อาศรมมิวสิก : สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินนานาชาติวาดเสียงดนตรี : โดย สุกรี เจริญสุข

: โดย สุกรี เตริญสุข ผมได้รู้จักและทำงานร่วมกับศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง มานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ทั้งที่อยู่กันคนละโลก เป็นผู้รักงานศิลปะทั้งชีวิตจิตใจ ได้จูงใจให้ผมรักศิลปะเข้าไปด้วย ดูรุงรังแต่เป็นคนที่รักความสะอาด รักสวยรักงาม เป็นคนที่มีเพื่อนมาก มีอุปนิสัยใจคอเป็นคนใจกว้าง สนุกสนานร่าเริง มีเสน่ห์ ใจเย็น มีอารมณ์

อาศรมมิวสิก : สุชาติ วงษ์ทอง
ศิลปินนานาชาติวาดเสียงดนตรี : โดย สุกรี เจริญสุข

ผมได้รู้จักและทำงานร่วมกับศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง มานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ทั้งที่อยู่กันคนละโลก เป็นผู้รักงานศิลปะทั้งชีวิตจิตใจ ได้จูงใจให้ผมรักศิลปะเข้าไปด้วย ดูรุงรังแต่เป็นคนที่รักความสะอาด รักสวยรักงาม เป็นคนที่มีเพื่อนมาก มีอุปนิสัยใจคอเป็นคนใจกว้าง สนุกสนานร่าเริง มีเสน่ห์ ใจเย็น มีอารมณ์ขัน ใจถึงพึ่งได้ พูดคำไหนคำนั้น ไม่กลับไปกลับมา เมื่อรับปากแล้วไว้วางใจได้ มีหัวใจเป็นเสรีชน ไม่ชอบกฎกติกา จะรำคาญคนเรื่องมาก ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นคนที่ไม่ขี้เหนียว ทำงานให้สาธารณดูก่อน (เปิดในแท็บใหม่)กุศล ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ค่อยจะมี เป็นคนมีรสนิยมสูง ใช้ศิลปะดำรงชีวิต สร้างรสนิยมที่ดี เป็นที่รักของทุกคน ที่สำคัญคือเขาเป็นคนรักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่า สุชาติ วงษ์ทอง เกลียดคนเป็นอย่างไร

ที่เรียกว่าศิลปินนานาชาติ มีความหมายว่า เป็นศิลปินที่นานาชาติให้การยกย่องและยอมรับ ในอีกความหมายหนึ่ง เป็นศิลปินต่างชาติที่เดินทางเข้ามาแสดงงานในบ้านเรา หรือศิลปินบ้านเราออกไปแสดงงานในต่างประเทศ ก็จะเรียกว่าศิลปินนานาชาติ บางกรณีมีความหมายเฉพาะว่า ศิลปินไทยที่ไปตั้งรกรากและทำมาหากินอยู่ในต่างประเทศ อาทิ ในอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น เมื่อศิลปินกลับมาแสดงงานในเมืองไทย จะถูกเรียกว่า “ศิลปินนานาชาติ” ไปโดยปริยาย เพื่อทำให้งานดูดี

สุชาติ วงษ์ทอง เป็นศิลปินนานาชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ทำงานศิลปะอยู่ในเมืองไทย ทำมาหากินอยู่ในเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ยอมรับจากผู้คนนานาชาติ ได้นำผลงานออกไปแสดงในเทศกาลศิลปะนานาชาติ ได้รับเชิญไปแสดงงานในเทศกาลนานาชาติ กระทั่งได้รับรางวัลจากนานาชาติ ความพิเศษของ สุชาติ วงษ์ทอง ก็คือ การวาดเสียงดนตรี ฟังดนตรีแล้ววาดออกมาเป็นภาพ ถ่ายทอดเสียงให้เป็นภาพ

Advertisement

ปี พ.ศ.2549 ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการดนตรีแจ๊ซและศิลปะ “พระราชาแห่งแจ๊ซ” เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ 60 ปี ศิลปินนานาชาติ สุชาติ
วงษ์ทอง ได้วาดภาพที่เกี่ยวกับดนตรี ทั้งเครื่องดนตรีและวงดนตรี จำนวน 60 ภาพ ซึ่งเป็นภาพดนตรีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมี ผมได้เขียนถึงศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง ไว้ในสูจิบัตรครั้งนั้น

