กร ทัพพะรังสี นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน “พรมแดนไม่ติด แต่หัวใจใกล้ชิด” ใน 45 ปีแห่งความสัมพันธ์

นับแต่วันที่ “โจว เอินไหล” นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจรดปากกาลงนามแถลงการณ์ร่วม ประกาศเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย กระชับมือแนบแน่นในมิตรภาพ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 หรือเดือนนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว

ไม่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล หากแต่ความสัมพันธ์ในภาคประชาชนซึ่งแม้มีมาอย่างยาวนานยิ่งกว่า ในประวัติศาสตร์จีนและไทยตั้งแต่ครั้งยังไม่มีรัฐชาติ เนิ่นนานนับพันปี ทว่า การเริ่มต้นอย่างเป็นทางการก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ โจว เอินไหล ขอพบพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น โดยพูดคุยถึงการก่อตั้ง “สมาคมมิตรภาพจีน-ไทย” ที่กรุงปักกิ่ง และ “สมาคมมิตรภาพไทย-จีน” ที่กรุงเทพฯ

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันนั้น ชื่อว่า กร ทัพพะรังสี อยู่ในเหตุการณ์สำคัญ เป็นประจักษ์พยานในบทสนทนาครั้งประวัติศาสตร์

“วันที่โจว เอินไหลกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ลงนามระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลแล้วได้ขอพบท่านชาติชาย ชุณหะวัณ ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ ท่านโจว เอินไหล บอกว่าวันนี้เรา 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลแล้ว ข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะให้มีความสัมพันธ์อีกช่องทางหนึ่ง เรียกว่าประชาชนต่อประชาชน ผมได้ยินสิ่งนี้จากปากของนายกรัฐมนตรีประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่ที่สุดในโลกที่ต้องการให้มีการเชื่อมต่อสื่อสารกันอีกช่องทางหนึ่ง ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา การกีฬา

Advertisement

ท่านโจว เอินไหล ยังบอกว่าจะตั้งสมาคมมิตรภาพจีน-ไทยขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ให้ท่านชาติชายกลับไปตั้งสมาคมมิตรภาพไทย-จีนที่กรุงเทพฯ นั่นคือการเกิดขึ้นของสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ซึ่งเป็นสมาคมระหว่างไทยกับจีนสมาคมแรกในภาคประชาชนกับประชาชน ในประเทศไทย หลังจากนั้นมีสมาคมภาคประชาชนระหว่างไทยกับจีนและจีนกับไทยเกิดขึ้นอีก 700-800 สมาคม แต่สมาคมแรกที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ คือสมาคมมิตรภาพไทย-จีน”

เลขาฯ รมว.การต่างประเทศในวันนั้น ซึ่งต่อมาคืออดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวงของประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีนในวันนี้ เล่าถึงความทรงจำในห้วงเวลานั้นอย่างแจ่มชัด ราวกับเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวานนี้ ทว่า นั่นคือเวลาเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว

โดยหลังจากพลเอกชาติชายถึงแก่อสัญกรรม กระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศ ขอให้กร ทัพพะรังสี นั่งเก้าอี้นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีนต่อจากพลเอกชาติชาย เนื่องจากเคยอยู่ในคณะทำงานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ตลอด 45 ปีที่ผ่านพ้น ระหว่างดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 3 ครั้ง รัฐมนตรี 6 กระทรวง ได้ร่วมศึกษา พบเห็น สัมผัส และประชุมร่วมกับผู้บริหารรัฐบาลจีนตลอดมา

Advertisement

“ถึงแม้ไม่มีชายแดนติดกัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน อยู่ในหัวใจของประชาชนจีนและประชาชนไทยมาโดยตลอด” คือสิ่งที่นายกสมาคมตั้งข้อสังเกต ก่อนไปถึงบทสนทนาจากมุมมองน่าสนใจทั้งบทเรียนในอดีต มุมมองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จนถึงการคาดการณ์อนาคตบนการเมืองโลกร่วมสมัยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจีนคือหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ขอเริ่มจากก้าวต่อไปในความสัมพันธ์ไทย-จีนปีที่ 46 กับบทบาทของสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ?

