อาศรมมิวสิก โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ : ความประหลาดและอัจฉริยภาพของศิลปิน ภาพสะท้อนจากอันโตน บรูคเนอร์

ผู้รักดนตรีและศิลปะที่มีความสนใจในเรื่องราวเบื้องหลังของการสร้างสรรค์งานศิลปะและประวัติของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน คงจะได้พอรับรู้แนวคิดที่ว่า ศิลปะที่ดีเยี่ยมนั้นบางครั้ง (หรือบ่อยครั้ง) มันก็ได้รับการสร้างสรรค์มาจากตัวศิลปินที่แสนจะธรรมดาๆ หรือแม้แต่ศิลปินที่อาจจะดูว่า เป็นผู้บกพร่องในด้านแห่งความเป็นมนุษย์ด้วย

ในครั้งก่อนผู้เขียนได้เขียนถึงเรื่องราวของ “อันโตน บรูคเนอร์” (Anton Bruckner) ผู้มีบุคลิกภาพแบบ “ลุงบ้านนอก” ซึ่งสามารถสร้างสรรค์ผลงานซิมโฟนี 9 บทอันยิ่งใหญ่และชวนให้ถกเถียงกันมาจนทุกวันนี้ เขาคือหนึ่งในศิลปินผู้ที่มีวิถีชีวิตแห่งความเป็นมนุษย์ให้ผู้คนได้จดจำถึงความไม่ปกติของเขามาจนทุกวันนี้ “สตีเวน อิสเซอร์ลิส” (Steven Isserlis) ศิลปินเดี่ยวเชลโลระดับโลกชาวอังกฤษผู้ให้ความสนใจในเรื่องราวชีวประวัติอันพิสดารของบรรดาเหล่านักประพันธ์ดนตรีระดับโลก จนเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่าเรื่องอันมีชีวิตชีวาน่าอ่านในแบบฉบับของเขาเอง กล่าวว่า ชีวิตของพวกเขานั้นแปลก, น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมากจนไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปแต่งแต้มสีสันอะไรให้มันมากขึ้นไปอีก

และในครั้งนี้ผู้เขียนก็จะได้ถือโอกาสมากล่าวถึงเรื่องราวความพิสดารในวิถีชีวิตของศิลปินผู้นี้ที่นอกจากจะแปลกประหลาดแล้วยังมีอะไรๆ ที่ขัดแย้งกันในตัวอย่างสูงทีเดียว

ในเรื่องระหว่างความขัดแย้งในตัวเองของนักประพันธ์ดนตรีระดับโลกกับความไม่ค่อยจะปกติในชีวิตของบรูคเนอร์นั้น เห็นทีคงจะไม่มีคำกล่าวใดจะสั้นกระชับชัดเจนได้เทียบเท่ากับคำกล่าวของ “กุสตาฟ มาห์เลอร์” (Gustav Mahler) นักแต่งเพลงระดับโลกรุ่นน้องที่เป็นศิษย์ห่างๆ ของบรูคเนอร์ในสมัยที่เรียนอยู่ที่สถาบันดนตรีแห่งเวียนนา (Vienna Conservatory)

Advertisement

เขากล่าวถึงบรูคเนอร์สั้นๆ ว่า “Half Simpleton, Half God” (กึ่งบ๊อง-กึ่งพระเจ้า) นี่ดูจะเป็นวลีที่พรรณนาถึงความเป็นบรูคเนอร์ได้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนที่สุดทีเดียว การเดินทางมาใช้ชีวิตที่กรุงเวียนนาอันเจริญรุ่งเรื่องและมั่งคั่งด้วยวัฒนธรรมของบรูคเนอร์นั้นไม่ต่างจากคำว่า บ้านนอกเข้ากรุงเสียเลย เขากลายเป็นที่ถูกล้อเลียนเย้ยหยันทั้งในบุคลิกภาพ และผลงานดนตรีจนเกิดความไม่มั่นในในตัวเองอย่างมาก เป็นที่รู้ๆ กันว่าบทเพลงซิมโฟนีของเขานั้นผ่านการแก้ไขมากมายหลายมือ แต่งเพลงเสร็จก็ไม่มั่นใจ บรรดาลูกศิษย์และ “ผู้หวังดี” ทั้งหลายพากันนำเอาไปแก้ไขดัดแปลงกันตามอำเภอใจ โดยตัวบรูคเนอร์เองได้แต่ยืนมองตาปริบๆ ยินยอมทุกอย่าง (แม้จะเจ็บปวดในความรู้สึก)

