สุวรรณภูมิในอาเซียน : คณะราษฎร‘2475’ อนุรักษ์และสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรม‘ประชาธิปไตย’ : รายงานโดย ผู้สื่อข่าวพิเศษ

: รายงานโดย ผู้สื่อข่าวพิเศษ

สุวรรณภูมิในอาเซี่ยน : คณะราษฎร‘2475’ อนุรักษ์และสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรม‘ประชาธิปไตย’ : รายงานโดย ผู้สื่อข่าวพิเศษ

คณะราษฎร “2475” อนุรักษ์และสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม “ประชาธิปไตย” ด้วยหลักการสำคัญ 2 อย่าง ดังนี้

1.อนุรักษ์ คณะราษฎรอนุรักษ์โดยสืบทอดด้วยความเคารพบูชาศิลปวัฒนธรรมราชสำนักที่มีอยู่ก่อน พ.ศ.2475 เรื่องนี้หลวงวิจิตรวาทการ (อธิบดีกรมศิลปากร คนแรก พ.ศ.2477-2485) เขียนเล่าไว้ว่า
“ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านปรีดี พนมยงค์ มีความเห็นสอดคล้องต้องกัน และยืนยันให้ข้าพเจ้าไปอยู่กรมศิลปากรในเวลานั้น

ข้าพเจ้าเข้าไปด้วยความเคารพต่อทุกสิ่งทุกอย่าง งานหอสมุดก็ดี งานพิพิธภัณฑ์ก็ดี งานช่างก็ดี เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือของชาวไทยทั่วไป ได้ทรงสร้างไว้ด้วยความเหนื่อยยากและอุตสาหะพยายามเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

งานพิพิธภัณฑ์เป็นงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เป็นผู้ทรงก่อกําเนิด และทรงสร้างขึ้นมาเป็นงานใหญ่อย่างน่าพิศวง
งานหอสมุดนั้นเจ้านายสองพระองค์ คือ สมเด็จฯ ที่กล่าวพระนามมาแล้ว และพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ได้ทรงสร้างไว้

ส่วนงานช่างทางศิลปากรสถาน มีงานสถาปัตยกรรม งานช่างปั้น ช่างเขียน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสร้างไว้

ข้าพเจ้าเข้าไปด้วยความเคารพบูชา และตั้งปณิธานอันแน่วแน่ว่า สิ่งที่ท่านได้สร้างไว้แล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้เสื่อมโทรมเลยเป็นอันขาด แผนการและนโยบายของพระองค์ท่านมีอยู่อย่างไร ข้าพเจ้าจะดําเนินเจริญรอยและทําต่อไปตามแผนการให้งานเจริญก้าวหน้า และแตกกิ่งก้านสาขาออกไปโดยไม่รื้อทําใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงอะไร”

Advertisement

[จากหนังสือ “วิจิตรวาทการอนุสรณ์” พ.ศ.2505 อ้างในหนังสือ ชาติไทยและความเป็นไทย โดยหลวงวิจิตรวาทการ ของ สายชล
สัตยานุรักษ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2545 หน้า 6-7]

2.สร้างสรรค์ คณะราษฎรสร้างสรรค์มุ่งสู่สากลในศิลปวัฒนธรรม “ประชาธิปไตย” เพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่เข้าถึงง่ายและกว้างขวาง ดังบันทึกของหลวงวิจิตรวาทการ เล่าว่า

“เว้นแต่งานอันหนึ่ง ซึ่งได้ออกกฎหมายไว้ แต่ยังมิได้ลงมือทํา คืองานละครและดนตรี ข้าพเจ้าจะต้องทําในฐานะเป็นงานใหม่ของข้าพเจ้า”

กรมศิลปากร มีกำเนิดจากคณะราษฎร
ในสมัยปกครองระบอบประชาธิปไตย

โดย ธนิต อยู่โพธิ์
[อดีตอธิบดีกรมศิลปากร คัดจากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายธนิต อยู่โพธิ์ พ.ศ.2547 หน้า 10-11]


