คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Dirty Dancing หนังม้านอกสายตาในจังหวะที่ใช่แห่งยุค 80 (ตอน 1)

ก่อนจะมาเป็น “Dirty Dancing” หนึ่งในภาพยนตร์คลาสสิกชื่อดังแห่งยุค 80 ใครจะรู้ว่าหนังดังของฮอลลีวู้ดเรื่องนี้ เคยถูกสตูดิโอน้อยใหญ่ปฏิเสธกว่า 40 แห่ง จนดูเหมือนโปรเจ็กต์ต้องล้มพับไม่เป็นท่า
ทว่าบทภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ถูกจัดเข้ากลุ่มบทหนังที่ผู้สร้างไม่แยแส กลับไปเข้าตาบริษัทผลิตโฮมวิดีโอที่หวังจะสร้างภาพยนตร์ของตัวเองฉายในโรงหนังเป็นเรื่องแรก…โดยที่บริษัทไม่มีประสบการณ์งานสร้างภาพยนตร์เรื่องยาวมาก่อนเลย หนำซ้ำผลงานของบริษัทยังเน้นไปที่ภาพลักษณ์การผลิตวิดีโอเนื้อหาติดเรตอาร์ เรตเอ็กซ์เข้าไปด้วยอีก

แค่เริ่มต้น “Dirty Dancing” ที่ชื่อหนังก็ออกน่าหวั่นใจก็ดูน่าจะถูกจัดกลุ่มเป็นหนังทุนต่ำเกรดบีที่รอเข้าฉายและลาโรงภาพยนตร์ไปเงียบๆ เพื่อไปเป็นโฮมวิดีโอลำดับต่อไป

แต่ทันทีที่หนังม้านอกสายตาเรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกในปี 1987 กลับถูกอกถูกใจคนดูกันทั้งโรงภาพยนตร์
ความโด่งดังลงตัวทั้งตัวหนัง นักแสดง และเพลงประกอบภาพยนตร์ ทำให้ Dirty Dancing “อมตะเพียงพอ” ที่จะกลายเป็น “ไอคอนประจำยุค 80” และเป็นหนึ่งใน “หนังเต้นรำ” ที่อยู่ยงข้ามยุคสมัยเข้าร่วมความเป็น “Pop Culture” จนถึงปัจจุบัน

ในซีรีส์สารคดี “The Movies That Made Us” ย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้น เส้นทางของหนัง “Dirty Dancing” หนังโปรดของหลายๆ คนที่ผ่านการเดินทางหัวหกก้นขวิดกว่าหนังจะสร้างสำเร็จ

Advertisement

วันนี้ผ่านมากว่า 30 ปี สารคดีจับเข่านั่งคุยกับเหล่าทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญ ทั้งผู้ให้กำเนิด ผู้ปลุกปั้น ผู้ให้โอกาส ผู้มองเห็นภาพจินตนาการว่าบทหนังเรื่องนี้จะน่าทึ่งแค่ไหนเมื่อมันโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มให้เกิดเรื่องราวของสาวน้อยที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง และหนุ่มแบดบอยในเมืองเล็กๆ ที่ได้พบรักท่ามกลาง “ความรักต้องห้าม” พบความกล้าหาญในตัวเอง และพบจังหวะเต้นอันน่าตื่นตาตื่นใจ…เรื่องราวทั้งหมดดำเนินไปในช่วงที่เธอมาท่องเที่ยวพักผ่อนช่วงหยุดยาวในฤดูร้อนปีนั้น

ในซีรีส์สารคดี “The Movies That Made Us” ตอน “Dirty Dancing” จะพาเราไปดูเบื้องหลังและเกร็ดเรื่องราวที่กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น มีทั้งความพยายามและโชคชะตาบางอย่างเข้ามาช่วยให้หนังเรื่องนี้ลงตัวในทุกมิติ ระดับที่บอกได้ว่าเป็น “ความสมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้นได้เพียงหนเดียว” ทั้งการรวมตัวนักแสดง ผู้กำกับ ผู้สร้าง และทีมงาน

Advertisement

สารคดีย้อนพาเราไปรู้จักกับจุดเริ่มต้นของ Dirty Dancing มาจาก “อีลีนอร์ เบิร์กสไตน์” สตรีผู้ให้กำเนิดหนังเรื่องนี้ในฐานะนักเขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งเรื่องราวของตัวละครเบบี้ นางเอกของเรื่องก็พัฒนามาจากตัวอีลีนอร์เอง รวมทั้งกลุ่มเต้นรำลับ Dirty Dancing ก็มาจากประสบการณ์ของเธอที่ได้ไปร่วมเต้นรำแบบ Dirty Dancing ตามห้องใต้ดินของบ้านพักในเมืองตากอากาศแคทสกิลช่วงต้นยุค 50 เช่นกัน

การเต้นรำแบบ Dirty Dancing นั้น จะเป็นการ “เต้นแนวยั่วยวน” ไม่ได้เต้นตามจังหวะจำพวกแมมโบ ชะชะช่า หรือเพชังก้า แต่เป็นการ “เต้นรำแบบฟรีสไตล์” ที่ลำตัวของผู้เต้นจะแนบชิดกัน มีการโค้งงอ ถูไถร่างกายไปตามจังหวะซึ่งดูเย้ายวนเอามากๆ ด้วยการที่ผู้เต้นรำมองว่าท่วงท่าเหล่านี้เป็น “การสนทนากันผ่านร่างกาย”
“อีลีนอร์” นั้นเคยเขียนบทภาพยนตร์แนวโรแมนติกมาก่อนหน้าและใส่ฉากการเต้นรำแบบ Dirty Dancing เข้าไป ทว่าเมื่อหนังออกฉาย ฉากเต้นรำถูกตัดออก ทำให้เธอมุ่งมั่นว่าในบทหนังเรื่องต่อไปเธอจะต้องใส่ฉากเต้นรำ Dirty Dancing เข้าไปในบทหนังของเธอให้จงได้