เหตุผลหนึ่งที่บรูคเนอร์ยินยอมให้บรรดาผู้หวังดีนำเอาซิมโฟนีของเขาไปตัดทอนแก้ไข อย่างเป็นอิสระก็ด้วยเหตุที่ว่า เขาต้องแลกกับโอกาสในการนำออกแสดงจริงตามความประสงค์ของคนเหล่านั้น แม้กระนั้นเขาก็ยืนยันว่าในกาลภายภาคหน้าซิมโฟนีในฉบับดั้งเดิมที่เขาแต่งขึ้นโดยไม่ถูกดัดแปลงแก้ไขนี้แหละ จะต้องได้รับการยอมรับและนำออกบรรเลงโดยไม่ตัดทอนเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งคำอธิษฐานของเขาก็เป็นจริงในทุกวันนี้ และความไม่มั่นคงภายในจิตใจของเขาก็สะท้อนออกมาในพฤติกรรมอันแปลกประหลาดหลายๆ ประการ โดยว่ากันว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเป็นไปเพื่อบรรเทาความกังวลใจ

หนึ่งในนั้นก็คือพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ แบบที่เรียกว่า “Compulsive Disorder” โรคย้ำคิดย้ำทำแบบไร้เหตุผลเพื่อคลายความกังวลภายในจิตใจ

Advertisement

ในเรื่องนี้บรูคเนอร์มีพฤติกรรมประหลาดในการนับสิ่งของรอบตัวที่พบเห็นแบบหยุดไม่ได้ เขาหมกมุ่นอยู่กับการนับหน้าต่างตามตึก, นับก้อนอิฐปูทางเดิน, นับก้อนอิฐบนผนัง หรือนับจำนวนห้องเพลงในดนตรีซิมโฟนีที่เขาประพันธ์เพื่อให้มีสัดส่วนถูกต้อง พฤติกรรมประหลาดพิสดารอีกประการหนึ่งของเขาก็คือความหมกมุ่นอยู่กับภาพของซากศพ
และความตาย

ในบทความที่เขียนโดย “เกออร์ก เพรโดตา” (Georg Predota) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2557 พรรณนาว่าในตอนที่แม่ของเขาตายลง บรูคเนอร์ได้ว่าจ้างคนถ่ายรูปศพแม่เก็บไว้ และยังเก็บรูปนั้นไว้ในห้องสอนดนตรี โดยไม่มีรูปถ่ายของแม่ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ความหมกมุ่นอยู่กับความตายของบรูคเนอร์มีมากขึ้นๆ เขาชอบไปตามห้องจัดพิธีศพ และตามสุสานอยู่บ่อยๆ เพื่อไปดูซากศพของผู้คนที่เขาเองก็ไม่รู้จัก และยังมากถึงขั้นขออนุญาตขุดศพบรรดาญาติๆ ของเขาเองที่วายชนม์เพื่อที่จะได้ดูศพของคนเหล่านั้น (แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ) และถ้ายิ่งเป็นศพของบุคคลสำคัญบรูคเนอร์ก็จะยิ่งกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษที่จะได้ยลโฉมศพเหล่านั้น และแม้กระทั่งตัวเขาเองก็ได้ให้ความสำคัญกับศพของตนเองที่เขาสั่งการไว้ก่อนตาย ด้วยการทำเป็น “มัมมี” (Mummy) และฝังร่างนี้ไว้ใต้ออร์แกนหลังใหญ่ ที่เขาเคยเล่นในสมัยที่มีชีวิตอยู่ในโบสถ์ “St.Florian” แถบแคว้นลินซ์ (Linz) และในปี ค.ศ.1996 ในวาระครบรอบ 100 ปีมรณกรรมของเขา ร่างไร้วิญญาณของเขาได้ถูกส่งไปบูรณะเป็นการลับๆ ที่สวิตเซอร์แลนด์ และส่งกลับมาที่โบสถ์ “St.Florian” ในสภาพที่เสมือนเพิ่ง
ถึงแก่กรรมใหม่ๆ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พฤติกรรมอันประหลาดพิสดารบางประการของบรูคเนอร์นั้น บางด้านก็ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งกันในตัวเอง เช่นความเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนาของเขานั้นเป็นที่รู้ๆ กันว่าไม่ธรรมดา (ถึงกับต้องลงนั่งคุกเข่าสวดมนต์ทันที แม้ในขณะกำลังสอนหนังสือ เมื่อเขาได้ยินเสียงระฆังสัญญาณสวดมนต์จากโบสถ์) แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ดูจะหมกมุ่นอยู่กับเสน่ห์, ความงามของอิสตรีโดยเฉพาะในวัยขบเผาะเป็นอย่างมากเช่นกัน เช่น การจดบันทึกรายชื่อสาวๆ เหล่านั้นที่เขาพึงพอใจและบางครั้งก็ถึงกับขอนัดไป “มีอะไรๆ” กันด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ “สุบิน เมห์ธา” (Zubin Mehta) วาทยกรชื่อดังระดับโลกที่แฟนเพลงชาวไทยรู้จักกันดี ได้เคยเล่าถึง “เกร็ด” เรื่องนี้เอาไว้ว่า ในขณะที่บรูคเนอร์กำลังประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 8 อันจัดได้ว่าเป็น หนึ่งในผลงานซิมโฟนีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเขาในทุกวันนี้นั้น ในวันหนึ่งขณะที่เขากำลังเดินทางไปบนรถไฟพร้อมด้วยสกอร์โน้ตลายมือของซิมโฟนีบทนี้ ทันใดนั้นสายตาของบรูคเนอร์ก็ได้ไปประสบพบสาวงามวัยขบเผาะนางหนึ่งที่นั่งอยู่ในตู้โดยสารคันเดียวกัน บรูคเนอร์ถึงกับสติหลุดลงรถไฟตามเธอผู้นั้น ณ สถานีแห่งหนึ่งระหว่างทาง โดยเผลอลืมสกอร์ซิมโฟนีหมายเลข 8 (หนึ่งในผลงานชิ้นเอก) เอาไว้บนรถไฟ

