อาศรมมิวสิก : โอกาสของอาชีพศิลปินดนตรี จากไม่มีราคา ไม่มีพื้นที่ และไม่มีตัวตน : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : โอกาสของอาชีพศิลปินดนตรี จากไม่มีราคา ไม่มีพื้นที่ และไม่มีตัวตน : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : โอกาสของอาชีพศิลปินดนตรีจากไม่มีราคา ไม่มีพื้นที่ และไม่มีตัวตน : โดย สุกรี เจริญสุข

ก่อนการเลิกทาส พ.ศ.2448 ดนตรีเป็นหน้าที่ของทาสและไพร่ที่คอยบำรุงบำเรอเจ้านาย วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ตอนที่ท้าวสุทัศน์ตรัสบริภาษพระอภัยมณีที่ไปเรียนดนตรีวิชาเป่าปี่ โดยดนตรีอยู่ในตระกูลผู้เชี่ยวชาญ อาทิ หมอผี หมอตำแย หมอนวด หมอยา หมอรักษา หมอลำ หมอแคน หมอความ ซึ่งมีตระกูลสูงเพราะต้องใช้ทักษะฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนตระกูลที่ต้องใช้ทักษะฝีมือเป็นหลักนั้นเรียกว่า ช่าง อาทิ ช่างแกะ ช่างเขียน ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างลงรักปิดทอง ช่างบุ ช่างปูน เป็นต้น ซึ่งช่างทำด้วยฝีมือ ทำซ้ำๆ โดยใช้แรงงานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม วิชาดนตรีมีราคาค่าเรียนแพง เพราะพราหมณ์สอนให้คนชั้นสูงเท่านั้น “ไม่ต้องการให้ไพร่ได้วิชา”

อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลง เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง

แต่พวกกูผู้หญิงที่ในวัง มันก็ยังเรียนร่ำได้ชำนาญ

Advertisement

นักดนตรีเป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ในวัง “ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ” คือเล่นทุกวันโดยไม่ต้องฝึกซ้อมเพราะเป็นหน้าที่ นักดนตรีเหล่านี้เจ้านายเลี้ยง ไม่ต้องออกไปทำมาหากินที่ไหน

แต่ถ้าเป็นนักดนตรีที่อยู่นอกวัง มีหลักฐานที่สามพราหมณ์ถามพระอภัยมณีว่า เป็นการเล่นเพื่อสนุกสนาน เพื่อความบันเทิง เล่นดนตรีได้ไว้อวดผู้หญิง แบบพี่เป็นนักดนตรีนะน้อง ประมาณนั้น

อันดนตรีมีคุณที่ข้อไหน หรือใช้ได้แต่ข้างเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง
ยังสงสัยในจิตคิดประวิง จงแจ้งจริงให้สว่างกระจ่างใจ

Advertisement

อีกหลักฐานหนึ่งที่อาชีพดนตรีของคนที่อยู่นอกวังใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์ประกอบอาชีพขอทาน จากวรรณคดีเรื่องระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ดนตรีตกเป็นจำเลย เป็นวิชาที่ต่ำต้อย เป็นวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน เป็นวิชาของพวกเสเพล ขี้เมา ยากจน ศิลปินไส้แห้ง เชื่อถือไม่ได้

เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง เป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย
ไม่มีใครชังชิงทั้งหญิงชาย ต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี
พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์ ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่
บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณี ภูมีซบเซาเมากัญชา

เมื่อผมมีโอกาสสร้างสถาบันดนตรี (พ.ศ.2537) มุ่งพัฒนาฝีมือ สร้างฐานะและมาตรฐานวิชาชีพดนตรีใหม่ เพื่อให้เป็นวิชาที่มีเกียรติและเชื่อถือได้ การสร้างคนดนตรีให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ทางปฏิบัตินั้นต้องหาครูเก่งมาสอน เฉียบขาดเอาจริงกับความประพฤติ ไม่ให้พื้นที่กับครูดนตรีขี้เมา ขี้เหล้า เจ้าชู้ ขี้หลี ขี้เกียจ ขี้โกง ขี้โม้ ขี้คุย คนไหนที่มีปัญหาเรื่องเหล่านี้ก็เชิญออก

ขณะเดียวกันก็สร้างฐานะความน่าเชื่อถือของนักเรียนดนตรีและสถาบันการดนตรี โดยพัฒนาเรื่องความมีระเบียบ เพราะระเบียบคือพื้นฐานของความเจริญ พัฒนาเรื่องความสะอาดทั้งกายและใจ เพราะว่าความสะอาดเป็นความเจริญ

การสร้างอาชีพนักดนตรีใหม่โดยถือฝีมือเป็นมาตรฐานใหม่ที่เกิดขึ้น ได้สร้างวงดนตรีอาชีพให้มีฝีมือสูงและมีราคาค่าตัวสูง เพราะราคาความน่าเชื่อถือคือเงินรายได้ (พ.ศ.2548-2560) ถือว่าเป็นวงดนตรีอาชีพที่นักดนตรีมีเงินเดือนสูง เพราะเงินเป็นเรื่องใหญ่ของนักดนตรี “เสียงดังตังค์มา” ทำให้นักดนตรีมีฐานะดีเท่าที่เคยมีอาชีพในเมืองไทย คนดนตรีมีกิน มีงานมั่นคง และมีเกียรติน่าเชื่อถือ

