ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : งานวิจัยไทยไปอยู่ไหน?

หลายคนสงสัยว่านักวิทยาศาสตร์ไทยทำงานวิจัยอะไรออกมาบ้าง? และงานวิจัยดีๆ และน่าสนใจมีอยู่บ้างไหม?

เพื่อนและคนที่ผมรู้จักหลายคนถามผมด้วยคำถามนี้บ่อยๆ ซึ่งคำตอบที่ผมตอบไปเสมอก็คือ

มี และมีไม่น้อยเสียด้วย

อาทิตย์นี้ผมจึงคัดเอางานวิจัยที่มีคุณภาพของประเทศไทยมาเล่าให้ฟัง ทั้งน่าสนใจในแง่การหาคำตอบอันลึกซึ้งของธรรมชาติ, มีการประยุกต์ใช้ที่เกิดประโยชน์ รวมทั้งทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาบางอย่างซึ่งปรากฏชัดเจนในงานวิจัย

Advertisement

1.งานวิจัยฟิสิกส์ด้านทฤษฎีซูเปอร์สตริง โดย ดร.ปริญญา การดำริห์

ทฤษฎีที่ใช้อธิบายธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งในเอกภพได้มีอยู่หรือไม่? เป็นคำถามนักฟิสิกส์ทั่วโลกพยายามหาคำตอบกันอยู่

อาจารย์ปริญญาเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาทฤษฎีที่อธิบายแรงโน้มถ่วงในระดับควอนตัม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายกลไกการเกิดความโน้มถ่วงได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งถ้าสำเร็จมันจะช่วยรวมแรงทั้งหมดเอาไว้ในกรอบทฤษฎีเดียว โดยอาจารย์สนใจศึกษาธรรมชาติของทฤษฎีใน 7 มิติ ซึ่งยังไม่มีใครศึกษามาก่อน งานวิจัยนี้ทำให้อาจารย์ได้รับรางวัลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วย

Advertisement

ประวัติศาสตร์การศึกษาทฤษฎีเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังได้ที่ witcastthailand.com/witthai-s01e02/ หรือค้นหาด้วยคำว่า “ฟิสิกส์แมน” + WiTThai พร้อมกัน

ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์

2.งานวิจัยเรื่องน้ำลายเทียม โดย ศ.ดร.ภก.จีรเดช มโนสร้อย และศ.ดร.ภญ.อรัญญา มโนสร้อย

ผู้ป่วยที่ผ่านการฉายรังสีบริเวณคอ รวมทั้งผู้สูงอายุจำนวนมากร่างกายมีการหลั่งน้ำลายน้อยลงส่งผลให้มีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหารได้ ปัญหาดังกล่าวบางครั้งอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต หลายท่านจึงต้องมีการฉีดพ่นน้ำลายเทียม แต่น้ำลายเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง ทำให้อาจารย์จีรเดชและอาจารย์อรัญญาคิดค้นการผลิตน้ำลายเทียมซึ่งมีสมบัติต่างๆ แทบไม่ต่างจากน้ำลายจริง

น้ำลายเทียมดังกล่าวนอกจากจะมีกลิ่นหอม ใช้งานได้ง่ายไม่ต่างจากสเปรย์ดับกลิ่นปากทั่วไป ยังมีราคาถูกด้วย

เบื้องหลังการวิจัยนี้น่าสนใจมาก เพราะกว่าอาจารย์ทั้งสองจะค้นหาวัตถุดิบที่เหมาะสมมาใช้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้ที่สนใจว่างานวิจัยนี้ใช้อะไรมาทำน้ำลายเทียม รับฟังได้ที่ witcastthailand.com/witthai-s01e03/ หรือค้นหาด้วยคำว่า “น้ำลายเทียม” + WiTThai พร้อมกัน

ปลาทู ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์

3.งานวิจัยเรื่องปลาทูที่ลดลงในทะเลไทย ผศ.ดร.เมธี แก้วเนิน, ผศ.ดร.สมหมาย เจนกิจการ และ ดร.วรัณทัต ดุลยพฤกษ์

ปลาทูเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน แต่ในปัจจุบัน การประมงเพื่อจับปลาทูนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ปลาทูลดลงจากสมัยก่อนมาก

จริงๆ แล้วไม่เพียงแค่ปลาทูเท่านั้นที่ลดลงแต่ยังรวมถึงสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ด้วย

การแก้ไขปรับเปลี่ยนการประมงและกฎหมายเกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับการประมงที่ยั่งยืน

งานวิจัยในเรื่องนี้จึงต้องทำการศึกษาการลดลงของปลาทูให้ได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ลองคิดดูสิครับว่าจะนับจำนวนปลาในทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลได้อย่างไร อีกทั้งการไปทำงานวิจัยกลางทะเลก็เป็นวิถีชีวิตที่แตกต่างจากการวิจัยในห้องแล็บอย่างยิ่ง

ผู้สนใจสถานการณ์ปลาทูไทยสามารถติดตามฟังได้ที่ witcastthailand.com/witthai-s01e04/ หรือค้นหาด้วยคำว่า “ปลดทุกปลาทู” + WiTThai

ท่านใดที่สนใจงานวิจัยไทยเพิ่มเติม สามารถรับฟังได้ที่รายการ WiTThai นะครับ หรือเขียนมาบอกผมก็ได้ แล้วผมจะนำมาเล่าให้ฟังอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image