‘วันเฉลิม’ อยู่ไหน? แรงกระเพื่อมสังคมไทยกับคำถามที่ยังไร้คำตอบ

“เรื่องของวันเฉลิม บางคนเศร้า บางคนจินตนาการว่ามันเป็นเรื่องที่ห่างไกลกับเรา แต่ว่าเราผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย แรงงานที่เสียแขนในเครื่องจักร เกษตรกรเสียที่ดินเพราะหนี้ เมล็ดพันธุ์และปุ๋ย นักศึกษาเสียสถานภาพเพราะการไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม พวกเราล้วนคือ ผู้ที่ถูกกดขี่ เราถูกปล้นทรัพยากร ความฝัน ความหวัง เหมือนที่วันเฉลิมหายใจไม่ออก เหมือนที่เราในโลกนี้ถูกปล้นชิงทรัพยากร อำนาจ เสรีภาพ และความฝัน วันหนึ่งเราก็อาจจะขาดใจเหมือนเขา วันนี้เราต้องต่อสู้ ยืนยันถึงความอยุติธรรม ทั้งเรา และวันเฉลิมไม่ได้อยู่เพียงลำพัง”

คือถ้อยคำจาก ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจราย์วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ที่อ่านโดยตัวแทนนักศึกษาในกิจกรรม ‘ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน #saveวันเฉลิม’ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังกระแสข่าวการ “อุ้ม” ชายไทยวัย 37 นาม วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ แพร่สะพัดพร้อมภาพรถยนต์สีเข้ม พาหนะที่ใช้พรากวันเฉลิมไปจากพื้นที่สาธารณะในกรุงพนมเปญ กัมพูชา อย่างอุกอาจในวันที่ 4 มิถุนายน ขณะแวะซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าอาคารที่พัก กระทั่งชาวโซเชียลร่วมติดแฮชแท็ก #savewanchalearm จนพุ่งขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ ขณะที่มีข่าวว่าทางการกัมพูชายังเงียบ กระทั่ง ฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวล พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชาดำเนินการอย่างเร่งด่วน

สังคมจับตา ‘ท่าที’รัฐ-คนสาธารณะ-องค์กรสิทธิ

ส่วนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยก็ถูกตั้งคำถามถึง ‘แอ๊กชั่น’ ที่มาแนวนิ่งสงบ เช่นเดียวกับท่าทีของดาราดัง ปู ไปรยา ในฐานะทูตสันถวไมตรีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ โดยระบุเป็นเรื่อง ‘อ่อนไหว’ ทำชาวเน็ตรุมถล่มไอจียับ ไม่ต่างจากนักร้องเสียงดี แก้ม วิชญาณี ที่โพสต์ #บ่นเพื่อน ลอยๆ ติงความเหมาะสมของการ ‘หาทำ’ กิจกรรมบางอย่าง กระทั่งถูกโยงว่ามาจากปม #savewanchalearm จนโดนอ่วมอย่างไม่เกินความคาดหมาย

สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยที่ร่วมจับตาในท่าทีเซเลบริตี้ และบุคคลสาธารณะถึงมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช่เรื่องสีเสื้ออีกต่อไป เพราะไม่ว่าสีไหนก็ไม่ควรมีใครถูกอุ้มหายเพราะ ‘เห็นต่าง’

Advertisement

ด้าน ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ ขึ้นภาพจอดำในอินสตาแกรมพร้อมตั้งคำถามที่แปลเป็นไทยว่า ‘วันเฉลิมอยู่ที่ไหน’ ได้ใจฟากฝั่งประชาธิปไตยไปเต็มๆ ส่วน วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่เพิ่งเจอขุดรูปเก่าคราวร่วมบิ๊กคลีนนิ่งกรุงเทพฯ หลังสลายชุมนุมเสื้อแดง รอบนี้เรียกร้องรัฐบาลไทยแถลงว่าคุยกับทางการกัมพูชาแล้วหรือไม่ จะติดตามเรื่องนี้อย่างไร อีกทั้งย้ำด้วยว่า นี่ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะเพิกเฉยได้

หันมองในพื้นที่ภาคอีสานบ้านเกิดวันเฉลิม มีป้ายปักริมถนนเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งคำถามว่า ‘อุ้มเขาทำไม?’

