อาศรมมิวสิก : ลาวดวงเดือน ฟื้นฟูด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : ลาวดวงเดือน ฟื้นฟูด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : ลาวดวงเดือน
ฟื้นฟูด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : โดย สุกรี เจริญสุข

ความหวังเป็นความรู้สึกของคนที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่ อยู่อย่างมีความหวัง คนที่ผิดหวัง รู้สึกว่าสิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าหมดหวัง ซึ่งก็ไม่เหลืออะไรในชีวิตแล้ว คนที่สิ้นหวังต้องการกำลังใจ ต้องการความอบอุ่นใจ เพื่อช่วยพยุงความรู้สึกให้มีกำลังใจกลับมา ความอบอุ่นทำให้มีกำลังใจ ทำให้มีความเชื่อมั่น และทำให้ชีวิตมีความหวังและอยากกลับมามีชีวิตอีก ซึ่งดนตรีอยู่ในฐานะของศิลปะที่ช่วยประโลมใจให้อบอุ่น เป็นเพื่อนในยามเหงา นอกจากนี้ ดนตรียังสามารถทำหน้าที่เพิ่มขึ้น ในฐานะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อีกช่องทางหนึ่ง

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 มีศิลปินระดับโลกได้สร้างเพลงดนตรีออกมามาก ทั้งให้ความอบอุ่นเป็นเพื่อนในยามเหงา สร้างพลังและให้กำลังใจ อีกมิติหนึ่งดนตรียังมีบทบาทเสริมฐานะเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกด้วย ปกติสังคมโลกใช้ดนตรีกีฬาเป็นความบันเทิงให้คุณค่าด้านเศรษฐกิจมหาศาล สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ดนตรีเป็นบริบทสำคัญของสังคมที่พัฒนาแล้ว ใช้ดนตรีพัฒนาเศรษฐกิจ

ดนตรีขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ ในยามวิกฤตครั้งนี้ มีการใช้ดนตรีเพื่อปลอบใจ ให้กำลังใจ หากช่วยอะไรไม่ได้ก็ส่งหัวใจผ่านเพลง ศิลปินต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นศิลปินของโลก ซึ่งเพลงและดนตรีมีความเป็นสากล ทั้งศิลปินในยุโรปและอเมริกา ต่างก็ผลิตผลงานเพลงเพื่อแนะนำให้รู้จักกับเชื้อไวรัส บ้างก็เอาเพลงเก่าใส่เนื้อใหม่เพื่อให้ความรู้ด้านสุขอนามัย ให้รู้จักล้างมือ ให้รู้จักป้องกันตัว เอาเพลงเก่าร้องแบบเก่า ร้องเพลงอวยพรวันเกิด (Happy Birthday) นำเพลงจากภาพยนตร์ (The Sound of Music) นำซิมโฟนี หมายเลข 9 ของเบโธเฟน (Ode to Joy) มาเล่น ศิลปินดัง (Andrea Bocelli) จากอิตาลีร้องเพลงในโบสถ์ (Duomo) นีสซัมดอร์มา (Nessun Dorma) ของปุชชินี (Puccini) วงนิวยอร์กฟีลฮาร์โมนิกเล่นเพลงโบเลโร (Bolero) ของราเวล (Ravel) รวมทั้งนักร้องเลดี้ กาก้า (Lady Gaga) ซีลีน ดิออน (Celine Dion) หลัง หลัง (Lang Lang) นักเปียโนชาวจีน ต่างก็ออกมาเล่นดนตรีร้องเพลงเพื่อให้กำลังใจกัน

Advertisement

เมื่อกลางเดือน (17 มีนาคม) คนรู้สึกเริ่มเสียขวัญจากโรคระบาด คนเริ่มเสียกำลังใจ มองหาดนตรีเพื่อเป็นเครื่องปลอบใจ จึงได้หารือกับนักประพันธ์เพลง นักดนตรี ผู้ควบคุมวง ผู้จัดการวง ลงความเห็นกันว่าจะทำเพลงลาวดวงเดือน เรียบเรียงขึ้นใหม่สำหรับวงซิมโฟนีออเคสตราและมีทางร้องด้วย โดยมอบให้พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ความยาว 3.20 นาที เมื่อเรียบเรียงเสร็จแล้ว ก็มอบเพลงให้นักดนตรีทุกคน สามารถดูดโน้ตของเครื่องมือตัวเองไปซ้อม ฝ่ายจัดการเปิดให้ทุกคนที่เล่นได้ร่วมบันทึกเสียง