สิ่งที่ได้เรียนรู้กันมาใน 45 ปี คือการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศที่คล่องตัวที่สุดคือ ภาคประชาชนต่อประชาชน โดยไม่ได้มีระเบียบขั้นตอนของราชการเข้ามาเกี่ยว ผมเองก็เคยอยู่มาหลายกระทรวง หลายรัฐบาล เวลาจะติดต่ออะไรกัน ต้องไปเริ่มต้นที่สถานทูต อย่างจีนจะติดต่อกับผม ต้องเริ่มต้นที่สถานทูตไทยในปักกิ่ง ซึ่งจะส่งเรื่องมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่กรุงเทพฯ แล้วส่งต่อมาอีกกระทรวง กว่าจะมาถึงมันยาวนาน แต่ภาคประชาชนกับประชาชน ยิ่งปัจจุบันนี้ โทรศัพท์มือถือ วีแชต ไลน์ ติดต่อกันโดยตรงได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เราใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ แล้วประชาชนจะใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ความเป็นพี่น้องกันระหว่างไทย-จีน ยิ่งออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกวัน เมื่อเช้านี้สมาคมมิตรภาพจีน-ไทยโทรมาหาผม บอกว่าคุณกร วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้จริงๆ แล้วเราต้องมาฉลองครบรอบ 45 ปีที่ปักกิ่ง เขาบอกว่า เมื่อไหร่ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศสะอาด ต้องมาชนแก้วกัน

อีกช่องทางที่เราพัฒนาดีเหลือเกินคือการท่องเที่ยวผมเคยเป็น รมว.การท่องเที่ยวฯ ในจำนวนประชากรที่เข้ามาสู่ประเทศไทยมากที่สุด จีนเป็นเบอร์ 1 ทุกปี แปลว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้แข็งแรง รากฐานจริงๆ ผู้ที่นำเงินมาเข้ากระเป๋าคนไทยจริงๆ คือคนจีน เขารออยู่ เขาพร้อมจะมา แต่เรายังไม่เปิด

เมื่อสักครู่ พูดถึงประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย แต่อีกมุมก็เกิดความกระทบกระทั่งอย่างกรณีศึกพันธมิตรชานม เรื่องการเรียก “ประเทศฮ่องกง” มองประเด็นนี้อย่างไร ?

การจะทำให้มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนจีน โดยใช้ฮ่องกงเป็นตัวอ้าง เป็นสิ่งที่จุดง่ายแต่ติดยาก เพราะฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนมาตั้งกี่ปีแล้ว ตั้งแต่รับมอบคืนมาจากอังกฤษ แล้วประชาชนคนไทยโดยเฉพาะตัวผม ซึ่งเคยอยู่ในรัฐบาล เราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องภายในของแต่ละประเทศ ฮ่องกงเป็นเรื่องของรัฐบาลจีนที่จะบริหาร เช่นเดียวกับการที่เราก็ไม่ต้องการให้ประเทศอื่นมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของเรา นี่เป็นประเพณีปฏิบัติอยู่แล้ว ในวงการสังคมโลกเขาทำกันอย่างนี้ทั้งนั้น ใครก็ตามที่พยายามจะจุดขึ้นมาให้มีข้อขัดแย้งระหว่างจีนกับไทย ผมตอบได้เลยว่าจุดได้แต่ติดยาก

จากสถานการณ์โควิด ทำเศรษฐกิจไทยทรุดยิ่งขึ้นไปอีก หลายฝ่ายมองว่า จีนคือมิตรประเทศที่จะช่วยไทยได้อย่างมาก ?

ขอพูด 2 แง่ คือในแง่ของรัฐบาลต่อรัฐบาล ผมเชื่อว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนพร้อมอยู่แล้ว เมื่อใดที่สถานการณ์เข้าสู่ความปลอดภัยซึ่งกันและกัน ทั้ง 2 รัฐบาลนี้พร้อมจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศแน่นอน โดยเฉพาะภาคประชาชนนี่พร้อมอยู่แล้ว พร้อมตั้งแต่เมื่อวานแล้ว (หัวเราะ) เรามีความมั่นใจอยู่แล้ว ความเป็นพี่น้องและสายสัมพันธ์ใกล้ชิดนั้น เป็นความพิเศษของชนชาติทั้ง 2 มาโดยตลอดเป็นพันปีแล้ว ทำให้เมื่อเราถูกมาตรการของรัฐบาลชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากโควิดที่ระบาด ทุกคนต้องอดทนและยอมรับ แต่ผมบอกได้เลยว่าทั้งภาครัฐบาลและภาคประชาชน เมื่อใดที่มีไฟเขียวเปิดขึ้น ให้สื่อสารสัมพันธ์กันได้เหมือนเดิม มาแน่นอน แต่ขอให้คนไทยก็ดี มีความเข้าใจในมุมนี้พร้อมๆ กันว่า เมื่อโควิดหมดไปแล้ว เศรษฐกิจไทยจะฟื้นเร็วที่สุด เพราะตัวช่วย ตัวเร่ง คือประชาชนจีน และกลไกของรัฐบาลจีนที่พร้อมอยู่แล้ว

ในความสัมพันธ์ 45 ปี หรือย้อนไปไกลกว่านั้น ไทยควรเรียนรู้อะไรจากจีน ?

