‘ถ้าอยู่ก็ขอให้ปล่อย ถ้าตายก็ขอให้บอก’ 35วันอุ้มหาย ‘วันเฉลิม’ สังคมไทยไม่เงียบเสียง

‘ถ้าอยู่ก็ขอให้ปล่อย ถ้าตายก็ขอให้บอก’ 35วันอุ้มหาย‘วันเฉลิม’ สังคมไทยไม่เงียบเสียง

เป็นเวลา 35 วันเต็ม นับแต่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ ชายไทยวัย 37 นักเคลื่อนไหว นักโทษการเมือง ลูกชาย น้องชาย เพื่อนผู้เป็นที่รักและอีกหลายสถานะ ถูกกลุ่มบุคคลปริศนา “อุ้ม” ขึ้นรถยนต์สีเข้มท่ามกลางสายตาผู้คนบนพื้นที่สาธารณะในกรุงพนมเปญ กัมพูชา อย่างอุกอาจในวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา บริเวณหน้าอาคารที่พักทั้งที่ยังติดสายคุยไลน์กับพี่สาว ซึ่งได้ยินประโยคสุดท้ายว่า “หายใจไม่ออก”

เมื่อข่าวสะพัดถึงเมืองไทย ชาวโซเชียลพร้อมใจติดแฮชแท็ก #savewanchalearm จนพุ่งขึ้นอันดับ 1 เทรนด์

ทวิตเตอร์ ตามมาด้วย “แรงกระเพื่อม” หลายระลอก ทั้งจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ซึ่งแถลงจี้รัฐบาลไทยและกัมพูชาเร่งค้นหาวันเฉลิม ทั้งกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา โผล่ผูก “โบขาว” แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในจุดสำคัญของกรุงเทพมหานคร รวมถึงอีกหลายจังหวัดในภูมิภาค โดยเฉพาะอีสานบ้านเกิด มีการติดตั้งแผ่นป้ายริมถนนหนทางเป็นภาพใบหน้าพร้อมข้อความคือคำถามสำคัญ

“อุ้มวันเฉลิมทำไม?”

Advertisement
ชุดขาว โบขาว และนกพิราบในการแสดงของกลุ่ม ‘ลานยิ้มการละคร’ ที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา สื่อถึงกรณี ‘วันเฉลิม’

หลังจากนั้น ข่าวคราวของวันเฉลิมยังไร้ความคืบหน้า ในขณะที่ครอบครัวเดินสายยื่นเอกสารผลักดันช่วยตามหาวันเฉลิมต่อกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการธิการการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลกรณีดังกล่าว กระทั่ง รังสิมันต์ โรม ในฐานะโฆษก กมธ.กฎหมาย ตั้งกระทู้สดกลางสภาจี้ถาม สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ดอน ปรมัตถ์วินัย เจ้ากระทรวงการต่างประเทศ ทว่า ดูเหมือนไม่ใช่คำตอบที่สังคมพอใจ พูดง่ายๆ ว่า ถามไม่ตรงคำตอบ!

แม้ยังเงียบงันในข้อมูล ข่าวสาร และเบาะแส แต่สังคมไทยไม่มีวี่แววเงียบเสียง ยังคงตั้งคำถามดังๆ ผ่านหลากช่องทาง หลายกิจกรรม อีกทั้งรื้อฟื้นความทรงจำ “เหยื่อ” อุ้มหายในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ตื่นตัวด้วย ‘อยุติธรรม’
สิทธิ-เสรีภาพแห่งการ ‘มีชีวิต’

Advertisement

“การอุ้มไม่ได้เกิดเฉพาะต่างประเทศ แต่จ่านิว-สิรวิชญ์
เสรีธิวัฒน์ ก็เคยถูกอุ้มที่ข้างกำแพงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต กล้องซีซีทีวีจับภาพไว้ได้ เมื่อเพื่อนจ่านิวไปขอภาพและเผยแพร่ในโซเชียลคืนนั้น จึงมีการปล่อยตัว แต่คนทำยังลอยนวล” คือคำกล่าวของ โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา

ครู แม่ และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยบนเวทีเสวนา “อุ้มหาย….แล้วไง?” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 มิถุนายน วันที่ 9 ของการอุ้มหายวันเฉลิม จัดโดยกลุ่มคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

ในวันนั้น พชร ธรรมล หรือ ฟลุค เดอะสตาร์ อดีตศิลปินหนุ่มที่เคยวิพากษ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน ยังร่วมวิเคราะห์ว่า เหตุใดแรงกระเพื่อมปมวันเฉลิมจึงโหมกระหน่ำแรงกล้าทั้งที่ก่อนหน้าก็มีผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหายถึงขนาดพบเป็นศพหลายราย

“กรณีนี้เราได้เห็นคนตื่นตัวต่างจากผู้ถูกอุ้ม 8 คนที่ผ่านมา ซึ่งผมก็ติดตามข่าว สังคมมีการพูดถึง แต่อยู่ในวงแคบ อาจเพราะวันเฉลิมยังนับว่าอายุน้อยถ้าเทียบกับคนอื่น เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้โจมตีใครในลักษณะหยาบคาย แต่นำเสนอข้อเท็จจริง” ฟลุคเชื่ออย่างนั้น

ด้าน วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียน นักสร้างสารคดี บอกว่า การอุ้มหายครั้งนี้แม้แต่คนที่ไม่รู้จักวันเฉลิมก็รู้สึกมีส่วนร่วม เพราะเป็นเรื่องหลักการ เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความ

อยุติธรรม ที่ผ่านมา เห็นมาหลายรอบแล้วว่าเดี๋ยวเรื่องก็หายไป พร้อมยอมรับว่าไม่ได้ตื่นตัวในทุกคดีของการถูกอุ้ม แต่ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้

กระดาษมีข้อความ ‘ใครอุ้มวันเฉลิม?’ และต่อต้านเผด็จการบริเวณซอยประชาอุทิศ 45 ใกล้ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ฟื้นปม‘คนหาย’
คดีเก่ายังไม่คลาย คดีใหม่สมทบ

ไม่เพียงงานเสวนาที่ผุดขึ้นมากมายหลายเวทีทั่วไทย ทว่า ในงาน รำลึกอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน แผ่นป้ายตามหาวันเฉลิมยังผุดขึ้นในงานทั้งพระนครและหัวเมืองน้อยใหญ่ในราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ยังเกิดแคมเปญใหม่จากคดีเก่าที่ลืมไม่ได้ เพื่อร่วมตามหาคนหายซึ่งดูจะเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะคนเหล่านั้น สังคมไทยคาดการณ์และตระหนักได้ถึงชะตากรรมว่าเป็นการสูญหายอย่างไม่มีวันกลับ ไม่ว่าจะเป็น เตียง ศิริขันธ์ นักสู้ภูพาน อดีตเสรีไทย, ทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ถูกอุ้มหายตัวไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2534, สมชาย นีละไพจิตร

ทนายความ อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547, พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ย้อนไปจนถึง หะยีสุหลง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเหยื่ออุ้มรายล่าสุดอย่างวันเฉลิม

โปสเตอร์ภาพและข้อมูลของคนเหล่านี้ติดอยู่ในจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในขณะที่เพจ “ขอนแก่นพอกันที” ก็ผลักดันแคมเปญ “ตามหาคนหาย” ทั่วขอนแก่นเช่นกัน โดยระบุว่า จากอดีตถึงปัจจุบันมีนักกิจกรรมทางการเมืองถูกอุ้มหายเเล้วอย่างน้อย 16 ราย โดยบางรายพบว่าเสียชีวิตเเล้ว

ความเคลื่อนไหวนี้ยังไม่นับการจี้ผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่นักสิทธิมนุษยชนออกมากระตุ้นเตือนรัฐบาลไทยอีกครั้งตั้งแต่การหายตัวไปใหม่ๆ ของวันเฉลิม

