เดินไปในเงาฝัน : โอกาสที่มีคำตอบ

www.youtube.com

ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือผมมักจะเห็นเด็กๆ ขาดโอกาสทางการศึกษาอยู่มาก และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กชาวเขาเผ่าต่างๆ

พวกเขาหลายคนมาอยู่มูลนิธิในตัวเวียงอยู่วัด

หรือบางคนก็มาอยู่โรงเรียนประจำกินนอนบนดอย แต่อยู่ไกลจากบ้านของเขาหลายกิโลเมตร

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการปราบปรามยาเสพติดสมัยอดีต เนื่องจากพ่อแม่ของเขารับจ้างขนยา หรือไม่ก็รับจ้างเป็นกองทัพมดเดินเท้าจากฝั่งเมียนมาเข้ามายังฝั่งไทย

Advertisement

หลายคนถูกฆ่าตัดตอน

หลายคนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

และหลายคนต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย

Advertisement

มีบ้างบางคนไม่มีญาติพี่น้องเหลืออยู่เลย

อีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการค้ามนุษย์

เด็กๆ ผู้หญิงหลายคนเป็นโรคเอดส์ทั้งๆ ที่อายุเพียง 10 กว่าปีเท่านั้นเอง และอีกหลายคนหนีออกจากมูลนิธิ วัด และโรงเรียนเพื่อกลับเข้าไปสู่วงอุบาทว์ซ้ำอีก

เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่ไม่อิสระ

ตลอด 2-3 ปีมานี้ ผมมีโอกาสไปเยือนสถานที่ดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้คิดว่าการที่เด็กๆ มารวมตัวกันอยู่ตั้งแต่อนุบาล-ประถม-มัธยมต้น ไปจนถึงมัธยมปลาย พวกเขาจะสุดปลายทางที่ตรงไหน

เพราะชีวิตทุกวันยังวนเวียนอยู่กับปัญหาของแต่ละคน

ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กัน

ในความคิดของผม มองว่าเมื่อคนมีปัญหามารวมตัวกัน ยิ่งจะทำให้ปัญหาถูกก่อตัวขึ้นโดยเร็ว จนกลายเป็นการแสดงออกในเชิงต่อต้าน ขัดขืน และก้าวร้าวต่อไปในอนาคต

ปรากฏว่าสิ่งที่ผมคิด ผิดทุกประการ

เพราะในมูลนิธิ วัด โรงเรียนต่างๆ เหล่านั้นต่างนำหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา และคริสต์ศาสนาในบางแห่งมาใช้นำทางพวกเขา

เพื่อสอนให้พวกเขารู้ว่าชีวิตต้องมีเป้าหมาย

มีความหวัง

และต้องมีอนาคต

อย่างการแก้ปัญหาของวัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงราย ที่นี่มีเด็กชาวเขาเผ่าต่างๆ มาอยู่รวมกันกว่าร้อยคน คละเคล้ากันไปตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงมัธยมปลาย

เจ้าอาวาสใช้วิธีการบริหารโดยให้พี่ดูแลน้อง

ทั้งยังส่งนักเรียนกระจายไปเรียนในโรงเรียนต่างๆ ของจังหวัด โดยมีรถโรงเรียนของทางวัดคอยรับส่ง เจ้าอาวาสเล่าให้ผมฟังว่าเหตุที่ทำเช่นนี้เพราะอยากให้เขามีสังคมใหม่

เรียนรู้ชีวิตจากผู้คนที่หลากหลาย

เพื่อเขาจะได้มีเพื่อนในสังคมอื่นบ้าง

หรืออย่างโรงเรียนคริสต์ของเอกชนแห่งหนึ่งบนดอยแม่แจ่ม มาเซอร์จะคุยกับผู้ปกครองของนักเรียนว่าทุกๆ 1 ปี คุณจะต้องนำข้าวสารมาให้ทางโรงเรียนอย่างน้อย 1-2 ถังต่อปี

นักเรียนร้อยกว่าคนก็ร้อยกว่าถัง

ถามว่าเพียงพอไหม ?

ไม่พอหรอก…มาเซอร์บอก แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ปกครองมีความรับผิดชอบในลูกหลานของตน เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียน

สำคัญไปกว่านั้นมาเซอร์ยังใช้หลักคริสต์ศาสนาในการขัดเกลาจิตใจของพวกเขา ด้วยการให้นักเรียนทุกคนสวดมนต์ และร้องเพลงในโบสถ์ทุกค่ำคืน

จนทำให้พวกเขามีจิตใจอ่อนโยน

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือทุกวันเสาร์-อาทิตย์เด็กๆ เหล่านี้จะถูกปล่อยให้ไปช่วยกันหาฟืน และหาของป่า เพราะพวกเขาคุ้นชินกับสภาพผืนป่าบนดอยแม่แจ่ม

พวกเขารู้ดีว่าอะไรกินได้ ไม่ได้

พวกเขารู้ดีว่าตรงไหนมีแหล่งอาหาร และตรงไหนมีเศษซากไม้ที่ตายยืนต้น

เสมือนเป็นการเรียนรู้โลกของเขาเพื่อนำมาประยุกต์ในโลกแห่งความเป็นจริง

เช่นเดียวกัน เหมือนอย่างมูลนิธิแห่งหนึ่ง ซึ่งดูแลเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงมัธยมปลาย ช่วงที่ผมไปเจอพวกเขา เขากำลังร่วมโครงการกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งของประเทศเยอรมนีในการเรียนรู้เครื่องมือช่างเพื่อผลิตงานแฮนดี้คราฟท์

โดยมีรุ่นพี่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นพี่เลี้ยงจิตอาสา

พวกเขาไม่มีความรู้ด้านการออกแบบ

แต่พวกเขามีไอเดีย

จึงเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สุดเมื่อชิ้นงานออกมา ปรากฏว่าสวยงามมาก ผมจึงถามเขากลับไปว่าจะเอาไปขายที่ไหน ?

ถนนคนเดิน…เขาบอก

ถามว่าตั้งราคาไว้เท่าไหร่ ?

399 บาท…เขาบอก

ผมจึงถามต่อว่าแล้วคิดจะพัฒนาต่อยอดทำเป็นรายได้เสริมไหม ?

แน่นอนอยู่แล้ว…เขาบอก เพราะตอนนี้เข้าใจเครื่องมือที่จะผลิตชิ้นงานแล้ว ขณะเดียวกัน ผมก็มีไอเดีย สิ่งที่ขาดคือการวาดรูป ซึ่งจะต้องฝึกฝนกันต่อไป

สำคัญไปกว่านั้นในโครงการดังกล่าวยังมีอาจารย์สาขาการตลาดมาแนะนำช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับพวกเขาด้วย เขาบอกผมว่าจะนำความรู้ที่ได้วันนี้ไปทำธุรกิจ

ผมฟังแล้วก็รู้สึกอิ่มใจ

ทั้งยังรู้สึกว่าเยาวชนในประเทศของเรายังขาดโอกาสทางการศึกษาอีกมากมาย

ผมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหมดสิ้นไปเสียที

แต่เท่าที่ลงพื้นที่บ่อยครั้ง ผมเริ่มเห็นภาคเอกชนหลายแห่งทยอยเข้าไปช่วยเหลือหลายองค์กรด้วยกัน ถ้าใครอยากรู้ข้อมูลเหล่านี้ หรืออยากช่วยเหลือเด็กชาวเขาพวกนี้ อีเมล์มาหาผมได้

แล้วจะแจ้งให้ทราบครับ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image