จากเมล็ดพันธุ์ สู่จานข้าว 90 วันแห่งปฏิบัติการปลูก ‘ผักสวนครัว’ สร้างความมั่นคงทางอาหาร

ผักสวนครัว รั้วกินได้ ภาพจากเฟซบุ๊กกลุ่ม "ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับพช." ซึ่งคนไทยร่วมอัพเดตความเคลื่อนไหวจากแปลงผักสวนครัวของตัวเอง

นับแต่ประเทศไทยมีผู้ป่วยจาก “โควิด-19” ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการยืนยันเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ 29 เมษายน เป็นเวลา 106 วันกับการเผชิญหน้าสถานการณ์ท้าทายทั้งเศรษฐกิจ สังคม และที่สำคัญคือ “ปากท้อง”

ภาพของผู้คนที่พากันต่อแถวซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่ต้องถูกบันทึก

“ความมั่นคงทางอาหาร” คือคำสำคัญในห้วงวิกฤต การพึ่งพาตนเองตามวิถีไทยคือสิ่งที่ต้องหันกลับไปมองอีกครั้ง ดังเช่นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเป็นแนวทางการสร้างพื้นฐานความ “พอมี พอกิน พอใช้”

กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) จึงน้อมนำแนวพระราชดำริมาสู่การปฏิบัติในระดับครัวเรือน ด้วยแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ปักธงรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทั่วประเทศเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้นผ่านการเพาะเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ลงสู่ผืนแผ่นดินอันจะเป็นทางออกของประเทศ ไม่เพียงจากภาวะโรคระบาด หากแต่รวมถึงวิกฤตภัยแล้งซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข

Advertisement

1 เมษายน- 30 มิถุนายน 2563 คือกรอบเวลาแห่งปฏิบัติการในครั้งนี้ที่มุ่งเน้นการ “รับรู้” และ “มีส่วนร่วม” ระหว่างภาครัฐกับประชาชน ก่อเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หยั่งรากลึกถึงท้องถิ่น หมู่บ้าน ครอบครัว หน่วยเล็กๆ อันสำคัญยิ่ง

‘ผู้นำต้องทำก่อน’ ผักเติบโต สังคมตื่นตัว

Advertisement

“เราคือกรมแรกๆ ที่ส่งภารกิจไปให้ข้าราชการที่กระจายอยู่ในทุกตำบลอำเภอช่วยกันส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ นอกจากเป็นความมั่นคงด้านอาหารแล้ว ยังเป็นยาวิเศษ เพราะไม่มีสารพิษ ยาฆ่าแมลง ตั้งแต่ 1 เมษายน- 30 มิถุนายน จะเป็น 90 วันแห่งการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารโดยมือของทุกคนที่มั่นใจว่าทำได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่หมดโควิดแล้วเลิก แต่จะกลายเป็นนิสัย ย้อนกลับไปเหมือนสมัยปู่ย่าตายาย ที่รอบบ้านมีแต่พืชผักที่เก็บมากินได้”

คือคำกล่าวของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ต่อแผนปฏิบัติการที่จะส่งผลให้การปลูกผักสวนครัวในบ้านนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร

ที่น่าสนใจ คือ ไม่ใช่เพียงรณรงค์ให้ชาวบ้านทำเท่านั้น แต่ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนพร้อมครอบครัวก็ต้องทำเป็นต้นแบบ โดยตั้งแต่วันที่ 1-15 เมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที้พัฒนาชุมชนทุกคน ตั้งแต่พัฒนาการจังหวัด หัวหน้ากลุ่ม ฝ่าย พัฒนาการอำเภอ จนถึงพัฒนากรต่างร่วมใจปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย 5 ชนิด เพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างกระบวนการเรียนรู้ระดับบุคคลก่อนลงไปส่งเสริมให้ประชาชน

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงมือปลูกผักสวนครัวที่บ้านอย่างแข็งขัน ตามกลยุทธ์ ‘ผู้นำต้องทำก่อน’

“จะพัฒนาใครเขา ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน” คือกิจกรรมหลักในเฟสแรก 15 วัน หลังจากนั้น เป็นคิวของบ้านผู้นำทุกส่วนราชการในพื้นที่ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายก อบต. จนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ตามกิจกรรม “ผู้นำต้องทำก่อน” ซึ่งขีดเส้นภายในวันที่ 30 เมษายน มุ่งกระตุ้นการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วทันท่วงที ไม่มีเอื่อย และนี่คือปัจจัยแห่งความสำเร็จ

“ผมว่ามีแรงกระเพื่อมเยอะทางสังคม หลังข้าราชการทำครบ 15 วัน อีก 15 วัน บ้านผู้นำของทุกส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดอำเภอต้องทำ เพราะผมให้ข้าราชการไปอ้อนวอนขอร้องให้ช่วยทำ เราจะไปคุยเขาว่าปลูกพืชสวนครัวดี แต่เราไม่ปลูก มันก็ไม่มีน้ำหนัก