แน่นอนเธอปฏิเสธเขาเสมือนกับบรรดาสาวๆ หลายคนที่คงรู้สึกแบบเดียวกันกับที่บรูคเนอร์เคยถูกปฏิเสธมาแล้วมากมาย

สาวน้อยก็ปฏิเสธ สกอร์โน้ตซิมโฟนีที่กำลังแต่งไว้ก็มาลืมไว้บนรถไฟ โชคดีที่เขาได้รับสกอร์คืนมาทีหลัง แต่โลกดนตรีก็เกือบจะต้องสูญเสียซิมโฟนีชิ้นเอกบทนี้ไป (ตามเกร็ดที่ “สุบิน เมห์ธา” เล่าไว้)

ในด้านการประพันธ์เพลงที่เราเรียนรู้กันมายาวนาน ว่าเขามีการแก้ไขผลงานทั้งโดยตัวเขาเองและคนรอบข้างอย่างนับครั้งไม่ถ้วน เรารับรู้กันว่าเขามีผลงานซิมโฟนีทั้งหมด 9 บท แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีก 2 บทที่เขาประพันธ์ขึ้นในช่วงแรกๆ ที่มีบทบาทเป็นเพียงหนึ่งในส่วนของประวัติการแต่งเพลงแต่ไม่ได้รับความนิยมในการบรรเลงในคอนเสิร์ตจริงๆ นั่นคือ ซิมโฟนีบทแรกสุดในบันไดเสียง เอฟ ไมเนอร์ (ที่บางครั้งเรียกกันว่า “Study Symphony” หรือ “Symphony No.00”) และซิมโฟนีหมายเลขศูนย์ ในบันไดเสียง ดี ไมเนอร์ (Symphony No.0 ) นับเป็น 11 บท (แต่หากจะนับจำนวนฉบับการแก้ไข ทั้งหมดแล้ว เราจะนับมันได้ทั้งสิ้นถึง 18 ฉบับด้วยกัน)

