‘พีพี โมเดล’ สู้วิกฤต ‘ปะการังฟอกขาว’ การฟื้นฟูโดย’สาหร่ายทะเลจิ๋ว’

ถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังทั่วโลกอีกครั้งกับปัญหา “ปะการังฟอกขาว” โดยนับตั้งแต่ปลายปี 2558 จนถึงปัจจุบันนับว่าเกิดสภาวะฟอกขาวที่ขยายเป็นวงกว้างและรุนแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี สร้างความหวั่นวิตกให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเป็นอย่างมาก

เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่เพิ่งฟื้นฟูจากวิกฤตการณ์นี้มาเมื่อปี 2553 แต่กลับต้องเจอภัยพิบัติดังกล่าวซ้ำอีกครั้งและหนักยิ่งกว่าครั้งก่อน จากความเสียหายล่าสุดที่เกิดขึ้นมากถึง 81 จุด ในพื้นที่ 12 จังหวัด

ในจำนวนทั้ง 81 จุดนี้ พบการฟอกขาวในระดับรุนแรง 48 จุด และในระดับวิกฤตถึง 33 จุด!

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ บริษัทสิงห์ เอสเตท,กองอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และ กลุ่มนักวิชาการ ตัดสินใจร่วมมือกันเพื่อหาทางหยุดยั้งและแนวทางแก้ไขปัญหานี้ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

Advertisement

เกิดเป็นโครงการ “ร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างยั่งยืน” ในชื่อ “พีพี กำลังจะเปลี่ยนไป” ตามกรอบแนวคิด “พีพีโมเดล” ของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้เดินทางมาร่วมจัดกิจกรรมลงพื้นที่ในบริเวณหมู่เกาะปอดะ (ทะเลแหวก) หนึ่งในพื้นที่ระดับวิกฤต เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่ปิดของอุทยาน

พร้อมนำเสนอ “พีพี โมเดล” แนวทางการอนุรักษ์ท้องทะแลและแนวปะการังอย่างยั่งยืน

รวมไปถึง ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้นำทีมลงพื้นที่ทำการทดลองฟื้นฟู “ปะการังฟอกขาว” โดยสาหร่ายทะเลจิ๋ว

Advertisement

หากสำเร็จจะนับว่าเป็นการสู้กับวิกฤตปะการังฟอกขาวได้เป็นที่แรกของโลก!

รู้จัก’ปะการังฟอกขาว’
และแนวคิด’พีพีโมเดล’

ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้คนเข้าใจถึงสภาวะ “ฟอกขาว” หนึ่งในหายนะร้ายต่อแนวปะการัง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงได้เริ่มต้นอธิบายปูพื้นฐานตั้งแต่แรก

“ตามปกติแล้ว ปะการังจะมี สาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) หรือสาหร่ายจิ๋วที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง โดยสาหร่ายพวกนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนพ่อครัวคอยสังเคราะห์แสงปรุงอาหารให้กับปะการัง”

“แต่ด้วยอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ส่งผลทำให้สาหร่ายเหล่านี้ผิดปกติ ผลิตอาหารไม่ได้ ดังนั้นปะการังจึงต้องขับสาหร่ายเหล่านี้ออกไป ทำให้เปลือยเปล่าเป็นสีขาวในที่สุด

“เมื่อขาดสาหร่ายก็ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และอาจตายได้ในที่สุด”

ดร.ธรณ์กล่าวโดยสรุปให้เข้าใจได้ง่าย ก่อนที่จะเสริมว่าดังนั้นปรากฏการณ์เอลนิโญจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว เพราะทำให้น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างผิดปกติ โดยในปีนี้อุณหภูมิสูงถึง 33 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าร้ายแรงกว่าปี 2553 ที่มีอุณหภูมิสูงราว 31-32 องศาเซลเซียส

ปะการังฟอกขาว

จึงส่งผลทำให้เกิดปะการังฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะในทะเลแหวกที่มีปะการังฟอกขาวเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่

ดร.ธรณ์จึงได้นำแนวคิดพีพีโมเดล ซึ่งประกอบไปด้วย 4 หลักการ คือ ควบคุม-ดูแล-รักษา-ฟื้นฟู เข้ามาใช้ในพื้นที่

“การควบคุม ได้แก่ การปิดแนวปะการังทะเลแหวกให้เป็นเขตฟื้นฟู รวมไปถึงควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว-ปริมาณเรือให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสม วางแผนการปิด-เปิดแหล่งท่องเที่ยว เช่น อ่าวมาหยา โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการและชาวบ้านในการปิดอ่าวในช่วงโลว์ซีซั่น

“การดูแลจะเป็นการร่วมมือระหว่าง อุทยานฯ ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้อง รณรงค์เลิกการขายฉลามและปลานกแก้วทั้งเกาะพีพี และยังมีแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในการดูแลจัดการปัญหาน้ำเสียที่สะสมมากกว่า 15 ปี”

ดร.ธรณ์อธิบายต่อว่า การรักษา คือการทดลองเติมสาหร่ายจิ๋วสายพันธุ์ที่ทนน้ำร้อนให้แก่ปะการังฟอกขาวในบริเวณพื้นที่ฟื้นฟูและควบคุม พร้อมจัดหาทุ่นให้เรือจอด ป้องกันการทิ้งสมอที่จะทำให้แนวปะการังเสียหาย
“การฟื้นฟูด้วยการรักษาแนวปะการังที่เกาะยูงเพื่อเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ รวมไปถึงวางแผนในการย้ายปลูกปะการังสายพันธุ์ทนน้ำร้อนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในปี 2553 และในเหตุการณ์ปัจจุบัน

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำ จะไม่ให้ทำได้อย่างไรเมื่อเรามีทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่เท่านี้” ดร.ธรณ์กล่าว

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์-ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ์-นริศ เชยกลิ่น
ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์-ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ์-นริศ เชยกลิ่น

ตอบคำถาม’ทำไมต้องสนับสนุน?’
ทั้งหมดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ทำไมเอกชนจึงต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์นี้?

