มองอย่างเข้าใจ ‘ผู้ลี้ภัย’ ขอแค่ปฏิบัติกันอย่างเพื่อนมนุษย์

ช่วงปีที่ผ่านมาเป็นอีกปีที่ปัญหาผู้ลี้ภัยทั่วโลกกลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง อันเห็นได้ชัดจากกรณีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและชาวโรฮีนจา ยิ่งน่าเศร้าเมื่อมีความพยายามผลักดันกลุ่มผู้ลี้ภัยในหลายๆ ประเทศให้กลับไปเผชิญชีวิตที่ไร้ชะตากรรมอย่างกลางท้องทะเลหรือในพื้นที่ใช้อาวุธ

ในปี 2550-2558 มีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน

ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2558 ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพราว 1,700 คน เสียชีวิตระหว่างเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ในประเทศไทยเองก็มีผู้ลี้ภัยอยู่ราว 130,000 คน 90 เปอร์เซ็นต์มาจากเมียนมาอาศัยในค่ายพักพิงแนวชายแดน ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์มาจากปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย ฯลฯ ส่วนใหญ่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรียกว่า “ผู้ลี้ภัยในเมือง”

Advertisement

จากการที่ไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยและไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยในเมืองจึงเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย นำไปสู่การถูกเลือกปฏิบัติ จับกุม กักกัน ผลักดันกลับประเทศที่อันตราย หรือเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดเสวนาประเด็น “ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง การมีตัวตนและการแปรเปลี่ยน” อันเป็นปัญหาที่นับวันจะยิ่งชัดเจนและรุนแรงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

ภาพจาก AFP
ภาพจาก AFP

ทำความเข้าใจก่อนดราม่า

สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีที่ติดตามถ่ายภาพชีวิตชาวโรฮีนจา กล่าวว่า จากการสอบถามความเห็นคนทั่วโลกเกี่ยวกับการยินยอมรับผู้อพยพเข้ามาในประเทศ ของไทยต่ำราว 29 เปอร์เซ็นต์ เพราะความไม่เข้าใจหรือเปล่า อย่างกรณีโรฮีนจาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนานแล้วและรัฐบาลไม่ได้พยายามให้ข้อมูลกับประชาชน

“ก่อนที่คุณจะบอกว่าผู้ลี้ภัย คนอพยพเป็นพวกที่จะมาแย่งที่หรืออะไร เราควรจะศึกษาให้ดีก่อน เพราะถ้าคุณไม่พยายามที่จะเข้าใจปัญหาที่ขึ้นคุณก็จะไม่มีวันที่จะเข้าใจปัญหาดังกล่าวเลย ปัญหาผู้ลี้ภัยในเมืองไทยมีมาตั้งแต่ผู้ลี้ภัยในอินโดจีนเมื่อ 40 ปีก่อน จนมาถึงชนกลุ่มน้อยพม่าและชาวโรฮีนจา”

สุเทพกล่าวต่อว่า ทั้งที่การทำสงครามในอดีตมีการกวาดต้อนคนเข้ามาในประเทศเพื่อใช้แรงงาน คนไทยมีเชื้อสายผสมผสานปนเปกันไปหมด หากมองในแง่นี้เราจะได้ไม่คิดว่าพวกเขามีความต่างจากเรา เพราะความคิดที่ว่า เขาไม่ใช่พวกเรา เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องพยายามผลักความคิดนี้ออกไป เพราะในทศวรรษหน้าปัญหาผู้ลี้ภัยจะหนักขึ้น ด้วยเหตุเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรและพื้นที่อันมีจำกัดจึงต้องมีการกีดกันไม่ให้คนภายนอกมาแย่ง

“ปัจจุบันจะมีการโจมตีผู้ที่แสดงตัวในการช่วยเหลือชาวโรฮีนจา คนไทยใช้สื่อโซเชียลมีเดียดราม่าจนเกิดเป็นปัญหา ทั้งที่ในบางเรื่องไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญ สำคัญที่สุดควรสร้างความเข้าใจก่อนที่จะมาตั้งคำถามหรือเริ่มต้นรังเกียจกัน” สุเทพกล่าว

อดิศร เกิดมงคล และสุเทพ กฤษณาวารินทร์
อดิศร เกิดมงคล และสุเทพ กฤษณาวารินทร์

ปัญหายืดเยื้อ แต่นโยบายไม่เอื้อแก้ไข

“ไม่มีใครอยากจะจากบ้านมาหรอก ถ้าอยู่ได้ก็คงไม่อยากจากมา แต่ว่าอยู่ไม่ได้จริงๆ ถ้าไม่มาก็คือตาย”