ในขณะที่ ศูนย์คนหาย มูลนิธิกระจกเงา นำภาพวันเฉลิมขึ้นประกาศ ‘คนหาย’ พร้อมข้อมูลเบื้องต้นคาดสาเหตุว่าเป็นการ ‘บังคับสูญหาย’ พร้อมชี้แจงย้ำชัดว่า ‘ตระหนักต่อทุกคุณค่าของชีวิต’ หลังเจอคอมเมนต์ส่วนหนึ่งรุมขยี้ในลักษณะเห็นค้านประกาศดังกล่าว

Advertisement

จี้ดัน พ.ร.บ.ปราบ ‘บังคับสูญหาย’ ขุดคดีเก่า-ใหม่สอบสวน

ประเด็นการบังคับสูญหายนี้ ยังปรากฏในแถลงการณ์ของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาหลากหลายสถาบัน อาทิ ‘กลุ่มส.ว.ที่สนับสนุนประชาธิปไตย’ ของนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยากลุ่มหนึ่ง และกลุ่ม ‘เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ’ ของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกร้องให้กรณีวันเฉลิมนำมาซึ่งการผลักดัน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย อีกทั้งต้องสอบสวนคดีในลักษณะเดียวกันทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งไม่มีอายุความ

ส.ส.รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่า เฉพาะยุค คสช.มีคนโดนอุ้มหาย 9 ราย โดยมีสาเหตุจากความ ‘เห็นต่าง’ และแน่นอนว่าเมื่อย้อนไปก่อนหน้านี้ จำนวนผู้ถูกอุ้มหายมีมากมายจนนับนิ้วไม่หมด สำหรับที่เป็นคดีดังซึ่งสังคมจับตามาโดยตลอด อาทิ บิลลี่ พอละจีแกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ผู้ต่อสู้อำนาจรัฐ และ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่ง อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาผู้เป็นอดีตกรรมการสิทธิฯ มีความเห็นต่อประเด็นวันเฉลิมว่ารัฐบาลควรเร่งคลี่คลายคดี แม้เห็นต่างจากรัฐ แต่เขาก็เป็น ‘คนไทย’

ในขณะที่ นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรอง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ออกมาสะกิดว่า อย่าด่วนสรุปž โดยระบุว่าทีมอุ้มหากมีจริง ต้องประเมินความเสี่ยงอย่างมาก หากถูกจับได้ย่อมกระเทือนสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เรียกได้ว่า ‘ทำแล้วไม่คุ้มเสี่ยง’

ไม่เพียงคำถามว่า วันเฉลิมอยู่ไหน? อีกคำถามที่ชวนหดหู่ใจ คือ วันเฉลิมยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวสลับไปมา บ้างก็ว่า วันเฉลิมเสียชีวิตแล้ว บ้างก็ว่า อาจยังมีลมหายใจ บ้างก็ว่า ตราบใดที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน ความหวังก็ยังมี แม้เพียงริบหรี่ก็ตาม

‘ลูกได้เลือกทางเดินของตัวเองแล้ว’
ครอบครัวทำใจหลังไร้วี่แวว

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวซึ่งเป็นผู้คุยโทรศัพท์กับวันเฉลิมระหว่างถูกนำตัวขึ้นรถโดยกลุ่มชายที่พูดภาษาต่างประเทศ กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ในความรับรู้ของครอบครัวยังไม่ทราบว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด ทางผู้ส่งข่าวซึ่งอยู่ต่างประเทศและติดต่อกันตลอด ยังบอกให้หนักแน่นไว้ก่อน แต่ถ้าเกินวันที่ 6 มิถุนายน ก็ต้องทำใจแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งสุดท้ายหลังจากวันนั้นก็ไร้วี่แวว

ส่วนสภาพจิตใจของครอบครัว คุณแม่ทำใจไว้แล้วประมาณ 6 ปีตั้งแต่ลี้ภัย โดยบอกว่า

“ลูกได้เลือกทางเดินของตัวเองแล้ว”

อย่างไรก็ตาม พี่สาวยังทำใจไม่ได้ เพราะคุยกันทุกวัน สำหรับสาเหตุที่ถูกอุ้ม ยอมรับว่ามืดแปดด้าน เพราะเท่าที่คุยกันน้องชายไม่ได้เคลื่อนไหว หรือยุ่งเรื่องการเมืองแล้ว แต่หันมาสนใจทำธุรกิจที่กัมพูชาเป็นหลัก จึงไม่ได้ระวังตัว

