อาศรมมิวสิก : โมซาร์ทกับฟรีเมสัน ดนตรีแห่งลัทธิอุดมคติในยุคแสงสว่างทางปัญญา : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

อาศรมมิวสิก : โมซาร์ทกับฟรีเมสัน ดนตรีแห่งลัทธิอุดมคติในยุคแสงสว่างทางปัญญา : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

อาศรมมิวสิก : โมซาร์ทกับฟรีเมสัน ดนตรีแห่งลัทธิอุดมคติในยุคแสงสว่างทางปัญญา : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

เรามักได้ยินคำจำกัดความ ที่พบเห็นกันได้ในวงการดนตรี, ตำราทางประวัติศาสตร์ดนตรี ที่กล่าวกันว่า ดนตรียุโรปในศตวรรษที่ 18 ที่เราเรียกกันว่า “ยุคคลาสสิก” นั้น เป็นดนตรีบริสุทธิ์ (Absolute Music) ที่มีความงาม-ความหมายที่สมบูรณ์ในตัวเอง เป็นดนตรีที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับความหมายอื่นๆ หรือความหมายรองใดๆ แบบดนตรียุคต่อมาในศตวรรษที่ 19

แต่ครั้นพอเราลองได้ศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดบ้างแล้วนั้น เราอาจจะเริ่มพบความหมายใหม่แห่งดนตรีในศตวรรษที่ 18 ที่บางครั้งเราก็แทบไม่อยากจะเรียกว่าเป็น “ดนตรีบริสุทธิ์” อีกต่อไป เพราะเอาเข้าจริงแล้วในบางด้าน, บางมิติ ดนตรีในยุคนั้นก็มิได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง, มีความหมายจำเพาะเจาะจงในบริบทของตัวมันเองล้วนๆ หากแต่ได้เชื่อมโยงเข้ากับบริบททางสังคมด้านอื่นๆ อย่างแน่นแฟ้น (บริบททางการเมืองและศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวในชีวิตของโมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) กับสมาคมฟรีเมสัน (Freemasonry) ที่อาจทำให้มุมมองของเราต่อเสียงดนตรีของเขาเปลี่ยนแปลงไปบ้างไม่มากก็น้อย

ความจริงคำว่า “แสงสว่างทางปัญญา” (Age of Enlightenment) แห่งศตวรรษที่ 18 ในยุโรปนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องต่อกันมานับร้อยๆ ปี นับแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) นับแต่ราวศตวรรษที่ 15 ที่มนุษย์หันมาเชื่อมั่นในปัญญาของตนเอง เชื่อในหลักความจริงที่ต้องพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ จนมาถึงยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) ในสมัยบาโรค (Baroque) มนุษย์ได้สะสมพลังทางปัญญานี้ส่งผ่านกันต่อเนื่องมาจนถึงจุดปะทุสูงสุดในศตวรรษที่ 18 ซึ่งหลักวิธีคิด, ความเชื่อด้วยปัญญาและเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้เท่านั้นจึงจะนำมาเป็นบทสรุป ไม่ใช่หลักความเชื่อ, คำสอน หรือจารีตใดๆ ที่ถูกอบรมสั่งสอนปลูกฝังกันมายาวนานแบบพิสูจน์ไม่ได้, ห้ามถกเถียง หรือห้ามถามหาเหตุผลใดๆ

ดังนั้น ถ้าเรามองย้อนกลับไปในสังคมยุโรปในยุคนั้น เราจะเห็นถึงความรู้แจ้ง (Enlightenment) ครั้งใหญ่ของมนุษยชาติอีกครั้ง ที่นำมาซึ่งหลักภราดรภาพ, สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของมนุษย์อันเป็นจุดกำเนิดของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นเมื่อมองในสายตาทางการเมืองแล้ว ยุคศตวรรษที่ 18 หรือที่เราเรียกกันว่า “ยุคคลาสสิก” นั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องของความเรียบร้อย, ประณีต แบบนั่งพับเพียบเรียบร้อย หากแต่มันคือยุคแห่งการระเบิดขึ้นของพลังการตื่นรู้ของความเป็นมนุษย์

