เดินไปในเงาฝัน โดย สาโรจน์ มณีรัตน์ : ดูแลคนเหมือนปลูกต้นไม้

ถ้าสังเกตดีๆ ในยุคก่อตั้งบริษัทไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารท่านไหนมักจะให้ความสำคัญต่อความเป็นกันเองกับพนักงาน ทั้งในเวลางาน และหลังเลิกงาน

ในเวลางาน จะมีความเป็นทีมเวิร์ก พูดคุยแสดงความคิดเห็น เพื่อให้สินค้าเป็นที่ถูกใจสำหรับผู้บริโภค โดยไม่มีใครเกี่ยงงอนเลยว่าเหน็ดเหนื่อย กลับบ้านดึก เพราะทุกคนต่างทราบดีว่ายุคก่อตั้งบริษัท จะต้องทำงานหนักเช่นนี้

ขณะที่หลังเลิกงาน จะเล่นฟุตบอล,ตีแบด,ตะกร้อ หรือไม่ก็ออกไปสังสรรค์ ทั้งอาจจะมีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง หรือไม่มีเลยก็ได้

แต่ทุกคนพร้อมใจกันทำงานอย่างเต็มที่
แต่เมื่อบริษัทเริ่มเติบโตขึ้น แต่ละคนเริ่มมีสายการบังคับบัญชามากขึ้น การพูดคุย การระดมสมองเพื่อวางแผนในการพัฒนาธุรกิจ,การวางกลยุทธ์การตลาด และประชาสัมพันธ์ จึงมีผลออกไปอย่างเป็นทางการมากขึ้น

Advertisement

การพูดความจริงอย่างเมื่อก่อนอาจจะลดน้อยลง

ความเป็นมิตรอาจเริ่มเหือดหาย

ไม่ต้องพูดถึงการออกไปเล่นฟุตบอล,ตีแบด หรือเล่นตะกร้อ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับบางองค์กร เพราะอาจเวลางานเข้ามาบีบรัด สายการบังคับบัญชากว้างขึ้น ทั้งยังมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น จึงทำให้บรรยากาศแบบพี่แบบน้องเริ่มเลือนรางหายไป

Advertisement

จนกลายเป็นคำสั่งอย่างเดียว

ผ่านมามีหลายองค์กรที่ประสบปัญหาเช่นนี้ และเขาพยายามแก้ ด้วยการจัดมอร์นิ่ง ทอล์ก ด้วยการเชิญซีอีโอของบริษัทกลับเข้าสู่บรรยากาศเดิมๆ สมัยก่อตั้งกับผู้บริหารรองๆ ลงไป

อาจจะด้วยจิบกาแฟยามเช้าของวันจันทร์เพื่อพูดคุยถึงวันเก่าๆ หรือไม่บางทีก็เชิญพนักงานในยุคก่อตั้งเข้าร่วมพูดคุยด้วย เพื่อแสดงน้ำใจว่าการเดินทางของบริษัทที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้ล้วนเกิดขึ้นจากพวกคุณ

ไม่มีพวกคุณบริษัทคงไม่เติบโตมาถึงวันนี้

ว่ากันว่าการทำเช่นนี้บางครั้งอาจช่วยแก้ปัญหาเชิงความรู้สึกของพนักงานลงได้บ้าง แต่ยิ่งถ้ามีความจริงใจเข้าไปผสมด้วย ยิ่งจะ

ทำให้รอยถ่างของความรู้สึกแคบเข้ามา

ที่สำคัญจะต้องทำบ่อยๆ

อาจจะทุกเดือน

หรือครึ่งปีทำครั้งหนึ่ง

โดยเฉพาะการเชิญซีอีโอมาร่วมพูดคุยกับพนักงานทั้งบริษัท
เพราะอย่าลืมว่า เมื่อองค์กรใหญ่ขึ้น แผนกต่างๆ จะถูกซอยเพิ่มมากขึ้น และจากที่เคยมีพนักงานเพียงไม่กี่สิบคน ที่เห็นหน้าก็รู้ว่าชื่ออะไร ลูก เมียทำอะไร สบายดีหรือไม่

แต่ในวันนี้อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว

ถามว่าถ้าเป็นคุณจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ?

