อาศรมมิวสิก โดย สุกรี เจริญสุข : เพลงชาติฉบับประชาชน บรรเลงโดยวงเอ็ดตะโรโฟนี เพื่อรำลึกพระเจนดุริยางค์ 137 ปี

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังหาช่องทางเรื่องการศึกษาออนไลน์ว่าจะทำกันอย่างไร ครูแก่ๆ ใช้โทรศัพท์ได้ เล่นไลน์ถ่ายรูปเป็น ครูเก่าๆ ก็มุ่งทำผลงานเตรียมตัวพัฒนาตนเองและทำเรื่องกู้เงิน ส่วนครูใหม่ยังไม่ได้บรรจุ เป็นแค่ครูผู้ช่วย ครูจึงเปิดโทรทัศน์ทางไกลให้เด็กนั่งดูเป็นกลุ่มในห้อง เพื่อครูจะได้ทำงานอย่างอื่น วันนี้ครูในโรงเรียนต้องสอนออนไลน์ บางโรงเรียนอยู่ห่างไกลยังไม่มีไฟฟ้า ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ นึกไม่ออกว่าโรงเรียนจะจัดการศึกษาออนไลน์อย่างไร
ทำไมความรู้ไม่อยู่ในชุมชน ทำไมโรงเรียนไม่ใช้ความรู้ในชุมชนสอนเด็ก ทำไมครูไม่สอนวิชาทำมาหากิน ทำไมความรู้ต้องเดินทางไกล ทำไมความรู้ที่อยู่รอบตัวเด็กไม่เป็นความรู้ที่ใช้เรียน ความรู้ที่ต้องเดินทางไกลเป็นความรู้วิเศษ เพราะทุกคนไม่รู้ ครูก็ไม่รู้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่รู้ เด็กก็ไม่รู้ ทำไมกระทรวงศึกษาจึงให้เด็กเรียนในสิ่งที่ทุกคนไม่รู้
วิกฤตครั้งนี้ทำให้เห็นความแตกต่างของสังคม เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงความรู้ การเข้าถึงความเจริญ การเข้าถึงเทคโนโลยีของการศึกษาชาติ ปรัชญาของการศึกษาชาติ ทำให้เด็กโง่อย่างมีหลักการ โง่อย่างเป็นระบบ และนโยบายการศึกษาทำให้เด็กในชุมชนอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ก็อยากช่วยเด็กไทย ต้องการใช้เพลงชาติให้เด็กไทยได้ร้องได้เล่น หวังว่าเด็กไทยจะรู้สึกรักชาติมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้นเมื่อได้ร้องเพลงชาติจบเพลง เด็กทุกคนได้สัมผัสและซึมซาบความเป็นชาติผ่านการร้องเพลงชาติ ใช้พลังเสียง พลังความรักชาติ และพลังของเพลงชาติ อาจช่วยให้เด็กมีความหวัง มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเด็กในชนบทจะมีกำลังภายในและมีพลังมากขึ้น
ปลายปี พ.ศ.2474 คณะผู้ก่อการได้มอบหมายให้ น.ต. หลวงนิเทศกลกิจ ร.น. (กลาง โรจนเสนา) ซึ่งเป็นเพื่อนรักของพระเจนดุริยางค์ ได้ทาบทามให้พระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติฉบับประชาชน เพื่อเตรียมให้ประชาชนทุกคนได้ร้องเพลงชาติ เพื่อให้มีกำลังและมีพลังความรักชาติ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
เพื่อรำลึกถึงพระเจนดุุริยางค์ อายุ 137 ปี จึงได้หารือกับ พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์ ให้เรียบเรียงเสียงเพลงชาติฉบับของพระเจนดุริยางค์ พ.ศ.2475 บรรเลงโดยวงเอ็ดตะโรโฟนี หมายถึงวงดนตรีทุกชนิดสามารถบรรเลงเพลงชาติได้ เพื่อให้เด็กไทยและโรงเรียนไทยทั้งประเทศจะได้โน้ตเพลงกับเสียงที่มาตรฐาน เป็นต้นฉบับ เพื่อใช้สอนเด็กให้ได้ขับร้องและเล่นเพลงชาติได้