คนไทยสามารถเรียนรู้ได้จากสังคมเศรษฐกิจซึ่งยากจนคล้ายๆ กับเรา แต่เขามีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งเราไม่มี คือมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เอกภาพ ปราบคอร์รัปชั่น 3 ข้อนี้เขียนไว้ข้างฝาของรัฐบาลจีนทุกคณะ จับคนติดคุกไปแล้วเป็นแสน ยิงเป้าไปแล้วเป็นหมื่น และมีเงื่อนไขด้วยว่าเวลาข้าราชการคอร์รัปชั่นแล้วยิงเป้า ต้องออกโทรทัศน์

ย้อนไปใน ค.ศ.1949 ภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่ท่านเหมา เจ๋อตุง เป็นประธาน 30 ปีเต็ม จีนเป็นสังคมปิด เศรษฐกิจปิด ไม่ได้ติดต่อกับสังคมโลก พอท่านถึงแก่อสัญกรรม เติ้ง เสี่ยวผิง เข้ามาในปี 1978 โดยเห็นแล้วว่าหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จีนมีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้ว่าประชาชนประเทศอื่นในสังคมโลกอยู่กันอย่างไร ท่านประชุมคณะทำงานใหม่ ว่า การที่จะให้ประชาชนจีนกินดีอยู่ดีนั้น 1.ธุรกิจใดๆ ต้องให้คนจีนเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นด้วย ก่อนหน้านั้นทุกอย่างเป็นของรัฐ 2.จีนมีทรัพยากรทางธรรมชาติมากมาย เกษตรกรรม สินแร่ น้ำมัน แต่ไม่มีเทคโนโลยี เติ้ง เสี่ยวผิงบอก อนุญาตให้นำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาได้ 3.ประชาชนชาวจีนบอกว่า ไม่มีเงินลงทุน เติ้ง เสี่ยวผิง จึงอนุญาตให้มีการร่วมทุนกับต่างชาติได้ โดยหวังว่า 3 ข้อนี้จะนำไปสู่ชีวิตที่กินดีอยู่ดีของประชาชน แต่ทำอย่างรอบคอบ ไม่ผลีผลาม ต้องขอชื่นชม กล่าวคือ ใช้เซินเจิ้นเมืองเดียวเป็นต้นแบบก่อน หนึ่งปีผ่านไป ไปถามเซินเจิ้นว่าดีไหม ประชาชนบอกเยี่ยมที่สุด ท่านเลยกลับมาที่ปักกิ่งเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ กวางเจา เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ไล่ไปทีละเมือง นั่นคือที่มาของคำขวัญที่ว่า “จะให้ดอกไม้บานทั้งแผ่นดิน โดยอนาคตที่ดีขึ้น”

ใน ค.ศ.1978 มีคนจีนในประเทศ 800 ล้านคน ท่านวางแผนให้คนจนหมด 200 ล้าน ใน 10 ปี โดยใช้ 3 ข้อข้างต้น ส่งไม้ต่อให้เจียง เจ๋อหมิน บริหารตามนโยบายเดิม 10 ปี คนจนหมดไปอีก 200 ล้านคน สรุป 20 ปี คนจนหมดไป 400 ล้านคน จากนั้น ส่งไม้ต่อให้หู จิ่งเทา คนจนหมดไปอีก 300 ล้านคน ต่างชาติฮือฮา การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเลข 2 หลัก ส่งไม้ต่อให้สี จิ้นผิง เกิดอีไต้อีลู่ One Belt One Road ตอนนั้น มีคนจนเหลือแค่ 100 ล้าน ท่านอยู่แค่ 5 ปี คนจนหมดประเทศแล้ว ถึงกล้าประกาศนโยบายนี้ ซึ่งเป็นนโยบายกับต่างประเทศโดยเฉพาะ 2020 ไม่มีคนจนในประเทศจีน

