รูปถ่าย คลิปวิดีโอ และสิทธิเด็ก เรื่องเก่าๆ ที่เรายังต้องทำความเข้าใจ

คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรแล้วที่ในโลกที่ทุกวันนี้ เราเกือบๆ จะประสานสายตากับเลนส์กล้องมากกว่าดวงตาเบื้องหลัง

ระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งภาพและคลิปไม่ว่าจะในเชิงขำขัน, กราดเกรี้ยว หรือแม้แต่ภาพนิ่งธรรมดานั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของเด็ก-ซึ่งแน่นอนว่าโดยมากแล้วยังไม่บรรลุนิติภาวะและห่างจากระดับอายุนั้นอยู่หลายสิบปี

ทั้งคุณครูผู้ถ่ายคลิปวิดีโอลูกศิษย์ขอโทษขอโพยกันหลังต่อยกันปากแตก พร้อมการสั่งสอนกลั้วเสียงหัวเราะของผู้คนหลังคีย์บอร์ดนับพันนับหมื่นคน, ลูกซึ่งหวดไม้กวาดใส่แม่ และตามมาด้วยความคิดเห็นเชิงสั่งสอนจากผู้คนในโลกโซเชียลอีกนับไม่ถ้วน, อดีตดาราเด็กซึ่งครั้งหนึ่งโด่งดังด้วยใบหน้าน่ารักน่าเอ็นดูที่เพิ่งออกมาเขียนสเตตัสบอกเล่าชีวิตเบื้องหลังกล้องของตนในวัยเด็ก และล่าสุด หญิงสาวผู้ซึ่งเป็นคุณแม่ของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ระบุพิกัดที่อยู่ เวลาของลูกสาวชนิดเรียลไทม์ อันนำมาสู่ข้อสงสัยว่าจะเป็นการเปิดช่องให้อันตรายมาถึงตัวเด็กหญิงได้หรือไม่

ฯลฯ

Advertisement

มากน้อย อาจต้องกลับไปย้อนถามว่า การถ่ายรูป ถ่ายคลิปวิดีโอของเด็กมาโพสต์ลงออนไลน์แบบนี้นับเป็นการ “ละเมิดสิทธิ” เด็กหรือไม่

ย้อนไปเมื่อปี 2535 ประเทศไทยได้ให้ สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กๆ ไว้อยู่ 4 ประการ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด, สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา, สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิที่ในการมีส่วนร่วม

“สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม” อันหมายความถึง หากเด็กเหล่านั้นไม่พอใจที่จะให้ตัวตนของพวกเขาปรากฏอยู่บนภาพหรือคลิป เขาย่อมมีสิทธิจะชี้แจงและออกความคิดเห็น

คำถามคือแล้วผู้ใหญ่ได้ถามพวกเขาหรือยัง
หรือกระทั่ง-คิดจะถามพวกเขาบ้างหรือไม่

 

Cyberbullying
โลกอีกใบที่เด็กต้องเผชิญ

อาจจะอย่างที่ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวไว้ในงานเสวนา “คลิปเด็ก” ถ่าย โพสต์ แชร์… มองให้ลึกกว่าความน่ารัก ว่าพ้นไปจากความปรารถนาดี ความรู้สึกเอ็นดูของผู้ปกครองภายหลังถ่ายรูปบุตรหลานลงโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้ว หลายคนลืมคำนึงว่าเด็กบางคนไม่ได้อยากเป็นที่รู้จักหรือกระทั่งถูกถ่ายรูป-ซึ่งปัญหาที่ตามมาหลังจากชีวิตส่วนตัวของพวกเขาถูกแพร่อยู่ในโลกเสมือนเหล่านั้นคือ มากน้อยย่อมส่งผลต่อความเป็นตัวตนของเด็กเองอย่างเลี่ยงไม่ได้ หนักหนากว่านั้น มันอาจนำไปสู่การที่เด็กถูก Cyber-bullying หรือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ที่สร้างแผลลึกในชีวิตจริง