Advertisement

และเมื่อมองในมุมนี้แล้ว ผนวกกับความคิดเรื่องความศรัทธาในสังคมอุดมคติสูงสุดของผู้คนในยุคนั้น อีกทั้งเรื่องราวของโมซาร์ท ผู้มีแนวคิดฝักใฝ่กับสังคมอุดมคติ (อีกทั้งสำนึกขบถอันมีอย่างสูงในตัวเอง) จนนำพาเข้าไปสู่การเป็นสมาชิกของสมาคม (ลับ) นอกศาสนาอย่าง “ฟรีเมสัน” ก็อาจทำให้แนวคิดต่อเสียงดนตรีบริสุทธิ์ใสๆ ของโมซาร์ท ต้องเปลี่ยนแปลงไป

เพราะเสียงดนตรีสดใสที่เปี่ยมด้วยพลังและมองโลกในแง่ดีนั้น แท้จริงแล้วในบางครั้งก็มีอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ไม่น้อย

ขอกล่าวย้อนไปในเชิงประวัติศาสตร์อีกสักนิดเพื่อความเข้าใจในสมาคมฟรีเมสัน (ในบางครั้งก็เรียกกันว่า “Freemasonry”) ซึ่งมีความเป็นมาย้อนไปถึงยุคกลาง (Middle Ages) ที่ในสังคมยุโรปมีสมาคมทางวิชาชีพ (Guild) ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มช่างฝีมือทั้งหลาย หนึ่งในนั้นก็คือสมาคมช่างก่อสร้าง หรือ “ฟรีเมสัน” ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้าง อาคารที่มีความสำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะ พระราชวังใหญ่โต หรือโบสถ์และมหาวิหารทั้งหลาย สมาคมจะมีความลับในทางวิชาชีพ, รหัสลับ และความลับบางอย่างเป็นการภายใน
ครั้นกาลเวลาล่วงเลยไป สมาคมวิชาชีพอื่นๆ อาจล้มหายตายจากไปกับการเวลา แต่สมาคมช่างก่อสร้างนี้กลับมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาและเติบโตไปอย่างมาก จากสมาคมที่ประกอบด้วยช่างฝีมือล้วนๆ แบบเดิม ต่อมาก็เริ่มมีการรับสมัครสมาชิกที่ไม่ใช่ช่างก่อสร้างมากขึ้นๆ มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่การก่อสร้างอาคาร, โบสถ์ หรือพระราชวังอีกไป หากแต่เป็นอุดมการณ์แห่งการสร้างโลกอันงดงามในอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ ในศตวรรษที่ 18 สมาคมฟรีเมสัน มีกิ่งก้านสาขาแตกกระจายไปมากมาย สมาชิกกลายเป็นบุคคลสำคัญๆ ในสังคม ผู้มีอำนาจ, นักการเมือง, นักปราชญ์, นักคิด, นายกรัฐมนตรี, ประธานาธิบดี หรือแม้แต่ สมาชิกสำคัญๆ ในราชวงศ์
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าสมาคมฟรีเมสัน เป็นสมาคมแห่งอุดมคติ ยึดหลักเมตตาธรรม, ความเท่าเทียมกัน หลักภราดรภาพ-ความเป็นพี่น้องที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยไม่เกี่ยงเรื่องชนชั้น, เชื้อชาติหรือความเชื่อทางศาสนาใดๆ อาจพอจะกล่าวได้ว่า หลักเมตตาธรรมสากลในจิตใจ อยู่เหนือเรื่องศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยหลักภราดรภาพ, ความเท่าเทียมกันนี้เองที่ทำให้สมาคมฟรีเมสัน ประกอบไปด้วยสมาชิกจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่อาชีพศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินที่มีความคิดอิสระสูงด้วยสำนึกขบถแบบโมซาร์ท ที่ไม่ค่อยจะลงรอยนักกับอำนาจแห่งศาสนจักรคาทอลิกในยุคนั้น จึงไม่น่าสงสัยนักว่าทำไมเขาจึงมีแนวคิดฝักใฝ่อยู่กับสมาคมฟรีเมสัน