เอ็ดตะโร แปลว่า อื้ออึง คำว่า โฟนี (phony) แปลว่า เสียง พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นนักเรียบเรียงเสียงชั้นนำของไทย ได้ยินแล้วถึงกับอึ้ง กระทั่งหัวเราะเสียงดังเมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ ความต้องการคือให้เด็กไทยทุกคนได้เล่นและได้ร้องเพลงชาติ ตามความสามารถและความถนัด เพื่อให้เพลงชาติเป็นเพลงของประชาชนโดยแท้ ในระหว่างที่โรคโควิดยังระบาดอยู่ คนต้องอยู่บ้าน หากยังหาเพลงอะไรร้องปลอบใจไม่ได้ ก็ใช้ร้องเพลงชาติแทน เมื่อรู้สึกเหงาใจ ระหว่างล้างมือก็ผิวปากเพลงชาติได้ ซึ่งยาวแค่ 46 วินาที
โรคระบาดทำให้คนป่วยและคนตายจำนวนมาก คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ตกใจอกสั่นขวัญหาย หลายคนดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ชีวิตคิดไม่ออกก็ฆ่าตัวตายอย่างอนาถ การร้องเพลงชาติก็อาจทำให้หยุดคิดชั่วคราว รู้สึกอบอุ่นขึ้น ยามที่คนต้องการกำลังใจ คนเคยทะเลาะกัน สังคมเกิดความแตกแยก แบ่งชนชั้น คนรวยคนจน แบ่งกันเป็นสี แบ่งเป็นฝ่าย แบ่งเป็นข้าง แบ่งเป็นพวก หากแต่ละคนได้มีโอกาสร้องเพลงชาติให้จบเพลงด้วยตัวเอง ได้ร้องเพลงชาติด้วย
เสียงดังๆ เพื่อคลายความเครียด สลัดความเกลียดชัง ขจัดความกลัว ช่วยกระตุ้นความกล้าหาญ ซึ่งอาจจะเกิดมิติใหม่ในหัวใจขึ้น เกิดความรักตัวเอง รักชาติขึ้นมาได้
เพลงชาติอาจช่วยให้คนหันหน้าเข้าหากันและรักกันได้ มอบน้ำใจให้แก่กัน ส่งรอยยิ้มให้กัน เพลงชาติจะเติมความรักชาติขึ้น ขจัดการแบ่งขั้ว ไม่เลือกสี ไม่มีชนชั้น ทุกคนเป็นชาติเดียวกัน โควิดกับเพลงชาติ อาจจะทำให้คนไทยก้าวข้ามวิกฤต ก้าวข้ามความแตกแยก กลายเป็นหนึ่งเดียวก็ได้ เมื่อทุกคนได้ร้องเพลงชาติอย่างเต็มเสียงและมั่นใจ สังคมก็จะมีพลังอย่างมหาศาลจากเพลงชาติ

เด็กทุกคนในวัยเรียนทั่วประเทศต้องร้องเพลงชาติหน้าเสาธง โรงเรียนต้องสอนเด็กให้ร้องเพลงชาติ แต่เพลงชาติที่เด็กร้องหน้าเสาธงแต่ละโรงเรียน ฟังแล้วรู้สึกว่าเพลงชาติระส่ำระสายหดหู่ เป็นเพลงที่ขี้เหร่ หรือครูที่สอนเพลงชาติไม่ตั้งใจ ทำไปตามหน้าที่ ฟังแล้วอยากร้องไห้ อยากให้เพลงชาติจบลงเร็วๆ คนร้องเศร้า คนฟังยิ่งเศร้าใหญ่ หรือความรักชาติของเด็กน้อยลง เนื้อที่ร้องฟังไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร จังหวะก็ไม่ถูก จบเพลงแล้วฟังทำนองไม่ออก ซึ่งก็ไม่มีใครเดือดร้อนหรือใส่ใจกับการร้องเพลงชาติของเด็กหน้าเสาธง
ครูไม่มีโน้ตเพลงชาติให้เด็ก ครูไม่มีต้นแบบ ครูไม่มีอุปกรณ์ในการสอนเพลงชาติ ครูไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องร้องเพลงชาติ ซึ่งเพลงชาติฉบับประชาชนที่ได้ทำขึ้นครั้งนี้ เพื่อมอบให้นักเรียนทุกคน มอบให้ครูดนตรี และให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งโน้ตเพลงและเสียงร้องต้นแบบ ฉบับของพระเจนดุริยางค์
การเรียบเรียงเสียงประสานเพลงชาติฉบับนี้ สามารถใช้กับแตรวง วงโยธวาทิต วงดนตรีขนาดเล็ก วงเครื่องสาย 4-5 ชิ้น วงเครื่องสายฝรั่งขนาดใหญ่ หรือใช้วงดนตรีไทย วงดนตรีพื้นบ้านก็ได้ ใช้วงขับร้องประสานเสียง 1-4 แนวก็ได้ โดยใช้เปียโนหรือกีตาร์ในการเล่นประกอบ สรุปว่าเป็นเพลงชาติที่เรียบเรียงสำหรับวงดนตรีทุกชนิด เหมาะกับเครื่องดนตรีทุกประเภท ที่สำคัญก็คือ มีเสียงร้องต้นแบบให้ ทั้งนี้ เพื่อให้เพลงชาติเป็นของทุกคน ทุกหมู่เหล่า และทุกเผ่าพันธุ์
