อาศรมมิวสิก : จอร์จแซกดำ ประติมากรรมหน้าใหม่ของวงการดนตรี : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : จอร์จแซกดำ ประติมากรรมหน้าใหม่ของวงการดนตรี : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : จอร์จแซกดำ
ประติมากรรมหน้าใหม่ของวงการดนตรี : โดย สุกรี เจริญสุข

ผมได้รับเพลงสมิหลา (Samila 1994) ประพันธ์และเล่นโดยอาจารย์จอร์จ (วิศุวัฒน์ พฤกษวานิช) ฉายา “จอร์จแซกดำ” บางคนก็เรียกว่า “จอร์จ
นิ้วผี” เป็นฉายาจากคนที่รู้จักว่า อาจารย์วิศุวัฒน์ พฤกษวานิช ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “จอร์จ” เป่าแซกโซโฟนสีดำ ที่สำคัญก็คือ มีความสามารถสูงมากในการเป่าเสียงพิเศษหรือเสียงจากนิ้วผี (Altissimo Sound) เป็นความสามารถที่นอกเหนือไปจากนิ้วทั่วๆ ไป

เพลงสมิหลา (Samila 1994) เป็น 1 ใน 5 บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใช้ประกอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ที่อาจารย์จอร์จกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศโปแลนด์ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา (Prof. Andrzej Rzymkowski) รู้ว่าอาจารย์จอร์จได้ประพันธ์เพลงสำหรับแซกโซโฟนเอาไว้ อาจารย์ที่ปรึกษาจึงอยากให้นำเสนอผลงานของตัวเองที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนและเป็นวิธีที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ จึงเป็นที่มาของบทเพลงสมิหลา (Samila 1994) อาจารย์จอร์จเล่าว่า ตอนนำต้นฉบับเพลง (Demo) ไปให้อาจารย์ฟัง แม้ว่าจะเป็นเพลงที่มีกลิ่นของดนตรีร็อกผสมอยู่ อาจารย์ที่ปรึกษานั้นอยู่ในวัยกว่า 60 ปีแล้ว ท่านก็ตั้งใจฟังอย่างละเอียดและได้แนะนำสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับเพลงให้ด้วย

เพลงสมิหลา (Samila 1994) มีความยาว 9.30 นาที เป็นการผสมเทคนิคแซกโซโฟนร่วมสมัย (Slap-Tongue, Altissimo, Multiphonic และการระบายลม) เข้ากับองค์ประกอบของดนตรีไทย ทั้งในเรื่องเครื่องดนตรีและส่วนผสมของกลิ่นอายเพลงพื้นบ้านภาคใต้ โดยใช้เพลงตันหยงเป็นแนว ทั้งหมดถูกเรียบเรียงไว้ในแนวของดนตรีที่มีความก้าวหน้า (Progressive Rock) มีกีตาร์ไฟฟ้า เบสไฟฟ้า กลองชุด และซินธิไซเซอร์ มาร่วมบรรเลงในบทเพลงสมิหลา อาจารย์จอร์สเล่าถึงความในใจว่า “เป็นความทรงจำที่งดงาม จะคงอยู่เหนือกาลเวลา”

Advertisement

ตัวเพลงสมิหลาสื่อถึงภาพความจำในวัยเด็กที่อาจารย์จอร์จวิ่งเล่นอยู่ที่ริมหาดสมิหลา สงขลา เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้โอกาสกลับไปเยี่ยมริมหาดสมิหลาอีกครั้ง ภาพในอดีตก็โผล่ขึ้นมาเต็มในหัว รวมกับภาพที่สัมผัสในปัจจุบัน ณ ตอนนั้น โดยในท่อนกลางของเพลงจะอยู่ในจินตนาการว่า “กำลังนั่งอยู่ในพระอุโบสถ แล้วได้ยินเสียงต่างๆ แว่วเข้ามา เป็นเสียงวงดนตรีไทย เสียงละหมาด เสียงระฆังจากโบสถ์คาทอลิก เสียงหนังตะลุง ที่ดังก้องเข้ามาในเขตวัด ซึ่งจะสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของพื้นที่ของสงขลา”

โดยสภาพและวิถีชีวิตของชาวสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา อาศัยอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ไทยพุทธ แขกมุสลิม จีน ฝรั่ง จึงทำให้สงขลาเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ โดยทำนองเพลงเริ่มจากเสียงละหมาด จากนั้นก็ส่งต่อให้แซกโซโฟนค่อยๆ พัฒนาไปสู่เพลงตันหยง ในตอนจบท่อนช้า

