจึงจะได้เงิน สรุปว่า พ่อค้าคนกลางร่ำรวยต่อไป เพียงเปลี่ยนคนกลางพ่อค้าจากภายในประเทศ กลายเป็นพ่อค้าระดับเทวดา (ยูทูบ) ศิลปินก็ยากจนและตกยากเหมือนเดิม ชีวิตศิลปินขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนจัดการที่เป็นกลาง

Advertisement

เมื่อโรคระบาดโควิด-19 มาเยี่ยม ก็กวาดวิธีการเก่าลงถังจนหมดสภาพ เหลือพื้นที่ใหม่ในสังคมที่เกลี้ยงเกลา เพื่อเปิดโอกาสให้เริ่มต้นวิธีการใหม่ วันนี้รัฐมีโอกาสแล้ว รัฐควรสร้างอำนาจทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาศิลปินกระแสใหม่ สำหรับงานดนตรีที่เกี่ยวกับพิธีกรรม รัฐก็สนับสนุนผ่านกรมศิลปากร กรมดุริยางค์ทหาร (บก เรือ อากาศ ตำรวจ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลักอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการศึกษาดนตรีให้ความรู้เพื่อพัฒนาเยาวชนเป็นศิลปิน รัฐก็มีสถาบันการศึกษาทำอยู่ แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาใหม่ก็คือ การสนับสนุนให้ศิลปินเป็นอาชีพที่มีเกียรติเชื่อถือได้ โดยสร้างเวทีให้ศิลปินได้แสดงความสามารถ มีสังคมเป็นผู้คัดสรรและกลั่นกรอง

รัฐโดยกระทรวงวัฒนธรรม หรือสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดประกวดสร้างผลงาน อวดศักยภาพความเป็นเลิศ เสนอฝีมือศิลปินประจำปีด้านเพลงและดนตรี สร้างรางวัล “ศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำ” เพื่อการกระตุ้นให้ผู้รักและสนใจดนตรีได้พัฒนาอย่างมีเป้าหมาย ตั้งแต่เด็กทุกระดับกระทั่งมืออาชีพ

รางวัลศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำ จะช่วยอุ้มชูคนเก่งคนดีที่มีความสามารถให้ดำรงอยู่ในอาชีพได้ เพราะรางวัลที่ได้จากการประกวดจะเป็นกำลังสำคัญพื้นฐาน เป็นแรงขับให้ศิลปินได้มีพื้นที่ มีกำลังสร้างงาน และสามารถเติบโตได้

Advertisement

แต่ก่อนศิลปินดนตรีเติบโตจากการประกวดเวทีงานวัด เวทีประกวดของโทรทัศน์ เติบโตเพราะมีครูเพลงป้อนผลงานให้นักร้อง มีเวทีในสถานบันเทิง มีวงดนตรีออกแสดงงาน มีรายได้ค่าตอบแทนสามารถที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ เมื่อสังคมเปลี่ยนรูปแบบไป ผู้สนับสนุนก็ควรจะเป็นรัฐเข้าไปจัดประกวดระดับชาติ ให้รางวัลก้อนโต เพื่อจะให้ทุกคนที่อยากเป็นศิลปินได้ฝึกซ้อม มุมานะอย่างมีเป้าหมาย โดยที่มีมิตรรักแฟนเพลงเป็นผู้ตัดสินและรัฐเป็นผู้สนับสนุนให้การยกย่อง เมื่อศิลปินได้รางวัลศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำแล้ว ก็สามารถที่จะพัฒนาอาชีพและมีทางเดินของตนเองได้โดยไม่ต้องพะวงเรื่องปากท้องอีกต่อไป