“สุชาติ วงษ์ทอง เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านสีน้ำ เป็นศิษย์ไม่มีครู ค้นหาตัวเองจนเป็นฤๅษี เป็นครูศิลปะที่ไม่มีสังกัด ไปสอนทุกที่เมื่อมีคนอยากเรียน เป็นการเรียนศิลปะนอกระบบ เรียนศิลปะตามใจฉันและครูสอนตามใจชอบ เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะเคลื่อนที่ มีเวลาไม่แน่นอน สถานที่ไม่ได้กำหนด ขึ้นอยู่กับผู้สอนและผู้เรียนจะตกลงกัน ค่าเล่าเรียนขึ้นอยู่กับความพอใจ ส่วนใหญ่ไม่มีหลักสูตร ใช้ชีวิตเป็นตำรา และเนื้อหาขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้เรียนและผู้สอน ประมาณว่าวาดได้ทุกที่ เรียนได้ทุกเรื่อง เรียนในเรื่องที่นักเรียนอยากเรียน อยากเรียนก็ได้เรียน อยากเลิกก็เลิก เลิกเรียนแล้วครูกับลูกศิษย์ก็ไปนั่งดื่มกินอาหาร และสนทนาภาษาศิลปะกัน”

ศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง มีลูกศิษย์เขียนรูปอยู่ทั่วประเทศไทย สอนศิลปะให้คนการบินไทย ธนาคารชาติ สอนที่โรงพยาบาลศิริราช สมาคมญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ สอนคนติดคุก สอนเด็กพิเศษ สอนนักศึกษามหาวิทยาลัย อาทิ ราชภัฏ ประสานมิตร จุฬาฯ มหิดล เป็นต้น ซึ่งเขาอธิบายว่า “การสอนศิลปะ เป็นการช่วยเหลือสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ศิลปะจะช่วยได้ทั้งภายนอกและภายใน”

สุชาติ วงษ์ทอง ได้มีโอกาสสูงสุดในชีวิตคือ การได้ถวายการสอนวาดภาพให้แก่เจ้านายชั้นสูงของประเทศภูฏาน ซึ่งอย่าลืมว่า ศิลปะไม่ได้มีชนชั้น ศิลปะจึงสามารถเข้าถึงได้ทุกคน

สุชาติ วงษ์ทอง เป็นศิลปินนานาชาติ แสดงผลงานศิลปะในประเทศ 322 ครั้ง แสดงในต่างประเทศ 63 ครั้ง อาทิ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ลาว มาเลเซีย อเมริกา ภูฏาน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน พม่า บรูไน ฟิลิปปินส์ เนปาล อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ แคนาดา อิตาลี เดนมาร์ก และเวียดนาม

สุชาติ วงษ์ทอง ทำสิ่งที่แตกต่างไปจากศิลปินคนอื่น คือ การวาดภาพตามเสียงดนตรี (The Sound I Saw) วาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2555 ศิลปินสุชาติ วงษ์ทอง วาดภาพร่วมกับการแสดงของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ที่หอแสดงดนตรีกรุงโตเกียว เมื่อวาดภาพเสร็จก็ประมูลภาพมอบให้แก่การกุศล ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2555 ได้ร่วมเดินทางไปแสดงวาดภาพกับวงดนตรี (ทีพีโอ) ที่นิวซีแลนด์ ครั้งที่สามเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2556 ได้ไปวาดภาพกับวงทีพีโอที่ประเทศลาว และ 2 ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 2-4 กันยายน 2560 แสดงกับวงทีพีโอที่เมืองยะลาและที่เกาะปีนัง มาเลเซีย

การวาดภาพกับเสียงดนตรีเป็นงานสร้างสรรค์ที่เป็นประวัติศาสตร์ของศิลปินไทยที่ได้สร้างผลงานเอาไว้ ซึ่งโอกาสที่ศิลปินวาดภาพจะได้แสดงร่วมกับวงซิมโฟนีนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก

ศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง ได้สร้างความประทับใจให้ผู้ชมทุกครั้งที่ได้ขึ้นเวที การวาดภาพกับเสียงดนตรีนั้น เงื่อนไขคือมีเวลาที่จำกัด เมื่อดนตรีจบ ภาพก็ต้องเสร็จ ทุกภาพที่วาดเป็นหุ้นส่วนของการแสดง ซึ่งทั้งในฐานะของนักแสดงและฐานะศิลปินวาดภาพ ก็ต้องสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชม

ภาพที่วาดเสร็จ ได้มอบให้เจ้าภาพ เพื่อนำไปประมูลให้องค์กรการกุศล สิ่งที่ทุกคนประทับใจก็คือ ความซาบซึ้งในน้ำใจที่ศิลปินสุชาติ
วงษ์ทอง ได้มอบให้ ความสามารถและทักษะในการเก็บเรื่องราวที่เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของเมืองแล้วนำมาใส่ไว้ในภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ยิ่ง แต่ละเมืองที่สะท้อนมาเป็นภาพ เป็นงานศิลปะที่มีความรู้สึก มีบรรยากาศ และเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองเหล่านั้น

ศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง ชอบงานช่างที่ทำด้วยฝีมือ แม้กระทั่งรถที่ใช้ประจำก็ไปซื้อมาเอาเฉพาะโครงเก่าของรถ แล้วค่อยๆ ซ่อมทีละส่วน ทีละชิ้น ซ่อมไปออกแบบไป หาอะไหล่ไป รถคันหนึ่งต้องใช้เวลา 10-15 ปี กว่าจะใช้งานได้ ซึ่งเป็นช่างรถที่มีความอุตสาหะอย่างยิ่ง

เมื่ออายุยังน้อย สุชาติ วงษ์ทอง มีอาชีพรับราชการเป็นทหารเรือ ฝ่ายติดต่อสื่อสาร จึงได้นำวิชาช่างมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นช่างทำรถ ซ่อมรถใช้เอง รถของสุชาติ วงษ์ทอง จึงเท่มากและไม่เหมือนใคร หาซื้อที่ไหนก็ไม่มี ขับรถไปที่ไหนทุกคนต้องหันมาจ้องมอง เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของรถ มองรถแล้วมองคน สงสัยว่าเจ้าของคงเป็นมหาเศรษฐี เอาเป็นว่าทุกคนมองตามด้วยความฉงน

ต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ศิลปินสุชาติ วงษ์ทอง ได้รับรางวัลศิลปินนานาชาติ จากประเทศมาเลเซีย (CHT International Awards 2020) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ศิลปินผู้ทำงานศิลปะให้แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ ศิลปินผู้อุทิศผลงานและเวลาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งสุชาติ วงษ์ทอง เป็นบุคคลที่ได้รางวัลชิ้นนี้ โดยที่ไม่มีใครในสังคมไทยรับรู้

วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดแสดงดนตรีผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อหารายได้ช่วยเหลืออาจารย์อกริต้า ลาคูติส (Agrita Lakutis) ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอดีตนักดนตรีวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิกออเคสตรา (ทีพีโอ) เธอเป็นคนต่างชาติที่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในโรงพยาบาลไทย ครอบครัวเป็นหนี้โรงพยาบาล ซึ่งรอคอยความช่วยเหลือด้านการเงิน ลูกศิษย์ทั้งหลายได้ใช้วิชาชีพดนตรีเป็นสะพานบุญเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครูด้วยน้ำใจและความกตัญญูยิ่ง

ศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง ได้มอบน้ำใจ วาดภาพประกอบเสียงเพลงให้ 2 เพลง คือ Song to the Moon และ Ave Maria ซึ่งเป็นรูปพระจันทร์และโบสถ์พระคริสต์ เพื่อนำภาพไปประมูลให้แก่ผู้ที่สนใจและผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาค เพื่อช่วยอาจารย์อกริต้า ทั้ง 2 ภาพ มีผู้ประมูลออกไปอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ได้ให้กำลังใจแก่ครอบครัว ได้ต่อชีวิตให้แก่ผู้ป่วย ทำให้สังคมได้เรียนรู้ว่า ความกตัญญูและน้ำใจนั้น ยังมีชีวิตอยู่ในสังคมไทย

ผลงานชิ้นล่าสุดของศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง คือภาพ “พระราชาแห่งแจ๊ซ” (The King of Jazz) ภาพขนาด 165×165 เซนติเมตร ซึ่งจะติดที่ห้องโถง อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอาคารมีโครงการจะเปิดในวันที่ 5 ธันวาคม 2563

ศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง เป็นศิลปินที่อยู่นอกสายสิญจน์ เรียนรู้จากครูพักลักจำ ได้เรียนจากครูเปะปะ อยู่นอกสายสิญจน์เพราะไม่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ (ศิลป์ พีระศรี) และไม่ได้อยู่ในรั้วศิลปากร แต่เป็นศิลปินที่อยู่นอกเหนือสายตาของสังคมไทย เป็นศิลปินที่อยู่เหนือเงื่อนไข อยู่นอกระบบ เป็นเสรีชนคนวาดภาพ เป็นศิลปินที่แหกคอกและนอกคอก อยู่นอกเหนือจากสายตาของสังคม

การได้รับรางวัล “ศิลปินนานาชาติ” จากประเทศมาเลเซีย ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง นอกจากเป็นศิลปินที่วาดเสียงดนตรีแล้ว ผมรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสได้รู้จักศิลปินนานาชาติ สุชาติ วงษ์ทอง ได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนนอกคอก และสัมผัสคนที่แหกคอก ได้เรียนรู้วิชาการเอาตัวรอดที่ไม่อยู่ในตำรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image