กรมศิลปากร ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว

รัฐบาลได้ตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่ คงสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ.2484 และต่อมาในปี พ.ศ.2485 กรมศิลปากรได้ย้ายสังกัดไปขึ้นอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อได้ตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้น กรมศิลปากรก็ย้ายสังกัดไปขึ้นอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2496 และเมื่อยุบกระทรวงวัฒนธรรมลงใน พ.ศ.2502 กรมศิลปากรก็ย้ายสังกัดกลับไปอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดิม


รำวง สร้างสรรค์โดยคณะราษฎร

[จากหนังสือ “วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย”
โดย ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2549 หน้า 58-59]

 

: รายงานโดย ผู้สื่อข่าวพิเศษ

 รำวงของข้าราชการ วันสถาปนากระทรวงคมนาคม 1 เมษายน พ.ศ.2487

 รำวงมาตรฐาน สร้างสรรค์โดยคณะราษฎร (ภาพเก่าจากหนังสือ “รำวง” กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2514 หน้า 14)


รำวงมาจากการรำโทน ซึ่งเป็นการเล่นพื้นเมืองของชาวไทย
เครื่องดนตรีที่ใช้มีฉิ่ง กรับ และโทน สำหรับตีเป็นจังหวะประกอบฟ้อนรำ

โดยเหตุที่การฟ้อนรำใช้จังหวะโทนตีตามหน้าทับ ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยเฉพาะเป็นหลักสำคัญ จึงเรียกฟ้อนรำแบบนี้ว่า “รำโทน”

พ.ศ.2487 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้กรมศิลปากรปรับปรุงการเล่นรำโทนใหม่ เพื่อให้เป็นวัฒนธรรมความบันเทิงที่มีแบบแผน กรมศิลปากรจึงนำรำโทนมาดัดแปลงโดยใส่ท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่จากท่ารำนาฏศิลป์พื้นฐาน ใช้เครื่องดนตรีตะวันตก เช่น กลอง แทมบูริน ฯลฯ บรรเลงประกอบ และแต่งเพลงไทยสากลที่มีทำนองสนุกสนานประกอบท่ารำเรียกว่า “รำวงมาตรฐาน”

ปรากฏว่ารำวงได้รับความนิยมแพร่หลาย ประชาชนนิยมนำรำวงไปร่วมรำเล่น เพื่อความสนุกสนาน รำเต้นไปตามลีลาที่ตนถนัดโดยไม่ให้ความสำคัญกับท่ารำมากนัก อีกทั้งยังคิดเพลงประกอบตามความถนัด เพลงรำวงและท่ารำวงจึงเกิดขึ้นมากมาย เช่น เพลงหวอมาจะว่าอย่างไร เพลงลพบุรีฉันเอ๋ย เพลงโอ้ลุมพินี ฯลฯ

(ซ้าย) รำวงของข้าราชการ วันสถาปนากระทรวงคมนาคม 1 เมษายน พ.ศ.2487 (ขวา) รำวงมาตรฐาน สร้างสรรค์โดยคณะราษฎร (ภาพเก่าจากหนังสือ “รำวง” กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2514 หน้า 14)


มหาวิทยาลัยศิลปากร
มรดกของ “คณะราษฎร”

[ปรับปรุงจากหนังสือ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ ของ ชาตรี ประกิตนนทการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2563 หน้า 220-225]

มหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนศิลปะระดับมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย มรดกชิ้นสำคัญที่เกิดขึ้นจากงานฉลองรัฐธรรมนูญในสมัยคณะราษฎร (ภาพจาก สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยศิลปากร)


“งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ถือว่าเป็นผลผลิตของยุคคณะราษฎร  เริ่มจัดครั้งแรกหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และหลังจากนั้นมาเกือบทุกปีจะมีซบเซาไปบ้างก็ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น

มรดกจากงานฉลองรัฐธรรมนูญ 

แม้ในปัจจุบันจะไม่มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีมรดกบางสิ่งบางอย่างที่สืบทอดหลงเหลือมาจากงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อกว่า 70 ปีที่ผ่านมาที่ยังคงอยู่จนปัจจุบัน