รางวัลศิลปินเงินล้าน จัดขึ้นสำหรับเยาวชนทุกระดับและทุกชนิด ดีดสีตีเป่า เขย่าชักขูดดูดกวน และขับร้อง ผู้มีความสามารถและมีศักยภาพเป็นเลิศทางดนตรี ส่วนรางวัลศิลปินทองคำนั้น มอบให้แก่ศิลปินมืออาชีพ การกลั่นกรองจากสังคมก่อนที่จะไต่เต้าไปเป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งการได้รางวัลที่สูง ทั้งคุณค่าและมูลค่า ทำให้ศิลปินสามารถอยู่ในอาชีพได้ มีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวได้ โดยไม่ตกเป็นเบี้ยล่างหรือกินน้ำใต้ศอกของนายทุน อีกประการหนึ่งก็คือ การได้รักษาศิลปินพื้นบ้าน เครื่องดนตรีทุกชนิดเอาไว้ ซึ่งเป็นพลังที่เข้มแข็งของสังคม ครูดนตรีชาวบ้าน ครูเพลงในท้องถิ่น ในชุมชน สามารถที่จะพัฒนาสู่ความเป็นระดับชาติได้

โครงสร้างการประกวดศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำ สนับสนุนโดยรัฐประจำปีที่เป็นรูปธรรม

การใช้งบประมาณของรัฐ ปีละ 100 ล้านบาท ผ่านกระทรวงวัฒนธรรม หรือผ่านสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อมุ่งพัฒนาศิลปินของชาติผู้มีความสามารถให้ผ่านพ้นจากภาวะยากจน ภาวะที่อดอยาก พ้นจากภาวะที่ต้องขอทาน โดยสร้างฐานะศิลปินของสังคมเสียใหม่ “ให้ศิลปินมีเกียรติเชื่อถือได้” รางวัลศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำ การสร้างรากฐานใหม่ที่แข็งแรงให้แก่สังคม พลิกโฉมหน้าพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศของศิลปิน สร้างจินตนาการใหม่ สร้างสรรค์สังคมใหม่ ให้มีความเข้มแข็ง ให้มีฝีมือ มีฐานะที่ดี มีสติปัญญา ไม่ใช่ศิลปินของชาติตกอยู่ในฐานะอดอยากปากแห้งหรือ “ศิลปินไส้แห้ง” ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นโอกาสที่รัฐจะต้องใช้ศักยภาพความเป็นเลิศของศิลปินในการพัฒนาสังคมมนุษย์ให้เข้มแข็ง ช่วยถ่วงดุลความเหลื่อมล้ำของสังคมในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ จะต้องใช้โครงสร้าง ระบบการจัดการและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้าช่วย

เมื่อโรคระบาดโควิด-19 เข้ามา เราเรียนรู้ว่า ความรู้เราน้อย คุณภาพด้อย เทคโนโลยีต่ำ เหลื่อมล้ำทางการเงินสูง จินตนาการแทบไม่มี เมื่อโควิดผ่านไป คนที่ฉลาด คนที่เก่ง และคนที่มีเงิน ทั้งคนมีโอกาสในสังคม จะเลือกเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เรียนวิชากำไรขาดทุน แล้วมุ่งเข้าสู่ระบบทุนนิยมเพื่อเอาเปรียบคนอื่นในสังคมต่อไป ส่วนคนที่ด้อยโอกาสกว่า จะไปเรียนวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เหมือนเดิม เมื่อดนตรีเป็นวิชาข้างถนน รัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนเพราะถือเป็นวิชาชีพชั้นต่ำ ศิลปินที่รักชอบดนตรีจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อเอาชีวิตรอด

โครงการศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำ เป็นโครงการพัฒนาศิลปินทางลัด ทางตรง โดยลงทุนเพื่อสร้างอาชีพศิลปินใหม่ ผลงานของศิลปินคุณภาพนั้น ประมาณค่าไม่ได้ การที่ผลงานศิลปินเป็นที่นิยมในระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศมากมายมหาศาล

หลังโควิดจึงเสนอให้รัฐปรับตัว ปรับปรัชญาและโครงสร้างของการลงทุนใหม่ โดยหันไปลงทุนด้านศิลปินเพิ่ม โดยสร้างโครงการศิลปินเงินล้านและศิลปินทองคำออกมาประดับสังคมรุ่นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image