ในซิมโฟนีหมายเลข 9 บทสุดท้ายในชีวิตของเขานั้น เราได้เรียนรู้ว่า บรูคเนอร์ได้พยายามดิ้นรน, สวดมนต์อ้อนวอนขอให้มีชีวิตยืนยาวอยู่ต่อไปจนสามารถประพันธ์บทเพลงนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ แต่สวรรค์เบื้องบนไม่ยินยอม เขาจากโลกนี้ไปในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1896 ด้วยวัย 72 ปี โดยซิมโฟนีบทสุดท้ายนี้เสร็จสมบูรณ์เพียง 3 ท่อน ท่อนสุดท้ายอยู่ในจังหวะช้า (Adagio) ที่กลายเป็นเสมือนบทสวดศพที่ปราศจากคำร้องสำหรับเขาไปโดยปริยาย แต่แน่นอนที่สุดสำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของบรูคเนอร์ ต่างออกมายอมรับสมอ้างแก้ตัวแทนบรูคเนอร์ไปตามๆ กันว่า ท่อนที่ 3 ของผลงานบทนี้มีความงดงาม, สุขุมลุ่มลึกในอารมณ์ความรู้สึกอย่างเป็นล้นพ้น ในลักษณะที่แทบจะพาผู้ฟังก้าวล้วงพ้นไปจากโลกนี้ นั่นจึงเป็นความสมบูรณ์เพียบพร้อมในตัวผลงานเองอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องมีท่อนที่ 4 ในจังหวะเร็วมาปิดท้ายตามธรรมเนียมบทเพลงซิมโฟนี และก็บรรดาแฟนพันธุ์แท้ดนตรีบรูคเนอร์อีกนั่นแหละที่จะรู้ๆ กันภายในแวดวงว่า ซิมโฟนีของบรูคเนอร์นั้นมีความงดงาม, ความน่าสนใจมากที่สุดอยู่ที่ท่อนช้า จนเขาได้รับฉายาเป็นภาษาเยอรมันว่าเป็น “นักประพันธ์ดนตรีในจังหวะช้า” (Adagio Komponist)

ในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) วงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก (Berlin Philharmonic) ได้ทำการแสดงคอนเสิร์ตซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบรูคเนอร์ในฉบับครบสมบูรณ์ 4 ท่อน เพราะว่าความจริงแล้วบรูคเนอร์ได้ประพันธ์ท่อนสุดท้ายนี้คืบหน้าไปกว่าครึ่งแล้ว นั่นคือประพันธ์ไปจนถึงส่วนพัฒนาแนวทำนองหลัก (Development) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีบันทึกจากบุคคลในบ้านว่า ในเช้าวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1896 อันเป็นวันสุดท้ายในชีวิตนั้น บรูคเนอร์ยังคงตื่นเช้าขึ้นมาประพันธ์ท่อนสุดท้ายนี้ ก่อนที่จะจากโลกนี้ไปในเวลา บ่ายสามโมงในวันเดียวกันนั้น แต่ร่างลายมือที่เขาทิ้งค้างเอาไว้มีความก้าวหน้าไปเกินกว่าครึ่งประกอบกับการเขียนกำหนดตัวเลขห้องเพลงต่างๆ ที่บ่งบอกถึงสัดส่วนต่างๆ ในทางฉันทลักษณ์ อีกทั้งเทคนิคการแต่งเพลงอันคงที่เป็นแบบฉบับของเขาเองมาทั้งชีวิต จึงทำให้นักวิชาการดนตรี 4 คน ที่มาร่วมวิเคราะห์ถึงแนวทาง, ความคิดของบรูคเนอร์ที่เหลืออยู่อีกไม่มาก จึงทำให้งานบูรณะซิมโฟนีท่อนสุดท้ายเป็นไปได้โดยไม่ยากเย็นนัก และได้นำออกบรรเลงที่กรุงเบอร์ลินในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ภายใต้การอำนวยเพลงโดย เซอร์ ไซมอน แรตเทิล (Sir Simon Rattle)

สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้ว หลังจากได้ฟังผลงานบันทึกเสียงแล้ว ยังขอยืนยันเห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้าและลิขิตสวรรค์ ที่ได้นำเขาขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ก่อนที่เขาจะเขียนท่อนสุดท้ายจบลงด้วยปลายปากกาตัวเขาเอง เพราะมันคือข้อยืนยันที่ว่าท่อนที่ 4 นั้นเป็นสิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Anticlimax” อย่างแท้จริง

