บทสนทนาผ่านหน้าจอ ครั้งแรก’แพทย์จีน-ไทย’ แลกประสบการณ์ต้าน’โควิด’

ภาพจาก AFP

เป็นที่เชื่อกันว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีจุดเริ่มต้นในประเทศจีน ในปลายปี 2562ั้และไม่มีใครคาดคิดว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะขยายวงกว้างลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตหลายล้านคน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนกระทั่งในเดือนมีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ได้ออกมาประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็น โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ บุคลากรทางการแพทย์เปรียบเสมือน “ทัพหน้า” (Frontliners) ในการสู้รบกับศัตรูที่มองไม่เห็น “COVID-19”

ในขณะที่หลายประเทศยังคงมีอัตราผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของไวรัส “COVID-19” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดประเทศจีนก็ประกาศชัยชนะ เนื่องจาก “ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่” เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด อะไรคือกุญแจแห่งความสำเร็จของประเทศจีนในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ หลังการใช้ “มาตรการปิดเมือง” (Lockdown)

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “COVID-19” ในประเทศไทยในขณะนี้ แม้ว่าจะพบว่า ตัวเลขของ “ผู้ป่วยรายใหม่” ไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และเริ่มมีจำนวนลดลงตามลำดับั้แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ ซึ่งหลังจากที่ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศั้ทีมบุคลาการทางการแพทย์ของจีนได้หยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับประเทศต่างๆ ในรูปแบบของการถอดบทเรียนที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมและลดการแพร่ระบาดของโรค

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกับ China Media Group เอเชียแปซิฟิก (CMG) สื่อทางการของประเทศจีน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแพทยสภา และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมทางไกล ระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของจีนและไทย เป็นครั้งแรก เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อ 2 แพลตฟอร์มไปสู่ประชาชนใน 2 ประเทศ โดยในไทยถ่ายทอดผ่านรายการพิเศษ *”ถอดบทเรียนแดนมังกร”* (COVID-19 Frontline) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา

Advertisement
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแพทยสภา และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมทางไกล ระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของจีนและไทย เป็นครั้งแรก

แพทย์จีนยืนยัน การแพร่ระบาดใน’เอเชีย’ไม่รุนแรงเท่า’ยุโรป’

สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของจีน ประกอบด้วย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, ศ.พญ.กุลกัญยา โชคไพบูลย์กิจ ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ฯ, พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา และผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ, ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร หัวหน้าที่ปรึกษา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.วิศิษฏ์ ประสิทธิศิริกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค

มีประเด็นที่น่าสนใจในการถอดบทเรียน “จีน” ในการรับมือ โควิด-19 หลายประเด็น นอกเหนือจากการที่จีนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว คณะแพทย์จีนได้ยืนยันว่า จากการศึกษาของนักไวรัสวิทยาจีนพบว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่มีการกลายพันธุ์ แม้จะมีการกลายพันธุ์ ก็ยังไม่มีผลกระทบในการดูแลรักษาแต่อย่างใด โดยขณะนี้ คณะวิจัยของจีน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐ และยุโรป กำลังพัฒนาวัคซีนอยู่เช่นกัน คณะแพทย์จีนให้ความเห็นว่า ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดในแถบเอเชียไม่รุนแรงเท่ากับในแถบยุโรป ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะในแถบเอเชียมีอุณหภูมิที่สูงกว่า และอีกปัจจัยหนึ่งคืออาจมีผลมาจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

Advertisement
บรรยากาศการประชุมทางไกล แลกประสบการณ์ล้ำค่าในการต้านไวรัสโควิด-19 ระหว่างแพทย์ไทยและจีน