เชื่อไหมครับว่า…เรื่องอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับองค์กรในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับหลายองค์กรใน

เอเชีย รวมถึงประเทศไทย

จนถึงขนาดมีการจัดสัมมนาในเรื่องของความผูกพันของพนักงาน

คอร์สหนึ่งไม่ใช่ถูกๆ นะครับ

ยิ่งถ้าองค์กรไหนถูกขับเคลื่อนด้วยผลกำไรเป็นตัวตั้ง ยิ่งจะทำให้องค์กรเหล่านั้นเหนื่อยมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะทุกอย่างถูกวัดด้วยเม็ดเงินทั้งหมด

ทั้งยอดขาย และผลกำไร

จนลืมไปว่าจริงๆ แล้วพนักงานไม่ได้ต้องการเงินเดือน สวัสดิการ หรือโบนัสที่ดีกว่าเพียงอย่างเดียว หากต้องการโอกาสในการทำงาน

การแสดงความสามารถ

และความก้าวหน้าที่มองเห็นเป็นรูปธรรม

ยิ่งถ้ารู้อนาคตด้วยว่าอีก 5 ปี จะไปอยู่ตำแหน่งไหน เงินเดือนเท่าไหร่ และต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ยิ่งจะทำให้พนักงานเหล่านั้นเกิดความผูกพันกับองค์กร

ไม่ใช่ทำงาน 3 ปี ก็ยังไม่รู้ ทำงาน 5 ปี ก็ยังไม่รู้ อย่างนี้เป็นใครจะภักดีกับองค์กร ที่สุดเขาจึงลาออกไปอยู่บริษัทอื่นที่ตอบสนองความต้องการของเขามากกว่า

ยิ่งเฉพาะพนักงานในยุคเจนวาย และเจนแซดในปัจจุบัน

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เขายังต้องการใจมากกว่า ใจที่พร้อมจะให้ ใจที่พร้อมจะช่วย และใจที่พร้อมจะผลักดัน และให้โอกาส เมื่อพูดคุยถึงตรงนี้ จึงทำให้นึกถึงซีอีโอคนหนึ่งของบริษัท SSMC ของประเทศสิงคโปร์

บริษัทนี้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เวเฟอร์ หรือพูดง่ายๆ คือผลิตชิปที่ฝังอยู่ในบัตรประชาชน และพาสปอร์ต ที่กระจายอยู่ทั่วโลก

มียอดขายประมาณ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งยังเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ของประเทศสิงคโปร์ และรางวัลอื่นๆอีกมากมาย จนทำให้บริษัทแห่งนี้ถูกยกย่องจากเหล่าบรรดานักธุรกิจชั้นนำในประเทศของเขา

ที่มีไม่กี่องค์กรได้รับ

“จากาดิช ซีวี” ซีอีโอของบริษัท SSMC เคยบอกผมนานแล้วว่า…บริษัทผมไม่แตกต่างจากบริษัทอื่น เพราะเมื่อองค์กรเติบโตขึ้น ปัญหาก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

“ยอมรับว่าแรกๆ เราอาจโฟกัสไปที่ธุรกิจเป็นหลัก และอีกอย่างธุรกิจของเราจะต้องอาศัยพาร์ตเนอร์จากหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีปัญหาในช่วงผ่านมาด้วย เราจึงมุ่งมั่นแต่การแสวงหาผลกำไร

“แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง เราค้นพบว่าผลกำไรไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่การลงทุนในการสร้างพนักงานสำคัญกว่า เพราะพนักงานเป็นทรัพย์สินของบริษัท เมื่อผม และผู้บริหารมีความเห็นตรงกัน ระยะหลังๆ เราจึงมาโฟกัสเรื่องคน ทั้งในเรื่องของการพัฒนา อบรม การส่งคนไปเรียนในระดับประกาศนียบัตร ปริญญาโท ปริญญาเอก รวมถึงการส่งเสริมในด้านของภาษาต่างประเทศ

“เพราะเราเชื่อว่าจะต้องดูแลคนให้เหมือนกับการปลูกต้นไม้ที่จะเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับเรา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตั้งชมรมโยคะ,มวย,ฟุตบอล,ถ่ายภาพ และอื่นๆ เพื่อให้พนักงาน 2,000 กว่าคนเข้าร่วม และผมเองก็เข้าร่วมด้วยระหว่างเวลา 12.00-13.00 น.เพื่อจะได้มีโอกาสเจอพนักงานเหมือนกับเมื่อก่อนบ้าง

“การทำเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้เราใกล้ชิดพนักงานมากขึ้น ยังทำให้เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพนักงานในสิ่งที่ไม่เคยรู้อีกด้วย เพราะกีฬาทำให้ทุกคนเปิดใจเข้าหากัน และที่สุด ผมก็ได้อะไรจากตรงนี้มาก เพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป”

อันเป็นการปิดช่องว่าง

อันเป็นการเชื่อมใจที่เคยถ่างออกเข้าหากัน

จนที่สุด บริษัท SSMC จึงกลายเป็นบริษัทชั้นนำที่ถูกยกย่องจากประเทศสิงคโปร์ และองค์กรต่างๆ ทั่วโลกที่ต่างยอมรับว่า SSMC
มองเห็นพนักงานเป็นเสมือนเพื่อนร่วมงาน
จนทำให้ประสบความสำเร็จในวันนี้ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image