อาศรมมิวสิก : ปัญหาคลาสสิกในการร้องเพลงชาติ : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : ปัญหาคลาสสิกในการร้องเพลงชาติ : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : ปัญหาคลาสสิกในการร้องเพลงชาติ : โดย สุกรี เจริญสุข

เนื่องในโอกาส 137 ปี พระเจนดุริยางค์ (13 กรกฎาคม) มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้บันทึกเสียงเพลงชาติฉบับของพระเจนดุริยางค์ เพื่อให้ครูดนตรีได้นำสำเนาโน้ตเพลงชาติต้นฉบับของพระเจนดุริยางค์ไปสอนเด็กให้ร้องเพลงชาติได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาในการร้องเพลงชาตินั้นเป็นปัญหาคลาสสิก เป็นปัญหามานานโดยที่ไม่มีใครกล้าจะแก้ไข แม้ดูเหมือนว่าเป็นปัญหาเล็กๆ เพราะไม่มีใครใส่ใจรายละเอียดของเพลงชาติ ทุกคนก็ร้องเพลงชาติเพื่อให้ผ่านไป เมื่อร้องเพลงชาติเสร็จ พิธีกรรมก็เสร็จ แล้วก็ไม่มีใครสนใจเพลงชาติอีก เพียงรู้ว่าเพลงชาติเป็นหุ้นส่วนในพิธีกรรม เวลา 8 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น ครั้งละ 46 วินาที

วันนี้ครูดนตรีมีความรู้เรื่องเพลงชาติมากขึ้น มีข้อสงสัยในการร้องเพลงชาติมากขึ้น ตั้งคำถามว่าทำไมเด็กจะต้องร้องเพลงชาติ เมื่อมีคำตอบว่ามีความจำเป็นและมีความสำคัญที่ต้องร้องเพลงชาติแล้ว ทำไมไม่ร้องเพลงชาติให้ดี ร้องให้ถูก ร้องให้ไพเราะ ทุกครั้งและทุกคนก็ควรตั้งใจร้องเพลงชาติให้เต็มกำลัง เพราะเมื่อรู้ว่าร้องเพลงชาติเป็นเรื่องที่ดี ก็ต้องร้องเพลงชาติให้ดี ครั้นตั้งใจร้องเพลงชาติก็พบว่ามีปัญหาซึ่งมีรายละเอียดที่ข้องใจ สงสัยว่าจะร้องเพลงชาติให้ถูกต้องได้อย่างไร

ปัญหาในการร้องเพลงชาติมีมากกว่าการเล่นเพลงชาติ เพราะในการเล่นเพลงชาติใช้เครื่องดนตรีเล่นให้เป็นเสียงเพลง เล่นให้ถูกโน้ต เล่นให้ตรงเสียงก็เป็นเพลงชาติที่ไพเราะได้แล้ว แต่ในการร้องเพลงชาตินั้น มีเนื้อเพลงที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญ ผู้ฟังสามารถจับผิดจากภาษาและฟังเสียงร้องเพลงชาติได้ง่ายขึ้น อาทิ ร้องเสียงไม่ตรงโน้ต ร้องออกเสียงไม่ตรงภาษา เพลงเพี้ยน เพลงเหน่อ มีบางตอนโน้ตไม่ตรงภาษา ภาษาไม่ตรงความหมาย ต้องเอื้อนเสียง ประกอบกับเพลงชาติเป็นเพลงที่มีทำนองมาก่อนเนื้อร้อง การเขียนเนื้อร้องให้ภาษาถูกความหมาย ให้เสียงตรงกับทำนองดนตรี ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังและเป็นจุดของปัญหา