ถ้าเขาทำได้แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ ได้คำตอบว่า รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ เอกภาพ และปราบคอร์รัปชั่น ขอแค่ 3 ข้อนี้ แล้วสิ่งที่คนจนจะหมดจากประเทศ ผู้บริหารประเทศจีนถามผม คุณกร อย่าถามผมนะว่าประเทศจีนปกครองด้วยระบบอะไร ถามผมดีกว่า ว่าคนจนหมดไปหรือยังจากประเทศจีน ประโยคนี้ ผมนั่งเครื่องบินกลับมา 4 ชั่วโมง คิดมาตลอดทางว่าเขาพูดด้วยความมั่นใจ เมื่อไหร่ผมจะพูดประโยคนี้กับเมืองไทยได้บ้าง (หัวเราะ)

ผมอยากจะย้ำอย่างหนึ่งว่า นโยบายของจีนซึ่งไม่เคยเปลี่ยนเลยก็คือ เอาความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ชื่อประเทศจึงเป็น PEOPLE REPUBLIC OF CHINA ก่อนหน้านั้นตอนอยู่กับเจียง ไคเช็ก เป็น REPUBLIC OF CHINA เฉยๆ พอเจียง ไคเช็ก ย้ายไปไต้หวัน เหมา เจ๋อตุง เข้ามา ท่านเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคือนโนบายสูงสุด

ทุกครั้งที่ประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “น้าชาติ” คือหนึ่งในอดีตนายกฯ ที่คนไทยนึกถึง หลักคิดหรือนโยบายอะไรที่ยังใช้ได้อย่างเป็นสากลในช่วงเวลานี้ ?

ถ้าจะให้พูดเรื่องน้าชาติ ต้องมีเวลาให้ผมอีก 3 วัน (หัวเราะ) ใครต่อใครที่คิดถึงน้าชาติ มีเหตุผลครับ ไม่ใช่พูดกันขึ้นมาเพื่อจะเชียร์น้าชาติ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ปี 31-33 ที่น้าชาติเป็นนายกฯ การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเลข 2 หลัก 13 เปอร์เซ็นต์ 12 เปอร์เซ็นต์ 11 เปอร์เซ็นต์ สมควรที่น้าชาติจะได้รับการนึกถึงแน่นอน นี่เป็นตัวเลขที่แม้แต่มาถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มียุคไหนที่ทำได้ถึงระยะนั้น เป็นช่วงเวลา 3 ปีที่คนไทยยิ้มแย้มแจ่มใส มีเงินใช้ถ้วนหน้า ส่งออกดีมาก คนมีงานทำ คนไทยก็คงนึกถึงน้าชาติเวลาที่เขาไม่มีเงินใช้ เวลาที่เขาไม่มีงานทำ เวลาที่ส่งออกไม่ได้ เวลาที่ไม่มีการลงทุน ผลของการที่เศรษฐกิจขยายตัวดีมาก 3 ปีติดต่อกัน น้าชาติถูกปฏิวัติครับ (หัวเราะ)

คำแนะนำถึงรัฐบาล ในแง่การผลักดันความสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้นขึ้น ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษฐกิจแต่รวมถึงสังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ ?

ในระยะนี้ผมต้องสงสารและเห็นใจรัฐบาลไทย เพราะกลไก มาตรการที่มีอยู่ รัฐบาลคงเดินอะไรมากไม่ได้ ต้องรอดูผลโควิดซึ่งประกาศทุก 24 ชั่วโมง ก็เห็นใจทุกภาคที่อยู่ในรัฐบาล เพราะผมเคยอยู่มาแล้ว รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้รอประกาศทุก 24 ชั่วโมง ว่าตัวเลขไปถึงไหน ก็ไม่ว่ากัน ถือว่าพยายามทำดีที่สุดแล้ว ผมก็ดีใจในความเป็นคนไทยว่า ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เผชิญหน้าการแก้ปัญหาโควิด ยอมรับว่าไทยเบอร์ 1 เมื่อใดที่มาตรการสามารถเปิดเอื้ออำนวยให้คนต่างชาติเข้ามาได้ มาลงทุนได้ ทำธุรกิจได้ ท่องเที่ยวได้ ใช้เงินได้ เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นเบอร์ 1 อีกเหมือนกัน สำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้เงินและมาลงทุน ฉะนั้น ทางภาคราชการและเอกชนเตรียมตัวไว้ให้ดีเท่านั้น และให้กำลังใจรัฐบาลหน่อย อย่าเพิ่งไปต่อว่ารัฐบาลตอนนี้ ผมรู้จักทุกท่านในรัฐบาล ท่านไม่อยากให้รัฐบาลเดือดร้อนหรอกครับ แต่เป็นมาตรการที่ควบคุม มีหมอรูปหล่อๆ มาประกาศทุก 24 ชม. ตอนนี้เราต้องอดทนอยู่กับแค่นี้ก่อน เท่านั้นเอง แต่ผมมีความหวังว่าเมื่อจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับขึ้นมาใหม่ เชื่อว่าประเทศไทยไปได้อย่างเร็วแน่นอน