ประกวดนางสาวไทย คือมรดกตกทอดชิ้นสำคัญจากการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจัดกันครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2477 แต่รู้จักกันในชื่อว่า “การประกวดนางสาวสยาม” เนื่องจากในช่วงนั้น ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการของไทยคือ “สยาม” จึงเรียกว่า การประกวดนางสาวสยาม แต่พอหลวงพิบูลสงครามได้ออก “รัฐนิยม” ฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ.2482 เรื่องการใช้ชื่อประเทศประชาชน และสัญชาติ โดยกำหนดให้ใช้ว่า “ประเทศไทย” “คนไทย” และ “สัญชาติไทย” แทนคำว่า “สยาม” ทั้งหมด ชื่อ “การประกวดนางสาวสยาม” ก็เลยถูกแก้ตามไปด้วยเป็น “การประกวดนางสาวไทย”

ประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ มรดกอีกอย่างที่สืบทอดมาจากงานฉลองรัฐธรรมนูญแม้ว่าการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติโดยข้อเท็จจริงจะเกิดมีขึ้นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2492 และก็มิได้จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดของการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติก็เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจาก “การประกวดประณีตศิลปกรรม” ที่ได้ริเริ่มให้มีขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญยุคทศวรรษ 2480 อย่างปฏิเสธไม่ได้

กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นมรดกอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะถือได้ว่าเป็นผลพวงมาจากการประกวดประณีตศิลปกรรม เพราะใน พ.ศ. 2482 หลวงพิบูลสงครามได้มีโอกาสเข้าชมร้านศิลปากรในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งภายในร้านศิลปากรส่วนหนึ่งใช้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานการประกวดประณีตศิลปกรรม และในการนี้ หลวงพิบูลสงครามเป็นที่จับใจที่ได้มีโอกาสเห็นฝีมือทางศิลปะของนักเรียนฝ่ายประติมากรรม ลูกศิษย์ของศิลป์ พีระศรี

ในวันรุ่งขึ้น หลวงพิบูลสงครามจึงได้เดินทางไปดูการสอนที่ “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ซึ่งการมาดูงานครั้งนี้ในเวลาต่อมาได้ทำให้เกิดการจัดตั้งเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร


คณะราษฎร
พิทักษ์รักษากรุงศรีอยุธยา

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต


ถนนรอบเกาะอยุธยา เลียบแม่น้ำลพบุรีคูเมืองด้านทิศเหนือตามแนวกำแพงวังโบราณ ซึ่งเป็นกำแพงเมืองด้วย (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

กรุงศรีอยุธยา เป็นชื่อเรียกเมืองหลวงที่เป็นเกาะมีกำแพงเมืองมีแม่น้ำล้อมรอบ และเป็นชื่อเรียกอาณาจักร
สภาพโบราณสถานในพระนครกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบันเป็นผลจากการทำลายล้างของกองทัพฝ่ายยึดครองเมื่อได้ชัยเหนือกรุงศรีอยุธยาปี 2310 ใช่หรือไม่?

คำตอบจากหลักฐานมากมายที่ตกทอดมาถึงเราคือ ไม่ใช่อย่างแน่นอน

ในช่วงสงครามเสียอยุธยาครั้งนั้น ก่อนเสียกรุงสามเดือนก็มีไฟไหม้ครั้งใหญ่กลางกรุงในคืนวันที่ทัพพระเจ้าตากฝ่าวงล้อมออกไปแล้ว

ในคืนวันเสียกรุง การยิงปืนใหญ่ถล่มเข้ากรุงโดยรอบทุกด้านตลอดทั้งวัน กระทั่งกำแพงเมืองพังทางด้านหัวรอ ทำให้ฝ่ายพม่าอังวะบุกรุกเข้ากรุงศรีอยุธยาได้

ถัดนั้นก็เริ่มเผาบ้านเรือนเพื่อให้ประชาชนแตกตื่นออกจากที่หลบซ่อน ถูกกวาดจับเป็นเชลย การฆ่าไม่ใช่เป้าหมายของสงครามโบราณสมัยนี้ การกวาดต้อนคนไปเป็นทาสเชลยสงครามที่พม่า คือการเอาต้นทุนคืนบวกกำไรจากสงคราม

