ปรางค์นางผมหอม [อ. ชัยบาดาล จ. ลพบุรี] เชื่อมวัฒนธรรมขอม อีสาน-ลพบุรี-สุโขทัย

ปรางค์นางผมหอม (บ้านโคกคลี ต. หนองรี อ. ชัยบาดาล จ. ลพบุรี) มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-17 (พ.ศ. 1500-1600) เป็นปรางค์องค์เดียวโดดๆ ก่อด้วยอิฐ สอด้วยดิน ปัจจุบันยอดหัก

มีประตูทางเข้า กรอบประตูทำด้วยหินทราย ชาวบ้านเล่าว่ามีศิลาทับหลังแกะสลักเป็นรูปคนกับม้าสวยงามแต่ได้ถูกโจรกรรมไป

มีนิทานนางผมหอมซึ่งเป็นนิทานที่คนท้องถิ่นเล่าสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน

เทคนิคการก่อสร้างปรางค์นางผมหอม คล้ายกับปรางค์ในเขตภาคอีสาน เช่น ปราสาทศรีขรภูมิ (จ. สุรินทร์), ปราสาทเมืองต่ำ (จ. บุรีรัมย์)

Advertisement

หากขึ้นไปทางเหนือก็จะมีเทคนิคอย่างเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง เมืองศรีเทพ (จ. เพชรบูรณ์), ปรางค์เขาปู่จ่า ปรางค์ก่ออิฐที่เก่าที่สุดของเมืองสุโขทัย (อ. คีรีมาศ จ. สุโขทัย)

เชื่อมวัฒนธรรมขอมอีสานกับภาคกลาง

ปรางค์นางผมหอมเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนเส้นทางโบราณที่สำคัญ แสดงถึงการแผ่ขยายอำนาจทางสังคมวัฒนธรรมจากอีสาน ลงมาสู่ลพบุรี โดยผ่านทางเขาพังเหย (เทือกเขาเพชรบูรณ์)

จากปรางค์นางผมหอมมีเส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองโบราณภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือลำน้ำเค็ม เขต อ. เทพสถิต จ. ชัยภูมิ และแยกไปทางใต้เรียกว่า ลำกูด เขต อ. ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับปราสาทหินพิมายได้

Advertisement

อีกด้านหนึ่งเป็นเส้นทางไปทางภาคเหนือมีหลักฐานว่าน่าจะเชื่อมโยงกับปรางค์สองพี่น้องเมืองโบราณศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ และขึ้นไปที่สุโขทัย โดยมีปรางค์ปู่จ่า ที่ตั้งอยู่ในที่ราบเชิงเขาประทักษ์บ้านนาเชิงคีรี อ. คีรีมาศ จ. สุโขทัย

ปรางค์นางผมหอม เป็นปรางค์ก่ออิฐ กรอบประตูใช้หินทรายเลียนแบบเครื่องไม้ มีลักษณะคล้ายกับปรางค์ที่เมืองศรีเทพ ปราสาทเมืองต่ำ และปรางค์ปู่จ่า ที่ ต. นางเชิงคีรี อ. คีรีมาศ จ. สุโขทัย

ปรางค์ก่ออิฐ เขาปู่จ่า
(ซ้าย) ปรางค์ก่ออิฐ เขาปู่จ่า ลักษณะองค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีขนาดใหญ่เมื่อตรวจสอบดูเนื้ออิฐแล้วพบว่าส่วนผสมมีทรายค่อนข้างมาก แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายกับปรางค์ก่ออิฐที่พบในภาคอีสานทั่วไป (บน) ความเชื่อตามนิทานพื้นบ้านเรื่องนางผมหอม มีการนำหุ่นผู้หญิง และชุดไทยมาบวงสรวงบูชาในองค์ปรางค์ (ล่าง) ช่องเขาขาดหรือช่องเขาสะพานหิน : เส้นทางเดินเท้าสมัยโบราณ จากภาคอีสานสู่ภาคกลาง

โบราณสถานแห่งนี้ถูกทอดทิ้งเป็นเวลานาน ทับหลังถูกโจรกรรมและมีการลักลอบขุดค้นหาโบราณวัตถุ ทำให้ฐานปรางค์ทรุดเอียงผนังแตกร้าว

โครงการบูรณะโบราณสถานลพบุรี (ในขณะนั้น พ.ศ. 2530) จึงได้สำรวจ จัดทำรูปแบบแผนผังโบราณสถานปรางค์นางผมหอม เพื่อขุดแต่งบูรณะพร้อมขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาพัฒนาการชุมชนในแหล่งโบราณคดีปรางค์นางผมหอม

ในการสำรวจก่อนการขุดค้นที่เส้นทางโบราณบริเวณบ้านโป่งหีบกับช่องเขาขาด บริเวณเทือกเขาพังเหย หรือช่องเขาสะพานหิน พบโบราณวัตถุบนผิวดิน มีรูปแบบและลักษณะเช่นเดียวกับที่พบในเมืองพิมายที่บริเวณปรางค์นางผมหอมด้วย ซึ่งทำให้มีเหตุผลว่ามีการใช้เส้นทางดังกล่าวในการติดต่อกันจากภาคอีสานเข้าสู่ภาคกลางและสร้างศาสนสถานตามจุดพักในเส้นทาง และมีการขยายตัวเป็นชุมชนขึ้นมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image