เหตุการณ์ประทับใจส่วนตัวใน 45 ปีแห่งความสัมพันธ์ กับวาทะ “ไทย-จีน พี่น้องกัน”

ใน 45 ปีที่ผ่านมา ผมเคยไปจีนมาแล้ว 155 ครั้ง แต่ยังไม่ครบทั้ง 31 มณฑล ท่านเดียวที่ไปครบแล้วคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว รุ่นที่ 4 ในครอบครัวผม น้าชาติชาย เป็นรุ่นที่ 3 แซ่ลิ้ม มาจากซัวเถา เมื่อตอนฉลองมิตรภาพ 35 ปี อย่างเป็นทางการ เมื่อ 10 ปีก่อน ผมจัดขบวนคาราวานขับรถ 10 คัน ซึ่งเป็นรถที่บริษัทจีนส่งมาให้ ชวนเพื่อนๆ ขับไป 10 คัน คันละ 4 คน รวม 40 คน จากกรุงเทพฯ ไปซัวเถา รวม 8 วัน 8 คืน ก่อนหน้านั้น เคยบินไปซัวเถาหลายครั้งแล้ว แต่มันง่ายเกินไปและไม่มีโอกาสได้สัมผัสผู้คนบนพื้นดิน ตอนจอดรถเติมน้ำมัน ทานข้าว ประชาชนจีนเห็นขบวนรถพวกเรา มีธงไทย-จีน ติดอยู่ด้วย พอบอกว่าพวกเรามาจากประเทศไทย เขาดีใจมาก บอกว่ารักคนไทยมาก

คำพังเพย ว่าไทยจีนพี่น้องกัน คนไทยพูดอย่างนั้นแล้วคนจีนพูดอย่างนั้นหรือเปล่า ครั้งหนึ่ง ผมไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยยูนนานที่เมืองคุนหมิง หลายปีมาแล้ว พบนักศึกษาจีนปี 4 เอกภาษาไทย ผมเขียนบนกระดานด้วยภาษาไทย ว่า คนจีนกับคนไทยคือ แล้วถามว่ามีใครจะเขียนประโยคนี้ให้จบได้บ้าง มีนักศึกษาชายคนหนึ่ง ยกมือ แล้วเขียนต่อว่าพี่น้องกัน

อยากฝากข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ประเทศไทยไม่มีชายแดนต่อติดกับจีน ประเทศที่มีชายแดนต่อกับจีน คือ ลาว พม่า เวียดนาม แต่จีนไม่เคยพูดว่า ลาว เวียดนาม พม่า เป็นพี่น้องกับเขา ในขณะที่ไทยเราไม่มีชายแดนติดต่อ แต่เขาคิดตลอดว่าไทยคือพี่น้องกับเขา จากการที่ไปจีนมาแล้ว 155 ครั้ง ตอนนี้ยืนยันได้เลยว่าจีนไทย พี่น้องกัน เราน่าจะมีความภาคภูมิใจว่าถึงแม้ไม่มีชายแดนติดกัน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน อยู่ในหัวใจของประชาชนจีนและประชาชนไทยมาโดยตลอด

“ก็เป็นวิถีชีวิตของคนอายุ 75 ธรรมดาๆ” เมื่อ HEALTH สำคัญกว่า WEALTH

“ตลอดชีวิตผมไม่เคยแตะต้องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นไวน์ เบียร์ วิสกี้ ไม่เคยสูบบุหรี่เลย การจะมีสุขภาพดีเมื่อายุ 75 ปีได้ ไม่ใช่มาทำกันเมื่อวาน หรือเมื่อเดือนที่แล้ว”

เป็นประโยคเรียบง่ายของ กร ทัพพะรังสี ในวัย 75 ปี ที่เจ้าตัวบอกว่า เป็นวิถีชีวิตธรรมดาๆ ที่อยู่มาถึงจุดที่สุขภาพ สำคัญกว่าทรัพย์สินเงินทอง