อาจารย์วิศุวัฒน์ พฤกษวานิช หรืออาจารย์จอร์จ เป็นเด็กที่เติบโตในหาดใหญ่ สงขลา เริ่มเล่นดนตรีตอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เข้าร่วมวงโยธวาทิตของโรงเรียนแสงทองวิทยา โดยเป่าเทเนอร์แซกโซโฟน (Tenor Saxophone) เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้นำเทเนอร์แซกโซโฟนมาฝากไว้กับอาจารย์ที่โรงเรียนให้ช่วยขาย ราคาประมาณ 1 แสนบาท ครั้นเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในระหว่างนั้น แซกโซโฟนตัวนั้นจมน้ำและจมโคลน อาจารย์จอร์จจึงได้นำออกมาล้างทำความสะอาดให้ พอดีกับที่เจ้าของแซกโซโฟนขับรถเข้ามาดูและถามว่า “สนใจไหม ถ้าสนใจเดี๋ยวจะขายให้”

Advertisement

เนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีที่มีราคาแพงมาก (1 แสนบาท) สำหรับครอบครัวที่แม่เป็นพยาบาล ส่วนพ่อทำงานอยู่โรงพิมพ์ ทั้งยังต้องส่งลูกเรียนถึง 2 คน เมื่อเจ้าของได้ลดราคาให้เหลือเพียง 2 หมื่นบาท ก็เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตนักดนตรีของอาจารย์จอร์จ โดยมีแซกโซโฟนที่โดนน้ำท่วมเป็นเครื่องมือติดตัว เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้เดินทางมาสอบและได้เข้าเรียนดนตรีอย่างจริงจังที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และแซกโซโฟนตัวนั้น ก็ได้นำพาอาจารย์จอร์จไปยังสถานที่สำคัญทางดนตรีทั่วโลก โดยได้ไปแสดงที่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา สโลวีเนีย ฮังการี ญี่ปุ่น โปรตุเกส สิงคโปร์ และไต้หวัน

แซกโซโฟนตัวนั้นก็เป็นเพื่อนช่วยนำพาอาจารย์จอร์จให้ได้เรียนจบปริญญาโท ได้รับเชิญเป็นศิลปินของบริษัทยามาฮ่า (Thailand Yamaha Saxophone Artist) มีหน้าที่เป็นนักแสดงและสาธิตเครื่องดนตรี ในขณะเดียวกันก็ได้เป็นอาจารย์สอนแซกโซโฟน ประจำที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปัจจุบัน อาจารย์จอร์จกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก เหลือเพียงแสดงเพื่อสอบจบการศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ประเทศโปแลนด์ ภายใต้ทุนของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะต้องสอบจบการศึกษาผ่านออนไลน์จากประเทศไทย

อาจารย์จอร์จเป็นบุคลากรดนตรีที่ถูกบ่มเพาะโดยใช้ปรัชญาและชีวิตจริงระหว่างที่การศึกษาดนตรีเพิ่งจะเริ่มต้น ในปี พ.ศ.2546 คณะนักแซกโซโฟน 8 คน จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เดินทางไปร่วมงานมหกรรมแซกโซโฟนโลก (World Saxophone Congress) ที่เมืองมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา

ความจริงตั้งใจไปเพื่อเสนอตัวที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งต่อไป แต่ก็แพ้ลงคะแนนให้ประเทศสโลวีเนีย

ต่อมาในปี พ.ศ.2549 คราวนี้มีการเตรียมตัวมากขึ้น เรียนรู้วิธีการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ มีคณะนักแซกโซโฟนจำนวนมากขึ้นคือไปกัน 28 คน จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้ไปร่วมงานมหกรรมแซกโซโฟนโลก ซึ่งต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าลงทะเบียน เป็นการลงทุนสุดตัว แต่เพื่อการพัฒนาดนตรีให้กับการศึกษาในประเทศไทยก็ต้องทำ ในครั้งนั้น อาจารย์จอร์จ ในฐานะนักศึกษาและนักแซกโซโฟนได้เดินทางไปด้วย ซึ่งประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2552

ในการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมแซกโซโฟนโลกนั้น เป็นเรื่องใหญ่สำหรับวงการดนตรีของไทย เพราะไทยไม่มีประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้มาก่อน ไม่มีความพร้อมในเรื่องที่พัก การเดินทาง ที่สำคัญก็คือ เราไม่มีคนดนตรีเพียงพอ ฝีมือนักดนตรีที่จะรองรับฝีมือระดับโลก ซึ่งก็มีเวลา 3 ปีในการเตรียมตัว การจัดประกวดแซกโซโฟนระดับนานาชาติ (Jean-Marie Londeix International Saxophone Competition) ก็เกิดขึ้น ปีก่อนที่จะมีงานมหกรรมแซกโซโฟนโลก (พ.ศ.2551) ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องคนและนักแซกโซโฟนด้วย ซึ่งต้องจัดการเดินทาง มีรถศาลายาลิงก์ มีการจัดการเรื่องที่พัก รวมถึงการพัฒนาวงซิมโฟนีออเคสตราเพื่อรองรับการแสดงแซกโซโฟนคอนแชร์โต (Saxophone Concerto)

ซึ่งการจัดประกวดแซกโซโฟนระดับนานาชาติ (Jean-Marie Londeix International Saxophone Competition) เป็นการสร้างความเข้มแข็งและได้ดำเนินการจัดต่อมาอีก 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ.2554 และปี พ.ศ.2557 ซึ่งทุกครั้งมีนักแซกโซโฟนของไทยและนักแซกโซโฟนในภูมิภาคได้เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มขึ้นทุกครั้ง โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2557 อาจารย์จอร์จได้รับรางวัลนักแซกโซโฟนยอดเยี่ยมจากประเทศไทย

ซึ่งเป็นการทำงานคุณภาพระดับโลก เป็นการจัดการโดยนักแซกโซโฟนระดับนานาชาติทั้งสิ้น

ความพยายามที่จะพัฒนานักดนตรีของไทย โดยเฉพาะนักแซกโซโฟน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักแซกโซโฟน ทรงเป็นดุริยกวี และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ในการเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมแซกโซโฟนโลก พ.ศ.2552 การจัดประกวดแซกโซโฟนนานาชาติ เพื่อเป็นการถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานชื่ออาคารดนตรีเฉลิมพระเกียรติ “ภูมิพลสังคีต”
ความสำเร็จของอาจารย์จอร์จ ในฐานะนักดนตรีในเวทีโลกถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเล็กๆ ของคนเล็กๆ แต่วันนี้อาจารย์จอร์จเป็นนักแซกโซโฟนจากประเทศไทยที่อยู่ในเวทีโลกแล้ว ทำให้นักแซกโซโฟนจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก นอกจากอาจารย์จอร์จแล้ว ยังมีนักแซกโซโฟนชั้นแนวหน้าอีก อาทิ นายพิศลย์ มนัสชินอภิสิทธิ์ ศึกษาแซกโซโฟนที่มหาวิทยาลัยในซูริก สวิตเซอร์แลนด์ นายฐิติพล พิเศษกุล ศึกษาแซกโซโฟนอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ยังมีอีกหลายคนที่เป็นนักแซกโซโฟนชั้นนำในเมืองไทย อาทิ อาจารย์อานนท์ เฟื่องฟู อาจารย์พร้อมวุฒิ สุดตะกู และอาจารย์สุพัฒน์ หาญพัฒนชัย เป็นต้น

ในการลงทุนจัดการศึกษาเพื่อการสร้างคนให้ได้มาตรฐานคุณภาพนานาชาตินั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมาตรฐานมีอยู่ระดับเดียวคือ “ระดับนานาชาติ” จึงต้องลงทุนสูงและใช้เวลานาน เหมือนกับการงมเข็มในมหาสมุทรหรือลงทุนแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน โดยที่ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ค้นหา ใช้ฝีมือล้วนๆ เมื่อความพยายามจัดการคุณภาพด้านการศึกษาดนตรีได้สำเร็จ อย่างที่อาจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านได้เขียนเอาไว้ว่า “กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้ว แสนงาม”

อาจารย์จอร์จเป็นประติมากรรมต้นแบบทางการศึกษาดนตรีของไทย เป็นครูแซกโซโฟน เป็นนักดนตรี เป็นศิลปิน เป็นนักประพันธ์เพลง แต่งเองและเล่นเอง เป็นของจริงที่ยุโรปยอมรับ เพราะการศึกษาดนตรีของยุโรปนั้นเหนียวสุดแล้ว เคี่ยวจนได้เฉพาะคุณภาพเท่านั้น อาจารย์จอร์จสามารถผ่านไปได้และได้ปักหมุดนักดนตรีชาวไทยในยุโรปสำเร็จ ซึ่งไม่เฉพาะที่ตัวเองเท่านั้น แต่มีแผนที่ของประเทศไทยติดอยู่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image