อาศรมมิวสิก : ศิลปินเดี่ยวเหี่ยวลง ศิลปินเครือข่ายเป็นที่นิยม : โดย สุกรี เจริญสุข

ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นมา ชีวิตผู้คนในสังคมเริ่มคุ้นเคยกับโรคโควิด-19 มากขึ้น ศิลปินพอจะตั้งตัวได้ก็เริ่มสร้างผลงานเพลงออกมาเรื่อยๆ ระยะแรกก็จะเป็นศิลปินเดี่ยว โดยนำผลงานเก่ามาเปลี่ยนเนื้อหาใหม่เพื่อให้เข้ากับโรคระบาด เวลาผ่านไปศิลปินก็เริ่มสร้างผลงานใหม่ เป็นเพลงใหม่ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และดนตรีใหม่ ประมาณว่าศิลปินเดี่ยวได้ใช้โอกาสแสดงผลงานเพลงใหม่ได้พอควร ด้วยวิธีเล่นเองร้องเอง แต่ก็พบว่าผลงานเพลงใหม่ของศิลปินเดี่ยว (ไทย) ไม่ค่อยมีพลังนัก ฟังแล้วก็จะปล่อยให้ผ่านไป จะไม่กลับไปฟังอีก แล้วก็จะมีเพลงใหม่ออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง แต่พลังของเพลงขาดหายไปโดยไม่รู้ว่าพลังเพลงมันหายไปไหน ก็พยายามจะวิเคราะห์หาคำตอบว่า เพลงใหม่ในช่วงโควิดเป็นอย่างไร

พลังของศิลปินเดี่ยวเหี่ยวลง เพราะบริบทของสังคมได้เปลี่ยนไป เรื่องแรกก็คือ บรรยากาศรอบตัวในสังคมโดยรวม มีแต่ความหดหู่และเศร้าหมอง มองไปไม่เห็นอนาคต ซึ่งความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมีอยู่รอบๆ ตัว อยู่ใกล้ตัว และน่ากลัว เรื่องที่สอง ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย ไม่รู้ว่าต้องจ่ายอีกนานเท่าไหร่

เรื่องที่สาม การร้องเพลงคนเดียวในห้องทำให้พลังหายหด เกิดความรู้สึกเหี่ยว โดยปกติศิลปินและดาราไทยทั้งหลาย เมื่อได้ร้องเพลง ได้ขึ้นเวที ก็มีคนรุมล้อม พลังเดิมที่มีก็จะออกมาจากภายใน ศิลปินที่คุ้นเคยกับเวที (วิญญาณจะออก ของจะขึ้น ครูก็จะลงเข้าสิง) อาศัยความชำนาญที่โลดแล่นอยู่บนเวที ทำให้ศิลปินมีความกล้าหาญในการแสดงออก ตอนนี้เมื่อต้องร้องเพลงคนเดียว อยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่มีคนฟัง ไม่มีแฟนๆ รอบเวที ทำให้เสียงร้องขาดพลัง แรงขับก็พลอยหดหายไปด้วย หายไปโดยอัตโนมัติ

เรื่องที่สี่ ดนตรีที่ใช้เล่นประกอบนักร้องส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์จะใช้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ธรรมชาติของเสียงที่เกิดจากประจุไฟฟ้าจะขาดพลัง ไม่มีความรู้สึก และไม่มีอารมณ์ เพราะไม่ได้ออกจากจิตใจของนักดนตรีผู้ผลิตเสียง แต่เป็นการกดปุ่มทำให้เกิดเสียง ซึ่งใครๆ ก็สามารถกดปุ่มทำให้เกิดเสียงได้ แต่จะไม่มีอารมณ์ความรู้สึกร่วม เรื่องที่ห้า ในการผสมเสียงเพลง เมื่อแต่ละส่วนส่งมาเป็นก้อนๆ เพราะต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ โอกาสที่จะผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน “เข้าเนื้อ” ก็ยากขึ้น

Advertisement

เรื่องสุดท้าย การรวมตัวของนักดนตรีที่มีฝีมือมีน้อยลง เพราะค่าใช้จ่ายเป็นตัวกำหนด รวมทั้งอัตตาของศิลปินเป็นตัวเสริม เพราะศิลปินหลายคนอยากทำงานเดี่ยว ไม่ต้องการรวมตัวกับใคร เพลงของศิลปินเดี่ยวส่วนใหญ่ออกมาก็เป็นฝีมือของนักดนตรีคนเดียว ฝีมือจำกัด ศักยภาพจำกัด และมีอยู่ทั้งหมดแค่นั้น อย่าลืมว่าศิลปินไทยสร้างงานเองไม่ได้ ต้องมีคนป้อนและต้องมีคนชงให้