“เราก็พยายามบอกน้องแบบนี้คือ ให้มาทางธุรกิจ แต่เรื่องที่เขาไปทำอะไรนอกเหนือจากที่เขาเล่าให้ฟัง เราก็ไม่รู้จริงๆ เขาเองก็ไม่ได้ระวังตัว เท่าที่คุยกัน เขาก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวการเมืองแล้ว เลยงง เขาไม่ได้เซฟตัวเอง ลงไปซื้อของปกติ คนเราถ้ารู้ว่ามีอะไร ต้องระวังตัวหรือไม่ แต่ด้วยความที่เขาไม่ได้ยุ่ง ไม่ได้เคลื่อนไหวแล้ว จึงไม่ระวังตัว ส่วนเรื่องเป็นแอดมินเพจ เคยถามเขา เขาก็บอกว่าไม่ได้เป็นแอดมินเพจอะไรเลย มีแต่เฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างเดียวเท่านั้น ศาลก็ยกฟ้องไปแล้ว ไม่ทราบว่าทำไมมีคนนำไปโยง เราเห็นข่าวในทวิตเตอร์ อยากบอกตรงนี้ว่า น้องเราไม่เคยเป็นแอดมินเพจไหน จากสำนวนการเขียนก็ไม่ใช่อยู่แล้ว และหากได้เงินจากทักษิณ 100 ล้านจริงๆ ครอบครัวคงไม่ลำบากแบบนี้”

พี่สาวเปิดใจ ‘ไม่ระวังตัว’ เพราะ ‘เลิกยุ่งการเมืองนานแล้ว’ ไม่หนีไปยุโรป เล็งทำเกษตรที่กัมพูชา

อีกหนึ่งคำถาม คือ ท่ามกลางข่าวการถูกอุ้มหายของนักโทษการเมืองที่ทยอยพบศพ กระทั่งผู้ลี้ภัยบางส่วนเร่งทำเรื่องโยกย้ายไปพำนักยังประเทศฝั่งยุโรปแทน โดยเฉพาะฝรั่งเศส เหตุใดวันเฉลิมจึงตัดสินใจอยู่ที่กัมพูชาเช่นเดิม


สิตานัน
บอกว่า ปลายปีที่แล้ว วันเฉลิมบอกว่ามีคนมาถามว่าจะลี้ภัยไปยุโรปหรือไม่ เพราะห่วงความปลอดภัย จากการที่มีผู้ลี้ภัยถูกอุ้ม เลยบอกให้ตัดสินใจด้วยตนเอง

“เราให้คำปรึกษาไปในแนวทางว่าถ้าไปฝรั่งเศสจะไปทำอะไร จะอยู่อย่างไร อยู่ที่นี่เขามีพรรคพวกที่มีคอนเน็กชั่น มีคนรู้จัก เราเลยถามเขาว่า ถ้าไม่ยุ่งเรื่องการเมืองแล้ว มาโฟกัสเรื่องธุรกิจดีไหม เพราะคนที่สนิทกับเขามีที่ดินว่างเปล่าที่ทำการเกษตรได้ พอเกิดโควิด เกิดปัญหาเรื่องอาหาร ก็มาคุยกันว่าเดี๋ยวจะปลูกอ้อย ปลูกข้าว ปลูกกล้วยหอม มีนักธุรกิจที่กัมพูชาได้สัมปทานปลูกกล้วยหอมมา เรามองว่าการเมืองมันซาไปแล้ว ไม่มีอะไร ทำไมจึงกลับมาเกิดเรื่องนี้ได้ก็ไม่รู้จริงๆ”

ไม่โกรธใคร แค่อยากได้ ‘น้องชายคืน’ ซึ้งคนไทยร่วมตามหา

ถามถึงพื้นฐานครอบครัว พี่สาววันเฉลิมย้อนเล่าว่า ครอบครัวของตนไม่เกี่ยวข้องการเมือง ไม่มีใครไปวุ่นวายการเมือง ไม่รู้ว่าน้องชายไปสนใจการเมืองแบบไหน ไม่มีข้อมูล แต่รู้ว่าชอบเรื่องการเมือง และคิดต่าง ตอนเรียนมัธยมโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชอุบลราชธานี ก็เป็นประธานนักเรียน เป็นนักกิจกรรม พอเข้ากรุงเทพฯ เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง หาเงินเรียนเอง ไปทำงานด้านสังคม ทำงานให้ สสส. และมูลนิธิต่างๆ อุปนิสัยส่วนตัวเป็นคนขี้เล่น มนุษยสัมพันธ์ดี คุยได้กับทุกคน เป็นคนน่ารัก

