เริงโลกด้วยจิตรื่น : วิถีสู่”สัจจะ”

ภาพจาก room602dbps.wordpress.com

สำหรับคนใดคนหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ความเชื่อเกิดแก่เราเสียแล้วว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พฤติกรรมของคนนั้น หรือความเป็นไปของสิ่งนั้นจะถูกความเชื่อที่มีอยู่นำความคิดเรา

อย่างเช่นเราสรุปแล้ว “คนคนนี้ชอบทำในเรื่องที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวของเขา” เมื่อเราเห็นคนคนนั้นทำอะไร ความเชื่อนั้นจะนำความคิดเราไปมองในมุมที่ตอบสนองความเชื่อนั้น เราจะมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนคนนั้นจากการกระทำของเขา ที่สุดแล้วจะตอกย้ำความเชื่อว่า “เขาเป็นคนเห็นแก่ตัว” ให้แน่นแฟ้นขึ้นในใจเรา

ความเชื่อก็เหมือนกับเราใส่แว่นสี เมื่อเรามองสิ่งต่างๆ จะมีสีของแว่นผสมกับสีที่เป็นจริงของสิ่งนั้น

เราจะต้องใช้ปัญญาเพื่อตีค่ามากกว่าการมองด้วยสายตาที่ไม่สวมแว่น หากต้องการบอกว่าสีที่เราเห็นนั้นเป็นสีอะไร โดยปัญญาจะเป็นตัวที่หักสีของแว่นที่ผสมเข้าก่อน

Advertisement

เช่นเดียวกัน หากจะสรุปพฤติกรรมของคนใดคนหนึ่ง หรือความเป็นไปของคนใดคนหนึ่งให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เราจะต้องหักค่าความเชื่อของเราออกไปก่อน

ทว่าขณะที่เรามองหรือรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยมีความเชื่ออยู่ การหักค่าความเชื่อออกไปก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จำเป็นจะต้องตั้งสติให้เกิดความคิดก่อนว่าที่เรารับรู้นั้นยังไม่จริง ยังมีความเชื่อของเราผสมอยู่ และการตัดค่าความเชื่อเพื่อให้เห็นความเป็นจริงยิ่งยากไปใหญ่ จะต้องใช้สมาธิอย่างสูงยิ่งที่จะอยู่กับความคิดที่ไม่มีความเชื่อให้นานพอจะรู้ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร

ดังนั้น หนทางที่ดีกว่าคือ หาทางทำให้ตัวเองไม่มีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งต่อคนคนนั้น หรือสิ่งนั้นอยู่เลย

Advertisement

ซึ่งการจะทำให้เป็นเช่นนี้ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

ธรรมชาติของจิตคนเรานั้นจะแสวงหาความรู้ และเก็บความรู้นั้นไว้เป็นความทรงจำ และใช้ความทรงจำนั้นมาจัดการกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลัง

จำว่า “ไฟร้อน” เพื่อรู้วิธีที่จะอยู่กับไฟ จำว่า “อาบน้ำแล้วสบายตัว” เพื่อแก้ไขความรู้สึกว่าเนื้อตัวเหนอะหนะ

มนุษย์เคยชินที่จะอยู่กับความเชื่อ ซึ่งก็เหมือนเคยชินกับการใส่แว่นสีต่างๆ มองสิ่งต่างๆ ผ่านสีของแว่นนั้น ดังนั้น การเข้าถึงความเป็นจริงของมนุษย์เราจึงมีองค์ประกอบซับซ้อน ต้องเรียนรู้ที่จะฝึกสติให้รับรู้ว่าสิ่งที่เห็นที่สัมผัสนั้นเป็นมายา ไม่ใช่ความจริง จากนั้นใช้ปัญญาที่เกิดจากสตินั้นประเมินเอาว่า หากตัดความเชื่อออกแล้วจะสรุปว่าสิ่งนั้นคนนั้นเป็นอย่างไร

เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ

“วางตัวตน” อย่างที่พระที่เข้าถึงธรรมท่านสอน ในมิติหนึ่งก็คือการ “วางความเชื่อ” นั่นเอง สลัดความเชื่อทิ้งไป เหมือนกับการถอดแว่นสีออกก่อนมอง จะทำให้เราเห็นความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น

“วางตัวตน” หรือ “สลัดทิ้งความเชื่อ” จึงเป็นเป้าหมายของการเจริญสติสำหรับผู้ที่ใฝ่หาสัจธรรม หรือรับรู้ความจริงที่แท้ของสรรพสิ่ง ไม่ใช่การรับรู้สัมผัสในมายาที่ย้อมอยู่

ยังมีความน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ หากได้รับรู้ว่าผลึกความคิดของเราต่อคนใดคนหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดจากเราตั้งสติไม่ทันที่จะทำให้เกิดปัญหามองแยกแยะความเป็นจริงออกจากความเชื่อเดิม

เราควรจะจัดการความเห็นผิดนั้นอย่างไร

ที่ควรจะเป็นคือ เริ่มจากการยอมรับว่ามีความเห็นผิดเกิดขึ้น ไม่แข็งขืนหาทางปกป้องความเห็นผิดนั้น ไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็ตาม แม้การยอมรับอาจจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด เพราะทำให้เกิดความสูญเสียบางอย่าง เช่น นำมาซึ่งความรู้สึกว่าตัวเองโง่เง่ากว่าคนอื่น

ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร การยอมรับจะดีกว่าการแข็งขืนปกป้องความเห็นที่ผิดไป เพราะรู้ไม่เท่าทัน

การยอมรับความจริง จะเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ถูกทางมากกว่า สำหรับโอกาสที่จะได้สัมผัสความเป็นจริง

การปกป้อง การแข็งขืน ปฏิเสธความเห็นผิด จะทำให้หนทางที่จะเดินไปนั้นห่างความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image