“คนอายุเท่าๆ ผม มีเงินทองร้อยล้านพันล้าน บางคนนอนป่วยบนเตียง ผมไม่ได้มีเงินมากเท่าเขา แต่มีชีวิตที่สุขภาพดี ผมเล่นแบดมินตัน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง ทำอย่างนี้มาแล้ว 62 ปี ตั้งแต่อายุ 13 เรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เล่นแบดมินตัน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้อายุ 75 ก็ยังทำอยู่เหมือนเดิมเท่านั้นเอง เป็นชีวิตที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหรอก น่าเบื่อ แต่สิ่งสำคัญคือได้สุขภาพอยู่เป็นเพื่อนกับเรา คนถามว่าทำไมไม่ตีกอล์ฟ ผมบอกว่า อายุยังไม่ถึง (หัวเราะ)”

อดีตรองนายกฯ เล่าด้วยว่าเมื่อครั้งเป็น รมว.สาธารณสุข เคยมอบนโยบายสำคัญทั้งยังผลักดันแพทย์แผนไทยสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศ

“ดูแลคนดีๆ อย่าให้ป่วย คือ นโยบาย ดูแลคนป่วยให้กลับมาปกติอย่างเดิม ไม่ใช่นโยบาย แต่เป็นความรับผิดชอบ นี่คือสิ่งที่พูดไว้เมื่อปี 2541-2544 ผมใส่ อสม. ให้ครบทุกหมู่บ้าน 7 หมื่น 7 พันหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 10 คน ให้นโยบายนี้เข้าไป คือ ดูแลคนดีๆ อย่าให้ป่วย และเพิ่มมิติใหม่ๆ เข้าไปในวงการสุขภาพ ของไทยเป็นครั้งแรก คือ การใส่แพทย์แผนไทยเข้าไปในระบบสุขภาพของรัฐบาล บัญชียาหลักของชาติ ต้องมียาสมุนไพรด้วย คุณจดไว้ได้เลย ว่าเราเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนโบราณไทย และแพทย์แผนโบราณจีนอยู่ในประเทศครบสรรพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ผมใส่ไว้ให้และมีกฎหมายรองรับตั้งแต่ปี 43”

กลับมาที่ชีวิตปัจจุบัน หลังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต่างๆ ด้านแบดมินตันมากมาย อาทิ นายกสมาคมแบดมินตันไทย ประธานสมาพันธ์แบดมินตันแห่งเอเชีย สหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ

“เป็นมาหมดแล้ว ไม่มีอะไรให้เป็นแล้ว เลยกลับมาเป็นนักแบดแก่ๆ ธรรมดา (หัวเราะ)”

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญ ไม่ถามไม่ได้ คือ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในยุคที่แนวโน้มนักศึกษาในรั้วอุดมศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง

“เป็นความจริงที่ว่า นักศึกษาที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยในรุ่นใหม่ๆ ทุกมหาวิทยาลัย ตัวเลขลดลงไปหมด แต่ที่สวนสุนันทาตั้งเป้าไว้ ตัวเลขลดจริง แต่ไม่ได้มากถึงกับเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ผู้สมัครที่มาเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในจำนวน มรภ.ทั้งหมด 38 แห่ง สวนสุนันทายังเป็นลำดับ 1 มาหลายสมัยแล้ว สวนสุนันทาส่วนกลางของเรา ส่วนกลางของเราอยู่ที่สวนสุนันทา เรายังมีสมุทรสาคร ระนอง นครปฐม ที่จะรองรับการขยายตัวของนักศึกษาซึ่งตรงนี้เราก็ภาคภูมิใจว่า วิทยาลัยของเราเองซึ่งผลิตนักศึกษาออกไปแล้ว เช่น วิทยาลัยพยาบาล ของสวนสุนันทา ทุกคนมีงานทำก่อนเรียนจบทั้งหมด

วิทยาลัยนานาชาติของสวนสุนันทา เข้าสมัครเป็นพนักงานสื่อสารการบิน มีงานทำก่อนรับปริญญาทุกคน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งคิดว่า

ความเป็นสวนสุนันทานั้น สังคมไทยยอมรับ และเราก็ภาคภูมิใจ โดยจะรักษามาตรฐานแห่งความเป็นลำดับที่ 1 ไว้ตลอดไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image