“อย่างกรณีที่คุณครูถ่ายคลิปวิดีโอเด็กทะเลาะกันแล้วครูพยายามสั่งสอน หรือคลิปนักเรียนยืนหลับ พอแพร่ไปในโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้วหลายคนก็ขำ หัวเราะ เด็กก็กลายเป็นตัวตลกทั้งที่บางทีเขาก็ไม่ได้อยากเป็น” พญ.จิราภรณ์กล่าว ทั้งยังยกอีกคลิปหนึ่งซึ่งแม้แต่สื่อกระแสหลักหลายหัวก็เผยแพร่ลงเว็บไซต์ออนไลน์อย่างลูกที่ใช้ไม้กวาดหวดหน้าแม่

“โลกโซเชียลนั้นดูมีคุณธรรมสูงมาก เด็กในคลิปโดนด่าเยอะมากจากคนในโลกออนไลน์ แต่จริงๆ ที่เราควรเรียนรู้คือ ก่อนหน้านี้เกิดอะไรขึ้นกับเขา แล้วพอนำคลิปมาเผยแพร่แบบนี้มันก็กลายเป็นคลิปที่รุนแรง”

“เราต้องเรียนรู้ว่านอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว การทำเช่นนี้ยังทำให้เด็กเกลียดคนในครอบครัวด้วย มากกว่านั้นคือเขาต้องรับคำวิจารณ์จากโซเชียลมีเดียอีกแบบไม่มีที่สิ้นสุด”

ในยุคที่ใครก็แสดงความเห็นได้ผ่านการเคาะแป้นคีย์บอร์ดเช่นนี้ คำวิจารณ์หลากหลายที่มาจึงถาโถมเข้าสู่ตัวเป้าหมาย-ซึ่งคือเด็ก ชนิดที่เจ้าตัวตั้งรับแทบไม่ทัน และยังไม่ต้องนับว่า การยืดอกรับฟังคำตักเตือน สั่งสอน หรือกระทั่งด่าทอจากบุคคลซึ่งไม่เห็นหน้าและไม่ได้รู้จักกันในชีวิตจริงนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องหอมหวานหรือง่ายแก่การยิ้มสู้

“บางทีเราก็วิจารณ์แบบไม่สนใจว่าเขาเป็นลูกใคร วิจารณ์กันเต็มที่ ไม่สนใจการเคารพสิทธิในการใช้โลกโซเชียล ซึ่งที่สุดแล้วมันกระทบเด็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ อาจส่งผลให้เขาเป็นเด็กตื่นกลัวสังคม กลัวคนจำได้ หลายคนเป็นภาวะเครียด ซึมเศร้าจากเหตุการณ์ในอดีตก็มี”

ทั้งหมดนี้ จุดเริ่มต้นอาจมาจากการที่ผู้ใหญ่ในประเทศไทยมองข้ามความสำคัญ-หรือไม่ทราบมาก่อน-ว่ามีสิทธิเด็กอยู่บนโลก นำไปสู่การมองว่าเด็กไม่มีสิทธิเสียงเท่าคนโต

ไม่นับว่าหลายครั้ง ผู้ใหญ่ยังยกและให้ภาพตัวเองเป็น “เจ้าของ” เด็กเสียด้วยซ้ำไป

“จึงมีความคิดว่าจะทำอย่างไรกับเด็กก็ได้ จะให้เขาเป็นคนสาธารณะก็ได้ ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนละเมิดสิทธิของเขา”

และใช่ไหมว่า ในสังคมไทยนี้แทบไม่เคยมีการสอนให้เด็กรู้ถึงสิทธิของตน แทบทุกอย่างของเด็กจึงวางอยู่บนความพอใจของผู้ใหญ่ และรูปถ่ายรวมถึงคลิปวิดีโอคือหลักฐานว่าผู้ใหญ่ล้วนเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น นับตั้งแต่กระบวนการกดชัตเตอร์ไปจนถึงโพสต์ลงอินเตอร์เน็ต