มีคนตั้งคำถามว่า “เราเล่นเพลงชาติหรือร้องเพลงชาติได้ด้วยหรือ”
เพลงชาติเป็นของคนไทยทุกคน เด็กไทยและคนไทยจะต้องร้องเพลงชาติด้วยความภาคภูมิใจ การร้องเพลงชาติให้ถูกต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน การร้องเพลงชาติเป็นสิ่งที่ดี เป็นการทำความดีเพื่อชาติโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ทุกคนสามารถทำความดีได้เลย การร้องเพลงชาติในห้องน้ำ ผิวปากเพลงชาติเมื่อล้างมือ เราก็ไม่ต้องขออนุญาตใคร เมื่อเพลงชาติเป็นของทุกคน คนไทยทุกคนไม่ควรร้องเพลงชาติผิดๆ
เพลงชาติฉบับนี้ได้มาตรฐานหรือไม่
มาตรฐาน แปลว่า พื้นๆ ดาดๆ มีอยู่ทั่วไป ทุกคนสามารถเข้าถึงความถูกต้องได้ มาตรฐานคือความถูกต้อง ควรเป็นเสียงส่วนมากของประเทศ มาตรฐานเพลงชาติคือคนในชาติร้องเพลงชาติได้ถูกต้องไพเราะ
เพลงชาติฉบับนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อให้คนไทยทั้งชาติได้ร้องเพลงชาติให้ถูกต้อง เพลงชาติไม่ได้สูงสุดสอยหรือไกลเกินเอื้อม เพลงชาติทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ร้องได้และเล่นได้ เพลงชาติจะดังกระหึ่มในหัวใจคนทั้งประเทศ ครูดนตรี นักเรียนทุกโรงเรียน สามารถดูด (download) เพลงชาติฉบับเต็ม (score) ทั้งแนวเครื่องดนตรีและแนวขับร้อง เพื่อให้เด็กได้เล่นในวงดนตรีของโรงเรียน โดยไม่มีลิขสิทธิ์
เพลงชาติฉบับนี้ ตั้งเสียงมาตรฐาน (A = 442) ความเร็ว (ตัวดำ = 100 เคาะ) บรรเลงเสียงออนไลน์ ให้คนไทยทุกคนที่อยากเล่นเพลงชาติ ร้องเพลงชาติ มีโน้ตเพลงชาติทุกแนว ทั้งแนวเครื่องดนตรี แนวร้องทุกเสียง (โซปราโน อัลโต เทเนอร์ เบส) และโน้ตรวมวง จะเลือกเสียงไหนทางไหนก็เลือกได้ จะฝึกร้องในห้องน้ำส่วนตัวจนมีความชำนาญ ให้เทียบเสียงกับดนตรีที่เป็นต้นฉบับ แล้วเล่นหรือร้องทางของตัวเองจนจบเพลง หากฟังแล้วยังไม่พอใจ ไม่ไพเราะ สามารถบันทึกเสียงใหม่ได้ บันทึกจนพอใจแล้ว จึงส่งเพลงชาติฉบับที่เล่นหรือร้องให้แก่คณะทำงาน เพื่อนำไปผสมเสียงให้เป็นฉบับประชาชนต่อไป
ทีเด็ดของเพลงชาติอยู่ที่เสียงสูง (โซปราโน) ท่อนเบาและท่อนท้าย “ไทยนี้รักสงบ … สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี” เป็นจุดสุดยอดของเพลง โดยนักร้อง (เด็กผู้ชาย) เสียงสูง ต้องร้องให้ถูกต้องตามที่พระเจนดุริยางค์เขียนไว้ เพราะเป็นจุดที่ทำให้ผู้ฟังทั้งประเทศขนลุก ฟังแล้วมีความประทับใจ ภูมิใจในความเป็นชาติ ฟังแล้วรู้สึกว่าชาติเข้มแข็ง ภูมิใจในชาติ และมีความสง่างาม
อานิสงส์ในการทำเพลงชาติครั้งนี้ คือการเรียนดนตรีออนไลน์ สิ่งที่ก้าวหน้าไปมากกว่านั้นคือการบรรเลงและบันทึกเสียงออนไลน์ ซึ่งการเปิดโอกาสให้เด็กไทยทั่วประเทศได้ร่วมร้องเพลงชาติและเล่นเพลงชาติบันทึกเสียง ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของเพลงชาติ สามารถที่จะร้องเพลงชาติได้ถูกต้อง โดยที่คนไทยทุกคนเป็นหุ้นส่วน ใช้เพลงชาติในการสร้างชาติให้มีพลัง