นำมาสู่การนำเรื่องราวประสบการณ์ช่วงวัยรุ่นของเธอมาพัฒนาต่อเป็นบทภาพยนตร์ Dirty Dancing ที่ใช้ฉากหลังเป็นช่วงยุค 60 โดย “อีลีนอร์” เล่าไอเดียหนังเรื่องนี้ให้ “ลินดา โกทท์ลีย์” เพื่อนสาวที่เป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ฟัง ถึงเรื่องราวกลุ่ม Dirty Dancing อันเร้นลับของผู้คนในเมืองตากอากาศที่ชื่อแคทสกิล
ทันทีที่ “ลินดา” ได้ยินคำว่า Dirty Dancing ก็ปิ๊งไอเดียว่า Dirty Dancing นี่ล่ะจะเป็นชื่อหนังร้อยล้านที่เรากำลังจะสร้าง

ฟาก “อีลีนอร์” บอกว่า นั่นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อเรื่องหลัก แต่ “ลินดา” ยืนยันว่านั่นล่ะจะเป็นชื่อเรื่อง และต่อไปเราก็มาคิดโครงเรื่องกัน  หลังจากได้บทภาพยนตร์ อีลีนอร์และลินดานำบทหนังไปเสนอประธานสตูดิโอยักษ์ใหญ่ค่าย MGM (Metro Goldwyn Mayer) ด้วยความที่ MGM ค่ายหนังที่มีสัญลักษณ์โด่งดัง
เป็นตัวสิงโตคำรามแห่งนี้คือต้นตำรับหนังเพลงและหนังเต้นรำมานักต่อนัก

เรื่องทำท่าจะไปได้สวยเมื่อ “แฟรงก์ ยะบลันส์” ประธาน MGM สนใจบทหนัง Dirty Dancing หลังจากได้อ่านบท แต่โชคชะตาก็เล่นตลก เพราะต่อมาเขาถูกไล่ออกจาก MGM ทำให้บทหนังถูกพับเก็บชนิดที่ลินดาเล่าไว้ในสารคดีว่า จมตายไปกับสายน้ำ

กระทั่งลินดาได้ลิขสิทธิ์หนังกลับคืนมาจาก MGM ในฐานะโปรดิวเซอร์ที่ควบคุมข้อตกลง แต่เธอมีเวลาเพียง 1 ปี ที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ หากทำไม่ได้สตูดิโอจะยึดลิขสิทธิ์คืน ซึ่งลินดาต่อสายไปหลายสตูดิโอใหญ่ตั้งแต่พาราเม้าท์ พิคเจอร์, ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟอกซ์, ยูนิเวอร์แซล แต่ก็ถูกปฏิเสธหมดด้วยคำอธิบายว่า “เนื้อเรื่องไม่สมเหตุสมผล” บ้างก็ว่าหนังมีความเป็น “ผู้หญิงเกินไป” ซึ่งขณะนั้นหนังฮอลลีวู้ดยอดนิยมที่ทำเงินช่วงกลางยุค 80 มักจะเป็นภาพยนตร์แนวแอ๊กชั่นผจญภัยสไตล์แมนๆ แรงๆ ของเหล่านักแสดงชาย ซึ่งสวนทางกับเรื่องราวของ Dirty Dancing ที่มีภาพของ “ผู้หญิงเต้นรำ” และพูดถึงประเด็น “สิทธิสตรี” อย่างการทำแท้ง และนั่นก็ทำให้บรรดาสตูดิโอหนังไม่ยอมเสี่ยงด้วย แต่ความพยายามอย่างไม่ลดละ เมื่อสตูดิโอใหญ่ๆ ต่างปฏิเสธ บทหนังยังคงถูกนำไปเสนอให้กับสตูดิโอ เล็ก กลาง ไปจนถึงค่ายหนังอิสระ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เหลือสักสตูดิโอในฮอลลีวู้ดที่สนใจจะให้งบสร้างหนังเรื่องนี้…จนเรียกว่าหมดหวัง

จุดพลิกผันสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อ “เวสทรอน” บริษัทผู้จัดจำหน่ายวิดีโอ เกิดสนใจอยากจะสร้างหนังของตัวเองขึ้นมาบ้าง เพื่อรับมือกับการที่สตูดิโอใหญ่ๆ ดึงลิขสิทธิ์หนังไปผลิตเป็นวิดีโอขายเอง โดยไม่ผ่านเวสทรอนอีกต่อไป ในทางธุรกิจเวสทรอนจึงคิดแผนผลิตคอนเทนต์ของตัวเองขึ้นมา โดยเวสทรอนนั้นมีหนังที่สร้างฉายตามวิดีโออยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นหนังคุณภาพต่ำ เนื้อหาไร้สาระ บทพูดที่มีความอีโรติกแบบจงใจ ด้วยเพราะโฮมวิดีโอยุค 80 ส่วนใหญ่มีแต่หนังติดเรตเอ็กซ์

แต่ในที่สุดโปรเจ็กต์สุดทะเยอทะยานของเวสทรอนจึงถือกำเนิดขึ้น

สัปดาห์หน้าจะมาเล่าถึงหนังม้านอกสายตาเรื่องนี้กันต่อว่าทำไมถึงโด่งดังทั้งตัวหนัง นักแสดง และเพลงประกอบภาพยนตร์

ภาพประกอบ Vestron Pictures / Netflix / Youtube Video : Movieclips

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image