โปสเตอร์ผู้ถูกบังคับสูญหายในประวัติศาสตร์การเมืองไทยถูกติดตามจุดต่างๆ ใน ม.มหาสารคาม

‘แอมเนสตี้’จี้‘ฮุนเซน’ สืบโปร่งใส
ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ส่งวันเฉลิมกลับไทย

ตัดภาพมาในวันที่ 4 กรกฎาคม วันครบรอบการอุ้มหายวันเฉลิมครบ 1 เดือนเต็ม ครอบครัววันเฉลิมและแอมเนสตี้

อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรม “หนึ่งเดือนกับการแสวงหาความจริง #saveวันเฉลิม” ที่สวนครูองุ่น กรุงเทพฯ

กระหึ่มด้วยบทเพลงจากวงสามัญชน อบอวลด้วยบรรยากาศของการเรียกร้องให้ค้นหาความจริง รวมถึงการฉายสารคดีเรื่อง “ไกลบ้าน” กำกับโดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

เล่าชีวิต วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนที่ลี้ภัยการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิง

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อ่านแถลงปฏิบัติการด่วนจากแอม
เนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งมีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซน แห่งกัมพูชาว่าให้ดำเนินงานตามมาตรการทั้งปวงที่จำเป็น ได้แก่ 1.ประกันให้มีการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งด่วน รอบด้าน และโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาว่ามีการลักพาตัววันเฉลิม และแจ้งให้ครอบครัวทราบถึงการดำเนินการทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ทราบว่าวันเฉลิมอยู่ที่ไหน

2.ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมครั้งนี้เข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยศาลพลเรือนแบบปกติ และไม่ให้ใช้โทษประหาร

3.ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกัมพูชาเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯดังกล่าว และต้องไม่ส่งตัววันเฉลิมกลับประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่จะต้องไม่เข้าร่วมในการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

#saveวันเฉลิม ยังไม่เงียบเสียงในสังคมไทย

ความหวังริบหรี่
‘ไม่ว่าสภาพไหน ก็อยากได้เขากลับมา’

ด้าน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม ผู้ได้ยินเสียงสุดท้ายของน้องชายที่ยังไม่ทราบชะตากรรม เล่าในงานว่า ได้พยายามทุกวิถีทาง มีการยื่นเอกสารทั้งทางไทยและกัมพูชา ขณะนี้ทางอัยการสูงสุดให้ความเห็นว่าต้องรอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษก่อน ซึ่งยื่นเรื่องไปดีเอสไอวันที่ 25 มิถุนายน โดยจะใช้เวลา 15 วันพิจารณาว่าจะรับคดีหรือไม่ ถ้าดีเอสไอไม่รับเป็นคดีพิเศษ ก็ไปต่อยาก หนทางที่จะตามหาวันเฉลิมก็ริบหรี่ลงไป ส่วนในกัมพูชามีการแต่งตั้งทนายไปแจ้งความกับทางการกัมพูชาแล้ว เพราะตั้งแต่เกิดเรื่องทางการกัมพูชาก็ปฏิเสธ หน่วยงานรัฐไทยก็บอกว่าทำตามกระบวนการ ผ่านไปหนึ่งเดือนไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย จึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ

“ตอนนี้ผ่านมา 30 วันแล้ว ความหวังริบหรี่มาก แต่ภาวนาขอให้เขามีชีวิตรอด ไม่ว่าสภาพไหนเราอยากได้เขากลับมา เราอยากได้คำยืนยัน ถ้าเขาเสียชีวิตเราก็อยากรู้ เราอยากเอาเขากลับมาทำพิธีทางศาสนา ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็อยากพาเขากลับบ้าน”