นักดนตรีก็ดูดโน้ตเพลงและเสียง (Download) ไปฝึกซ้อมโน้ตของตัวเอง (ทางใครทางมัน) อาทิ นักดนตรีไวโอลินก็สำเนาโน้ตทางของไวโอลิน นักสี นักเป่า นักดีด นักตี และนักร้อง ทำเช่นเดียวกัน ตรวจสอบโน้ตจากต้นฉบับ (Score) ได้ ตั้งเสียง (A=442) เมื่อบันทึกเสียงของตัวเสร็จ ก็ให้ส่งไฟล์เสียงและภาพให้ฝ่ายจัดการ เพื่อเอาเสียงไปรวบรวมส่งต่อให้ห้องบันทึกเสียง “ผสมเสียง” เป็นต้นฉบับ โดยมีผู้ควบคุมวงออเคสตราและวิศวกรเสียงเป็นผู้ควบคุมคุณภาพ

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ประกาศเชิญชวนนักดนตรีวงออเคสตราและวงซิมโฟนีออเคสตรา พร้อมด้วยนักร้องวงขับร้องประสานเสียงจากทั่วประเทศ ทุกคนที่สามารถเล่นและร้องเพลงลาวดวงเดือน (ตามโน้ต) ร่วมกันบรรเลงลาวดวงเดือนได้ ควบคุมโดยพันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ บันทึกเสียงของแต่ละคนที่บ้าน แล้วส่งไปทำต้นฉบับที่สตูดิโอ 28 โดยมีชื่อนักร้อง นักดนตรี คนทำงานทุกคนที่ร่วมทำงานจะได้บันทึกชื่อลงในรายการครั้งนี้

Advertisement

ศิลปินสามารถดูดโน้ตเพลงและเสียง (Download) ได้ตั้งแต่วันอังคารที่ 7 เมษายน 2563 ปิดรับเพลงในวันพุธที่ 15 เมษายน 2563 ซึ่งติดตามรายละเอียดได้จากเพจอาจารย์สุกรี เจริญสุข มีนักร้องนักดนตรีเข้าร่วมโครงการ 224 คน ถือว่ามากและยากอยู่ที่การตรวจสอบ การควบคุมคุณภาพ การตัดต่อ และการผสมเสียง งานชิ้นนี้ใช้เวลานานหน่อยเพราะเป็นวิธีใหม่มีเทคโนโลยีต่ำ ท่ามกลางความวุ่นวายปิดเมือง

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ขอมอบกำลังใจให้คนไทยทุกคน ขอบคุณนักร้องนักดนตรีและคนทำงานที่มีส่วนร่วมได้ช่วยทำงานจนเสร็จ เพราะเชื่อว่าเมื่อคนได้ฟังลาวดวงเดือนที่ร้องและบรรเลงโดยนักร้องและนักดนตรีจากทั่วประเทศแล้ว เพลงจะสร้างพลังและเพิ่มกำลังใจ ให้ความอบอุ่นแก่ทุกหัวใจ มอบความหวังให้แก่ทุกคนที่จะต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ได้

ทําไมต้องเป็นเพลงลาวดวงเดือน เพราะลาวดวงเดือนเป็นเพลงประจำชาติ เป็นสำเนียงของชาติซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรม แล้วทำไมลาวดวงเดือนมีชื่อเป็นลาว สำเนียงเพลงเป็นเรื่องของเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขตแดน ไทยกับลาวมีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อาหารการกินก็เหมือนกัน มีวัฒนธรรมคล้ายกัน ตั้งแต่วัฒนธรรมไม้ไผ่ วัฒนธรรมทำให้เน่าแล้วอร่อย วัฒนธรรมข้าว เป็นต้น ไม่ต้องไปรู้สึกว่าแย่งกันเป็นเจ้าของลาวดวงเดือนหรือตั้งคำถามว่าเป็นเพลงของใคร ทั้งไทยและลาวต่างก็เป็นหุ้นส่วนที่เกิดมาจากน้ำเต้าลูกเดียวกัน

ลาวเรียกชื่อเพลงว่า ลาวดวงเดือน ไทยก็เรียกว่า ลาวดวงเดือน ลาวได้ทั้งชื่อเพลงและใช้ชื่อประเทศ ทำนองเพลงและชื่อเพลงเหมือนกัน เพียงแต่เนื้อร้องของลาวมีหลายสำนวน (ทำนองเดียว) ส่วนไทยนั้นก็ใช้เพลงลาวดวงเดือนเป็นทำนองประจำชาติ บันไดเสียงประจำชาติ สำเนียงเสียงประจำชาติ รวมทั้งเสียงพระสวด เพลงพื้นบ้านทั้งหลายก็ใช้บันไดเสียงลาวทั้งสิ้น

เพลงลาวดวงเดือนในฐานะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการทดลองมิติใหม่ว่า เมื่อนำเพลงประจำชาติซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาทดลองทำขึ้นใหม่ โดยอาศัยความรู้ อาศัยความสามารถ อาศัยฝีมือเท่าที่มี นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานในมิติใหม่ บรรเลงโดยวงออเคสตราให้กำลังใจคนในยามวิกฤต ขณะเดียวกันก็เสนอในฐานะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “นำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่”