ฝ่ายพม่ากล่าวว่าได้กวาดเชลยศึกชาวอยุธยากลับไปเป็นทาสที่อังวะกว่าแสนคน ในจำนวนนี้เป็นคนในวังต่างๆ ราว 2,000 คน รวมทั้งเจ้านายชั้นสูงของราชวงศ์สุดท้ายอยุธยาจำนวนมาก

กล่าวอย่างสั้นๆ ปัจจัยสงครามกับพม่าอังวะครั้งนี้ ได้ทำลายชนชั้นนำอยุธยาที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาราว 200 ปีหรือมากกว่านั้นอย่างราบคาบเกือบสิ้นสูญ จนยากจะมีเครือข่ายพลิกฟื้นราชวงศ์เดิมขึ้นมาได้

หลังได้ชัยชนะ กองทัพพม่าอังวะอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ยกทัพพร้อมทาสเชลยและทรัพย์สินที่กวาดเก็บได้กลับคืนไปยังพม่าอังวะ

นับแต่การฟื้นราชอาณาจักรที่สืบเนื่องอยุธยาขึ้นมาใหม่ จากปี 2310 เป็นต้นมา คือกระบวนการสร้างเมืองใหม่จากทรัพยากรเดิมของกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงธนบุรี จากหลักฐานฝรั่งกล่าวว่ามีขโมยขุดและเผาหลอมพระพุทธรูปจากวัดต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมากเพื่อเอาโลหะขาย ซึ่งน่าจะหมายถึงพระพุทธรูปทองสำริดที่หลอมแล้วจะได้ทองแดง ดีบุก หรือตะกั่ว

ในส่วนนโยบายรัฐบาล พระเจ้าตากเองก็ให้มีการสัมปทานขุดค้นหาสมบัติในกรุงศรีอยุธยา เพื่อนำเงินรายได้ไปซื้อข้าวจากต่างแดนมาหล่อเลี้ยงประชากรในเมืองใหม่ และในการบริหารกรุงธน

การสัมปทานในช่วงสุดท้ายคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการรวมกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากพระเจ้าตากที่กรุงธนบุรี

รื้อป้อมและกำแพงเมืองอยุธยา

ในยุคกรุงธนบุรี พระเจ้าตากไม่มีนโยบายรื้อป้อมกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาทิ้งเลย แต่เมื่อถึงยุคสมัยพระพุทธยอดฟ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีนโยบายรื้อป้อมกำแพงเมืองของกรุงศรีอยุธยาโดยรอบ 12 กิโลเมตรครึ่งลง เพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้เมืองกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองป้อมเพื่อบุกโจมตีกรุงเทพฯ

กำแพงเมืองและป้อมรวมทั้งกำแพงและวัดของกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายพังลงอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยขนย้ายทางเรือลงมาสร้างเป็นกำแพงเมืองและป้อมของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพระราชวังหลวงวังหน้าวัดวาในพระนครใหม่ด้วย

แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้คนอพยพกลับมาอยู่อาศัยสร้างบ้านตามแม่น้ำลำคลองโดยรอบพระนครตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี ดังนั้น วัดวาอารามหลายแห่งที่มีชุมชนราษฎรโดยรอบก็ฟื้นกลับมามีชีวิต

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของกรุงศรีอยุธยาก็ถูกอัญเชิญลงไปยังกรุงเทพฯ ในสมัยนี้ เช่น พระศรีสรรเพชญ์ และพระโลกนาถ สองพระพุทธรูปสำคัญในวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยุติจิตวิญญาณการเป็นกรุงศูนย์กลางของอาณาจักรอย่างเด็ดขาด หรือนัยหนึ่งกล่าวได้ว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์หาได้ถูกเผาในคราวสงครามเสียกรุงแต่อย่างใดไม่