สิตานันเล่าด้วยว่า ช่วงสองปีหลังมานี้จะพูดกับน้องเสมอว่าถ้าไม่ลี้ภัยไปยุโรปก็อยู่ทำธุรกิจที่กัมพูชา ทำมาหากินไม่ต้องไปยุ่งกับใคร การที่วันเฉลิมต้องไปอยู่กัมพูชาทำให้ชีวิตเขาเสียโอกาส วันเฉลิมเอาชีวิตตัวเองไปแลกกับความยุติธรรมและประชาธิปไตย

พี่สาววันเฉลิมยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้ว่าที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยกี่รายที่ถูกอุ้มหาย เมื่อเกิดเหตุกับวันเฉลิมจึงย้อนกลับไปดูกรณีของผู้ลี้ภัยการเมือง 8 คนที่สูญหายและสะเทือนใจว่ามีครอบครัวผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกันและยังมีผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านอีกมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR เพราะติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เธอไม่อยากให้ชีวิตของวันเฉลิมสูญเปล่า จึงอยากช่วยเรียกร้องสิทธิให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ และอยากให้คดีของคนสูญหายรายอื่นได้รับความยุติธรรมเช่นกัน

“ขอให้ปล่อยตัวต้าร์มาเถอะ ไม่ว่าในสภาพไหน ขอให้เขาปลอดภัย หรือถ้าเป็นศพก็ขอให้ยืนยันมาว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ไม่งั้นเราและครอบครัวจะไม่สามารถจะใช้ชีวิตต่อได้ ไม่รู้ว่าจะต้องตามหาถึงวันไหน ผู้ลี้ภัยที่หายไป 8 รายก่อนหน้านี้ก็เห็นศพแค่ 2 ราย ที่เหลือไม่ทราบชะตากรรม ถ้าวันเฉลิมมีชีวิตอยู่ก็ปล่อยออกมา ถ้าตายก็ขอให้บอกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว”

สิตานันยังอ่านแถลงการณ์ของครอบครัวซึ่งนับเป็นฉบับที่ 2 แล้ว โดยมีใจความสำคัญว่า วันเฉลิมหายตัวไปครบ 30 วันแล้ว ล่าสุดทางครอบครัวได้แต่งตั้งทนายความที่กัมพูชาเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกัมพูชาอีกทางหนึ่ง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางการกัมพูชาจะให้ความร่วมมือด้วยดีในการสอบสวนอย่างจริงจัง เพื่อนำตัววันเฉลิมกลับมาอย่างปลอดภัย และทำความจริงให้ปรากฏว่าอะไรคือมูลเหตุของการอุ้มหาย ใครเป็นผู้กระทำ และนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

“การอุ้มหายสร้างความหวาดกลัวให้แก่ทุกคน เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ และที่ใดก็ได้ ทางครอบครัวหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมจะเป็นการอุ้มหายครั้งสุดท้าย การอุ้มหายเคยเกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยก่อนหน้านี้เป็นจำนวน 8 คน นายวันเฉลิมเป็นเหยื่อรายที่ 9 ที่ถูกอุ้มหายขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสามารถพบศพได้เพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งสภาพศพแสดงให้เห็นว่าถูกกระทำอย่างโหดร้ายเหลือเกิน

“อย่างไรก็ดี ทางครอบครัวของเรายังตั้งความหวังว่าผู้ก่อเหตุ รวมถึงผู้สั่งการจะมีความเมตตาต่อวันเฉลิม และปล่อยตัวเขาให้กลับคืนสู่อ้อมอกคนในครอบครัวและคนที่รักเขา” สิตานันกล่าว

จากนั้น จุดเทียนและร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าไม่ควรมีใครถูกอุ้มหาย ทำให้เสียชีวิตหรือถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาล บุคคลเหล่านั้นเพียงแค่ใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตราบใดที่การแสดงออกนั้นไม่สร้างความเกลียดชังหรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในสังคม

เป็นส่วนหนึ่งในความ “ไม่เงียบ” ของสังคมไทยต่อการอุ้มหายของชีวิตคนหนึ่งคนที่สมควรได้รับการให้ค่าอย่างเท่าเทียม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image