ที่มา | เสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | เชอรี่ นาคเจริญ [email protected] |
เผยแพร่ |
การมาของไวรัสโควิด-19 ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งไปตลอดกาล สำหรับบางคน บางองค์กรขึ้นอยู่กับว่าจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร
สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ “เอสซีบี” หลังให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) แล้วพบว่าตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิต จึงประกาศนโยบาย Work From Anywhere พร้อมก้าวข้ามพรมแดนธุรกิจด้วยการเปิดตัว “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ฟู้ดดิลิเวอรี ชื่อ “Robinhood” (โรบินฮู้ด)
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า วิกฤตโควิด-19 จะยังไม่จบ และกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาแข็งแรงแบบที่เคยเป็นต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จึงใช้ห้วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรและเปลี่ยนแปลงตนเอง ภายใต้ยุทธศาสตร์ “SCB New Normal” จนพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ฟู้ดดิลิเวอรี” สัญชาติไทยออกมาได้ภายใน 3 เดือน
ที่ทำได้เร็วระดับนี้ มาจากการทำ Digital Transformation ในช่วงที่ผ่านมาจนเป็นองค์กรที่ตัวเบา และกำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ การปรับต้นทุนการให้บริการ การสร้างปฏิสัมพันธ์ และการให้บริการกับลูกค้าในทุกเซ็กเมนต์ ผ่านการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความเข้าใจเป็นแกนหลักเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ได้
“โรบินฮู้ด” ดำเนินการภายใต้ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอ็กซ์ (SCB 10X) มีเงินลงทุน 100 ล้านบาท/ปี มีกำหนดเปิดให้บริการใน ก.ค.นี้
วิกฤต “โควิด-19” จึงไม่ได้นำพา New Normal ในแง่การทำงานมายัง “เอสซีบี” เท่านั้น แต่มาพร้อมโอกาสและแนวคิดใหม่ที่มุ่งไปยังการตอบโจทย์สังคมและธุรกิจในคราวเดียวกัน
ไหนๆ “ฟู้ดดิลิเวอรี” ก็จะกลายเป็นวิถีปกติใหม่ของผู้บริโภคอยู่แล้ว และที่ผ่านมา มีแต่ “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ข้ามชาติ ซึ่งบรรดาร้านค้าต่างๆ ต้องปวดใจกับค่า “จีพี” อันแสนโหด
ภารกิจแรกของ “โรบินฮู้ด” จึงเป็นแพลตฟอร์ม “ฟู้ดดิลิเวอรี” สัญชาติไทยที่มีประสิทธิภาพ ไม่หักค่าจีพีร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม และเจ้าของร้านได้เงินเร็วใน 1 ชั่วโมง
“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องชนะใคร แต่ต้องการเป็นอีกทางเลือกของสังคม จึงมีส่วนประกอบของการเป็นซีเอสอาร์ คือ ไม่เก็บเงินในการใช้งาน เพราะค่าจีพีเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบัน เราหวังว่าโรบินฮู้ดจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารตลอดจนลูกค้าและคนขับ เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไปได้”
แม้ “โรบินฮู้ด” จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานบนแพลตฟอร์ม แต่ไม่ได้หมายความว่า “ค่าส่ง” หรือค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะถูกกว่าคู่แข่งรายอื่น ด้วยว่าผู้ให้บริการฟู้ดดิลิเวอรีเจ้าเดิมทั้งหลายต่างถล่มโปรโมชั่นหนักมาก บางช่วงส่งฟรีหรือคิดค่าส่งถูกมากเพื่อดึงดูดคนใช้บริการ
ในกรณีนี้แม่ทัพ “เอสซีบี” บอกว่า แม้ค่าส่งของ “โรบินฮู้ด” อาจไม่ถูกกว่าหรือบางครั้งแพงกว่า แต่ถ้านำ “ค่าส่งมารวมกับค่าอาหาร” แล้ว เชื่อว่า “มูลค่า” ที่ลูกค้าต้องจ่ายจะไม่แพงกว่าแน่นอน
“การคิดค่าส่งศูนย์บาท ถ้าจะทำคิดว่าร้านอาหารจะเป็นคนทำ ไม่ใช่เรา เพราะเราไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ อยู่แล้ว ถ้าร้านค้าที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมากอย่างที่เราแอบหวังไว้ บริษัทนี้ก็จะสปินออฟออกไปเป็นสตาร์ตอัพที่จะมีบิซิเนสโมเดลในการทำธุรกิจใหม่ ซึ่งอาจเป็นการให้สินเชื่อกับคนที่มาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ก็ได้”
“อาทิตย์” บอกอีกว่าในเวลาที่เศรษฐกิจอ่อนแอ สินเชื่อใหม่ ซึ่งเป็นรายได้ของธนาคารคงไม่มาก ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารต้องพยายามทำ คือ รักษาตนเอง โดยการดูแลลูกค้าให้รอด เพราะถ้าลูกค้ารอด ธนาคารก็จะรอดด้วยเช่นกัน
“เราตระหนักและให้ความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ที่มีต่อลูกค้าและสังคม โดยให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยเฉพาะ SME เพื่อบรรเทาปัญหาและความเดือดร้อน มีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ การพักหนี้ การลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นที่ช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าผ่านช่วงเวลายากลำบาก”
สำหรับการผนึกความสามารถด้านเทคโนโลยีเข้ากับวิถีองค์กรรูปแบบใหม โดยพัฒนา “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” สัญชาติไทย เช่น “โรบินฮู้ด” ถือเป็น long-term solution เพื่อช่วยเหลือลูกค้า สังคม และประเทศชาติ
ความสำเร็จที่มากไปกว่าผลตอบแทนทางธุรกิจ คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ที่คล่องตัว รวดเร็ว ทำงานจากที่ไหนก็ได้ กล้าลองผิด ลองถูก เพื่อนำผลไปปรับปรุง และพัฒนาจนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการนำพาองค์กรฝ่าคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตหรือการแข่งขันในรูปแบบใดในอนาคต