มั่นใจว่าภายใต้การขับเคลื่อนของกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับทุกส่วนราชการและภาคเอกชน โครงการนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ไม่ลืมรากเหง้า ทำให้คนมีความสุขมากขึ้นในสถานการณ์นี้” อธิบดี พช.กล่าว ก่อนเล่าว่า ที่บ้านของท่านเองก็ช่วยกันปลูกผักสวนครัวมากมาย จากเดิมที่เคยปลูกอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเกิดแผนปฏิบัติการนี้ก็ลงมือปลูกเพิ่มอีก ตอนนี้สวนครัวที่บ้านจึงอุดมด้วยพืชผักนานาพรรณ

“ที่บ้านผม เดิมปลูกกล้วย มะกรูด มะนาว พริก ถั่วฝักยาว ตอนนี้เพิ่มฟักทอง บวบ มะเขือเทศ กระเจี๊ยบ ผักบุ้ง ผักกาด มะละกอ สะระแหน่ และผักอื่นๆ อีก รวมแล้วน่าจะ 30 ชนิด ช่วยกันกับภรรยาปลูกลงเข่งกับกระเช้าของขวัญปีใหม่

สนุก และเกิดกิจกรรมของครอบครัว แจกจ่ายได้ เวลากินข้าว เมื่อก่อนไม่กินเผ็ด แต่เดี๋ยวนี้ผมเก็บพริกที่บ้านมาโรยในจาน มื้อละ 4-5 เม็ด เพราะมีวิตามินซีเยอะ (ยิ้ม)”

ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ทั้งในระดับครัวเรือนและกลุ่มอาชีพคืออีกเป้าหมายหลัก

ผนึกกำลัง สร้างระบบ’ยุทธศาสตร์สวนครัว’ครบวงจร

แน่นอนว่า เมื่อผู้นำพร้อม ข้าราชการร่วมใจ กิจกรรมต่อไป คือการจุดไฟผนึกกำลังในภาคส่วนต่างๆ โดยทางอำเภอวางแผนการขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการ องค์การปกครองท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายรวมถึงองค์กรทางศาสนา โดยใช้ข้อมูลแผนที่เดินดินของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)

เริ่มด้วยการสร้างชุดปฏิบัติการหมู่บ้าน อันประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ผู้นำทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยมีพัฒนากรร่วมเป็นชุดปฏิบัติการของทุกหมู่บ้าน

แบ่งหน้าที่ติดตามและสนับสนุนการขับเคลื่อนในสัดส่วนชุดปฏิบัติการ 1 คน ดูแล 5 ครัวเรือน โดยทางอำเภอมีการบูรณาการการทำงานของเจ้าหน้าที่ กิจกรรม องค์ความรู้ และทรัพยากร อันได้แก่ต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์

อธิบดี พช.เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องทรัพยากรนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนอย่างดียิ่ง โดย “อีสท์ เวสท์ ซีด” บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์พืชชั้นนำของโลก ร่วมบริจาคเมล็ดพันธุ์ราว 4-5 หมื่นซอง และบริษัท เจียไต๋ จำกัด มอบเมล็ดพันธุ์ผักถึง 500,000 ซอง เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวในครั้งนี้ โดย ชัยพันธ์ ลิมปิวรรณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสเป็นตัวแทนบริษัทส่งมอบเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่าน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนพร้อมนำไปกระจายสู่ครัวเรือนคนไทยทั้ง 76 จังหวัดอย่างทั่วถึง

อีสท์ เวสท์ ซีด ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ตรา “ศรแดง” ร่วมสนับสนุนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รับมอบเมล็ดพันธุ์ 500,000 ซองจากผู้บริหารบริษัท เจียไต๋ จำกัด เมื่ออังคารที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา สะท้อนความร่วมมือด้วยความเข้าใจระหว่างภาครัฐและเอกชน

เยี่ยมบ้าน ลงสวน กระตุ้นแรงบันดาลใจ

มาถึงกลยุทธ์ต่อไปที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ คือการเดินหน้าส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบ “เข้าถึงทุกครัวเรือน” ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการหมั่นเยี่ยมบ้านโดยทีมปฏิบัติการหมู่บ้านที่จะเคาะประตูทักทายพร้อมให้คำแนะนำและกระตุ้นปฏิบัติการ เน้นย้ำประเด็นพึ่งพาตนเอง โดยอาจสร้างความสามัคคีแบบไม่ชุมนุมด้วยการร่วมไม้ร่วมมือกันทำเป็นกลุ่มเล็กๆ

สำหรับบ้านไหนยังอยู่ระหว่างตัดสินใจ ทีมปฏิบัติการจะแวะพูดคุยกระตุ้นการเรียนรู้จากตัวอย่างทั้งในชุมชน เช่น บ้านผู้นำ รวมถึงชุมชนภายนอกที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จ