และตอกย้ำบทสรุปที่ว่าเขาคือ “Adagio Komponist” โดยเลือดเนื้อและลมหายใจ

สําหรับศิลปินดนตรีวาทยกรที่จัดได้ว่า เชี่ยวชาญและรักดนตรีของบรูคเนอร์เป็นชีวิตจิตใจ อย่างไม่แคร์สายตาใครๆ ก็เห็นจะได้แก่ “ดาเนียล บาเรน บอย์ม” (Daniel Barenboim) ที่ผูกพันชีวิตกับการศึกษาและอำนวยเพลงซิมโฟนีของบรูคเนอร์มาถึงครึ่งศตวรรษ บันทึกเสียงซิมโฟนีครบชุดสมบูรณ์ไปถึง 3 รอบกับวงดนตรีชั้นนำ 3 วง และยังคงเหนียวแน่นเผยแพร่การบรรเลงซิมโฟนีของบรูคเนอร์อย่างไม่หยุดยั้ง ในบทสัมภาษณ์ที่เขาสนทนากับ “ทอม ฮิวย์เซงกา” (Tom Huizenga) ในเดือน มกราคม พ.ศ.2560 นั้นเป็นคำตอบที่สอนใจและน่าเรียนรู้สำหรับผู้รักดนตรีทุกๆ คนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะนักดนตรีหรือผู้ฟังดนตรี “ทอม” ตั้งคำถามว่า “อะไรที่ทำให้คุณยังสนใจในงานดนตรีของ
บรูคเนอร์อยู่ คุณได้บันทึกเสียงซิมโฟนีครบชุดไป 3 รอบแล้ว และคุณก็ยังจะอำนวยเพลงบรูคเนอร์ ต่อไปอีก?” (คำถามในทำนองที่ว่า ทำมามากมายขนาดนี้แล้ว ยังจะทำต่อไปอีกไม่เบื่อบ้างรึไง?) ดาเนียล บาเรนบอย์ม ตอบปัญหานี้ได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น และสะท้อนไปถึงวิถีชีวิตทีเดียว เขาตอบว่า

“…ผู้คนก็มักจะพากันคิดว่า ศิลปินดนตรีพากันบรรเลงบทเพลงเดียวกัน เล่นแล้วเล่นอีก, เล่นแล้วเล่นอีก, ปีแล้วปีเล่า ทำกันเข้าไปได้ยังไง? คุณรู้ไหมบทเพลงบางเพลงที่ผมเล่นเปียโน เช่นผลงานของโมซาร์ต ผมเล่นมันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 สำหรับบางคนที่รู้สึกว่าเขาต้องพยายามอย่างมาก กับการที่จะไม่ให้เบื่อในการเล่นเพลงๆ เดียวซ้ำแล้วซ้ำอีก ควรน่าที่จะหาอาชีพใหม่ เพราะว่านั่นหมายความว่า เขาไม่ได้เข้าใจในสิ่งแรกเกี่ยวกับมันเลย ในทางการบรรเลงดนตรีนั้นไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นซ้ำสองครั้งในแบบเดียวกัน และในทางเดียวกันในชีวิตเราก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นซ้ำกันในแบบเดียวกัน และสิ่งที่จัดได้ว่าเป็นเสน่ห์ที่สุด เกี่ยวกับการได้เป็นนักดนตรีก็คือว่า ในทุกๆ ครั้งที่คุณบรรเลงดนตรีหรืออำนวยเพลง คุณจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น นั่นหมายความว่า ถ้าผมอำนวยเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบรูคเนอร์ในวันนี้ เมื่อการแสดงจบสิ้นลง ผมก็จะได้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น รู้มากกว่าในเวลาก่อนคอนเสิร์ต และเมื่อผมมาอำนวยเพลงเดียวกันนี้อีกในวันรุ่งขึ้น ผมก็จะได้เรียนรู้มันมากขึ้นไปอีก…”

ผู้เขียนคิดว่านี่แหละคือปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิตที่เราพูดถึงกันนักหนา ปรัชญาแห่งการเรียนรู้ชีวิตอย่างไม่รู้จบสิ้น แน่นอน ดาเนียล บาเรนบอย์ม ไม่ใช่ชาวพุทธ แต่นี่เขาสามารถนำเราไปไกลถึงปรัชญาเซ็นที่ว่าชีวิตต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ต้องอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออกของเราในปัจจุบันขณะ นั่นแหละคือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสดใหม่ในทุกชั่วลมหายใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ดนตรีจึงไม่ห่างจากชีวิตเรา และเมื่อดนตรีเข้ามาผสานอยู่ในชีวิตและลมหายใจเราได้อย่างแท้จริง มันจึงพาเราก้าวพ้นแนวคิดทวิลักษณ์ แบบ “เก่า-ใหม่”, “น่าเบื่อ-น่าตื่นเต้น” ซึ่งเมื่อเราก้าวพ้นและเห็นความจริงในจุดนี้ ก็ไม่มีอะไรน่าเบื่ออีกต่อไป นี่ก็คงรวมไปถึงซิมโฟนีของบรูคเนอร์ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image