อดิศร เกิดมงคล ที่ปรึกษาฝ่ายนโยบาย อไซลัม แอสเซส ประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องจากบ้านหรือหนีตาย ผู้ลี้ภัยไม่ได้มีความสุขกับการจากมา แต่ต้องแสวงหาโอกาสและความหวังที่จะมีชีวิตรอดต่อ ไทยเป็นประเทศที่เจอผู้ลี้ภัยมานานมากแล้ว แต่ว่าความเข้าใจของผู้ลี้ภัยในไทยค่อนข้างมีความจำกัดมาก คนไทยหลายคนก็เป็นลูกหลานผู้ลี้ภัย อย่างกรณีจีนก๊กมินตั๋ง ลูกหลานผู้อพยพเหล่านั้นบางคนก็กลายมาเป็นบุคคลมีชื่อเสียงสร้างสิ่งที่ดีให้สังคมได้

ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน มีประมาณหนึ่งแสนคน ส่วนอีกกลุ่มคือผู้ลี้ภัยในเมือง

“ไทยไม่ใช่จุดหมายของผู้ลี้ภัย แต่เป็นทางผ่าน เรามีผู้ลี้ภัยในเมืองประมาณ 5 หมื่นคนที่มาขออยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ที่มีที่ทำการในไทย แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้รับรองอยู่ในภาคีว่าด้วยผู้ลี้ภัย ทำให้ไม่มีนโยบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการรับผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยเข้ามาเพื่อยื่นขอสถานะซึ่งใช้เวลาราว 8-10 ปี เมื่อประเทศไทยไม่ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย ทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศด้วยความหวาดกลัว เป็นคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว และไม่สามารถอยู่อาศัยอย่างปกติได้

“กรณีโรฮีนจาที่ถูกขังมาแล้ว 1-2 ปีเป็นอย่างต่ำ ส่งกลับไม่ได้ ห้องกักขังคือห้องเล็กๆ ที่ให้คนเข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่ชั่วคราว สภาพไม่เหมาะกับการอยู่นานๆ การไม่มีสถานะทำให้ไม่สามารถหางานเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ แต่ประเทศไทยก็ยังมีนโยบายที่น่าสนใจ เช่น การยินยอมให้เด็กผู้ลี้ภัยสามารถเข้าเรียนต่อได้ แต่มีเด็กเข้ารับสิทธิดังกล่าวมากนัก เพราะโรงเรียนมีความเป็นห่วงในการรับดูแลเด็กกลุ่มเหล่านี้” อดิศรกล่าว

 

ศักยภาพมีแล้ว เหลือเพียงเจตนารมณ์

อดิศรมองว่าปัญหาเกิดจากทั้งสังคมไทยโดยรวมและรัฐบาล

“คนทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ลี้ภัย ต่อให้คุณเป็นชาวบ้านทั่วไป ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คุณก็อาจจะได้รับการคุกคามจากรัฐได้ โอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

อดิศรพูดต่อไปว่า ประเทศไทยมีขั้นตอนในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยดั้งเดิม 3 ขั้นตอนก็คือ

1.การส่งตัวกลับเมื่อเหตุการณ์สงบซึ่งเราก็ได้ทำกับผู้ลี้ภัยชาวจีน

2.การส่งตัวไปยังประเทศที่ 3 โอกาสนี้เริ่มหายไปเพราะชาวซีเรียและผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางมีมากขึ้น

3.การยอมรับเขาเป็นส่วนหนึ่งของไทยซึ่งเราเรียกพวกเขาว่าเป็น “คนกลุ่มน้อย”

“สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดก็คือสารทางการเมืองอย่างชัดเจน เราไม่ได้ตระหนักว่าเราก็มีศักภาพมากเพียงพอที่จะรองรับพวกเขา และผมอยากจะให้ตระหนักว่าคนในประเทศเป็นเจ้าของอำนาจ พวกเรารวมกันแสดงเจตนาอย่างชัดเจนต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้” อดิศรกล่าว

มองข้ามความเป็นชาติ เราทุกคนคือเพื่อนมนุษย์ที่ควรมีโอกาสเท่าๆ กันในการมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ มิใช่ต้องซุกซ่อนตัว ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมหรือกระทั่งต้องหนีตาย

เพราะโลกที่น่าอยู่ สร้างได้ด้วยความเข้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image