Advertisement

นี่คือโลกอันปลอดภัย, มั่นคงในอุดมคติของเขา จากการที่โลกในสังคมจริงของเขา ณ ตอนนั้นอาจจะไม่สามารถให้ความมั่นคงทางความรู้สึกในชีวิตแก่เขาได้ (เขาเป็น “ศิลปินอิสระ” คนแรกๆ แห่งยุคสมัย)
โมซาร์ทได้เข้าเป็นสมาชิกแห่งสมาคมฟรีเมสันในเดือนธันวาคม ค.ศ.1784 ในขณะที่อายุได้ 28 ปี โดยได้รับการยอมรับเข้าสู่สมาคมที่กรุงเวียนนา (Viennese Lodge) ซึ่งในเวียนนาเองก็มีสมาคมฟรีเมสันอยู่ถึง 10 กว่าสมาคม และด้วยความที่เป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากทางศาสนา จึงถูกศาสนจักรสั่งห้ามไปตั้งแต่ในปี ค.ศ.1738 แต่ด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 (Franz Stephan) ทรงเป็นสมาชิกของสมาคมด้วยจึงใช้พระราชอำนาจสั่งให้กิจการของสมาคมดำรงสืบต่อไปได้

สมาคมที่รับโมซาร์ทเข้าเป็นสมาชิกที่กรุงเวียนนามีชื่อว่า “Zur Wohltatigkeit” (หรือ “Benevolence” ในภาษาอังกฤษ)

สมาชิกแห่งสมาคมฟรีเมสัน โดยทั่วไปจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ โมซาร์ทเข้าเป็นสมาชิกแรกเริ่มในฐานะ “The Entered Apprentice Degree” และก็มีความก้าวหน้าในสมาคมอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียงเดือนเดียวเขาก็ได้รับการเลื่อนสถานะขึ้นเป็นระดับขั้น “The Fellow Craft Degree”

และหลังจากนั้นเพียงอีกไม่กี่สัปดาห์ โมซาร์ทก็ได้รับการเลื่อนชั้นสู่ขั้นสูงสุด นั่นคือระดับปรมาจารย์ที่เรียกกันว่า “Master Mason” ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1785 โมซาร์ทยังได้ชักชวนเพื่อนอาวุโสนักแต่งเพลงคนสำคัญอีกคนหนึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมฟรีเมสันอีกด้วย นั่นคือ “ฟรันซ์ โยเซฟ ไฮเดิน” (Franz Joseph Haydn) ถัดมาอีกเดือนเดียว บิดาของเขาเองคือ “เลโอโปลด์ โมซาร์ท” (Leopold Mozart) ก็เข้าเป็นสมาชิกของฟรีเมสันตามมาอีกคนหนึ่ง จากการส่งเสริมสนับสนุนจากลูกชาย และก็ได้รับการเลื่อนขั้นสู่ระดับ “ปรมาจารย์” (Master Mason) อย่างรวดเร็ว จนชวนให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดในทำนองที่ว่าเมื่อการเป็นดั่งนี้แล้ว เบโธเฟนก็ “น่าจะ” เป็นสมาชิกของฟรีเมสันด้วยเช่นกัน

แม้ว่าฟรีเมสัน จะเป็นองค์กรแห่งภราดรภาพ, อุดมคติ มุ่งสู่การสร้างผู้คน-สมาชิกที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมสากลโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ, ศาสนาใดๆ (ด้วยเหตุนี้เองจึงถูกเรียกขานอย่างไม่ค่อยจะรื่นหูนักว่า “องค์กรนอกศาสนา”) แต่ฟรีเมสันก็มี ระเบียบ-พิธีกรรม ในแบบเดียวกับพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะบททดสอบหรือพิธีกรรมรับแรกเข้า ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ มีแนวคิดที่สืบทอดมานับแต่ครั้งโบราณในยุคกรีก

