คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : สู่วิถีใหม่ โดย นฤตย์ เสกธีระ

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : สู่วิถีใหม่

ขณะนี้โลกทั้งใบพยายามปรับตัวให้เข้ากับโควิด-19

ประเทศไทยเองมีการพิจารณามาตรการผ่อนปรน

เปลี่ยนจากการใช้ “ยาแรง” คือรณรงค์ให้คนอยู่บ้าน สกัดกั้นมิให้คนสัญจรไปไหน

เปลี่ยนมาเปิดการกำหนดเงื่อนไขทางสาธารณสุข แล้วให้องค์กรธุรกิจเปิดให้บริการ

Advertisement

มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่มสีคือ ขาว เขียว เหลือง และแดง

ขาว เป็นธุรกิจที่ผู้คนจำเป็นต้องพึ่งพาในชีวิตประจำวัน

เขียว เป็นธุรกิจขนาดเล็ก สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ง่าย หรือสถานที่โปร่งโล่ง อย่างสนามกีฬา

Advertisement

เหลือง เป็นธุรกิจที่ติดเครื่องปรับอากาศ มีคนอยู่รวมกันหลายคน แต่มีมาตรการทางสาธารณสุข

แดง เป็นธุรกิจที่เสี่ยงสูง เพราะเป็นธุรกิจที่มีการรวมตัวกันมาก

อาทิ สนามมวย สถานบันเทิง เป็นต้น

ส่วนมาตรการทางสาธารณสุขที่เน้นย้ำกันตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้คงจำกันขึ้นใจแล้ว

นั่นคือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ใช้ช้อนกลางส่วนตัว รับประทานอาหารปรุงสุก

แต่ทั้งหมดนี้ภาครัฐยังห่วงว่า หากผลีผลามดำเนินการโดยไม่ระวัง

โควิด-19 อาจระบาดรอบใหม่

จึงมีข้อเสนอให้เปิดกิจการต่างๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป

เริ่มจากเปิดแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ก่อน แล้วเพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์

แล้วขยับเป็น 75 เปอร์เซ็นต์

หากทุกอย่างปลอดโปร่ง ก็เปิด 100 เปอร์เซ็นต์ในที่สุด

แต่ละขั้นควรทิ้งเวลาให้ห่างกันประมาณ 14 วัน

ตัวเลข 14 วันนี้มาจากการกักตัวดูอาการโควิด

และในระหว่างที่มีการดำเนินการ หากพบว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 คนต่อวัน

ทุกอย่างจะต้องกลับไปปิดกิจการเหมือนเดิม

ดังนั้น นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อ

ทุกภาคส่วนจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

และสถานการณ์ในปัจจุบันก็มีเรื่องของ “สาธารณสุข” เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

เพราะความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 คือความเสี่ยงของชีวิต

เป็นความเสี่ยงของธุรกิจด้วย

ชีวิตของคนในโลกนับแต่นี้ต่อไปจึงก้าวเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่”

การสั่งสมทักษะความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 จึงเป็นการปรับตัวเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่”

วันนี้จึงอยากแนะนำหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน

ชื่อว่า “COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ” เขียนโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

หนังสือเล่มนี้มีความกลมกล่อมระหว่าง “สาระ” กับ “ความเพลิน”

แม้จะเป็นหนังสือที่ตั้งใจแนะนำ “โรคอุบัติใหม่” แต่ก็นำเสนอได้อย่างง่ายต่อความเข้าใจ

เริ่มจากการปูพื้นฐานเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงโควิด-19

อ่านแล้วทำให้เข้าใจว่า โรคอุบัติใหม่นี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ

บรรพบุรุษของเราล้วนแล้วแต่ผ่านพ้นโรคระบาดเหล่านั้นมาได้

เราก็น่าจะผ่านพ้นโควิด-19 ไปได้

การทำความเข้าใจโรคอุบัติใหม่ ทำให้มองเห็นสาเหตุของการเกิดโรค

ทำให้มองเห็น “รังโรค” ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลเราเลย

เมื่อเข้าใจความเป็นมาของโรคอุบัติใหม่

และทราบว่าหลายโรคที่อุบัติใหม่ตอนนั้น ตอนนี้มีวัคซีนป้องกันได้แล้ว

จะมีก็อย่างบางโรค เช่น โรคเอดส์ ที่ยังไม่มีวัคซีน

หลังจากทราบถึงโรคอุบัติใหม่ในอดีตก็ก้าวเข้าสู่โรคโควิด-19

ก่อนจะเข้าไปถึงโรคโควิด-19 ก็ได้รับความรู้ถึงโรคที่มีลักษณะคล้ายๆ

โควิด

หนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มแรกที่เกิดโควิด-19 ขึ้นในโลก

ติดตามเหตุการณ์เป็นระยะๆ

กระทั่งในที่สุดมนุษย์ก็เริ่มสรุปอาการของโรค และกำหนดมาตรการป้องกัน

ทุกอย่างปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้

ตอนท้ายเล่มยังได้รวบรวมเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19

เผื่อไว้สำหรับใครที่ต้องการอัพเดตข้อมูลก็สามารถแวะเวียนไปอ่านได้

ส่วนใครที่ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องหาเนื้อหาเพิ่ม แค่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้รู้จัก “โควิด-19” ได้ดีแล้ว

หนังสือเล่มนี้สามารถเป็นข้อมูลที่จะนำไปปรับใช้ได้

ทั้งปรับใช้ในการใช้ชีวิต ทั้งปรับใช้ในธุรกิจ

ปรับใช้ในชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย

ไม่ติดเชื้อคนอื่น และไม่ทำให้ผู้อื่นติดไวรัสจากเรา

ปรับใช้ในธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าว่าร้านค้าหรือธุรกิจของเรานั้นปลอดภัย

การเพิ่มทักษะความรู้เกี่ยวกับโควิด ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ถูกต้อง และวิเคราะห์อนาคตได้แม่นยำ

ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้เราหลุดพ้นจาก “ความกลัว”

ทำให้สามารถก้าวขึ้นไปยืนอยู่เหนือสถานการณ์

หากสามารถยืนอยู่เหนือสถานการณ์ได้ บางทีโควิด-19 ก็กลายเป็นโอกาส

โควิด-19 อาจมอบโอกาสทองให้แก่เรา

ทำให้เราได้ลงมือทำสิ่งที่บางครั้งไม่เคยทำ ทำให้เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

กดดันให้เราต้องแสวงหารายได้เพิ่ม และยังพบว่าชีวิตนี้ยังต้องดำเนินต่อไป

ชีวิตและการงานที่ต้องดำเนินต่อไปบนวิถีทางใหม่ที่ต้องปรับตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image