เมื่อโรคระบาดโควิดจากไปแล้ว สังคมโดยรวมค่อยๆ ฟื้นกลับมา คนคงท่องเที่ยวกันภายในประเทศก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจ อีก 2-3 ปี การเดินทางระหว่างประเทศจะค่อยกลับมา เวลานี้เป็นโอกาสของการขายวัฒนธรรมภายในชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่นมีโอกาสเจริญขึ้น อาจจะเป็นโอกาสสำคัญที่สุดที่จะนำเรื่องท้องถิ่นมาเจียระไน “ทำเรื่องกระจอกๆ ให้โลกรู้จัก” ตั้งแต่อาหารการกิน วิถีชีวิต ที่พัก ศิลปวัฒนธรรม ดนตรีและเพลง พูดง่ายๆ ว่า ต่อไปนี้เป็นโอกาสของศิลปินท้องถิ่น ประเภท “ลาวดวงเดือน” แล้ว

หน้าที่สำคัญต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หรือหน่วยงานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม สถานีวิทยุ โทรทัศน์ จะต้องลงทุนเพื่อพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมขึ้น รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรสนิยม บรรยากาศ สุนทรียศาสตร์ คุณภาพชีวิต ความมีระเบียบและความสะอาด ทำได้ก็จะเรียกว่า “เจริญ” จากวิถีชีวิตและมิติโลกที่เชย ตกอยู่ในมือของศิลปินเข้าไปสร้างสรรค์งานใหม่ให้ทันสมัย ย้ำว่ารัฐต้องให้ทุนทำ ลงทุนแปรรูป ลงทุนทำในรูปแบบต่างๆ อาทิ แสดงสินค้าด้านศิลปวัฒนธรรม งานมหกรรมท้องถิ่น การประกวดเพลงดนตรี ให้นักวิชาการทำงานวิจัย ให้ศิลปินทำต้นแบบงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์แล้วนำออกไปเผยแพร่ในทุกระดับเท่าที่จะทำได้ พื้นที่สาธารณะ วิทยุ โทรทัศน์ ยูทูบ ฯลฯ

การทำเพลงลาวดวงเดือนด้วยวงซิมโฟนีออเคสตราครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหมายแค่ให้กำลังใจหรือโหยหาอดีตหรือฟูมฟายวัฒนธรรมเท่านั้น แต่มองข้ามไปว่า เมื่อโควิดออกไปแล้ว เป็นโอกาสที่จะเอาทรัพยากรทางวัฒนธรรมชาติที่เป็นเพลงดนตรีมาสร้างงานต่ออย่างไร พัฒนาในฐานะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราไม่สามารถปล่อยให้อยู่ในรูปแบบดั้งเดิม (ดิบๆ พื้นๆ ทิ้งๆ) อีกต่อไป ซึ่งโอกาสในการปรุงแต่งพัฒนาให้ทันโลกสมัยช่วงเวลานี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่สุด

ผมได้ทำงานร่วมกับพันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ตั้งแต่อยู่ในชั้นยศร้อยเอก ได้มอบหมายให้ช่วยเรียบเรียงเพลงไทย เพลงพื้นบ้าน ซึ่งพันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ถือว่าเป็นนักเรียบเรียงเสียงที่ดีสุดแห่งยุค มีผลงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 350 เพลง หากเพลงพวกนี้นำมาบันทึกด้วยวงซิมโฟนีออเคสตราหรือวงเครื่องเป่า วงวินซิมโฟนี (Wind Symphony) แล้วส่งเพลงไปเปิดในร้านอาหารท้องถิ่น เปิดในสถานปฏิบัติธรรม เปิดในร้านค้าชุมชน สถานที่สาธารณะ เปิดในวิทยุ ในโทรทัศน์ไทย เปิดในยูทูบ เพลงดนตรีพื้นบ้านก็จะมีราคาและมีคุณค่ามากขึ้น นักดนตรีและศิลปินก็จะมีรายได้ด้วย

ลาวดวงเดือน เป็นเพียงตุ๊กตานำร่องให้ใช้วิธีของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทดลองทำดูว่าสามารถทำได้ จากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของรัฐ สำนักงานวัฒนธรรม สำนักเอกลักษณ์ สถานีวิทยุ โทรทัศน์ ยูทูบไทย หรือสำนักงานวิจัยวัฒนธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ศิลปินสามารถจะสร้างงานบนฐานวัฒนธรรมได้ เมื่อศิลปินมีผลผลิต ก็จะมีรายได้ เพลงดนตรีก็จะมีมูลค่าเพิ่ม สถานการณ์โรคโควิดเป็นโอกาส ทำให้วัฒนธรรมดนตรีท้องถิ่นฟื้นขึ้นมาได้ ความตายของโรคโควิด ทำให้จิตวิญญาณท้องถิ่นเกิดใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image