ในภาพเขียนสีน้ำมันอันมีชื่อเสียงในปี ค.ศ.1789 ซึ่งแสดงให้เห็นพิธีกรรมในการประชุมสมาคมในสมัยที่โมซาร์ทยังมีชีวิตอยู่ ได้วาดภาพโมซาร์ทนั่งอยู่มุมขวาสุดของภาพกำลังซุบซิบอยู่กับ “เอมานูเอล ชิคาเน
เดอร์” (Emanuel Schikaneder) ผู้เขียนบทอุปรากรเรื่อง “ขลุ่ยกายสิทธิ์” (The Magic Flute) ซึ่งอุปรากรเรื่องนี้คือ อุปรากรที่แสดงสัญลักษณ์ถึงสมาคมฟรีเมสันอย่างชัดแจ้ง ทั้งเรื่องของโลกพิธีกรรมอันลึกลับ, วิหารแห่งความดี, การทดสอบขันติแห่งความเป็นมนุษย์ และการต่อสู้ระหว่างโลกแห่งความมืดมิดกับโลกแห่งแสงสว่างทางปัญญา (ปัญญาคือความรู้แจ้ง)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คู่หูโมซาร์ทในการเขียนบทอุปรากรเรื่องนี้ก็คือหนึ่งในสมาชิกสมาคมฟรีเมสันด้วยแน่นอน

ดังที่กล่าวแล้วว่า แม้ว่าฟรีเมสันจะเป็นองค์กรที่ไม่ผูกพันใดๆ กับศาสนาใดๆ ในโลก หากแต่มุ่งเน้นไปที่ความรักกันฉันพี่น้องของมนุษย์ทั้งโลก (เอ………แบบนี้ท่อนสุดท้ายจากซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟนจะเป็นงานดนตรีแห่งแนวคิดฟรีเมสันหรือไม่หนอ?) แต่สมาคมก็มีพิธีกรรม ซึ่งมีเสียงดนตรีอันเปรียบเสมือนศูนย์กลางในพิธีกรรมไม่แตกต่างไปจากศาสนจักร และดนตรีในชาวฟรีเมสันก็เต็มไปด้วยรหัส-ความเชื่อต่างๆ ที่ผูกโยงในเชิงสัญลักษณ์มากมาย เช่น เลข 3 ที่ถือเป็นเลขสำคัญที่สุด, เครื่องหมายต่ำครึ่งเสียงหรือ “แฟลต” (Flat) ทางดนตรี, พยัญชนะตัว B ที่เชื่อมโยงกับมหาวิหารแห่งกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) อาคารอุดมคติแห่งมนุษยชาติ, พยัญชนะตัว G และสัญลักษณ์อื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อเป็นดังนี้ ดนตรีแห่งชาวฟรีเมสัน จึงประพันธ์ในบันไดเสียงเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ของพวกเขา อาทิ บันไดเสียงที่มี 3 แฟลต (บันไดเสียง อี แฟลตเมเจอร์) ซึ่งถือเป็นบันไดเสียงพื้นฐาน และบันไดเสียงเครือญาติ (Relation) ที่มี 3 แฟลต เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ C ไมเนอร์ อันหม่นหมองที่แสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความตาย ในขณะที่บันไดเสียง ซีเมเจอร์ (C Major) ที่เป็นบันไดเสียงที่ปราศจากเครื่องหมายตั้งบันไดเสียงใดๆ ถือเป็นบันไดเสียงอันบริสุทธิ์ เป็นเสมือนตัวแทนของการเกิดใหม่ (Resurrection) ของบุรุษแห่งภูมิธรรม (Enlightened Man) ที่พัฒนาตนเองไปจนสู่ระดับปรมาจารย์ (Master Mason)