และยิ่งในยุคที่โลกเสมือนมีบทบาทขับเคลื่อนโลกจริง ไม่แปลกที่พ่อแม่บางคนจะรู้สึกว่าโซเชียลมีเดียมีบทบาทต่อพวกเขาเช่นกัน

พญ.จิราภรณ์ ยกตัวอย่างคลิปเด็กร้องไห้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจมากเมื่อนึกขึ้นได้ว่า แทนที่แม่ของเด็กจะหยิบกล้องมาถ่าย-ใช่หรือไม่ว่าเธอควรจะปลอบโยนลูก

“หลายครั้งพ่อแม่ก็ถูกสังคมหล่อหลอม อย่างการโพสต์รูปลูกแล้วเห็นว่าได้ยอดไลค์เยอะ จนบางทีก็ทำหน้าที่ของการเป็นกล้องแทนพ่อแม่ไป”

“ทั้งที่ช่วงเวลาเหล่านั้น เด็กต้องการพ่อแม่มากกว่ากล้องมากๆ”

 

เด็กไม่ใช่สินค้าที่มีมูลค่า
แต่เป็นคนที่ต้องได้รับการปกป้องสิทธิ

เช่นเดียวกับชายหนุ่มผู้คลุกคลีอยู่ในวงการข้อถกเถียงและตรรกะบนโลกออนไลน์อย่าง จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แห่ง Drama-addict เองก็ให้ความเห็นว่า ในเฟซบุ๊ก มีหลายคน หลายเพจ แสดงความเห็นเรื่องสิทธิของเด็กแต่กลับถูกผู้ปกครองหลายร้อยหลายพันคนถล่มเละจนท้อถอย หมดกำลังใจจะพูดเรื่องสิทธิเด็กไปก็เยอะ-ด้วยถ้อยคำอย่าง “โลกสวย”, “นี่เป็นเรื่องของคนในครอบครัว” ไปจนถึง “พ่อแม่ย่อมต้องเลือกสิ่งที่ดีให้ลูกอยู่แล้ว” ฯลฯ

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าสังคมไม่เคยตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิเด็ก

และแน่นอนว่า-มันย่อมสะท้อนทัศนคติที่ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กคือสินค้ามีมูลค่า ไม่ใช่คนที่ต้องได้รับการปกป้องสิทธิ

“ก่อนหน้านี้ เคยมีกรณีที่แม่เห็นว่าลูกน่ารักก็เลยตั้งเพจแล้วลงรูปลูกบ่อยๆ จนผ่านไปสักพัก มีคนเข้ามาเรียกลูกของคุณแม่คนนี้ด้วยชื่ออื่นที่ไม่ใช่ชื่อลูกเขา ซึ่งผลปรากฏว่า ที่ผ่านมามีคนเอารูปลูกเขาไปอ้างเป็นตุเป็นตะ และหาผลประโยชน์โดยใช้ชื่ออีกชื่อหนึ่ง”

“ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ผู้ปกครองก็ไม่ควรโพสต์รูปลง เพราะมันเปิดโอกาสให้คนเข้ามาทำร้ายเด็กได้ง่ายขึ้น หรืออาชญากรอาจตามเด็กไปสู่โรงเรียนและชีวิตส่วนตัวเขาได้ด้วย”

โลกเสมือนจริง
ที่ควบคู่และส่งผลต่อโลกจริง

ใกล้เคียงกับที่จ่าพิชิตเสนอ ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ผู้ใหญ่ในสังคมไทยมักมองเด็กเป็น “สมบัติ”

“สังคมมีปัญหาเรื่องการตัดสินว่าเด็กควรใช้สิทธิอย่างไร แม้ว่าภาพเด็กที่ลงจะเป็นภาพน่ารักๆ แต่ก็ควรถามเด็กก่อน”

“เราไม่เคยถามเด็กว่าเด็กต้องการอะไร”