Advertisement

อย่าลืมว่าพระเจนดุริยางค์ได้แต่งทำนองเพลงชาติ (Melody) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2475 และเรียบเรียงเป็นวงออเคสตราบรรเลงที่พระที่นั่งอนันตสมาคม วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ต่อมาได้ใช้เนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตรา “แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า” มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ขุนวิจิตรมาตราใช้ชื่อเมียและชื่อตัวเองใส่ลงไปในเนื้อเพลงชาติ” คืออ้างชื่อเมียว่า “ประเทือง” ชื่อตัวว่า “สง่า” แต่ข้ออ้างตกไป เมื่อขุนวิจิตรมาตราบอกว่า เมียของท่านไม่ได้ชื่อประเทือง แต่ก็ทำให้มีกระแสเพื่อประกวดแต่งเนื้อร้องเพลงชาติในปี พ.ศ.2477 เมื่อทำนองมาก่อน เนื้อร้องมาทีหลัง ก็ไม่เข้ากัน ซึ่งกรรมการที่พิจารณาสนใจเฉพาะความหมายของภาษามากกว่า

ประเด็นสำคัญของเพลงชาติคือ ความมุ่งหมายของความเป็นชาติมาก่อนและอยู่เหนือสิ่งอื่นใด จึงเป็นปัญหาให้ครูสอนร้องเพลงชาติด้วยความยากลำบากยิ่ง หากครูที่สอนร้องเพลงชาติไม่คิดอะไร มีความรู้ดนตรีก็ใช้ตามความจำเป็น มีความรู้น้อยก็สอนเพลงชาติสบายๆ แต่ถ้าครูมีความรู้และมีรายละเอียดมาก จับทุกจุดและเน้นทุกประเด็น การสอนเพลงชาติเด็กก็จะมีปัญหา เพราะครูไม่สามารถหาคำตอบหรือหาข้อสรุปได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาคาใจไปตลอดชีวิต ถกเถียงได้ทุกเมื่อ ถกได้ทุกครั้ง สุดท้าย ก็หาข้อสรุปยังไม่ได้

เนื้อร้องเพลงชาติ “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย” ประกาศ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2482

Advertisement

เมื่อฟังนักเรียนที่ร้องเพลงชาติจากทั่วประเทศแล้วก็พบว่า เด็กร้องเพลงชาติผิดทุกโรงเรียน เด็กร้องเพลงชาติผิดทุกคน โดยที่ครูดนตรี ครูในโรงเรียน ครูใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่มีใครใส่ใจจะให้เด็กร้องเพลงชาติให้ถูกต้องแม้แต่โรงเรียนเดียว ครูก็ร้องผิด ตัวอย่างปัญหาการร้องเพลงชาติ
ผิดๆ ดังนี้

ปัญหาพื้นฐานในการขับร้องเพลงชาติ เด็กนักเรียนร้องเพลงชาติมีปัญหาคือ ร้องเพลงชาติแล้วเนื้อร้องไม่ถูก อาทิ ประเทศประไทย รวมเลือดเนื้อชาติ (ฉาด) เชื้อไทย…ฮึ อยู่ดำรงคงไว้ได้ (ด่าย) ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี (สามาคคคค…คี)… ทุกหยาดเป็นชาติพลี (พะลี)… ทวีมีชัย ชโย (ไชโย)

เมื่อร้องเพลงโดยที่เนื้อร้องไม่ถูกต้อง ร้องผิดเนื้อ ร้องโน้ตเพลงไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมคือเนื้อร้องเป็นภาษาไทย ซึ่งภาษามีทำนองในตัว การร้องเพลงนิยมเอื้อนเสียงเข้าหาความหมายที่ถูกต้อง แต่โน้ตเพลงชาติเป็นทำนองสากล เขียนทำนองก่อน โดยให้ยึดทำนองเป็นหลัก เมื่อยึดทำนองแล้วภาษาก็จะผิดไป หากยึดภาษาเป็นหลักทำนองก็ผิด จึงแก้ปัญหาโดยใช้วิธีให้เอื้อนเข้าหากันแล้วยึดความหมาย