เมื่อโรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นโรคระบาดแพร่จากคนสู่คน เข้าไปทำลายระบบการหายใจ ปอดติดเชื้อถึงแก่ชีวิต โรคระบาดโควิด-19 เข้าสู่ไทยต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านตัดผม ศูนย์การค้า ฯลฯ ศิลปินตกงาน

นักดนตรีเสียชีวิต จากบันทึกของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม วันที่ 30 มีนาคม 2563 ผู้ป่วยโรคโควิด-19 อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ผู้ป่วยชาย อายุ 48 ปี อาชีพนักดนตรีกลางคืน ทำงานเป็นนักดนตรีอยู่ในผับ พื้นที่กรุงเทพมหานคร เวียนเล่นหลายร้านในย่านโรงพยาบาลศิริราชและปิ่นเกล้า วันที่ 21 มีนาคม ได้เดินทางกลับบ้านอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย วันที่ 26 มีนาคม รู้สึกผิดปกติ ปวดท้อง ได้เรียกรถกู้ชีพนำส่งโรงพยาบาล กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 30 มีนาคม 2563

นักดนตรีผูกคอตาย วันที่ 14 เมษายน 2563 มีนักร้องเพลงเพื่อชีวิต ตกงานเครียดซึ่งได้ผูกคอตายกับต้นโกงกาง ชื่อนายจรูญศักดิ์ อายุ 39 ปี ชาวสกลนคร ผูกคอตายที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ ซึ่งเป็นนักร้องเพลงเพื่อชีวิตที่ร้านอาหารบริเวณสถานที่เสียชีวิต

แพทย์ได้แนะนำให้ศิลปินและคนกลางคืนเปลี่ยนอาชีพใหม่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจสถานบันเทิง ผับ บาร์ เป็นพื้นที่สีแดง จะต้องปิดต่อเนื่องไปอีกนาน เพราะเป็นธุรกิจกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสูง โดยแนะนำให้เลิกอาชีพและเปลี่ยนไปมีอาชีพใหม่

ศิลปินหมอลำซิ่ง บัวผัน ทังโส งานหดหมดรายได้เสียหายนับล้าน หนักสุดในรอบ 20 ปี ทำให้ลูกน้องต้องแยกย้ายกันไป พวกเครื่องเสียง เวที หางเครื่อง ต้องแยกย้ายกันกลับไปอยู่บ้าน ต้องประคองตัวมากที่สุด อาชีพหมอลำซิ่ง หมอลำหมู่ นักร้อง ต้องหยุดหมด

เมื่อประเทศบริหารโดยหมอ หมอสามารถให้คำแนะนำรัฐบาลเพื่อระงับการแพร่เชื้อโรคได้ อาชีพคนกลางคืนเดือดร้อน แต่เมื่อความปลอดภัยต้องมาก่อน ชีวิตก็มีทางโดยให้เลือกเอาว่า จะอดตาย หรือจะเป็นโรคระบาดตาย เพราะสถานบันเทิงและงานสังสรรค์ถูกสั่งให้งดการจัดงานเพื่อลดการชุมนุม ทำให้วงดนตรีและระบบแสงสีเสียงขาดรายได้ มีความเดือดร้อนนานกว่า 3 เดือน งานที่รับไว้ถูกยกเลิกหมด

นายวินัย ขวัญเผือก เจ้าของบริษัทแสงสีเสียง ตำบลเขาท่าพระ เมืองชัยนาท เปิดเผยว่า คนวงการบันเทิงทั่วประเทศ นัดกันยิงไฟขึ้นฟ้าพร้อมกัน เวลา 19.00-20.00 น. ในวันที่ 23-24 พฤษภาคม เพื่อที่จะเรียกร้องให้ทางราชการช่วยคลายล็อกให้กลุ่มอาชีพของพวกตน เพราะคนงาน นักร้อง แดนเซอร์ แตรวงแห่ เดือดร้อน ตกงาน และขาดรายได้

วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 บริษัท โมโน มิวสิค ได้แถลงการณ์
ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีภาวะชะลอตัว บริษัทมีมติเห็นชอบให้หยุดการดำเนินธุรกิจและยุติบทบาททั้งหมด บริษัทขอขอบคุณแฟนเพลงที่ได้สนับสนุนผลงานเพลงของบริษัท

วันที่ 15 มิถุนายน 2563 รัฐบาลประกาศให้อาชีพสีแดง ดนตรีสดในร้านอาหาร โรงแรม (เฟส 5) ให้เปิดกิจการแสดงต่างๆ ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งก็ต้องเฝ้าระวัง หากโรคโควิดกลับมาระบาดอีก ก็ต้องปิดกิจกรรมในพื้นที่อาชีพสีแดง ศิลปินคนทำงานกลางคืนต้องรอคอยต่อไป