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนหนีไปกัมพูชาใหม่ๆ ยังเคยถามว่า วันที่กระโดดตึกหนีจากชั้น 2 นั้น บ้าหรือเปล่า มีเป้ใบเดียวกับพาสปอร์ต เงินติดตัวไม่กี่บาท และเป็นคนตัวเล็ก โนเนมมาก จะหนีทำไม น้องชายบอกว่าไม่รู้ แต่คนอื่นหนี เขาก็หนี แค่นั้นเอง แต่พอไปแล้ว ก็ต้องไปให้สุด ต้องหนีไปเรื่อยๆ มีคนถามว่า ไม่อยากให้น้องกลับมาหรือ ขอตอบตรงๆ ว่า ถ้ากลับมาได้ก็กลับ ถ้ากลับมาไม่ได้ก็ทำธุรกิจอยู่ที่นั่น ถ้ากลับมาแล้วไม่ปลอดภัย มาติดคุก อยู่ต่างประเทศดีกว่า ตนคิดแค่นี้ในฐานะพี่สาว

“ในครอบครัวมี 5 คน คือคุณแม่ และมีน้องอีก 2 คนถัดจากวันเฉลิม คุณพ่อเสียไปแล้ว เรากับน้องอายุห่างกัน 9 ปี ใกล้ชิดกันมาก เมื่อก่อนก็เคยอยู่ด้วยกัน กินนอนด้วยกันตอนมาจากอุบลฯ มาอยู่กรุงเทพฯ ตอนเด็กๆ ก็เลี้ยงกันมา ยิ่ง 2-3 ปีหลัง ยิ่งใกล้ชิดมาก เพราะโทรคุยกันทุกวัน ทุกเรื่อง เราเองก็ปรึกษาเขา ว่าเจอเรื่องอะไร วันนี้ไปทำงานมาเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็บอกว่าควรทำอย่างไร คุยกันตลอดเวลา จนวันที่เกิดเรื่องก็ยังติดสายอยู่กับเขา เพราะเขาเพิ่งประชุมเสร็จ คุยกันว่าจบแล้วนะ เดี๋ยวรอผลสำรวจแล้วพี่ไปจัดงานต่อเรื่องธุรกิจ

สำหรับประเด็นตำรวจไปเยี่ยมบ้านที่อุบลฯ ถามถึงวันเฉลิม สิตานันมองว่า ทั้งตนและคุณแม่มองว่าเป็นการมาติดตามคนหนีคดีตามปกติมากกว่า ส่วนจะเชื่อมโยงกับการพาตัวน้องชายครั้งนี้หรือไม่ ไม่ทราบจริงๆ แต่ก่อนหน้านี้ น้องชายทราบว่าถูกติดตามจากชายแปลกหน้าคนไทย 3 ราย จึงแอบถ่ายภาพไว้และบอกเพื่อนๆ ให้รับทราบ ตนยังบอกให้ระวังตัว แต่เพื่อนเขาเคยเตือนว่าให้ย้ายที่อยู่

ท่ามกลางความรู้สึกมากมายในสังคมไทยขณะนี้ ถามว่า ความรู้สึกใดที่ผุดขึ้นมาในใจอย่างชัดเจนที่สุดในฐานะคนในครอบครัว สิตานัน ตอบในทันทีว่า

“ไม่ได้โกรธเคืองใคร เราแค่อยากได้น้องชายเราคืน หรือถ้าไม่คืน ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว มันเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่าง เหมือนจอดรถแล้วทะเลาะกัน ยิงกัน ย้อนกลับมาไม่ได้ ต้องคิดว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทำอะไรได้บ้างกับการเรียกร้องสิทธิ หลังเกิดเรื่อง มีคนโทรมาหาเยอะมาก ทั้งที่ไม่รู้จัก ไม่ใช่ญาติ แต่บอกว่าจะช่วยกันตามหา ใช้พลังโซเชียล ช่วยกันเซฟวันเฉลิม ในเหตุการณ์วันนั้นหลังจากติดต่อคนที่ต่างประเทศให้ไปช่วยดูน้อง ซึ่งตอนนั้นยังคิดว่าเขาเกิดอุบัติเหตุ หลังจากนั้น 20 นาที ได้รับแจ้งว่าน้องถูกอุ้ม ก็มีคนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ไม่รู้ว่าเขารู้ได้อย่างไร ก็รู้สึกซาบซึ้งจริงๆ ไม่รู้จะพูดคำไหน”

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของแรงกระเพื่อมในปรากฏการณ์ #savewanchalearm ซึ่งเต็มไปด้วยคำถามมากมายที่ยังรอคำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image