และหลังจากโมซาร์ทเข้าไปสู่สมาคมฟรีเมสันแล้ว เขายังได้ขยายความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางดนตรีให้มีความหมายกว้างขึ้นไปอีก อาทิ บันไดเสียง 1 แฟลต (คีย์ F เมเจอร์สำหรับสมาชิกแรกเข้า), บันไดเสียง 2 แฟลต (คีย์ บีแฟลตเมเจอร์สำหรับระดับชั้นที่สองหรือ “Fellow Craft”) อีกทั้งสัญลักษณ์ 3 ชาร์ป อันตรงกับบันไดเสียงเอ เมเจอร์ ในผลงานชิ้นท้ายๆ ในชีวิต เช่น คลาริเน็ตคอนแชร์โต (K.622) และคลาริเน็ตควินเต็ท (K.581) ต่างก็เคยเป็นดนตรีที่ใช้บรรเลงกันในการประชุมสมาคม และปิดท้ายด้วย ซิมโฟนี 3 บทสุดท้ายในชีวิตของโมซาร์ท หมายเลข 39 ในบันไดเสียง อีแฟลตเมเจอร์ (เครื่องหมาย 3 แฟลต), ซิมโฟนีหมายเลข 40 ในบันไดเสียง จี ไมเนอร์ (พยัญชนะตัว G) และบทสุดท้ายซิมโฟนีหมายเลข 41 ในบันไดเสียง ซี เมเจอร์ (C Major= บันไดเสียงบริสุทธ์ไม่มีเครื่องหมายแฟลต, ชาร์ปใดๆ สัญลักษณ์แห่งการกำเนิดใหม่ของบุรุษแห่งภูมิธรรม!)

ความจริงมีข้อมูลเรื่องเพลงของโมซาร์ทที่แต่งให้กับสมาคมอีกมากมาย ซึ่งในแต่ละเพลงก็จะมีวิธีการกำหนดบันไดเสียงเชิงสัญลักษณ์ที่ผูกพันกับแนวคิด-ความเชื่อทางพยัญชนะ, ตัวเลขของสมาคมอีกมากมาย แต่ถ้ายังพล่ามต่อไปอีก เห็นที่จะเป็นบทความที่อ่านไม่สนุกเสียแล้ว แค่นี้ก็รู้สึกว่าชักจะหนักข้อมูลเฉพาะมากเกินไป

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าโมซาร์ท มีลักษณะเป็นเด็กแนว, เด็กหัวดื้อต่อบริบททางสังคมในยุคนั้น จนเป็นที่อิดหนาระอาใจต่อท่านอาร์กบิชอป เจ้าเมืองซอลส์บวร์ก (Salzburg) บ้านเกิดของเขา อีกทั้งศาสนจักรคาทอลิกที่ดูจะไม่ปลื้มในนิสัยขบถ, หัวดื้อของเขาเอาเสียเลย

สมาคมฟรีเมสันแห่งอุดมคตินี้เองที่เปรียบเสมือนสังคมอุดมคติที่อยู่นอกเหนือจากการแบ่งแยกชนชั้น, การถือเนื้อ-ถือตัว, ถือเขา-ถือเรา และเป็นโลกสดใสใบเล็กๆ อันเป็นที่พำนักแห่งจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์สดใสของเขา โลกอันเป็นที่พักพิงจากความอาภัพในบางด้านต่อชีวิตในโลกกว้างแห่งความเป็นจริง มีบทเพลงที่เขาประพันธ์เป็นการเฉพาะให้กับสมาคมมากมาย ซึ่งต่อจากนี้ไปหากเราได้ฟังเสียงเพลงเหล่านี้ รวมไปถึงบทเพลงในบันไดเสียงเชิงสัญลักษณ์ทั้งหลายของเขา คงอาจจะทำให้เราต้องมานั่งเรียบเรียงตีความทางความรู้สึกกันใหม่เสียแล้ว

เพราะบางที “ดนตรีบริสุทธิ์” มันก็มิได้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image