โดยเฉพาะในยุคที่โลกเสมือนอย่างโซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างมากในชีวิตมนุษย์ และทับซ้อนกับพื้นที่การใช้ชีวิตจริงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในความรู้สึกของหลายๆ คนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับความเหลื่อมกันที่ว่าของโลกทั้งสอง

“บางคนชอบคิดว่าจะทำอะไร แสดงความเห็นอย่างไรผ่านโลกเสมือนก็ได้ เพราะมันไม่ใช่ชีวิตจริง แต่ว่าทุกวันนี้เราก็รู้จักคนมากมายผ่านโลกเสมือนที่ว่าอยู่แล้ว”

“ความเห็นที่เราแสดงออกไปในโซเชียลมีเดีย มันจะติดตัวเด็กๆ ไปตลอดกาล”

นับเฉพาะในวันนี้ ผศ.มรรยาท กล่าวว่า พ่อแม่เด็กเองก็ใช้เฟซบุ๊กมากถึง 89 เปอร์เซ็นต์ และโพสต์รูปลูกของตนลงในหลายความหมาย อาจเพื่อให้โลกรับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวเด็ก ไปจนกระทั่งโพสต์ให้ครอบครัวและเครือข่ายตนเองเห็นอย่างเงียบๆ แต่นั่นย่อมไม่ได้เป็นการรับประกันว่ารูปบุตรหลานจะไม่แพร่ไปที่อื่น เพราะถึงอย่างไร โลกเสมือนที่ว่าก็ยังมีฟังก์ชั่นให้แชร์ให้เซฟไปโพสต์ต่ออยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

“ตัวเราเองก็เป็นแม่คน ก็โพสต์รูปลูกบ้าง แต่เราต้องไม่คิดว่าลูกเป็นสมบัติของเรา”

“เราต้องดูว่าโพสต์ไปแล้ว ลูกจะอับอายหรือกลายเป็นตัวตลกไหม เพราะถึงที่สุด คงไม่มีใครอยากเป็นตัวตลกของใครแน่นอน”

สิทธิความเป็นส่วนตัว
เรื่องของเด็กที่ไม่ควรมองข้าม

ประเด็นนี้ถูกสนับสนุนด้วยความเห็นจาก ณัฐวุฒิ บัวประทุม หัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ต่อกรณีความรับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ของเด็กเอง

“เราเองอยากปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของเรา เด็กเองก็เช่นกัน”

ซึ่งแน่นอนว่า ก็ย่อมมีเด็กหลายคนที่สนุกสนานที่จะโลดแล่นอยู่กับชื่อเสียงและโลกออนไลน์ แต่ก็ใช่ไหม ที่เด็กอีกหลายคนอาจไม่สนุก และอาจรู้สึกถูกคุกคามอยู่เงียบๆ

“ถ้าสิ่งที่เราโพสต์มันไปทำลายชีวิตใคร เรายังจะดันทุรังโพสต์อยู่ไหม”

ยิ่งกับคลิปวิดีโอที่มีเด็กใช้ความรุนแรงซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น ณัฐวุฒิย้ำว่ายิ่งต้องระมัดระวังและพึงตระหนักอยู่เสมอ

“ถ้าเราไม่ดูแลเด็กอย่างตรงตามสิทธิมนุษยชน เขาก็จะถูกผลักไปสู่โลกอีกด้านในที่สุดนั่นเอง”

ก็ใช่ที่ว่า ในโลกทุกวันนี้ นี่อาจไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่ก็ใช่ไหมว่าถ้าเป็นประเด็นเก่า-เหตุใดเรื่องเหล่านี้ยังถูกยำขึ้นมาถกกันในชั่วระยะไม่กี่ปี

หรือเพราะเราอาจยังไม่เคยเรียนรู้อะไรจากเรื่องเก่าๆ มากพอ

ก็อาจจะดีกว่า ถ้าวางเลนส์กล้องลงเพื่อประสานสายตาต่อสายตากับอีกฝ่าย
อย่างไม่มีอะไรมาขวางกลาง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image