เป็นหนึ่งในคำถามที่มีต่อ นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท ที่ได้ตัดสินใจเดินหน้าเข้ามาสนับสนุนกรอบแนวคิด “พีพีโมเดล” อย่างเต็มตัว

นริศได้ตอบว่า เป็นเพราะต้องการที่จะรักษาดูแลให้หมู่เกาะพีพีอยู่กับคนไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน

“ทั้งนี้ทางบริษัทได้เข้ามาสนับสนุนแนวคิดนี้ในหลากหลายด้าน ทั้งการมอบทุ่นจอดเรือที่ทะเลแหวก ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาส่งนักท่องเที่ยวแล้วนำเรือออกไปจอดกับทุ่นแทน เพื่อป้องกันรักษาไม่ให้แนวปะการังเสียหายจากการทิ้งสมอ”

“นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนเรือตรวจการณ์ให้เจ้าหน้าที่อุทยาน ไว้ใช้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในบริเวณโรงแรม และสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวในเขตอุทยาน”

13840528_1756455297900637_1890008335_o
บรรยากาศการมอบทุ่นจอดเรือให้กับเจ้าหน้าที่อุทยาน

ที่สำคัญ นริศบอกว่า เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนการวิจัยสาหร่ายจิ๋ว (Zooxanthellae) ไว้ฟื้นฟูปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นการวิจัยครั้งแรกของโลก ที่ดำเนินการโดย ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ์

โดยสนับสนุนทุนในการวิจัยและที่พักสำหรับคณะวิจัย ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“เป้าหมายของกิจกรรมในครั้งนี้ คืออยากสร้างความเปลี่ยนแปลง รักษาและพลิกฟื้น หมู่เกาะพีพีให้เป็นทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมีชื่อเสียงระดับโลก และคงอยู่อย่างยั่งยืน”

นริศทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

ที่มาของ’สาหร่ายทะเลจิ๋ว’
การทดลองที่ยังรอคอย’ผลลัพธ์’

อีกหนึ่งบุคคลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยได้คือ ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ์ ผู้ริเริ่มการฟื้นฟูแนวปะการังโดยสาหร่ายทะเลจิ๋ว โดยได้เล่าว่า จากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2535 และ 2540 ได้สังเกตเห็นว่าทำไมบางก้อนฟอกขาว บางก้อนไม่ฟอกขาว

จึงได้เริ่มต้นตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) หรือ สาหร่ายจิ๋วที่อาศัยอยู่กับปะการังนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยก้อนที่ไม่ฟอกขาวอาจเป็นเพราะเป็นสายพันธุ์ที่ทนต่อความร้อนได้

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ดร.ไทยถาวรทดลองอย่างยาวนานและต่อเนื่องนับ 10 ปี โดยเริ่มจากดอกไม้ทะเล และหอยมือเสือ

และด้วยความอุตสาหะในที่สุด ดร.ไทยถาวรและทีมก็สามารถสกัด คัดแยกและเพาะเลี้ยงสาหร่ายจิ๋วที่คัดมาจากปะการังที่รอดจากการฟอกขาวได้สำเร็จ โดยเรียกว่าซุปเปอร์แองจี้ (Super Algae) รวมไปถึงประดิษฐ์อุปกรณ์ครอบปะการังเพื่อใช้ในการทดลอง

“โดยส่วนตัวขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการตัดต่อพันธุกรรมอย่างที่กังวล แต่เป็นการเพาะเลี้ยงสาหร่ายจิ๋วที่คัดจากปะการังที่รอดชีวิต”

“ซึ่งหลังจากที่ได้มีการเริ่มทดลองปรากฏว่ามีสัญญาณตอบรับที่ดีเป็นอย่างยิ่ง โดยปะการังในพื้นที่ทดลองมีการฟื้นตัวกว่า 50 เปอร์เซ็นต์”

“ที่สำคัญคือเราต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ว่าที่ปะการังหายจากการฟอกขาวได้นั้น เป็นเพราะสาหร่ายจิ๋วที่เราเพาะเลี้ยงจริง”

“และยังคงจะต้องมีการพัฒนาอุปกรณ์และวิธีการต่อไปในอนาคต” ดร.ไทยถาวรกล่าว

นับว่าเป็นหนึ่งในนิมิตหมายอันดีของทั้งประเทศไทยและทั่วโลก
ในการรับมือกับวิกฤตการณ์ปะการังฟอกขาวที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การครอบปะการัง
การครอบปะการัง
สาหร่ายทะเลจิ๋ว
อาสาสมัครลงไปฉีดสาหร่ายทะเลจิ๋วภายในอุปกรณ์ครอบ
ปะการังฟอกขาว
ปะการังฟอกขาวกระจายอยู่ทั่วบริเวณทะเลแหวก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image