เปิดเบาะแส ฉก ‘หนังสือบุด’ จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสู่ ‘ตลาดมืด’ จับพิรุธ ภาพถ่าย ‘บนฟูก’ (ชมคลิป)

เปิดเบาะแส ฉก ‘หนังสือบุด’ จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสู่ ‘ตลาดมืด’ จับพิรุธ ภาพถ่าย ‘บนฟูก’

สืบเนื่องกรณีสมุดข่อย หรือ ‘หนังสือบุด’ เก่าแก่สูญหายจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ต่อมา พบว่าถูกโจรกรรมเพื่อจำหน่ายในตลาดมืด กระทั่งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ตั้งศูนย์บิณฑบาตคืนเป็นสมบัติชาติ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เตรียมขออนุมัติขอออกหมายจับ ซึ่งเบื้องต้นมีการเปิดเผยว่ามีบุคลากรภายในเกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 13.00 น. ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนา ‘พลิกพับบุดสมุดข่อยโบราณ สมบัติชาติ และมรดกทางภูมิปัญญาอันหาค่ามิได้’

ในตอนหนึ่ง นายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล สถาปนิก ผู้ติดตามเบาะแสการโจรกรรม และประสานการรับคืน กล่าวว่า เบาะแสดังกล่าวเริ่มต้นจากครั้งหนึ่งตนเดินทางไปยังศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มรภ.นครศรีธรรมราช ได้เปิดตู้พบหนังสือบุด ‘สีมากถา’ ซึ่งยังไม่มีการทำทะเบียน ครั้งนั้นตนได้ถ่ายภาพไว้เกือบทุกหน้า ต่อมา ได้ทราบข่าวว่ามีหนังสือบุดหลุดเข้าไปในตลาดมืด มีข้อความระบุว่า เขียนไว้สำหรับวัดแห่งหนึ่งใน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าหลุดมาจากไหน กระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน มีบุคคลรายหนึ่งโพสต์ขายหนังสือบุด ‘สีมากถา’ ในกลุ่ม ‘คนรักสมุดไทย’ ซึ่งเป็นกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้และสะสมเอกสารโบราณที่ตกทอดในตระกูล เมื่อตนได้เห็นภาพก็จำได้ทันทีว่าเป็นเล่มเดียวกับที่เคยถ่ายภาพเก็บไว้จากมรภ.นครศรีธรรมราช และฉุกคิดในประเด็นกระแสข่าวหนังสือบุดหลุดมาขายในตลาดมืด ว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน หลังจากนั้น เมื่อได้เห็นภาพหนังสือบุดเล่มอื่นๆ เช่น พระมาลัย ตำรานวดจับเส้น แล้วพิจารณาอย่างละเอียด สังเกตได้ว่า เป็นการถ่ายบนฟูกนอน ไม่ใช่บนโต๊ะสำหรับค้นคว้า ตนได้ส่งข้อความไปสอบถามยังผู้โพสต์ภาพเหล่านั้นในเฟซบุ๊ก จึงมีการบอกราคาขาย ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่าหนังสือบุดเหล่านั้นหลุดมาจากมรภ.นครศรีธรรมราชแล้วจริงๆ

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มรภ.นครศรีธรรมราชมีความล่าช้าในการตั้งกรรมการตรวจสอบ กระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม จึงมีการตั้งนิติกร และเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งที่น่าห่วงในขณะนั้นคือหนังสือบุดอาจสูญหายไปตลอดกาล ต่อมา คณะสงฆ์จึงตั้งกรรมการขอบิณฑบาตหนังสือบุดโดยไม่เอาเรื่องในทางกฎหมาย

Advertisement

“หลังเปิดศูนย์บิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร ก็ค่อยๆ อัพข้อมูลในอินเตอร์เนต โดยมีช่องทางต่างๆ ซึ่งก็มีผู้นำหนังสือบุดส่งคืนกับทางตำรวจ 37 เล่ม ตำรวจได้นำมาส่งที่ศูนย์ฯ โดยมีเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราชช่วยทำทะเบียนให้รวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้วย และในวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคมนี้จะมีการเปิดลังที่ได้รับคืนมาอีกจำนวน 2 ลัง ในช่วงเช้าวันนี้ก็เพิ่งได้หนังสือบุดเรื่อง พระมาลัย ของวัดใหญ่ชัยมงคล นครศรีธรรมราชคืนมาอีก แต่มีปัญหาคือ ห้องรับของกลางของตำรวจเก็บรักษาได้ไม่รัดกุม จึงจะนำไปเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช สำหรับหลักการตามที่หารือกันไว้คือ หลังมีการส่งคืนมารายวัน จะทำบันทึก ตรวจรับทั้งฝ่ายฆราวาส ฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายหอสมุดแห่งชาติ โดยจะแจ้งตำรวจรับทราบด้วย” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นางสาวจุฑารัตน์ จิตโสภา อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หนังสือบุด ‘สีมากถา’ ฉบับนครศรีธรรมราชที่ได้คืนมานั้น มีความแตกต่างจากฉบับอื่นๆ สันนิษฐานว่า มีเหตุจากลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน จึงกลายเป็น ฉบับที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ สำหรับหนังสือบุดเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่มีเพียงมีเนื้อหาจดจารเป็นตัวอักษร แต่ยังมีการวาดจิตรกรรที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของสังคม เช่น เรื่องพระเวสสันดรชาดก , พระอภิธรรม 7 คัมภีร์ และหนังสือศาสตรา ซึ่งใช้ทำนายดวงชะตา โดยจากการศึกษาอาจสันนิษฐานได้ว่า กลุ่มช่างที่ทำหนังตะลุง, ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนัง และช่างที่สร้างงานจิตรกรรมในหนังสือบุดอาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน โดยเผยให้เห็นทั้งผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาคกลางและที่ถูกปรับจนเป็นตัวของตัวเอง

“หนังสือบุดสะท้อนความเชื่อยุคพระศรีอารย์ บ่งบอกถึงการแพร่กระจายวรรณกรรมทางภาคกลางลงไปจากการพัฒนาระบบไปรษณีย์ และการคมนาคมในพุทธศตวรรษที่ 25 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เป็นผลมาจากการพัฒนาระบบการปกครองอีกด้วย” นางสาวจุฑารัตน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image