หัวใจการรักษาคือ’ยาต้าน’ทดสอบใน’ลิง’ไม่ติดเชื้อซ้ำ

สำหรับหัวใจสำคัญของการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพทย์จีนระบุว่า คือการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันชัดเจนว่า การใช้ยาต้านไวรัสตั้งแต่ระยะแรกจะสามารถยับยั้งการพัฒนาของโรคได้หรือไม่ แต่แพทย์จีนได้ทดลองใช้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อขนานเดียว โดยมุ่งเป้าให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรงเพิ่มและสามารถหายจากโรคได้โดยเร็วที่สุด ต่างจากไทยคือใช้ยาสองขนานร่วมกันในการรักษาผู้ติดเชื้อ โดยทดลองใช้ยาที่มีอยู่ในประเทศ หรือเป็นยาที่สามารถจัดหาได้โดยเร็ว ซึ่งแพทย์จีนได้ให้คำแนะนำถึงการใช้ยาร่วมของไทยว่า ควรทำการทดลองเปรียบเทียบเพื่อหาข้อสรุปของการใช้ยาในแนวทางนี้ และการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า จะสามารถยับยั้งการพัฒนาของโรคได้ แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง

สำหรับกรณีผู้ติดเชื้อที่หายแล้วกลับมาเป็นซ้ำในประเทศจีน จากการศึกษาโดยใช้ลิงเป็นต้นแบบ พบว่าลิงไม่สามารถติดเชื้อซ้ำได้ แต่ไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยมีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการขับเชื้อที่มีระยะเวลานาน ซึ่งสามารถนานได้ถึง 2 เดือน แต่อัตราการติดเชื้อซ้ำมีความเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้จีนยังได้ทดลองการให้พลาสมา (Plasma) หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่เคยติดเชื้อ ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้กันมานานแล้ว โดยได้ทดลองกับผู้ป่วยเพียง 5 คนในเมืองอู่ฮั่น พบว่า มีอาการดีขึ้น

‘ละอองฝน’ต่ออายุไวรัส’เว้นระยะกายภาพ’ไทยเรียนรู้จากจีน

ส่วนความเชื่อเรื่อง ในช่วงฤดูฝนจะทำให้มีการแพร่กระจายของโรคมากขึ้นนั้น แพทย์จีนกล่าวว่าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้น เพราะเชื้อไวรัสจะอยู่ได้เพียง 4-5 ชั่วโมง เมื่ออยู่ในความร้อนและแห้ง ซึ่งช่วงฤดูฝนที่มีอุณหภูมิเย็นลงและมีละอองฝอยของฝนจะทำให้ไวรัส อยู่ได้นานขึ้น ดังนั้น เราทุกคนต้องช่วยกันระมัดระวังไม่ให้ไปอยู่ในปัจจัยเสี่ยง โดยจะต้องไม่ออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น

ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงประโยชน์ในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างแพทย์จีน-ไทยว่า ทำให้ได้เรียนรู้ประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจีน มาตรการของจีนมีความเข้มงวดในเรื่องของการขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านและ Social Distancing

“การเว้นระยะทางกายภาพกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม สิ่งเหล่านี้ไทยเอามาปรับใช้ได้ เป็นแบบอย่างให้ไทยวางแผนรับมือกับไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้น ซึ่งหลังจากจีนผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้และเริ่มมีมาตรการผ่อนปรนให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตตามปกติได้บ้างแล้ว หากทางไทยจะเอาแบบอย่างจีนในการออกมาตรการผ่อนปรน เราทุกคนต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดี มีอัตราการเสียชีวิตลดลง ดังนั้น การถอดบทเรียนในครั้งนี้ ข้อสรุปของแต่ละคำถามที่คณะแพทย์ไทย ได้แลกเปลี่ยนกับแพทย์จีน ทางแพทยสภาจะนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสื่อสารให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศทราบแนวการปฏิบัติ” ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์กล่าว

ศ..ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

สำหรับความคาดหวังในการที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัส COVID-19 นั้น คาดว่าจะยังคงใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาอีกระยะหนึ่ง

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ผ่านพ้นวิกฤตช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว เมื่อประสบภัยเดือดร้อน จีนและไทย เราต่างไม่ทิ้งกัน การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นภาพความร่วมมือครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของทั้ง 2 ประเทศ

เพราะไวรัสนั้นไม่มีพรมแดน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image