กาลเวลาที่ผ่านไปเป็นร้อยปี ก็เป็นปัจจัยของการพังทลายวัดร้างที่เคยสำคัญของกรุงหลายๆ แห่ง เช่น การพังของปรางค์วัดพระมหาธาตุกลางกรุงเก่าในปลายสมัยรัชกาลที่ 5

เมืองกรุงเก่า หรืออยุธยา ตั้งแต่ครึ่งศตวรรษหลังตั้งกรุงเทพฯ ก็มีชุมชนการค้าขายขนาดใหญ่ขึ้นๆ ที่ตลาดหัวรอ ผ่านมายังวังหน้า ลงมาจนถึงตลาดเจ้าพรหม

เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่พระราชวังหลวงกรุงเทพฯ แล้วมีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล โดยรวมเมืองหลายๆ เมืองเป็นหนึ่งมณฑล มีเทศาภิบาลมณฑลได้รับแต่งตั้งให้มากำกับเจ้าเมืองหรือผู้ว่าในสังกัด ปี 2438 ตั้งมณฑลเทศาภิบาลกรุงเก่า (เมืองในสังกัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อินทร์บุรี พระพุทธบาท พรหมบุรี) มีเมืองกรุงเก่า หรือเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์บริหารมณฑล นับแต่นั้นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเกาะกรุงศรีอยุธยาก็มีมากขึ้น

อย่างสำคัญคือแนวกำแพงเมืองโดยรอบเกาะพระนครซึ่งเคยถูกรื้อย้ายอิฐกำแพงและป้อมออกไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ถูกทำให้เป็นแนวถนนและฟุตปาธที่ตอนนี้เรียกว่า ถนนอู่ทอง โดยรอบเกาะพระนคร ดังนั้น แนวกำแพงที่น่าจะมีเหลืออยู่จึงพังทลายลงไปอย่างสิ้นสูญ เหลือเพียงแนวกำแพงสั้นๆ ตรงด้านเหนือพระราชวังหลวงให้ดูเป็นที่รำลึก

แนวคิดการพังทลายกำแพงเมืองเก่าน่าจะเป็นผลต่อเนื่องจากการทำลายกำแพงเมืองและป้อมของกรุงเทพฯ ในช่วงทศวรรษ 2440 เพื่อเปิดการใช้พื้นที่นอกกำแพงเมืองโดยรอบ ทั้งสงครามแบบเก่าที่ต้องมีกำแพงป้องกันเมืองก็ผ่านพ้นไปแล้ว ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงมีมรดกป้อมและกำแพงเมืองของตนเหลือเพียงเล็กน้อย
ตัวอย่างนโยบายทุบทำลายป้อมกำแพงเมืองจึงแพร่กระจายไปเป็นตัวแบบในการจัดการพื้นที่ในเมืองเก่าต่างๆ ทั่วประเทศ

บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งและบ้านเรือก็ขึ้นตั้งบนฝั่งตามแนวถนนอู่ทอง โดยแนวถนนด้านตะวันออกของเกาะเมืองย่านหัวรอมาถึงเจ้าพรหม และหัวรอตามแนวคลองเมืองด้านเหนือ เป็นชุมชนย่านการค้าหนาแน่นมากขึ้นๆ

คณะราษฎรริเริ่ม “อนุรักษ์” ทั่วประเทศ

คุณูปการของพระยาโบราณราชธานินทร์ มณฑลเทศาภิบาลกรุงเก่า (เป็นเจ้าเมืองกรุงเก่าตั้งแต่ปี 2440 และเป็นเทศาภิบาลมณฑลนี้ตั้งแต่ปี 2447 ยาวนานมาถึงปี 2468) คือการสร้างแผนที่กรุงศรีอยุธยา โดยระบุที่ตั้งวัดโบราณและถนนย่านต่างๆ รวมทั้งเก็บรวบรวมโบราณวัตถุมาไว้ที่อาคารในวังหน้า ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์บริหารมณฑล ปัจจุบันคือมิวเซียมวังจันทรเกษม

แต่คุณูปการของคณะราษฎรหลังปฏิวัติ 2475 คือการรักษาไว้ซึ่งมรดกด้านโบราณสถานและถาวรวัตถุของชาติไว้ได้อย่างเป็นระบบ โดยการตั้งกรมศิลปากรขึ้นปี 2476 และสำรวจประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดอาณาเขตโบราณสถานทั่วประเทศ

