สุจิตต์ วงษ์เทศ : บรรพชนคนไทย จากอีสาน ลงภาคกลาง

คนและวัฒนธรรมจากลุ่มน้ำมูล-ลุ่มน้ำโขง (ที่ราบสูงในอีสานและลาว) เคลื่อนย้ายไปมาลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้ว

สืบเป็นบรรพชนคนไทย และวัฒนธรรมไทยทุกวันนี้

พระปรางค์ในยุคอยุธยา ก็รับต้นแบบจากปราสาทต่างๆ ทางลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1500

เส้นทางโบราณจากลุ่มน้ำมูล (ที่ราบสูงภาคอีสาน) ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ที่ราบลุ่มภาคกลาง) ผมตระเวนสำรวจไว้เมื่อคราวที่ คุณขรรค์ชัย บุนปาน บอกให้เขียนหนังสือเล่มที่ชื่อโคราชของเรา (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558)

Advertisement

จากลุ่มน้ำมูล มีเส้นทางลงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่าน อ. ด่านขุนทด (นครราชสีมา) แล้วผ่านดงพญากลาง เมืองบัวชุม (ต. บัวชุม อ. ชัยบาดาล จ. ลพบุรี), ฯลฯ

มีพรรณนาไว้ในนิราศหนองคาย ของ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่งสมัย ร.5 เมื่อขากลับกรุงเทพฯ ยกทัพจากเมืองนครราชสีมา ผ่านเมืองเสมาที่สูงเนิน (อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา)

ในทางกลับกันมีเส้นทางจากที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขึ้นที่ราบสูงโคราช ผ่าน อ. ด่านขุนทด พบหลักฐานในหนังสือนิราศทัพเวียงจันท์ (ของ หม่อมเจ้าทับ ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์) ยกทัพจากกรุงเทพฯ ไปตีเวียงจัน พ.ศ. 2369 สมัย ร.3

Advertisement

พรรณนาเส้นทางจากพระพุทธบาท เมืองสระบุรี ไปทางเมืองลพบุรี ข้ามแม่น้ำป่าสัก ผ่านเมืองชัยบาดาล (อ. ชัยบาดาล จ. ลพบุรี) ผ่านลำพญากลาง, เขาพังเหย, บึงมะเลิง, ด่านขุนทด, เมืองเสมา เข้าสู่นครราชสีมา

ถ้าพิจารณากันถึงที่สุดแล้ว คนที่ราบสูง กับคนที่ราบลุ่ม (ไทย, ลาว, กัมพูชา) ล้วนเป็นเครือญาติเดียวกันทั้งทางชาติพันธุ์และชาติภาษา

ผมเคยเขียนเชื่อมโยงรายละเอียดไว้ในคำนำเสนอหนังสือ เมืองพระนคร นครวัด นครธม (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2556)

แต่โบราณคดีในไทย ให้ความสำคัญประวัติศาสตร์ศิลปะ กับประวัติศาสตร์สงคราม เลยไม่รู้จักจึงไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์สังคมที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์และชาติภาษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image