เมื่อชีวิตเริ่มอยู่ได้และเข้าใจโควิดมากขึ้น เกิดมีศิลปินที่ใช้เครือข่ายแทรกเข้ามา มีผลงานออกมาก็ได้รับการตอบรับเป็นที่นิยม ศิลปินเครือข่ายก็เกิดเพิ่มมากขึ้น มีเพลงออกมาหลายชุด แซงหน้าศิลปินเดี่ยวไปเลย วิธีการคือ มีศิลปินมากหน้าหลายตาเป็นเครือข่าย ผลัดกันร้องเพลง ผลัดกันเล่นดนตรี มีหน้าตาของศิลปินเปลี่ยนเข้าไปเสริม ซึ่งเป็นจุดเด่น เหมาะกับสังคมสมาธิสั้น ผู้ชมนิยมมากกว่าผลงานของศิลปินเดี่ยว

เมื่อผู้ฟังคุ้นเคยกับการฟังเพลงจากศิลปินเครือข่ายมากขึ้น ผลงานของศิลปินเครือข่ายนานาชาติ เครือข่ายของอาเซียน เครือข่ายศิลปินระดับโลก ซึ่งทำให้เพลงของศิลปินเครือข่ายเข้าถึงผู้ฟังได้เร็ว แม้การรวมตัวของศิลปินใหญ่ทั้งหลายจะยาก แต่เมื่อทุกคนมีใจทำงานเพื่ออุทิศให้แก่ผู้อื่น หารายได้ช่วยผู้ป่วย ให้กำลังใจกัน ผลงานจึงได้รับความร่วมมือสูง เพราะศิลปินนานาชาติแต่ละคนมีความพร้อมส่วนตัวสูง

Advertisement

ศิลปินเครือข่ายนั้น อาศัยบารมีในการรวมตัวของศิลปินดัง มีนักดนตรีที่ฝีมือสุดยอด มีนักประสานและนักจัดการเก่ง นำเทคโนโลยีที่เยี่ยมยอดและล้ำยุคเข้ามาช่วยทำงาน สามารถทำงานได้เร็ว มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูง ศิลปินแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะสูง “ด้นเพลงได้เก่ง” ยิ่งเสริมด้วยเครื่องดนตรีจริงบางชิ้น ทำให้บทเพลงศิลปินเครือข่ายมีพลังมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อมีศิลปินระดับโลกเป็นกลุ่มที่มีฐานะดี สามารถทำอะไรก็ได้เมื่ออยากทำ เมื่อมีจิตใจเป็นกุศล เอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้แก่เพื่อนมนุษย์ ทำให้เกิดอารมณ์ร่วม สามารถใช้ฉากหลังที่ไหนก็ได้ จึงทำให้กิจกรรมของศิลปินเครือข่ายออกมาดีมาก

วัตถุประสงค์หลักของศิลปินเครือข่ายนานาชาติ ทำขึ้นเพื่อให้กำลังใจคนป่วยโรคโควิด เพื่อจะให้กำลังใจทุกคน ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และปลอบใจประชาคมโลก ซึ่งประชาคมโลกนั้น ตระหนกจากโรคโควิด แต่ก็รู้สึกอบอุ่นเมื่อได้ฟังศิลปินเครือข่าย เพลงจึงถูกส่งต่อผ่านมือถือ ผ่านสื่อ ออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แฟนเพลงที่ให้กำลังใจในวันนี้ ก็จะเปลี่ยนเป็นสมาชิกหรือลูกค้าในอนาคต ซึ่งมีธุรกิจรองรับพร้อม ในการเก็บข้อมูลระบบลูกค้า อาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดและจัดแยกประเภทลูกค้าอย่างละเอียด แปลว่า จากนี้ไป ธุรกิจดนตรีและเพลงก็จะเปลี่ยนไปด้วย

โลกที่ควบคุมด้วยเทคโนโลยี โลกที่ควบคุมด้วยข้อมูล ข้อมูลอยู่ในมือเจ้าของเทคโนโลยี คนทั่วไปที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีนั้น ตกอยู่ในฐานะลูกค้า และตกเป็นทาสที่ต้องหาเงินไปจ่าย ทั้งค่าบริการ ค่าเช่าระบบ ค่ารักษาสมาชิกในการเป็นลูกค้า ซึ่งเป็นอาณานิคมแบบใหม่ เป็นการยึดครองทรัพย์สินส่วนบุคคล และยึดข้อมูลส่วนบุคคลเอาไว้กับเจ้าของเทคโนโลยี คนทั้งโลกต้องใช้เทคโนโลยีแบบธุรกิจกินรวบ

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 เมษายน 2563 ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ได้หารือเพื่อทำเพลงแบบศิลปินเครือข่าย เพื่อเป็นกำลังใจมอบให้แก่บุคลากรสุขภาพ มอบความรักและความศรัทธาต่อกัน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือต่อสู้กับโรคระบาด คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ตั้งใจจะหารายได้มอบให้แก่โรงพยาบาลจุฬาฯ