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา เพลงชาติใช้ภาษานำทาง ใช้ภาษาเป็นตัวตัดสินผิดถูก ซึ่งไม่เคยใช้ทำนองดนตรีหรือโน้ตเพลงเป็นตัวตัดสิน พระเจนดุริยางค์เองไม่มีบทบาทชี้ผิดหรือบอกให้ถูกเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่ผู้มีอำนาจ ผู้รักชาติ และนักภาษา เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดแทน วิธีการร้องเพลงชาติก็ถือปฏิบัติตามขนบเรื่อยมา ไม่มีใครกล้าแย้งหรือกล้าคัดค้าน อาจจะมีความรู้ในดนตรี แต่เมื่อบารมีไม่พอ ก็จะถูกความรักชาติสกัดให้ความถูกต้องออกไป ปล่อยให้เพลงชาติร้องกันอย่างน่าสงสารต่อไป

ทำนองเพลงชาตินั้น มาจากทำนองเพลงยอดฮิตคือ เป็นทำนองเพลงกล่อมเด็กเยอรมัน (Nursery Rhymes) ซึ่งเป็นเพลง Twinkle Twinkle Little Star หรือเพลง Baa Baa Black Sheep หรือเพลง ABC เมื่อนำทำนองมาใส่เนื้อร้องเป็นภาษาไทย “โอ้เจ้าดวงดาวน้อยน้อยเอย ลอยอยู่ในท้องฟ้ากว้างใหญ่” อาจต้องกลับไปฟังเพลงโมสาร์ท (Mozart, K. 265) ซึ่งเป็นการนำทำนองเพลงหลักมาแปรทาง (Variations) เป็นทางที่แตกต่างออกไป อาทิ ทางกลาง ทางเก็บ ทางหวาน ทางเปลี่ยน ทางพลิกแพลง หรือทางแหกคอก ทำนองเพลงชาติก็ได้นำทำนอง “ทางแปลง” มาจากเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งใช้ทางกลางเดียวกัน

เมื่อหลักฐานและต้นทุนเดิมเป็นสากลที่ชัดเจน ดังนั้น ในการบรรเลงเพลงชาติ พระเจนดุริยางค์จึงมีความคาดหวัง ต้องการความแม่นยำสูง พ่อเป็นเยอรมัน (Jacob Feit) ฝึกฝนให้ลูกเรียนดนตรีอย่างจริงจังและเคร่งครัด หลักการของพ่อก็คือ ถูกต้องคือมาตรฐาน ทำนองเพลงชาติมีความชัดเจนที่พระเจนดุริยางค์ได้ประพันธ์โดยใส่ไวยากรณ์ดนตรีคลาสสิกไว้อย่างสมบูรณ์ เมื่อนำมาใส่เนื้อร้องภาษาไทย จึงสร้างปัญหาไว้กับทำนองและคำร้องพอสมควร

ความขัดแย้งระหว่างคำร้องกับทำนองเริ่มตั้งโน้ตตัวแรกเลย ขณะที่ทำนองเริ่ม (ซอล-โด) ส่วนคำร้องเริ่มด้วย (โด-โด) ซึ่งเป็นต้นฉบับของพระเจนดุริยางค์เลย หรือท่อน “ไทย..นี้รัก..สงบ” ทำนองดนตรีแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นจังหวะกระตุก ในส่วนทำนองร้องแบ่งเป็น 2 ส่วนจะเรียบ ทำให้ทางดนตรีและทางร้องกัดกัน เพราะไวยากรณ์ดนตรีกับทางร้องไม่เหมือนกัน เพียงยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น อย่างเนื้อร้องเก่า (2477) เมื่อใส่เนื้อลงไปในทำนอง ก็กลายเป็นประเด็นให้ต้องอ้างเพื่อเปลี่ยนเพลงชาติในเวลาต่อมา เนื้อมีอยู่ว่า “บางสมัยศัตรูจู่โจมตี” เมื่อใส่ทำนองร้องออกมาแล้ว ก็กลายเป็น “บางสมัยศัตรู่ จู๋โจมตี่” ก็เยาะเย้ยถากถางว่า “นักรบไทยกลัวจู๋” อะไรทำนองนั้น