คนบันเทิงรวมตัวเพื่อเรียกร้องและเสนอให้แก่รัฐบาล โดยนายคฑาวุธ ทองไทย ประธานสมาพันธ์เครือข่ายศิลปินแห่งประเทศไทย นายประยงค์ ชื่นเย็น ศิลปินแห่งชาติ นายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุดา ชื่นบาน อุปนายกสมาคมดนตรีฯ นายธเนส สุขวัฒน์ นักแต่งเพลง ผู้ผลิตเพลง ผู้จัดการแสดงดนตรี นักจัดรายการวิทยุ นายวรพจน์
นิ่มวิจิตร กลุ่มมิวสิคดิจิตัลคอนเทนต์ แอนด์ ก็อปปี้ไรท์ นายบริพันธ์ ชัยภูมิ นายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกิตติ ปักษี นายกสมาคมศิลปินตลก และนายวีรวัฒน์ รัตนะ เลขานุการสมาพันธ์เครือข่ายศิลปินแห่งประเทศไทย รวมพลังเพื่อขอพบรัฐบาล

ธุรกิจท่องเที่ยวมีคนบันเทิงที่อยู่ข้างหลังเป็นล้านคน เมื่อไทยเปิดเป็นเมืองท่องเที่ยว ความบันเทิงในทุกรูปแบบกลายเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของการท่องเที่ยว เมื่อปิดกิจการ หยุดท่องเที่ยว คนบันเทิงก็ตกงาน คนทำงานในพื้นที่มืด โสเภณี นักระบำเปลื้องผ้า (จ้ำบ๊ะ) แดนเซอร์ นักร้อง นักดนตรี นักตลกบนเวที ช่างไฟ ช่างเสียง คนขนเครื่องดนตรี คนขับรถรับจ้าง ร้านอาหาร คนบริการอาหาร คนครัว คนล้างจาน คนเก็บขยะ ฯลฯ อาชีพเหล่านี้เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของการท่องเที่ยว

ความจริงของสังคมคือ คนบันเทิงมีอาชีพหาค่ำกินเช้า ทำงานกลางคืน นอนกลางวัน ไม่มีพื้นที่ในสังคม ไม่มีตัวตน เป็นคนเร่ร่อน มีงานไม่แน่นอน รายได้ไม่แน่นอน ชีวิตไม่แน่นอน กำหนดชีวิตไม่ได้ ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น ทำงานรับจ้างแบบตลาดสด เป็นอาชีพที่ไม่อยู่ในนิยามใดๆ เป็นอาชีพตกสำรวจของรัฐ เป็นอาชีพที่ไม่มีความหมาย คนบันเทิงเป็นอาชีพที่ไม่มีพลังในการต่อรองกับรัฐแต่อย่างใด

หากรัฐมีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หลักการท่องเที่ยว เป็นมูลค่าเพิ่มในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปินสร้างความเท่ให้แก่ผู้คน ศิลปินเป็นเสน่ห์ของเมือง ทำให้คนมีรสนิยม ฝีมือศิลปินเป็นราคาของความน่าเชื่อถือ หากรัฐได้ให้โอกาสและให้การสนับสนุนศักยภาพความเป็นเลิศของศิลปินให้เป็นมืออาชีพและได้ทำงานเต็มตัว

สิ่งที่รัฐจะต้องทำเวลานี้ คือ การเปิดพื้นที่ทำมาหากินให้ศิลปินได้ทำงานโดยเร็ว เปิดพื้นที่พร้อมกับมาตรการป้องกันโรคได้ รัฐควรทบทวนการเยียวยาให้แก่คนเหล่านี้เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นพลังในการสร้างงาน รัฐควรถือโอกาสแก้ตัวใหม่ โดยให้การสนับสนุนทุนเงินกู้ เพื่อให้ศิลปินไปสร้างงานแบบให้เปล่า แบบปลอดดอกเบี้ย หรือแบบดอกเบี้ยต่ำ ตามศักยภาพ เพราะสิ่งเหล่านี้ศิลปินไม่เคยได้รับสวัสดิการมาก่อน ถือโอกาสให้รัฐได้สนับสนุนให้ศิลปินไทยได้เริ่มต้นโฉมหน้าใหม่

อย่าลืมว่า ในอดีตนั้น สังคมเราใช้บุคคลในพื้นที่มืด โสเภณี นักระบำเปลื้องผ้า (จ้ำบ๊ะ) แดนเซอร์ นักร้อง นักดนตรี เป็นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของการท่องเที่ยว เรียกว่า อะเมซิ่งไทยแลนด์ (Amazing Thailand) อันซีนไทยแลนด์ (Unseen Thailand) รวมทั้งเมืองฟักกิ้งซิตี้ (Fucking City) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจมืดแบบลับๆ ล่อๆ ต่ำกว่าสะดือ

หากรัฐได้พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ศิลปินทำงานที่สูงกว่าสะดือและได้ทำเต็มศักยภาพ ประเทศไทยเปิดโฉมใหม่มีพื้นที่สว่างขึ้น ชีวิตของศิลปินจะมีเกียรติและน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image