ส่วนบ้านไหนลงมือทำอย่างแข็งขัน เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ไม่ลืมติดตามให้กำลังใจ คอยแวะเวียน “กดไลค์” ถึงสวนครัว ใครทำแล้วสำเร็จงดงาม จะถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างแรงฮึดสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นหยิบเมล็ดพันธุ์แรกลงสวน

“กิจกรรมการทำงานของกรมพัฒนาชุมชนเรา จริงๆ คือวิถีชีวิตชาวบ้าน ในยามที่เกิดเหตุอย่างนี้ เราก็ยังเดินหน้า แต่ต้องปรับวิธีการทำงาน แทนที่จะไปเป็นขโยง เราก็ไปเคาะประตูบ้าน ซึ่งสำคัญ” สุทธิพงษ์ อธิบดี พช.อธิบาย พร้อมยกตัวอย่างสร้างแรงบันดาลใจ ดังเช่น อบต.โก่งธนู จ.ลพบุรี

“ที่โก่งธนู ลพบุรี ทั้งตำบลร่วมโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ทุกบ้านมีผักเป็น 10 ชนิด รวมทั้งตำบลมีหลายร้อยชนิด เท่านั้นไม่พอยังทำถนนหนทางสองฝั่ง ปลูกไม้ผล และไม้ยืนต้นด้วย” อธิบดี พช.กล่าว

วันชัย คงเกษม พ่อเมืองร้อยเอ็ด กับสวนครัวจวนผู้ว่าฯ

แปรรูป แบ่งปัน ‘ขยายผล’ บนเครือข่ายแห่งการเรียนรู้

ไม่เพียงการที่บ้านเรือนในชุมชนต่างปลูกพืชผักสวนครัว ทว่า กรมการพัฒนาชุมชนยังมองไกลไปถึงการสร้างเครือข่ายและขยายผลด้วยการเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งการแบ่งปันพันธุ์พืชที่มีในชุมชนของคนเองไปยังชุมชนที่ขาดแคลนในรูปแบบ “โครงการทอดผ้าป่าต้นไม้” สร้างการเรียนรู้ในลักษณะ “ชุมชนนักปฏิบัติ” ที่มีดัชนีชี้วัดไม่ใช่เกรดในห้องเรียน หากแต่เป็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมที่มองเห็น และจับต้องได้

นอกจากนี้ ใบ ดอก ฝัก ผล หน่อ เมล็ด และส่วนต่างๆ ของผลิตผลจากสวนครัวที่เหลือจากการบริโภคในบ้าน ยังสามารถนำไปทำบุญ บริจาคทาน แบ่งปัน แปรรูป หรือกระทั่งจำหน่าย ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายของปฏิบัติการที่คาดหวังช่วยครัวเรือนลดรายจ่ายจากการซื้อหาพืชผัก มิหนำซ้ำยังเพิ่มรายได้อีกด้วย

ปฏิบัติการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยมีการคัดเลือก “บุคคลต้นแบบ” และเชิดชูเกียรติ เพื่อสร้างขวัญ เติมกำลังใจ ชาร์จพลังชีวิตโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

ระดับผู้บริหาร อย่างผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ พัฒนากรจังหวัดและหัวหน้ากลุ่มงาน ผู้ซึ่งกำหนดนโยบายและผลักดันกิจกรรมให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงโครงการในปึกกระดาษเท่านั้น

ตามด้วย ระดับผู้ปฏิบัติการ ที่มีครัวเรือนความรับผิดชอบปลูกผักสวนครัวเกิน 90% ได้แก่ พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด และนักวิชาการพัฒนาการชุมชนอำเภอ

ปิดท้ายที่ ระดับชุมชน อย่างนายกเทศมนตรี นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีครัวเรือนปลูกผักสวนครัวเกิน 90% เช่นกัน

แผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” กำลังดำเนินไปอย่างอบอุ่นด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

สำหรับเกณฑ์ “ตัดเกรด” เป็นไปตามเกณฑ์ประเมินโดยพิจารณาจากร้อยละของครัวเรือนที่ลงมือ หากมีสัดส่วนถึง 90% รับเกรด “ดีเยี่ยม” 80% จัดว่า “ดี” และ 70% ถือว่า “ผ่าน”

ไม่เพียงเท่านั้น แม้ปฏิบัติการจบลง จะมีการติดตามความก้าวหน้าต่อไป

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสร้างสรรค์ของกรมการพัฒนาชุมชนที่ช่วยเสริมพลังบวกทางใจ สร้างความมั่นคงทางกายภาพ เติมเรื่องราวดีๆ ให้สังคมไทยในภาวะวิกฤตที่มนุษยชาติต้องร่วมฟันฝ่าไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image