ในการเรียบเรียงดนตรีของพระเจนดุริยางค์ได้ทำไว้ก่อน (2475) ส่วนเนื้อร้องฉบับปัจจุบัน (2482) ซึ่งเป็นปีที่ฝ่ายการเมืองได้ย้ายพระเจนดุริยางค์ (อายุ 56 ปี) จากกรมศิลปากร ให้ไปอยู่กองดุริยางค์ทหารอากาศ เพราะพระเจนดุริยางค์กับหลวงวิจิตรวาทการ “ไม่ไปด้วยกัน” ด้วยเหตุที่ฝ่ายการเมืองชอบเขียนบทกลอนแล้วมอบให้ฝ่ายดนตรีนำไปใส่ให้เป็นเพลงปลุกใจหรือเพลงละคร ความไม่ลงรอยกันด้านเนื้อร้องและทำนอง ทำให้ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นคู่ขัดใจกัน

พระเจนดุริยางค์ได้คำสั่งให้ไปดูงานในประเทศยุโรป 10 เดือน กลับมาก็ถูกย้ายหน่วยงานให้ไปอยู่ที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ โอกาสที่พระเจนดุริยางค์จะควบคุมเพลงชาติฉบับใหม่ก็น้อยอยู่ ประกอบกับฝ่ายที่มีอำนาจต้องการค้นหาดาวดวงใหม่ เพื่อเข้ามาดับแสงสว่างของพระเจนดุริยางค์ ก็มีน้ำหนักอยู่

ปัญหาเพลงชาติจึงมีความขัดแย้งในตัวเพลงเอง ทำนองว่าไปอย่างหนึ่ง เนื้อร้องว่าไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพระเจนดุริยางค์ไม่ได้มีส่วนในการเขียนเนื้อร้อง คนรุ่นหลังได้พยายามตีความและลากเข้าความ ซึ่งก็ยังไม่ได้คำตอบที่นิ่งนัก ปัญหาซ่อนตัวอยู่ลึกๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากความผิดความถูกของนักร้องและนักดนตรี

ทางออกโดยรัฐมอบหมายให้สถาบันชาติจัดสัมมนาเรื่องเพลงชาติ เพื่อหาแนวทางและหาทางออก เพื่อให้ความรู้ โดยความร่วมมือของสถาบันการศึกษาดนตรี กรมศิลปากร กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ กรมและกองดุริยางค์ทหาร มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นแม่งาน เมื่อได้ทางออกแล้วก็ขอให้ทำเป็นคู่มืออธิบายการร้องและการบรรเลง พิธีกรรมเพลงชาติ ตีพิมพ์คู่มือเพลงชาติฉบับที่สัมมนาออกเผยแพร่ให้แก่โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วไป ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีไม่น้อย

เพลงชาติโดยพระเจนดุริยางค์ หากได้ทำความตกลงเรื่องเสียงดนตรี เสียงร้อง ร้องให้เหมือน ร้องให้ถูกตามต้นฉบับ เล่นดนตรีให้ถูกต้อง เพลงชาติจะมีมาตรฐานชัดเจนและมีความไพเราะไม่น้อยทีเดียว เมื่อมีนักร้องที่มีคุณภาพ มีนักดนตรีคนเก่งของชาติได้เล่นเพลงชาติอย่างภาคภูมิใจ เชื่อว่าเพลงชาติจะทำให้ทุกคนอยากฟังและอยากร้องกันทั้งประเทศทีเดียว

วันนี้เด็กไทยมีความรู้และความสามารถดนตรีสูง รองรับและต่อยอดผลงานพระเจนดุริยางค์ได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี สังคมจะได้เข้าใจในสิ่งที่พระเจนดุริยางค์สร้างไว้ รับรู้และเคารพความมีมาตรฐานด้านดนตรีของพระเจนดุริยางค์มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ เพลงชาติเป็นเพลงมาตรฐานชาติที่น่ายกย่องยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image