ผมเลือกเพลงบ้านของเรา ผลงานครูเนรัญชรา (จ่าอากาศเอก สติ สติฐิต) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) พ.ศ.2562 บันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ.2509 ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ.2532 ครูเนรัญชราได้อนุญาตให้ใช้เพลง จึงมอบหมายให้นายปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งเรียนการประพันธ์เพลงอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา เมื่อมหาวิทยาลัยปิดก็ได้กลับมากักตัวอยู่ที่บ้าน อาสาจะเรียบเรียงเพลงให้ ใช้การทดลองวิธีเดียวกับศิลปินเครือข่าย ได้ขอความร่วมมือพรรคพวกทั้งนักร้องและนักดนตรี โดยการทำเป็นวงออเคสตราและการนำเทคโนโลยีพื้นฐานเท่าที่มีมาใช้

ที่เลือกเพลง “บ้านของเรา” เห็นว่าเนื้อร้องมีความหมายดี ซึ่งในช่วงที่คนไทยประสบภาวะวิกฤต ต้องอยู่บ้าน คนที่อยู่ไกลบ้าน ก็รู้สึกว้าเหว่ขาดที่พึ่ง คนที่คิดถึงบ้าน ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ยิ่งอ่านข้อความที่คนไทยติดที่อยู่ในยุโรป อังกฤษ อเมริกา แม้อยู่ในบ้าน อยู่ที่สนามบินแล้ว กลับบ้านไม่ได้ รู้สึกคิดถึงบ้านจับใจ หากได้ร้องเพลงนี้หรือได้ฟังเพลงนี้แล้ว ก็น่าจะช่วยให้มีกำลังใจที่ดีขึ้น

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ได้ร้องเพลงนี้ด้วย โดยเชิญศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียง อาทิ คุณวินัย พันธุรักษ์ คุณยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) คุณไข่ มาลีฮวนน่า (คฑาวุธ ทองไทย) วงแทตทูคัลเลอร์ คุณโก้ มิสเตอร์ แซกแมน (เศกพล อุ่นสำราญ) คุณเก่ง (ธชย ประทุมวรรณ) คุณเบน (ชลาทิศ ตันติวุฒิ) ร่วมด้วย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งใช้วิธีศิลปินเชิญพรรคพวก จึงมีศิลปินอีกหลายท่านที่ได้ออกนามมาร่วมงานในครั้งนี้

หลังจากโรคระบาดโควิด วงการอุตสาหกรรมเพลงจะเปลี่ยนไป วงการธุรกิจเพลงก็เปลี่ยนไปด้วย พื้นที่การแสดงดนตรี เวทีการแสดงก็เปลี่ยนไป พื้นที่ธุรกิจถูกยึดโดยเทคโนโลยี ทุกคนต้องจ่ายค่าเทคโนโลยีถ้วนหน้า เจ้าของเทคโนโลยีกลายเป็นนายทุนใหม่ ซึ่งเป็นนายทุนข้ามชาติ เป็นนายทุนที่ผูกขาด เทคโนโลยีอยู่ในกำมือใคร คนนั้นเป็นผู้ชนะ หากจะวัดกันว่า ชัยชนะ คือความสำเร็จและความร่ำรวย

แม้จะเชื่อมั่นว่า ความคิดสร้างสรรค์หรือกึ๋นนั้นอยู่เหนือเทคโนโลยีก็ตาม แต่วันที่ชีวิตลำบาก ชีวิตก็ถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้ก็ต้องวัดกันว่า มนุษย์จะใช้กึ๋นเอาชนะเทคโนโลยีได้อย่างไร แล้วมนุษย์จะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ที่เป็นคุณได้อย่างไร โดยที่ยังมีกึ๋นเป็นหัวจรวดนำทาง

ดนตรีนั้นเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่สัมผัสด้วยเสียง เสียงที่ผลิตโดยมนุษย์ แต่เมื่อเสียงที่เกิดจากเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน มนุษย์ส่วนใหญ่รับข้อเสนอของเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว

เพลงบ้านของเรา เป็นการนำเสนอในแบบศิลปินเครือข่าย ใช้ความสัมพันธ์และความเชื่อที่มีต่อกัน ที่สำคัญก็คือ ได้ใช้ธรรมชาติที่เป็นรากเหง้าของสังคม ความรัก ความเอื้ออาทร ผสมกับเสียงดนตรีจริง และอาศัยอุปกรณ์สื่อเทคโนโลยี เพื่อส่งเพลงให้แก่กัน ให้สามารถสร้างผลงานที่ผสมผสานกันออกมาได้อย่างสมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image