พระเจนดุริยางค์ (พ.ศ.2426-2511) ผู้ประพันธ์เพลงชาติ เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ่อเป็นชาวเยอรมัน แม่เป็นมอญ มีพี่ชาย 2 คน เป็นนักดนตรี พ่อได้สั่งเสียไว้กับพระเจนดุริยางค์ว่า “ไม่ให้ยึดถือและอาศัยวิชาดนตรี ซึ่งท่านได้ให้ไว้นั้นเป็นอาชีพเป็นอันขาด” โดยบิดาท่านให้เหตุผลว่า “คนไทยเรานั้นไม่ใคร่สนใจในศิลปะการดนตรีเท่าใดนัก ชอบทำกันเล่นๆ สนุกๆ ไปชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็ทอดทิ้งไป”
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ขุนเจนรถรัฐ ถูกย้ายจากกรมรถไฟหลวง ให้ไปทำงานที่กรมมหรสพ โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลวงเครื่องสายฝรั่งหลวง เมื่อปี พ.ศ.2460 กระทั่งได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นหัวหน้าวงเครื่องสายฝรั่งหลวง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระเจนดุริยางค์ ซึ่งเป็นวงซิมโฟนีออเคสตราวงแรกของสยาม
พระเจนดุริยางค์เป็นคนอาภัพ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกขัดแข้งขัดขา เนื่องจากเป็นคนที่เก่ง หลวงวิจิตร
วาทการบันทึกไว้ว่า “ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” อายุ 49 ปี เมื่อประพันธ์เพลงชาติเสร็จก็ต้องโทษถูกลดเงินเดือนให้เหลือครึ่งหนึ่ง (เงินเดือน 500 บาท เหลือ 250 บาท) บั้นปลายชีวิตราชการ อายุ 56 ปี ถูกย้ายจากกรมศิลปากร ไปทำงานอยู่ที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ ความจริงโชคดีมากกว่าที่พระเจนดุริยางค์ได้โอกาสทำงานดนตรีเต็มกำลัง โดยการสนับสนุนจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์
พระเจนดุริยางค์ได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ (พระเจ้าช้างเผือก บ้านไร่นาเรา) เปิดโรงเรียนสอนดนตรี เพื่อผลิตนักดนตรีและผลิตตำราดนตรีที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ พระเจนดุริยางค์ได้วางรากฐานให้วงการดนตรีสากล ได้สร้างนักดนตรี มีนักประพันธ์เพลงเกิดขึ้นจำนวนมาก ศิษย์ทุกคนมีความภูมิใจที่ได้ชื่อว่า “เป็นศิษย์พระเจน” ซึ่งถือเป็นประกาศนียบัตรที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของลูกศิษย์นักดนตรี
เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ได้ผ่านมรสุมที่มีการเสนอให้เปลี่ยนเพลงชาติมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2475 พ.ศ.2476 พ.ศ.2482 และ พ.ศ.2528 ด้วยเหตุผลที่หลากหลายและแตกต่างกัน วันนี้ เพลงชาติไทยนิ่งและลงตัว ถึงเวลาที่จะพัฒนาเพลงชาติให้เด็กไทยได้เล่นให้ถูกต้องและร้องเพลงชาติได้ทุกคน คนไทยควรได้ร้องเพลงชาติดังๆ ร้องได้อย่างมั่นใจ ร้องเพลงชาติมาจากใจ เมื่อรัฐบาลเปิดประเทศหลังโรคโควิด คนไทยควรเริ่มต้นวิถีชีวิตใหม่ ด้วยการร้องเพลงชาติให้ไพเราะกระหึ่มทั้งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image