กรมศิลปากรแม้จะเริ่มต้นในต้นสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ภารกิจมุ่งเน้นไปยังการพิพิธภัณฑ์และการช่าง แต่เมื่อถึงยุคสมัยคณะราษฎร พลังแนวคิดชาตินิยมได้เป็นปัจจัยสำคัญในการพิทักษ์รักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญของชาติ ดังเห็นได้ว่าวัดสำคัญที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาทั้งในและนอกกำแพงเมือง ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจำนวนมากในปี 2479 อันเท่ากับปกป้องไม่ให้พื้นที่วัดและวังเหล่านี้ถูกล่วงล้ำทำลายจากการใช้พื้นที่ของหน่วยราชการและเอกชนที่กำลังขยายตัวไปทั่วเกาะเมืองอยุธยา

รัฐบาลคณะราษฎรมาพร้อมกับโครงการสร้างถนนเชื่อมต่อจังหวัดต่างๆ ทั้งประเทศ ปี 2479 โครงการแรกที่ใหญ่มากคือถนนประชาธิปัตย์ หรือต่อมาได้ตั้งชื่อใหม่ว่า ถนนพหลโยธิน เพื่อรำลึกถึงหัวหน้าคณะราษฎร นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมุ่งขึ้นเหนือเฉียดจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปสระบุรีสู่ลพบุรีไปปลายทางที่จังหวัดเชียงราย

ตรงนี้เองที่ทั้งนายปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ สองผู้นำคณะราษฎร ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไทย ได้ผลักดัน ถนนโรจนะ เป็นถนนสาขาแยกออกจากถนนพหลโยธิน ตรงอำเภอวังน้อยตัดวิ่งตรงไปยังตัวเกาะกรุงศรีอยุธยา แล้วผ่านขึ้นเหนือไปยังจังหวัดอ่างทอง ปลายทางจังหวัดสิงห์บุรี

ที่เกาะกรุงศรีอยุธยา จึงมีสะพานเหล็กขนาดใหญ่สะพานแรกข้ามแม่น้ำป่าสักเข้าสู่ตัวเมือง ชื่อ สะพานปรีดี-ธำรง ตรงไปสุดที่ศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) จัดพื้นที่ของเกาะอยุธยา ครึ่งด้านตะวันออกเป็นเขตที่อยู่อาศัยและการค้าที่หนาแน่นของอยุธยา ส่วนพื้นที่ครึ่งด้านตะวันตกส่วนใหญ่เป็นเขตโบราณสถาน ซึ่งการบริหารวางผังการใช้พื้นที่เกาะเมืองอยุธยาสอดรับกับการใช้พื้นที่ในอดีตในสมัยกรุงศรีอยุธยา

โดยสรุป การที่เราสามารถรักษาโบราณสถานที่สำคัญจำนวนมากในเกาะกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ เพราะคณะราษฎร แนวคิดชาตินิยม การสร้างกรมศิลปากร การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และการวางผังเมืองที่ให้ประชาชนและชุมชนยังอยู่ร่วมกับพื้นที่โบราณสถานได้อย่างสอดคล้องและมีวิถีชีวิตชุมชน

ถนนอู่ทอง จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างโดยรื้อกำแพงเมือง แล้วทำถนนทับลงไป (ในภาพ) บริเวณลอดใต้สะพานปรีดี-ธำรง (ซ้าย) ซากอิฐแนวกำแพงเมืองอยุธยา ด้านตะวันออกริมแม่น้ำป่าสัก กรมศิลปากรขุดแต่งบูรณะหลายปีแล้ว (ขวา) ถนนอู่ทองทับกำแพงเลียบแม่น้ำรอบเกาะเมือง

สะพานปรีดี-ธำรง ข้ามแม่น้ำป่าสัก เชื่อมเกาะเมืองอยุธยา (ภาพจาก เพจทัวร์มติชนอคาเดมี)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image